‘ระบบนิเวศการเรียนรู้’ กับทิศทางใหม่ของการศึกษาที่ไปไกลกว่ารั้วโรงเรียน

19,411 views
6 mins
December 28, 2021

          ไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำว่า ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้’ (Learning Ecosystem) ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการการศึกษา ในฐานะกุญแจดอกสำคัญที่จะสามารถยกระดับสมรรถนะของผู้เรียนในอนาคต องค์ประกอบทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว แหล่งเรียนรู้ สื่อหรือทรัพยากรการเรียนรู้ เทคโนโลยี นโยบายต่างๆ ฯลฯ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งสิ้น

          ในอนาคตอันใกล้ ขอบข่ายของการเรียนรู้จะมีมิติกว้างขึ้นครอบคลุมทั้งองคาพยพของสังคม จนเส้นแบ่งระหว่างการศึกษาในและนอกระบบโรงเรียนค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด เช่นเดียวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน

          The KOMMON จะพาไปทำความรู้จักกับคำว่าระบบนิเวศการเรียนรู้ในมิติต่างๆ ตั้งแต่ที่มาที่ไปของแนวคิด แนวทางปรับระบบนิเวศการเรียนรู้ให้เหมาะกับโลกอนาคต รวมทั้งกรณีตัวอย่างการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ทั้งในและต่างประเทศ

จากศัพท์นิเวศวิทยา สู่อุปมัยทางการศึกษา

          คำว่า ระบบนิเวศการเรียนรู้ มาจากคำศัพท์ทางนิเวศวิทยา หมายถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตภายในสภาพแวดล้อม ซึ่งเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงกับองค์ประกอบหนึ่ง จะส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบอื่นๆ ตามไปด้วย

          ตัวอย่างที่ถูกนำมาใช้บ่อยครั้ง คือเรื่องเล่าเกี่ยวกับการนำหมาป่ากลับคืนสู่อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนในสหรัฐอเมริกา เมื่อกวางกลัวถูกหมาป่าไล่ล่าก็มักไม่เดินออกมาในที่โล่งริมฝั่งแม่น้ำ ส่งผลให้พุ่มไม้ต่างๆ ที่เคยถูกกวางแทะเล็มเติบโตหนาแน่นขึ้น นก บีเวอร์ และหมี จึงกลับมาอาศัยบริเวณดังกล่าวมากขึ้น สร้างเสถียรภาพและความสมดุลให้กับแม่น้ำ กล่าวได้ว่า จำนวนหมาป่าที่เพิ่มขึ้นทำให้แม่น้ำไม่เปลี่ยนเส้นทางบ่อยเหมือนเช่นเคย ตัวอย่างดังกล่าวแสดงถึงความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในระบบนิเวศ ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อปัจจัยอื่นๆ โดยไม่มีองค์ประกอบใดมีความสำคัญมากกว่ากัน

          ในปี 1970 แนวคิดทางนิเวศวิทยาได้ถูกนำมาใช้ในสังคมศาสตร์และการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์ของมนุษย์ ยูรี บรอนเฟนเบรนเนอร์ (Urie Bronfenbrenner) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน นำแบบจำลองทางนิเวศวิทยามาใช้ในการอภิปรายเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ กับ ‘การเลี้ยงดู’ เพื่อทำความเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก

          ต่อมา มีการใช้คำว่าระบบนิเวศการเรียนรู้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่ออธิบายปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบภายในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ เช่น บทความเกี่ยวกับระบบนิเวศของอีเลิร์นนิ่ง ซึ่งเผยแพร่ในปี 2007 อธิบายว่าผู้เรียนในระบบนิเวศการเรียนรู้สามารถรวมกลุ่มและและมีปฏิสัมพันธ์กันได้เองตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตภายในระบบนิเวศทางชีววิทยา การเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบใดๆ ย่อมเป็นเงื่อนไขสนับสนุนหรือขัดขวางความสำเร็จของระบบนิเวศการเรียนรู้

          ทางด้านโครงการ ‘21 CLEO’ (21st Century Learning Ecosystem Opportunities) เปรียบเปรยการทำความเข้าใจระบบนิเวศการเรียนรู้ว่า เสมือนกับการมองสิ่งแวดล้อมผ่านเลนส์กล้อง คือไม่จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจภาพรวมทั้งระบบ แต่สามารถเลือกโฟกัสไปยังจุดใดจุดหนึ่งก็ได้ โครงการนี้ได้ศึกษาองค์ประกอบของระบบนิเวศการเรียนรู้ ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวทางการเรียนรู้ของแรงงานในศตวรรษที่ 21 โดยตั้งข้อสังเกตว่า แรงงานมักถูกกล่าวถึงในฐานะผู้รับโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะจากองค์กร แต่มักไม่มีการกล่าวถึงพวกเขาในฐานะผู้ที่สามารถกำหนดรูปแบบระบบนิเวศการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ภายใต้แรงผลักดันต่างๆ ในระบบนิเวศการเรียนรู้

          โดยภาพรวมแล้ว ระบบนิเวศการเรียนรู้จึงเป็นระบบที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่ง แต่มีความซับซ้อนและมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก สิ่งแวดล้อมดังกล่าวประกอบขึ้นจากสิ่งมีชีวิต เช่น ผู้เรียน ครู นักการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์และแรงงาน เพื่อนร่วมงาน เพื่อน ครอบครัว และสิ่งไม่มีชีวิต เช่น เนื้อหาการเรียนรู้ หลักสูตร ทรัพยากรการเรียนรู้ เครื่องมือการเรียนรู้ดิจิทัล การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต นโยบายทางการศึกษา เป็นต้น

ปรับระบบนิเวศการเรียนรู้อย่างไร ให้เหมาะกับโลกในอนาคต

          มิเชลล์ ไวส์ (Michelle Weise) ผู้เขียนหนังสือ Long Life Learning: Preparing for Jobs that Don’t Even Exist Yet ให้ความเห็นว่า การลงทุนทางการศึกษาส่วนใหญ่ในอดีตที่ผ่านมา มักทุ่มเทไปกับการศึกษาในระบบ ซึ่งยังขาดความยืดหยุ่นและไม่สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานในอนาคต เธอจึงเสนอว่าควรให้ความสำคัญต่อผู้ที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย (Working Learner) มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลว่า จะมีส่วนช่วยลดภาระและความกดดันด้านค่าใช้จ่ายให้กับผู้เรียน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าการเรียนในตำราแต่เพียงอย่างเดียว

          “ทุกวันนี้นักปฏิรูปการศึกษาต่างให้ความสำคัญกับแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่กลับลงทุนเพียงเล็กน้อยในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่ต้องเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านอย่างไร้รอยต่อ จากการเรียนรู้สู่การทำงาน และเราต้องการเครื่องมือการประเมินที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้เรียนทุกคนได้ทบทวนว่า พวกเขามีความสามารถ ชุดทักษะ และทัศนคติแบบใดบ้าง และยังมีช่องว่างอะไรอีกระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่กับเป้าหมายการเรียนรู้ที่ตั้งไว้”

          ไวส์ ได้เสนอแนวทางในการปรับปรุงระบบนิเวศการเรียนรู้ที่จะช่วยให้คนรุ่นใหม่สามารถเผชิญหน้ากับความพลิกผันของโลกการทำงานในอนาคต ได้แก่

          นำทางได้ (Navigable) การเรียนรู้อย่างไร้จุดหมายก็ไม่ต่างอะไรกับการล่องเรือไปในความมืด ก่อนที่ผู้เรียนจะก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน พวกเขาควรได้รับข้อมูลที่ทำให้เห็นภาพของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต ควรมีตัวช่วยนำทางที่ดี รวมถึงควรมองเห็นถึงโอกาสและทิศทางการยอดอาชีพในอนาคต

          ช่วยสนับสนุน (Supportive) สนับสนุนให้ผู้เรียนพร้อมก้าวสู่เส้นทางการทำงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปราศจากอุปสรรค ความช่วยเหลือด้านอาชีพควรมีความรอบด้าน เช่น การให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ๆ โดยไม่มีอุปสรรค 

          มีจุดมุ่งหมาย (Targeted) ผู้คนควรได้รับการศึกษาที่ตรงตามความต้องการของพวกเขา เป็นการเรียนรู้ที่มีความลงตัวอย่างชัดเจนทั้งด้านทักษะ เวลา และทิศทางต่อไปในอนาคต รวมทั้งมองเห็นถึงผลตอบแทนที่คุ้มค่าของการลงทุนด้านการเรียนรู้

          ผสมผสาน (Integrated) ควรมีการผสมผสานรูปแบบของการเรียนรู้ไปพร้อมกับการทำงาน

          โปร่งใส (Transparent) การปรับกระบวนการจ้างงานให้โปร่งใส เปิดเผย และยุติธรรมต่อผู้หางานทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยคุณสมบัติแรกที่นายจ้างควรพิจารณาคือทักษะและความสามารถ

กรณีตัวอย่างการพัฒนานิเวศการเรียนรู้

          ที่เมืองเฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก ได้ริเริ่มโครงการ ‘Whole City’ เพื่อเปลี่ยนทุกหนทุกแห่งในเมืองให้เป็นสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ขนาดมหึมา สถานที่ต่างๆ เช่น ห้องสมุด สวนสาธารณะ ป่า สนามเด็กเล่น พิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ถนน อาคารทางวัฒนธรรม และห้องสมุด ล้วนเป็นสถานที่เพื่อการเรียนรู้ สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาฟินแลนด์ตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งยึดแนวทางการเรียนรู้แบบมีปรากฏการณ์เป็นฐาน (Phenomenon-based learning) สนับสนุนให้ผู้เรียนออกไปเรียนรู้นอกโรงเรียนมากขึ้น ภายใต้ความเชื่อที่ว่า การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของผู้เรียนย่อมมีพลังและความหมายมากกว่าการเรียนรู้จากตำราหรือในห้องเรียน

          อีกกรณีหนึ่ง สตาร์ทอัปด้านการศึกษา ‘Learnlife’ ได้สังเคราะห์โมเดลระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยกระบวนทัศน์แบบใหม่ โดยการค้นคว้ากรณีศึกษาที่ดี มากกว่า 100 ตัวอย่างจากทั่วโลก และแนวทางการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-Centered Approaches) จำนวน 27 แนวทาง จนเกิดเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ทั้งศูนย์การเรียนรู้ในตัวเมือง (Urban Hub) ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ (Nature Hub) ที่อยู่นอกเมือง และการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ (Home Hub) ปัจจุบันมีการนำโมเดลไปขยายผลแล้วหลายแห่ง มีการตั้งเป้าหมายว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเกิดเครือข่าย Learnlife กระจายในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่าพันแห่ง

          ในส่วนของประเทศไทย องค์กรด้านการศึกษาหลายแห่งให้ความสำคัญและเริ่มขับเคลื่อนเรื่องการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ โดยมีจุดเน้นที่สอดคล้องกับพันธกิจขององค์กรนั้นๆ เช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา ร่วมกับเครือข่าย 41 แห่ง ส่งเสริมให้เยาวชนได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ เป็นการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งมุ่งแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี และกลุ่มสหภาพแรงงาน จัดกิจกรรมสอนขายของออนไลน์และการเป็นผู้ประกอบการ

          “ที่ผ่านมาเราปลูกฝังให้คนเป็นลูกจ้าง ผลักคนให้เข้าโรงงาน โดยไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อหากโรงงานปิดกิจการ ในขณะที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดรับตำแหน่งงานนับหมื่นตำแหน่ง แต่ไม่มีคนไทยไปสมัคร ทำให้ต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ แสดงว่าในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้พัฒนาคนให้ไปข้างหน้าใช่หรือไม่” นายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าว

          นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (South East Asia Center หรือ SEAC) ได้ลงทุนกว่า 600 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ YourNextU มีการจับมือกับพาร์ทเนอร์ระดับโลกในการพัฒนาหลักสูตร เพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ด้านต่างๆ ให้รองรับความต้องการของคนทุกกลุ่มทุกวัย มีการแปลเนื้อหาเป็นภาษาไทยและบางภาษาในกลุ่มประเทศอาเซียน

          อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC กล่าวว่า “จากเป้าหมายที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์กรยุคใหม่ให้ก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในสหัสวรรษใหม่ ด้วยหลักสูตรและกระบวนการคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำและการสร้างสรรค์นวัตกรรม ปัจจุบัน SEAC ยกระดับขอบเขตการดำเนินงานเป็นศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างรูปแบบกระบวนการคิด (mindset) ใหม่ สร้างระบบนิเวศและวัฒนธรรมของการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทยและอาเซียน ภายใต้ความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการพัฒนาชีวิตและเรียนรู้ตลอดทุกช่วงชีวิต”

          ด้าน สถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park มีการปรับทิศทางองค์กรครั้งใหญ่ในโอกาสครบรอบ 16 ปี จากเดิมที่เป็นเพียงผู้ให้บริการห้องสมุดมีชีวิต ขยับไปสู่การมุ่งสร้างสรรค์ระบบนิเวศการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพคนไทยให้มีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดทุกช่วงชีวิต

          “จากนี้ไป TK Park จะเป็นผู้ให้บริการการเรียนรู้ที่พร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้แก่ผู้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน นอกจากนั้นเราจะมุ่งเน้นการสร้างสรรค์ ต่อยอดแนวทางและนวัตกรรมการเรียนรู้สู่คนทุกช่วงวัย เน้นการสร้างทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อพัฒนาทักษะแห่งอนาคตของเด็กไทย ผ่านเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่เข้ากับโลกสมัยใหม่ สอดคล้องกับเทรนด์โลก” กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ กล่าว

          ทั้งนี้ หากมองในมิติทางเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ของไทยจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อย ทว่าหลายปีที่ผ่านมา งบประมาณเรื่องการพัฒนาครูและเครื่องมือการเรียนรู้กลับลดลงอย่างมากเดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้เสนอโมเดล ‘กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ’ เพื่อนำมาใช้พัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ โดยแบ่งงบประมาณเป็น 4 ประเภท ได้แก่ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ การจัดเวิร์คช็อปที่ส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียน และการสร้างความเข้าใจเรื่องอาชีพใหม่ๆ นอกจากนี้ยังมีเงินที่กันไว้ต่างหาก เพื่อให้นักเรียนและครูนำไปใช้ต่อยอดการเรียนรู้ตามความสนใจของตัวเอง

          “ในมุมของผม ระบบนิเวศหมายความว่า ถ้าเรารู้สึกว่ามันยังขาดอะไรอยู่ เราก็ควรเปิดโอกาสให้มันมี ไม่ใช่เข้าไปจัดการหรือควบคุม ความหลากหลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ แต่หัวใจสำคัญอีกอย่างคือมันไม่ได้ควบคุมกัน แล้วสุดท้ายมันจะเกิดวิวัฒนาการ เกิดไอเดียใหม่ๆ การที่หน่วยราชการยังคิดว่าตัวเองต้องเป็นคนควบคุมทุกอย่าง ก็นับเป็นปัญหาหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน นั่นแปลว่าเขาไม่เข้าใจคำว่าระบบนิเวศ”


ที่มา

What Is a Learning Ecosystem? [online]

Michelle Weise: ‘We Need to Design the Learning Ecosystem of the Future’ [online]

สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ เพื่อรับมือโลกแห่งอนาคต [online]

หนุน กสศ. นำทัพสร้าง “ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต” แก้ปัญหาเด็กนอกระบบ [online]

SEAC เดินหน้าทุ่ม 600 ล้าน สร้าง “ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ดันไทยสู่ศูนย์กลางการเรียนรู้ของอาเซียน [online]

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก