ออกแบบชีวิต ด้วยการคิดเชิงออกแบบ

2,283 views
10 mins
February 11, 2021

          Design Thinking หรือการคิดเชิงออกแบบ เป็นเครื่องมือที่อยู่ในความสนใจของคนทำงานด้านนวัตกรรมและการแก้ไขปัญหา เนื่องจากมีความยืดหยุ่นสูงสามารถนำไปปรับใช้ได้กับสถานการณ์ที่หลากหลาย ทั้งงานออกแบบ งานบริการ งานด้านการพัฒนาสังคม การศึกษา หรือแม้กระทั่งงานพัฒนาห้องสมุด และยังเหมาะสำหรับการตอบโจทย์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครริเริ่มมาก่อน โดยเน้นไปที่ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ

          ‘การคิดเชิงออกแบบ’ ยังได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการแสวงหาชีวิตที่มีความหมายของ แตว – วิริยา วิจิตรวาทการ ผู้มุ่งมั่นปรารถนาอยากจะมีส่วนร่วมและทำงานเพื่อแก้ปัญหาสังคม โดยเลือกที่จะไม่เดินตามค่านิยมหรือแนวทางที่ผู้อื่นขีดไว้

จะว่าไปแล้ว เส้นทางการค้นหาและค้นพบตนเองของเธอนั้น หากจะให้สรุปรวบรัดเพียงหน้ากระดาษไม่กี่แผ่นก็ดูจะหยาบและฉาบฉวยเกินไป แต่ก็พูดได้เต็มปากว่าเพราะการคิดเชิงออกแบบจึงทำให้เธอสามารถเติมเต็มคุณค่าของชีวิตและพยายามสร้างโลกใบใหม่ที่ดีกว่าได้ในแบบที่เธอพึงพอใจ

 ภาพฝังใจเมื่อวัยเยาว์

          วิริยา เติบโตขึ้นมาภายใต้สิ่งแวดล้อมทางบ้านที่มีความสนใจและทำงานเพื่อส่วนรวม เมื่ออายุเพียง 7 ขวบเธอติดตามครอบครัวไปร่วมทำกิจกรรมในโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ซึ่งจุดประกายให้เธอสนใจงานด้านการพัฒนาตั้งแต่นั้นมา แต่ทว่าในช่วงวัยแห่งการแสวงหานั้น ระบบการศึกษากลับไม่สามารถเชื่อมโยงเนื้อหาการเรียนให้เข้ากับการตอบโจทย์ความต้องการของเธอเท่าไรนัก

          “ตอนที่ยังเป็นเด็ก แตวเคยเดินทางไปพร้อมกับกลุ่มแพทย์และพยาบาลที่ทำงานในถิ่นทุรกันดาร ทำให้เห็นถึงความเจ็บป่วยและความขาดแคลนของคนในชนบท ซึ่งแตกต่างจากภาพที่เราเห็นในกรุงเทพฯ ก็เกิดความรู้สึกที่ชัดเจนว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างให้สังคมดีขึ้น

          “แต่โลกที่เราเห็นในโรงเรียนกับโลกความเป็นจริงกลับเป็นคนละโลกกัน ตอนเป็นนักเรียนเราเลือกในสิ่งที่อยากจะทำหรืออยากจะเป็นไม่ค่อยได้ เราต้องเลือกเรียนสายวิทย์คณิตเพราะพ่อแม่บอกให้เรียน และสังคมก็มีค่านิยมว่าเด็กที่เรียนดีต้องเรียนสายวิทย์คณิต ทั้งที่จริงๆ แล้วเราไม่ได้ชอบ แต่เผอิญว่าทำคะแนนได้ดีเท่านั้นเอง แล้วก็ไม่เคยเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เดินไปในแนวทางที่ชอบ

          “มีอยู่ช่วงหนึ่งเคยอยากเป็นหมอหรือนักกฎหมาย เพราะคิดว่าน่าจะเป็นวิชาชีพที่ช่วยเหลือคนได้มาก แต่พอได้คุยกับรุ่นพี่หรือญาติที่ทำงานด้านนี้ ก็รู้สึกว่ายังเป็นภาพที่แคบและไม่สอดคล้องกับความสนใจของเราจริงๆ”

 สู่สแตนฟอร์ด

          หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา วิริยาตัดสินใจไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ในขณะที่ครอบครัวคาดหวังว่าเธอน่าจะเรียนด้านแพทยศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ แต่ประสบการณ์ชีวิตที่นั่นกลับทำให้เธอค้นพบเส้นทางเดินของตนเอง ซึ่งหักเหไปเป็นคนละเรื่องจากสิ่งที่ผู้ใหญ่คาดหวัง

          “เมื่อไปถึงที่นั่นใหม่ๆ แตวก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราควรจะยึดจุดแข็งในวิชาสายวิทย์คณิตที่เราถนัด หรือลองเรียนเรื่องที่เราสนใจแต่อาจทำเกรดได้ไม่ดี สุดท้ายก็ตอบตัวเองได้ว่าการศึกษาคือการลองผิดลองถูก มีโอกาสมาเรียนถึงต่างประเทศแล้วก็ไม่ควรกังวลเรื่องคะแนน”

          มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) กำหนดให้การศึกษาใน 3 ปีแรกเป็นการเรียนรู้แบบเปิดกว้างทุกๆ ศาสตร์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทำความรู้จักตนเองจริงๆ ว่า ชอบหรือถนัดด้านใด แล้วจึงให้เลือกคณะและวิชาเอกเพื่อลงลึกในศาสตร์นั้นๆ ในปีที่ 4

           ช่วงปีแรกวิริยาลงเรียนทั้งวิชาของคณะวิศวกรรมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ แต่แล้วกลับพบว่าวิชาเหล่านั้นสอนโดยวิธีการบรรยายในห้องเรียนขนาดใหญ่และวัดผลด้วยการทำข้อสอบ ไม่ต่างไปจากการสอนรูปแบบเก่าที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งกับผู้เรียนเท่าที่ควร

          จนกระทั่งเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 2 เธอลงทะเบียนเรียนรายวิชาหนึ่งที่ชื่อว่า ‘การประกอบการเพื่อสังคม’ (social entrepreneurship) มีเนื้อหาว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยใช้ธุรกิจเป็นกลไกในการสนับสนุนหรือแก้ไขปัญหา วิชานี้ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เพราะวิธีการเรียนการสอนเน้นไปที่การนำเอาประเด็นซึ่งนักศึกษาสนใจมาตั้งเป็นโจทย์ แล้วร่วมกันคิดค้นกระบวนการสนับสนุนวิธีการแก้ปัญหาหรือสร้างผลกระทบทางสังคมให้เกิดขึ้น

          “ตอนนั้นกำลังสนใจเรื่องแรงงานชาวเขา พอมาลงเรียนวิชานี้ทำให้เริ่มเห็นประเด็นที่สะกิดใจว่า ครูไม่ใช่ผู้รู้ทุกอย่างที่ทำหน้าที่ป้อนความรู้ ทุกวันนี้เราหาข้อมูลได้เองจากกูเกิล ส่วนครูทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ก็พอ แค่คอยช่วยแนะนำว่าเราควรจะเชื่อมต่อกับใครที่เชี่ยวชาญในเรื่องที่เราสนใจ ช่วยกระชับความคิด หรือช่วยให้เราเห็นช่องว่างระหว่างสิ่งที่เข้าใจกับการต่อยอดไปสู่การทำงาน เป็นการเรียนที่ผสมผสานกันระหว่างวิชาการกับการลงมือปฏิบัติ ครูอาจจะเอางานวิจัยมาให้อ่านบ้าง พร้อมกับทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง (coaching) ให้นักศึกษา การวัดผลก็ไม่ได้ตัดสินแบบถูกผิด แต่วัดจากทักษะของเราตลอดกระบวนการเรียน เช่น ความเข้าใจปัญหา การตั้งคำถามที่ชัดเจน การค้นคว้าหาความรู้ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงทักษะการสื่อสารกับผู้อื่น

          “ในกระบวนการเรียนรู้ที่ผสมผสานทั้งการบรรยายและการปฏิบัติ นักศึกษาจึงต้องปรับตัวให้มีความกระตือรือร้นกับการเรียน เพราะอาจารย์กำหนดเวลาสำหรับให้คำปรึกษาที่ชัดเจน บางครั้งอาจจะแค่ 15 นาที เราต้องคิดให้ชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการถามอาจารย์จริงๆ และจะสื่อสารความคิดอย่างไรให้ผู้อื่นเข้าใจ ส่วนประเด็นที่ต้องใช้เวลาพูดคุยเยอะก็จะเป็นบทบาทของ TA (Teacher Assistant) เพราะฉะนั้นถ้าผู้เรียนขี้เกียจหรือไม่ตั้งใจ เขาจะไม่ได้ความรู้อะไรเลย และการเรียนก็จะไม่ได้ตอบโจทย์อะไรในชีวิต”

ชีวิตที่ออกแบบเอง

          วิชา ‘การประกอบการเพื่อสังคม’ ทำให้วิริยาเริ่มมองเห็นองค์ความรู้ที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตของตนเองได้ แต่ก็ยังไม่เห็นแนวทางชัดเจนว่าการเรียนวิชาพวกนี้จะนำไปประกอบอาชีพได้อย่างไร อีกทั้งมหาวิทยาลัยก็ไม่มีคณะหรือวิชาเอกทางด้านนี้เป็นหลักสูตรให้ศึกษาเล่าเรียนไปจนจบ

          อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดนั้นมีความยืดหยุ่นในการเรียนค่อนข้างสูง เมื่อโครงสร้างหลักสูตรที่มีอยู่ในคณะต่างๆ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียน นักศึกษาก็สามารถออกแบบวิชาเอกของตัวเองได้ โดยยื่นข้อเสนอให้มหาวิทยาลัยพิจารณา

          “มีนักศึกษาไม่มากนักที่ตัดสินใจสร้างวิชาเอกขึ้นมาเอง เพราะมันยาก เราต้องเขียนอธิบายให้ได้ว่า หลักสูตรที่เราเสนอจะก่อให้เกิดทักษะความรู้อะไร ต้องมีที่ปรึกษาช่วยตรวจสอบและให้ความเห็น ไม่ใช่ว่านักศึกษาขี้เกียจก็เลยนำวิชาง่ายๆ มารวมกัน แตวไปลองดูหลักสูตรด้าน Urban Study ซึ่งมีวิชาที่น่าสนใจหลายวิชา แต่ก็รู้สึกว่ายังตอบความสนใจของเราไม่ได้ทั้งหมด คือแตวไม่ได้อยากเรียนเรื่องเกี่ยวกับเมือง แต่อยากได้เครื่องมือในการแก้ปัญหาสังคมมากกว่า”

          วิริยาตัดสินใจพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี เพื่อไปทำงานหาประสบการณ์ในองค์กรด้านนโยบายการศึกษาของภูฏาน การไปทำงานที่นั่นทำให้ความสนใจด้านสังคมของเธอซึ่งเคยเป็นแค่ความคิดกว้างๆ มีโฟกัสที่ชัดเจนขึ้น

          “ตอนนั้นเริ่มตอบตัวเองได้ว่า เราอยากทำงานเกี่ยวกับการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียน แตวคิดว่าประเด็นทางสังคมไม่สามารถมองจากมุมมองด้านเดียวหรือศาสตร์เดียว แต่ต้องการเครื่องมือสำหรับการแก้ไขปัญหาหลายๆ แบบจากหลากหลายศาสตร์ ก็ลองไปค้นกูเกิลดูว่าเราจะหาเครื่องมือแบบนั้นได้จากที่ไหน ปรากฏว่าเราค้นพบสิ่งที่ตามหาในตอนที่หยุดพักเรียนไปหนึ่งปี แล้วสิ่งที่พบก็มีสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่เราเรียนอยู่นั่นเอง

          “d.school (The Hasso Plattner Institute of Design at Stanford) เป็นสถาบันในสังกัดมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ดที่เปิดสอนระดับปริญญาโทขึ้นไป วิชาที่สอนเน้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำ และการแก้ไขปัญหา ที่นี่ทำให้แตวรู้จักเครื่องมือที่เรียกว่า ‘การคิดเชิงออกแบบ’ (Design Thinking) ซึ่งให้ความสำคัญกับความรู้ทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนซึ่งมีความรู้ลึกในแต่ละศาสตร์ได้มาปะทะสังสรรค์กันด้วยความเข้าอกเข้าใจ (empathy) สามารถมองเห็นถึงคุณค่าของกันและกัน จึงทำงานร่วมกันด้วยมุมมองที่แตกต่างกันได้อย่างลงตัว และเอื้อต่อการนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม

          “d.school ยังช่วยทำให้ความสนใจเรื่องการประกอบการเพื่อสังคมเข้าใกล้โลกความเป็นจริง เพราะสนับสนุนให้นักศึกษานำปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมาทดลองแก้ไขโดยยึดหลักการออกแบบที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางหรือ Human-Centered Design”

เดินตามความฝัน

          หลังจากสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรที่ไม่เหมือนใคร ครอบครัวก็มีความกังวลอยู่ลึกๆ ถึงเรื่องการประกอบอาชีพ วิริยาเลือกยื่นใบสมัครงานไปยังองค์กรที่ชื่อว่า IDEO.org ซึ่งก่อตั้งโดยเดวิด เคลลีย์ (David M. Kelley) และเป็นผู้ก่อตั้ง d.school ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดนั่นเอง

          ในเวลานั้น IDEO เป็นเพียงองค์กรเล็กๆ ที่มีพนักงานเพียง 5 คน แต่ก็มีผลงานนวัตกรรมที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เช่น การออกแบบเมาส์ตัวแรกให้กับบริษัทแอปเปิ้ล นอกจากงานด้านออกแบบผลิตภัณฑ์แล้วก็ยังมีงานออกแบบการบริการ การออกแบบนโยบาย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจ

          “ขณะนั้น IDEO ไม่ได้เปิดรับสมัครพนักงานเพิ่ม แต่แตวก็เขียนลงไปในใบสมัครตรงๆ เลยว่าอยากทำงานที่นี่ เพราะสนใจเครื่องมือการคิดเชิงออกแบบและงานที่ทำแล้วก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม (Social impact) ซึ่งที่นี่เป็นที่เดียวที่มีทั้งสองอย่างรวมกัน

          “แตวได้เข้าไปทำงานในจังหวะที่ดีมาก เพราะได้บริหารโครงการที่รับเงินทุนมาจากมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ โดยองค์กรจะนำไปกระจายสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการทางสังคมทั่วโลก ทำให้ได้พูดคุยและให้คำแนะนำเรื่องการคิดเชิงออกแบบเพื่อให้ผู้รับทุนนำไปใช้เป็นเครื่องมือ เพราะปัญหาทางสังคมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก การคิดเชิงออกแบบเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยทำความเข้าใจปัญหาและนำไปใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้

          “ส่วนอีกงานหนึ่งที่ได้ทำก็คือการพัฒนาแพลตฟอร์ม designkit.org ซึ่งเป็นคู่มือออนไลน์สำหรับให้ผู้ที่สนใจเครื่องมือ ‘การคิดเชิงออกแบบ’ ดาวน์โหลดเอาไปเรียนรู้และใช้งานได้ฟรี”

Design Thinking กับชีวิตและงาน

ปัจจุบันวิริยาเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม และยังเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ด้านการคิดเชิงออกแบบให้กับบุคลากรจากหลายหน่วยงาน เธอเล่าให้ฟังว่าเครื่องมือนี้สามารถนำมาใช้กับชีวิตการทำงานได้ด้วยเช่นกัน

          “การคิดเชิงออกแบบช่วยให้เรามองปัญหาด้วยความรู้สึกตื่นเต้น เพราะจะเห็นวิธีการและความเป็นไปได้ที่จะแก้ไข เมื่อมองเห็นก็อยากจะลองทำ ยิ่งถ้าหากมีไอเดียใหม่ๆ ก็ยิ่งอยากจะทำ อย่าไปกังวลกับความล้มเหลว เพราะถ้าลองทำแล้วไม่สำเร็จ ก็แค่คิดหาทางปรับใหม่ คือถ้าเรามีหลักคิด (mindset) ที่มุ่งทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายและบริบทของปัญหาอย่างลึกซึ้ง (insight) เราก็จะปรับปรุงและหาวิธีการใหม่ได้เร็ว

          “การคิดเชิงออกแบบยังช่วยในเรื่องการทำงานกับคนรุ่นใหม่ เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ได้อยู่ในโลกที่เจ้านายสั่งลูกน้อง หรือเจ้านายรู้ทุกอย่าง สิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องทำความเข้าใจคนที่เราทำงานด้วยให้มากๆ ถ้าเรามีความเข้าอกเข้าใจคนทำงานอย่างลึกซึ้ง รู้จักจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละคน รับฟังและให้โอกาสเขาด้วยการเปิดพื้นที่การทำงานให้กว้าง เพื่อที่เขาจะได้เติบโตเป็นผู้นำในอนาคต ศาสตร์นี้ยังช่วยให้เราสนใจเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานให้เอื้อต่อการคิดสิ่งใหม่ ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม ดังนั้นถึงแม้ว่าต่อไปจะไม่มีเรา องค์กรก็ยังอยู่ได้และยั่งยืน”

เล่าเรื่องการคิดเชิงออกแบบ

           วิริยา อธิบายถึงกรอบแนวคิด Design Thinking ซึ่งจำแนกได้เป็น 5 ขั้นตอน แต่ละขั้นตอนไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับกันอย่างตายตัว แต่เป็นกระบวนการเกี่ยวเนื่องกันที่สามารถย้อนกลับไปทำบางขั้นตอนซ้ำอีกได้ตามบริบทที่เกิดขึ้นจริง

Design Thinking
Design Thinking

           ขั้นตอนที่ 1 การสร้างความเข้าใจ (Empathize) คือการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายเชิงลึก โดยผู้ดำเนินการเข้าไปมีประสบการณ์ร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย จนเข้าใจพฤติกรรมหรือการใช้ชีวิตของพวกเขาอย่างลึกซึ้ง (insight) มิใช่เพียงการค้นคว้าวิจัยข้อมูลเท่านั้น เช่น ในการแก้ปัญหาชุมชน ผู้ดำเนินการจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในชุมชนจริงๆ เพื่อทำความเข้าใจบริบทของผู้คน ในการแก้ปัญหาธุรกิจ ผู้ดำเนินการต้องเข้าไปอยู่ในตลาด เพื่อให้เข้าใจวิถีของผู้บริโภค เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสิ่งที่เข้าใจยากที่สุดคือมนุษย์ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว เคล็ดลับสำคัญของขั้นตอนนี้คือจะต้องวางตัวเป็นมือใหม่ (beginner) เสมือนว่าตัวเองไม่รู้เรื่องเหล่านั้นมาก่อน

          ขั้นตอนที่ 2 การนิยามปัญหา (Define) คือการตั้งคำถามเกี่ยวกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเช่น หากสะพานชำรุด คนทั่วไปย่อมคิดว่าต้องแก้ไขด้วยการซ่อมสะพาน ทว่า การเริ่มต้นคิดเช่นนี้ ตอบโจทย์ได้เพียงเรื่องการทำให้สะพานแข็งแรง ในมุมของการคิดเชิงออกแบบ จะต้องคิดย้อนไปว่าสะพานมีไว้เพื่อตอบสนองความต้องการเรื่องใด เช่นอาจเป็นเรื่องของการสื่อสาร เราจึงต้องรู้จักเปลี่ยนหลักคิดในการตั้งคำถาม ดังเช่นที่ผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์ฟอร์ดกล่าวไว้ว่า ‘ในวันที่ยังไม่มีการผลิตรถยนต์ออกมา ถ้าถามผู้บริโภคว่าเขาต้องการอะไร เขาคงตอบว่าอยากได้รถม้าที่เร็วขึ้น’

           ขั้นตอนที่ 3 การระดมความคิด (Ideate) ให้มีปริมาณมากพอที่จะนำมากลั่นกรองหาไอเดียที่ดีภายหลัง เงื่อนไขสำคัญในการระดมความคิดคือการตั้งคำถามที่ถูกต้องและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องมีผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ช่วยดำเนินการประชุมและควบคุมกติกาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเสนอไอเดีย เคล็ดลับที่สำคัญคือการไม่ตัดสินว่าความคิดนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ เพื่อให้ทุกคนกล้าแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ และเมื่อถึงเวลาคัดเลือกไอเดียก็ควรเป็นไปอย่างมีตรรกะ มิใช่การทุบโต๊ะโดยผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีประสบการณ์มากกว่า

           ขั้นตอนที่ 4 การทำต้นแบบ (Prototype) หัวใจหลักของการคิดเชิงออกแบบคือวัฒนธรรมการลงมือทำจนกระทั่งเห็นเป็นประจักษ์ ซึ่งสำคัญกว่าการบอกว่าสิ่งนั้นคงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ (show, don’t tell) โดยจะต้องนำเอาไอเดียมาสร้างเป็นต้นแบบที่สามารถจับต้องทดลองได้ และไม่จำเป็นว่าต้องมีเพียงต้นแบบเดียวแต่อาจเป็นชุด 3-4 ต้นแบบก็ได้

          ขั้นตอนที่ 5 การทดลอง (Test) ขั้นตอนนี้สะท้อนให้เห็นว่านวัตกรรมไม่ได้มาจากการคิดเอาเอง แต่เกิดจากข้อมูลที่ได้รับมาจากผลสะท้อนกลับ (feedback) ของกลุ่มเป้าหมาย และมีการปรับปรุงแก้ไขจนกว่าจะได้ต้นแบบที่ดีที่สุดซึ่งสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงต่อไป ส่วนต้นแบบที่ทดลองพิสูจน์แล้วล้มเหลวนั้นถือเป็นบทเรียนให้เกิดการเรียนรู้


เผยแพร่ครั้งแรก มีนาคม 2561 (สัมภาษณ์เมื่อ กันยายน 2560)
พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ กล่อง (2561)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก