โบแยน สแลต : จากความสงสัยกลายเป็นนวัตกรรมรักษ์โลก

485 views
4 mins
December 7, 2023

          ในปี 2011 โบแยน สแลต (Boyan Slat) เด็กหนุ่มชาวดัตช์วัย 16 ปี มีโอกาสไปดำน้ำที่ประเทศกรีซ แต่เขากลับนับจำนวนปลาได้น้อยกว่าขยะพลาสติก เหตุการณ์นี้เป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้เขากลับมาพัฒนาโครงงานที่โรงเรียน เพื่อตรวจสอบว่าเหตุใดการทำความสะอาดท้องทะเลและมหาสมุทรจึงเป็นเรื่องที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ (หรือไม่มีใครลงมือทำจริงจัง)

          “เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มทำงานบางอย่าง คุณต้องมีข้อสันนิษฐานพื้นฐานว่า ปริศนานี้มีทางออกใช่ไหม? หากคุณเริ่มต่อจิกซอว์โดยไม่รู้ว่าชิ้นส่วนทั้งหมดอยู่ในกล่องหรือไม่ มันจะไม่ใช่โจทย์ที่สนุก ดังนั้นผมจึงคิดว่า ในเมื่อเราสร้างปัญหานี้ขึ้นมาได้ แล้วทำไมเราจะแก้มันไม่ได้”

          เมื่อหลายสิบปีก่อน กัปตันเดินเรือชาวอเมริกันซึ่งได้แล่นเรือยอชต์จากหมู่เกาะฮาวายเพื่อเดินทางกลับบ้านที่ลอสแองเจลิส ได้ค้นพบ แพขยะตะวันออก (Eastern Garbage Patch) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มันเป็นแหล่งรวมขยะที่ลอยอยู่บนผิวน้ำขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ประเทศฝรั่งเศสถึง 3 เท่า คาดว่ามีปริมาณพลาสติกมากกว่า 1.8 ล้านล้านชิ้น เมื่อขยะเหล่านี้ถูกแสงแดดแผดเผาก็จะแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ ทำลายระบบนิเวศและกลายเป็นไมโครพลาสติกที่เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร

          โบแยน วิเคราะห์ว่า อุปสรรคในการเก็บขยะพลาสติกนั้นนอกจากเป็นเรื่องปริมาณแล้ว ยังมีเรื่องการเคลื่อนที่ของน้ำทะเลอยู่ตลอดเวลาทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ในที่สุดเขาสังเกตพบเงื่อนไขที่น่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหา นั่นก็คือวังวนของผิวน้ำในมหาสมุทร ซึ่งทำให้ขยะเคลื่อนที่มารวมกันเป็นจุดๆ

          “ทำไมเราไม่ใช้พลังของมหาสมุทรให้เป็นประโยชน์ล่ะ? เราควรทำงานร่วมกับธรรมชาติแทนที่จะพยายามต่อสู้กับมัน”

          ในเวที TEDxDelft เขานำเสนอไอเดียนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้น ซึ่งมีลักษณะเป็นทุ่นลอยน้ำพร้อมกับแขนรูปตัววีกว้าง 100 กิโลเมตร ขยะพลาสติกที่ลอยอยู่บนผิวน้ำจะถูกกระแสน้ำพัดเข้าสู่กับดักโดยไม่ต้องล่องเรือออกตามเก็บ ส่วนสัตว์ต่างๆ สามารถมุดลอดไปข้างใต้โดยไม่ได้รับอันตราย หากมันเกิดขึ้นจริงจะสามารถกำจัดขยะแพขยะตะวันออกได้ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยมีต้นทุนประมาณ 4.53 ยูโร ต่อกิโลกรัม คิดเป็น 3% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายของวิธีการที่เคยทำมาก่อน การบรรยายครั้งนี้สร้างกระแสตื่นตัวเรื่องการแก้ปัญหาทางทะเลไปทั่วโลก

          หลังจบมัธยมศึกษา โบแยน เรียนต่อด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟท์ (TU Delft) ทว่าไม่นานนักก็ลาออกเพื่อใช้เวลาอย่างเต็มที่กับการพัฒนานวัตกรรม และก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัป The Ocean Cleanup ด้วยเงินเก็บสะสมเพียงแค่ 300 ยูโร องค์กรนี้มีเป้าหมายที่จะกำจัดพลาสติกซึ่งลอยอยู่ในทะเลให้ได้ 90% ภายในปี 2040

          Ocean Cleanup เปิดระดมทุนจากนักลงทุน การบริจาค รวมทั้งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ จนในที่สุดเครื่องเก็บขยะ ‘System 001’ ถูกปล่อยลงในมหาสมุทรอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อปี 2018 บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก โดยมีชื่อเล่นว่า ‘Wilson’ แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง Cast Away กับแบรนด์ของลูกวอลเลย์บอลซึ่งเป็นขยะเกยตื้นจากเหตุเครื่องบินตก และกลายเป็นเพื่อนคุยเพียงฝ่ายเดียวของพระเอกผู้ติดอยู่บนเกาะร้าง

          Ocean Cleanup ผ่านการลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่ขั้นทดลองในสถานการณ์จำลองและในมหาสมุทรที่เต็มไปด้วยตัวแปรที่ยากจะควบคุม บางครั้งชิ้นส่วนสำคัญถูกแรงคลื่นซัดจนหลุดออก ระบบเซนเซอร์ผิดปกติ และอีกสารพันปัญหา ความพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดทำให้ผลิตภัณฑ์นี้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นนวัตกรรมที่ถูกนำไปใช้หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

          อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งจากนักสิ่งแวดล้อมที่วิเคราะห์ว่า นวัตกรรมการกวาดต้อนขยะที่ใช้ทุ่นลอยอยู่บนผิวน้ำ มีโอกาสทำลายแพลงก์ตอนซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ตัวอ่อน และอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารทางทะเล การเก็บขยะในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาลจึงดูเหมือนเป็นการไล่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่า

          โบแยน รับฟังข้อโต้แย้งนี้ แต่ก็ยืนยันว่าไม่มีสิ่งใดในโลกที่ทำแล้วจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่นเลย “แล้วทางเลือกอื่นคืออะไร? พลาสติกหลายแสนตันถูกทิ้งลงในมหาสมุทรซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อไปทุกปี ทั้งต่อการประมงและการท่องเที่ยว และจะยิ่งเลวร้ายลงเมื่อมันแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก จะอย่างไรเราก็ต้องหาทางเก็บมันขึ้นมา เพราะมันไม่มีวันหายไปเอง ในขณะเดียวกันเราก็ต้องหาวิธีไม่ให้มีขยะพลาสติกออกไปสู่มหาสมุทรควบคู่กันไป”

          Ocean Cleanup ได้ศึกษาวิจัยพบว่า ขยะพลาสติกกว่า 80% ในทะเลถูกพัดพามาจากแม่น้ำ แม้พื้นที่ปากแม่น้ำจะมีขนาดเล็ก แต่ปัญหาไม่ได้เล็กตามไปด้วย เพราะไม่มีแม่น้ำสายใดที่เหมือนกัน ปัจจัยต่างๆ ทั้งความกว้าง ความลึก กระแสน้ำ องค์ประกอบของขยะ และฤดูกาล ล้วนมีอิทธิพลสำคัญต่อความสำเร็จของการเก็บกวาดขยะ ความท้าทายดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาเครื่องทำความสะอาดแม่น้ำพลังแสงอาทิตย์ รวมทั้งการทดลองสร้างเขื่อนกักขยะครั้งแรกเมื่อปี 2022 ที่แม่น้ำโมตากัว ในประเทศกัวเตมาลา ซึ่งมี ‘สึนามิขยะ’ มากที่สุดในโลก ส่วนเป้าหมายต่อไปก็คือการกักขยะจากแม่น้ำให้สำเร็จ 1,000 สายทั่วโลก

          ชายหนุ่มคนหนึ่งได้ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่คิดว่าจะทำได้ ด้วยพลังความทะเยอทะยาน การตั้งคำถามที่ท้าทายและการมองหาความเป็นไปได้อยู่เสมอ ประกอบกับการเชื่อมโยงความรู้สู่การลงมือปฏิบัติ มิหนำซ้ำยังไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรค คุณสมบัติของมนุษย์แบบนี้นี่เองที่จะพลิกชะตาชีวิตโลกให้ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็เดินเข้าสู่จุดวิกฤตช้าลง

โบแยน สแลต : จากความสงสัยกลายเป็นนวัตกรรมรักษ์โลก
Photo: The Ocean Cleanup

การทำงานของเครื่องกวาดต้อนขยะ System 03 ซึ่งเป็นเวอร์ชันล่าสุดที่พัฒนาโดย Ocean Cleanup


ที่มา

เว็บไซต์ The Ocean Cleanup (Online)

บทความ “The Ocean Cleanup Trials new interception in world’s most polluting river” จาก theoceancleanup.com (Online)

บทความ “A young Dutch inventor wants to clean plastic from the ocean. Can he do it?”จาก nbcnews.com (Online)

บทความ “Inside the Ocean Cleanup’s ambitious plan to rid the ocean of plastic waste” จาก digitaltrends.com (Online)

บทความ “ครั้งแรกกับความสำเร็จของ ‘อุปกรณ์ทำความสะอาดมหาสมุทร’ ในการเก็บกวาดขยะพลาสติก” จาก diveshop.in.th (Online)

บทความ “แนวคิดการกำจัดขยะในทะเลของ Boyan Slat” จาก palmmade.com (Online)

บทความ “Side Effect of The Ocean Cleanup Project” จาก digotalay.com (Online)

บทความ “The Ocean Cleanup เทคโนโลยีลดมลพิษทางทะเลที่ดีที่สุด” จาก thesustain.space (Online)


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ Lifelong Learning Focus issue 03 (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก