อยากมีการศึกษาที่มีคุณภาพ จะย้ายไปอยู่ประเทศไหนดี?
คำตอบของหลายคนอาจเป็นฟินแลนด์ ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก สามารถปฏิรูปการศึกษาได้สำเร็จจนเกิดการเรียนที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และครูเป็นวิชาชีพมีเกียรติที่ใครๆ ใฝ่ฝันอยากเป็น
หลายปีที่ผ่านมา เฮลซิงกิ (Helsinki) เมืองหลวงของฟินแลนด์ มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการเรียนรู้ทั้งส่วนที่เป็นกายภาพควบคู่ไปกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการเรียนรู้มากที่สุด บนหลักการที่คำนึงถึงโอกาสอันเท่าเทียมกันของประชากรทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ สัญชาติ หรือฐานะทางเศรษฐกิจแบบไหน
การเรียนรู้ที่มีคุณภาพไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในโรงเรียน แต่เมืองยังทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับนักการศึกษาและภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อร่วมกันเปลี่ยนทุกหนทุกแห่งในเมืองให้เป็นสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ (learning environment) ขนาดมหึมา ทำให้กิจกรรมการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับเงื่อนไขของห้องเรียนหรือเวลาที่โรงเรียนเปิดทำการเท่านั้น
เฮลซิงกิ กับการวางฐานด้านการศึกษา
วิสัยทัศน์ของเมืองเฮลซิงกิ คือการมุ่งสู่การเป็นเมืองที่มีประสิทธิภาพ (functional city) มากที่สุดในโลก โดยสิ่งที่ดำเนินการเป็นลำดับแรกๆ คือการสร้างบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ และสร้างเงื่อนไขสำหรับการมีชีวิตที่น่าพึงพอใจ ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย
สำหรับด้านที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เมืองได้จัดให้มีการศึกษาฟรีสำหรับเด็ก บริการรับเลี้ยงเด็กซึ่งตั้งอยู่ใกล้บ้าน มีนโยบายต่อต้านการข่มเหงรังแกในโรงเรียน และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยมากพอ เพื่อให้เด็กสามารถเดินไปโรงเรียนได้เอง
เมืองพยายามลดสัดส่วนนักเรียนที่ออกจากระบบการศึกษาในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษาและการอบรมทักษะอาชีพ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หางานและผู้อพยพ ‘The Centre of Expertise’ ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาโมเดลส่งเสริมความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ ให้ทุกคนสามารถพัฒนาทักษะและศักยภาพตามที่ต้องการ
เฮลซิงกิยังมีสถาบันการศึกษาเฉพาะทางหลายแห่ง เช่น ‘Älykoulu’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘โรงเรียนอัจฉริยะ’ เพื่อสาธิตนวัตกรรมการเรียนการสอนแนวใหม่ที่กำลังจะถูกนำไปปรับใช้ในโรงเรียนทั่วไป ‘Urhea sports academy’ แหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ‘Mäkelänrinne school’ แหล่งเรียนรู้ด้านที่พักอาศัย และในย่าน Myllypuro มีการสร้างสถาบันการศึกษานานาชาติที่มีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการก่อสร้าง
Whole City เมืองที่การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกแห่งหน
ปัจจุบันเฮลซิงกิถือเป็นเมืองทดลองด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยระดับชาติ สถาบันทางวัฒนธรรม นักพัฒนา บริษัทต่างๆ เพื่อสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศใหม่ (new ecosystem) สำหรับการเรียนรู้ ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายบทเรียนความสำเร็จไปยังเมืองอื่นๆ ต่อไป
แผนการที่ว่ามา ได้รับการผลักดันผ่านโครงการที่มีชื่อว่า ‘Whole City’ จุดมุ่งหมายคือการเปลี่ยนทุกหนทุกแห่งในเมืองให้เป็นสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ (learning environment) ขนาดมหึมา ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกทำกิจกรรมได้โดยไม่ผูกติดกับเงื่อนไขของห้องเรียนหรือเวลาที่โรงเรียนเปิดทำการเท่านั้น
สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่หลากหลาย ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่มีคุณค่าของเมืองเฮลซิงกิ ห้องสมุด สวนสาธารณะ ป่า สนามเด็กเล่น พิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ถนน อาคารทางวัฒนธรรม และห้องสมุด ล้วนเป็นสถานที่เพื่อการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น ระหว่างช่วงเวลาเรียนครูสามารถพาเด็กๆ เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเพื่อไปยังแหล่งเรียนรู้ต่างๆ โดยได้รับการงดเว้นค่าโดยสารจากกระทรวงคมนาคม
กิจกรรมนอกห้องเรียนของนักเรียนในเมืองเฮลซิงกิ มิใช่เพียงการออกไปเปิดหูเปิดตานานทีปีหนแบบกิจกรรมทัศนศึกษา แต่เป็นกระบวนการสำคัญที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องคู่ขนานไปกับกิจกรรมในชั้นเรียน เด็กๆ สามารถมีส่วนร่วมกับเรื่องใกล้ตัว เช่น เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพยนตร์ หรือร่วมเสนอทางออกให้กับปัญหาจราจร
เฮลซิงกิมีโรงเรียนกีฬาประจำเมืองที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับสโมสรฟุตบอลและคณะกรรมการแข่งขันกีฬาระดับชาติ และยังมีโรงเรียนระดับก่อนอนุบาลที่ตั้งอยู่ในป่า หลังเลิกเรียนนักเรียนสามารถออกไปทำกิจกรรมตามสถานที่ต่างๆ ในเมือง สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่ติดตั้งแอปพลิเคชันไว้ ทำให้ครูรู้ว่านักเรียนอยู่ที่ไหน ในทริปเที่ยวป่า พวกเขาอาจพบพืชและแมลงมากมายที่ไม่รู้จัก แต่สามารถถ่ายภาพไว้เพื่อนำมาค้นคว้าต่อ
เงื่อนไขสำคัญที่สนับสนุนการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนให้มีคุณภาพไปพร้อมกัน คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต และแพลตฟอร์มที่ครูและผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้
ผู้เรียนทุกคนมีแฟ้มสะสมผลงานดิจิทัล (digital portfolios) เพื่อใช้กำหนดเป้าหมายและติดตามความก้าวหน้าในการเรียนรู้ ซึ่งทั้งผู้เรียน ครู และผู้ปกครองสามารถเรียกดูข้อมูลนี้ และสามารถแชร์ให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนได้เรียนรู้และให้ความคิดเห็น
เมืองได้จัดสรรแล็ปท็อปให้ครูและนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาทุกคน ส่วนนักเรียนอายุ 9-12 ปี มีคอมพิวเตอร์ 70 เครื่องต่อนักเรียน 100 คน นักเรียนอายุ 7-8 ปี มีคอมพิวเตอร์ 50 เครื่องต่อนักเรียน 100 คน ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในขณะที่แล็ปท็อปของนักเรียนชั้นเด็กเล็กจะถูกเก็บไว้ที่โรงเรียนหลังเลิกเรียน เพราะกิจกรรมที่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์สามารถทำเสร็จในชั้นเรียน พ่อแม่จึงไม่จำเป็นต้องหาซื้อคอมพิวเตอร์ให้เด็ก ที่สำคัญคืออุปกรณ์ต่างๆ จะได้รับการอัปเดตอย่างสม่ำเสมอและบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยเมืองเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล
การปฏิรูปการศึกษาที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาของเมืองเฮลซิงกิ สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2016 หลักสูตรการศึกษาของฟินแลนด์ถูกปรับให้เป็นการเรียนรู้แบบมีปรากฏการณ์เป็นฐาน (Phenomenon-based learning) ซึ่งได้รับการพิสูจน์ผ่านงานวิจัยแล้วว่าเหมาะสมกับศตวรรษที่ 21
อาคารเรียนที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ถูกออกแบบให้แตกต่างจากเดิม นักเรียนไม่มีห้องเรียนประจำ นั่งในห้องเรียนน้อยลง และได้รับการสนับสนุนให้ออกไปเรียนรู้นอกโรงเรียนมากขึ้น โดยเมืองทั้งเมืองเปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่า การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของผู้เรียนย่อมมีพลังและความหมายมากกว่าการเรียนรู้จากตำราหรือในห้องสี่เหลี่ยม
การเปลี่ยนฐานคิดทางการศึกษาครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนการสอน จากเดิมที่ครูเป็นศูนย์กลางไปสู่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เชิงลึกในประเด็นที่มีความซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมการเรียนการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน Pitäjänmäki ครูได้พานักเรียนไปออกไปเรียนรู้และหาประสบการณ์ตามสถานที่ต่างๆ ของเมืองเฮลซิงกิและเมืองใกล้เคียง ได้แก่ สวนสาธารณะกลางแห่งเฮลซิงกิ (Helsinki Central Park) โรงบำบัดน้ำเสียในย่านวีกกิ (Viikki) โรงเรียนด้านธรรมชาติที่เกาะฮารักกา (Harakka) เรียนรู้เกี่ยวกับการเดินเรือ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่ซัวเมนลินนา (Suomenlinna) ซึ่งเป็นป้อมปราการกลางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก พาไปเดินตลาดค้าปลา Helsinki Baltic Herring Market พาไปชมระบบกำจัดขยะของเสีย ไปจนถึงห้องจัดแสดงผังเมือง ย่านที่พักอาศัยกาลาซาตามา (Kalasatama) ซึ่งมีสถาปัตยกรรมหลายยุคสมัย ฯลฯ
“การเรียนรู้จากสถานที่อันหลากหลาย นำไปสู่แรงบันดาลใจในการถกเถียงอภิปรายข้ามศาสตร์สาขา ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ในเชิงลึก ยิ่งมีเวลามาก พวกเขาก็ยิ่งพูดคุยกันในประเด็นที่ยากขึ้นเรื่อยๆ และจดจำสิ่งต่างๆ ได้แม่นยำขึ้นอีกด้วย” คาติ อิมเมลลี-วานสกา (Kati Immeli-Vänskä) ครูชีววิทยา โรงเรียน Pitäjänmäki สะท้อนความเห็นที่เธอมีต่อแนวทางการเรียนรู้รูปแบบดังกล่าว เธอมองว่าเมืองเฮลซิงกิมีสิ่งแวดล้อมสำหรับการเรียนและการสอนที่สมบูรณ์แบบ
ด้วยองค์ประกอบต่างๆ ที่ว่ามา ทำให้เฮลซิงกิกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่มีปัจจัยแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้มากที่สุดในโลก บนหลักการที่เรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่ นั่นคือการคำนึงถึงโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันของประชากรทุกคน
ที่มา
The Most Functional City in the World [Online]
Whole city as a learning environment [Online]
The whole city is a learning environment! [Online]
Helsinki: the whole city as a learning environment [Online]
The whole city teaches [Online]