Learnlife สตาร์ทอัปผู้บุกเบิกโมเดลการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

1,657 views
6 mins
September 7, 2021

          แม้ความก้าวล้ำของเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมนุษย์ไปไกลแค่ไหน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน เยาวชนจำนวนไม่น้อยยังคงอยู่ภายใต้ ‘ระบบการศึกษาแบบเหมาโหล’ ที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรม

          ในขณะที่อีก 10 ปีข้างหน้า ระบบอัตโนมัติจะมีความชาญฉลาดจนสามารถเข้ามาแทนที่แรงงานกว่า 800 ล้านคน ในการทำงานประเภทซ้ำซากหรืองานที่มีมาตรฐานตายตัว และ 65% ของเยาวชนที่กำลังเติบโตจะทำงานในตำแหน่งงานที่ไม่เคยมีมาก่อน ความล้าสมัยของการศึกษาจึงกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการเตรียมความพร้อมคนรุ่นต่อไป

          ช่องว่างระหว่างอุดมคติกับสภาพการศึกษาที่เป็นจริง ได้นำพาให้นักนวัตกรรมการศึกษาและผู้นำการเปลี่ยนแปลงจากนานาชาติ รวมตัวกันก่อตั้งสตาร์ทอัปที่ชื่อว่า ‘Learnlife’ เพื่อร่วมกันคิดร่วมกันสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยกระบวนทัศน์แบบใหม่

‘โมเดลการเรียนรู้แบบใหม่’ ที่ใครๆ ก็นำไปปรับใช้ได้

          เมื่อปี 2015 โดย คริสโตเฟอร์ พอมเมอร์เรนนิง (Christopher Pommerening) นักธุรกิจชาวเยอรมันซึ่งพำนักอยู่ในบาร์เซโลนา เริ่มหันมาสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา เนื่องจากเขาและภรรยาในฐานะที่เป็นพ่อแม่ของเด็กๆ ทั้ง 3 คน พยายามมองหาการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับลูก แต่กลับพบว่ามีตัวเลือกน้อยเหลือเกิน

          คริสโตเฟอร์ และทีมงานใช้เวลา 2 ปี ค้นคว้าวิจัยกรณีศึกษาที่ดี มากกว่า 100 ตัวอย่างจากทั่วโลก เพื่อสังเคราะห์เป็นโมเดลการศึกษารูปแบบใหม่ โดยมีมุมมองเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตว่าเปรียบเสมือนการเดินทางไกล ควรขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายและความหลงใหลของปัจเจก เพื่อนำพาผู้เรียนให้สำรวจความสามารถใหม่ๆ เกิดความตระหนักรู้ในตนเอง มีความฉลาดทางอารมณ์ มีทักษะเชิงนวัตกรรม และมีความสามารถในการปรับตัวไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้า ด้วยเหตุนี้การเรียนรู้ส่วนบุคคล (personal learning) จึงเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ในอนาคต

          ผลจากการค้นคว้าวิจัยกรณีศึกษาทั่วโลก ถูกสังเคราะห์เป็นโมเดลการเรียนรู้ภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่ (new learning paradigm) แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน 21 ด้าน มีการจัดทำโรดแมปแต่ละด้านโดยละเอียดในลักษณะ open-sourced นักการศึกษาหรือชุมชนที่สนใจสามารถเลือกบางด้านไปใช้อย่างอิสระ ตามลักษณะเฉพาะของนิเวศการเรียนรู้แห่งนั้นๆ

          ขั้นที่ 1 เตรียมความพร้อมชุมชน บ่อยครั้งที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงมักมองไปข้างหน้า แต่ละเลยการเตรียมปัจจัยต่างๆ ให้พร้อมเสียก่อน ขั้นตอนนี้ว่าด้วยการจัดหาสารสนเทศเชิงลึกเกี่ยวกับการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่มีสุขภาวะ ในฐานะที่เป็นเงื่อนไขอันดับแรกของการพัฒนา ได้แก่ การสร้างพันธมิตร การสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ การมีวิสัยทัศน์และคุณค่าส่วนบุคคลที่ชัดเจน การพัฒนาความสัมพันธ์เชิงบวก การมีหลักคิดแบบเติบโต (growth mindset) การพัฒนาวิสัยทัศน์และวัฒนธรรมองค์กรเชิงบวก และการปรับวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เข้มแข็ง

          ขั้นที่ 2 ลงมือเปลี่ยนแปลง ว่าด้วยการเชื่อมโยงโลกการเรียนรู้แบบเก่ากับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ การมีความเป็นอยู่ที่ผาสุก การเรียนรู้แบบส่วนบุคคลและแบบกลุ่ม ระเบียบวิธีที่หลากหลาย การพัฒนาศักยภาพและทักษะ การออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ การเรียนรู้แบบผสมผสานทั้งแบบเผชิญหน้าและออนไลน์ และการประเมินผลการเรียนรู้แบบ 360 องศา

          ขั้นที่ 3 สร้างความยั่งยืน ว่าด้วยการสนับสนุนพิมพ์เขียวในการคิดใหม่ (reimagine) การริเริ่มสิ่งใหม่ (reinvent) และการปรับปรุงแก้ไข (reconstruct) อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาเป้าหมายการเรียนรู้ให้ยังคงสอดคล้องกับโลกศตวรรษที่ 21 ได้แก่ การจัดทำบันทึกความก้าวหน้าในการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การมีสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้และทรัพยากรที่สร้างสรรค์ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เพียบพร้อม การวิจัยและเสริมสร้างวิสัยทัศน์ และการเรียนรู้ 5 มิติ (การเรียนรู้ภายในตน ระหว่างบุคคล สังคม โลก และดิจิทัล)

‘ระเบียบวิธีใหม่’ ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

          มีงานวิจัยมากมายที่พิสูจน์แล้วว่า แนวทางการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-Centered Approaches) คือทางออกของการแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ Learnlife ได้คัดสรรระเบียบวิธีที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ยุคใหม่ เพื่อนำมาใช้เป็นทฤษฎีสนับสนุนการดำเนินงาน จำนวน 27 แนวทางด้วยกัน ตัวอย่างที่สำคัญเช่น

          Place-based learning เป็นแนวคิดการศึกษาที่อิงกับสถานที่ เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับบริบททั้งในระดับชุมชน และในระดับสังคมที่กว้างออกไป

          Experience-based learning เป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงให้กับผู้เรียนผ่านการใช้ประสาทสัมผัสและการลงมือปฏิบัติจนเกิดเป็นความรู้และความเข้าใจด้วยตนเอง

          Project-based learning มุ่งให้ผู้เรียนเกิดความรู้และทักษะจากการลงมือทำงาน ได้พบเจอปัญหาที่ซับซ้อน ตั้งคำถาม และหาวิธีแก้ไขจนพบคำตอบหรือทางออกของปัญหา

          Play-based learning ใช้การเล่นมาผสมผสานการเรียนรู้ให้เกิดความสนุก มีงานวิจัยสนับสนุนว่า การสอนแบบกำหนดให้เด็กทำตามสั่ง ไม่สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะหรือความต้องการที่จะเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learners) แต่การเล่นให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก

          Phenomenon-based learning เน้นการเรียนรู้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน และไม่มีพรมแดนของรายวิชามาขวางกั้น

          Learning by tinkering / making เป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือประดิษฐ์คิดค้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น โดยใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ต้นแบบ Learnlife ที่ประเทศสเปน

          หลังจาก Learnlife ทำงานในภาคทฤษฎีนานถึง 2 ปี ก็ถึงเวลาสร้างต้นแบบแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเป็นแห่งแรกที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เริ่มต้นในปี 2017 ใช้วิธีการบริหารจัดการแบบเดียวกับสตาร์ทอัป คือเปิดระดมทุนเพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้และการดำเนินงาน

          Learnlife ที่บาร์เซโลนา มีลักษณะเป็นศูนย์การเรียนรู้ในตัวเมือง (Urban Hub) ทำหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้นอกระบบการศึกษา มีจุดมุ่งหมายเพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้อย่างรวดเร็วและรุดหน้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวมีพื้นที่ราวๆ 1,200 ตารางเมตร เน้นสนับสนุนทักษะสำคัญในอนาคต เช่น การทำงานร่วมกัน การเรียนรู้ทักษะดิจิทัล การคิดเชิงวิพากษ์ และการแก้ไขปัญหา แม้ไม่ใช่โรงเรียน แต่ก็มีการจัดหลักสูตรแบบเต็มเวลา แบ่งเป็น 3 หลักสูตร ได้แก่

          1. หลักสูตรนักสำรวจ (explorers) เหมาะสำหรับผู้ที่หลงใหลในการเดินทางเพื่อค้นพบตนเองและโลกอย่างลึกซึ้ง ชอบค้นหาไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะต่างๆ มีความกระตือรือร้นที่จะต่อยอดความรู้ของตนอยู่เสมอ

          2. หลักสูตรนักสร้างสรรค์ (creators) บ่มเพาะผู้เรียนที่ต้องการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์  ความสามารถ และความมั่นใจ โดยร่วมเรียนรู้กับมืออาชีพในสายงานที่เกี่ยวข้อง

          3. หลักสูตรนักเปลี่ยนแปลงสังคม (changemakers) สำหรับผู้ที่พร้อมพัฒนาความรู้และความเข้าใจเพื่อแก้ปัญหาที่ท้าทาย โดยเน้นการประยุกต์เรื่องธุรกิจและเทคโนโลยี

          นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสริมในช่วงเย็นและวันเสาร์ เช่น เมกเกอร์ ดนตรี ศิลปะ รวมทั้งค่ายฤดูร้อนสำหรับเยาวชนอายุ 6-18 ปี

          พื้นที่อีกส่วนที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ คือศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ (Nature Hub) ตั้งอยู่ห่างจากเมืองบาร์เซโลนาออกไป 20 กิโลเมตร ท่ามกลางธรรมชาติของผืนป่าและชายหาด มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนผ่านการเรียนรู้จากธรรมชาติและชุมชน ครอบคลุมตั้งแต่การคิด-เป็น-กระทำ-สร้างความสัมพันธ์ และการดำรงอาศัยอยู่ในโลกใบนี้

           หลักสูตรเต็มเวลาเหมาะสำหรับเด็กอายุ 6-11 ปี แบ่งเป็นหลักสูตรผจญภัย (adventures) ค้นพบ (discovers) และบุกเบิก (pioneers) หลักสูตรละ 2 ปี กิจกรรมการเรียนรู้มีทั้งการสำรวจ การพบปะชุมชน การอ่าน การทำสวน การเรียนรู้ธรรมชาติ การพูดคุยเพื่อสะท้อนความรู้สึก และการแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรม

เครือข่ายการเรียนรู้ที่เริ่มผลิดอกออกผล

          นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2020 ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 การเรียนรู้ของ Learnlife ในสเปน ได้ปรับเปลี่ยนมาสู่รูปแบบออนไลน์ก่อนที่รัฐบาลประกาศปิดโรงเรียนและสถานศึกษาเพียง 3 วัน มีการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่แค่การเชื่อมโยงผู้เรียนในสเปน แต่ขยายไปสู่ผู้เรียนทั่วโลก โดยยังคงยึดตามโมเดลและกระบวนทัศน์การเรียนรู้แนวใหม่

          ทั้งนี้ ผู้เรียนที่เข้าร่วมหลักสูตรและกิจกรรมต่างๆ ของ Learnlife ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่กายภาพหรือออนไลน์ สามารถออกเอกสารรับรองการเรียนรู้ (lifelong learning portfolio) เพื่อใช้เป็นหลักฐานการเรียนรู้ในการศึกษาต่อและสมัครงาน

          ต้นแบบ Learnlife เป็นที่จับตามองของวงการการศึกษา และเริ่มส่งผลสะเทือนกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นโมเดลที่โรงเรียนหรือองค์กรใดก็ตามสามารถถอดแบบหรือนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม ปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ในเมืองฮัมบวร์ค และมิวนิค ประเทศเยอรมนี เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเมืองคิกาลี ประเทศรวันดา โดยมีแหล่งเรียนรู้ที่เป็นภาคีเครือข่ายอีกหลายแห่ง เช่น Casa da Vida ประเทศบราซิล The Learning Project Ibiza ประเทศสเปน และ REAL School ประเทศฮังการี

          Learnlife ตั้งเป้าหมายว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเกิดเครือข่าย Learnlife กระจายในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 2,000 แห่ง และมีผู้เรียนมากกว่า 100 ล้านคน


ที่มา

Learnlife [online] [online]

COVID-19 (and Learnlife) is What it Took to Change the Outdated Education Space [online]

Christopher Pommerening on the end of standardised learning [online]

Cover Photo by Alexander Dummer on Unsplash

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก