กลยุทธ์ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลลัพธ์และความสำเร็จของ 5 ประเทศชั้นนำด้านการศึกษา

2,896 views
6 mins
December 16, 2021

          การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้พลเมืองมีศักยภาพในการทำงานและขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งสามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุข

          แน่นอนว่าแต่ละประเทศ ย่อมมีแผนพัฒนาระบบการศึกษาที่แตกต่างกันไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทว่าหลายชาติที่ประสบความสำเร็จ มีปัจจัยหนึ่งที่เหมือนกันคือการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายระดับชาติอย่างชัดเจน พร้อมด้วยวิสัยทัศน์ที่มองไปยังอนาคต จนกระทั่งกลายเป็นแผนแม่บทให้หน่วยงานต่างๆ นำไปปฏิบัติอย่างมีทิศทาง ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นทั้งในแคนาดา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิสราเอล และเอสโตเนีย ซึ่งล้วนแต่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในระดับสูง และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

          สำรวจยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาจาก 5 ประเทศที่ว่ามา ซึ่งมีหัวใจสำคัญคือการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้บริบทและปัญหาเฉพาะตัว ตั้งแต่เรื่องสังคมผู้สูงวัย การขาดแคลนแรงงาน การเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ ให้ประชากร จนถึงการถูกบีบคั้นจากภาวะสงคราม

แคนาดา : มุ่งพัฒนาทักษะใหม่ กระตุ้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้คนทุกวัย

          แคนาดาเป็นประเทศที่มีประชากรผู้ใหญ่วัยทำงานในสัดส่วนสูงที่สุด เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม OECD เมื่อปี 2019 Royal Bank of Canada หรือ RBC ได้เผยแพร่งานศึกษาเรื่อง ‘Humans Wanted’ เพื่อส่งสัญญาณเตือนถึงรัฐบาล สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ และสาธารณชน ว่าหากไม่มีการทำอะไรสักอย่าง ภายใน 1-2 ทศวรรษข้างหน้า ชาวแคนาดาจะไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพ โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 แรงงานจำนวนมากกว่าร้อยละ 10-12 จะถูกแทนที่โดยเทคโนโลยี

          ด้วยเหตุนี้ แคนาดาจึงให้ความสำคัญกับการเตรียมให้พร้อมสำหรับตลาดแรงงานในอนาคต มีการกำหนดนโยบายการเรียนรู้แห่งชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดการสนับสนุนการเรียนรู้ของกลุ่มคนทำงานที่เป็นผู้ใหญ่ ให้มีทักษะเพิ่มเติมจากทักษะเดิม และสามารถรองรับงานในอนาคตได้ รวมทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์การศึกษา ‘Learn Canada 2020’ ซึ่งมุ่งยกระดับคุณภาพและโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวแคนาดาทุกคน

          ยุทธศาสตร์ดังกล่าว เป็นการปูทางไปสู่อีกหลายโครงการสำคัญเพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงาน เช่น ข้อตกลงด้านการพัฒนากำลังแรงงาน ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาทักษะ เพิ่มพูนประสบการณ์การทำงาน ไปจนถึงการริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ หรือโครงการ ‘Future Skills’ ที่มีบทบาทวิเคราะห์แนวโน้มสำคัญของโลก รวมทั้งทดสอบวิธีการและนวัตกรรมในการเตรียมชาวแคนาดาให้พร้อมกับการทำงานในอนาคต

          นอกจากนี้ ยังมีระบบ ‘Canada Training Credit’ ซึ่งแรงงานอายุระหว่าง 25-64 ปี จะได้รับเครดิตสำหรับฝึกอบรม 1,000 เหรียญแคนาดา เพื่อนำไปใช้สำหรับการเข้าฝึกอบรมในเรื่องที่ตัวเองสนใจ มีโครงการ ‘Youth Employment and Skills Strategy’ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้ารับการอบรมและฝึกทักษะจากการทำงานจริงในองค์กรต่างๆ โดยในปี 2017-2018 มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการนี้กว่า 80,000 คน

          ปัจจุบัน แคนาดาได้รับการจัดอันดับว่ามีมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รวมทั้งมีทรัพยากรมนุษย์อยู่ในระดับแนวหน้าของโลกเช่นกัน ผ่านตัวชี้วัดจากหลายสำนัก อาทิ ในปี 2018 ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index หรือ HDI) แคนาดาอยู่อันดับที่ 14 ของโลก หรือในปี 2019 ดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของโลก (Global Talent Competitiveness Index หรือ GTCI) แคนาดาอยู่ในอันดับที่ 15

ญี่ปุ่น : การศึกษา 5.0 ในยุคที่คนอายุยืนหนึ่งร้อยปี

          ประเด็นทางสังคมที่ท้าทายของญี่ปุ่นในปัจจุบัน คือเรื่องการพัฒนาผู้สูงอายุ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ โดยมีประชากรผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 27.2 และมีประชากรที่มีอายุเกินหนึ่งร้อยปีสูงเป็นประวัติการณ์ จำนวนกว่า 86,000 คน

          ทั้งนี้ รัฐบาลมีแนวทางพัฒนาให้ญี่ปุ่นเป็นสังคม 5.0 ที่มุ่งเน้น ‘IOT’ (Internet of Things) หมายถึง การที่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเชื่อมโยงสู่โลกอินเทอร์เน็ตผ่านเทคโนโลยียุคใหม่ โดยสิ่งนี้มีส่วนอย่างมากในการเข้ามาช่วยสนับสนุนชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรสูงวัย ขณะที่หน่วยงานด้านการศึกษา มีความพยายามส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจัดการศึกษาให้แก่ผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น

          ในภาพกว้างขึ้นมา ญี่ปุ่นมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งล่าสุดในปี 2018 หัวใจสำคัญคือการเตรียมพลเมืองเข้าสู่ปี 2030 อย่างมีความสุขและเท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เป็น ‘หลักสูตรไปสู่สังคม’ มุ่งพัฒนาคน 3 ข้อ คือ 1) ให้ทุกคนมีความรู้และทักษะในการทำงานประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอยู่ได้ 2) ให้นำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ โดยปลูกฝังให้เด็กมีความสามารถในการคิด ตัดสินใจ และแสดงความคิดเห็น และ 3) ให้มีการเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสังคม ให้กินดีอยู่ดี สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้และหล่อหลอมความเป็นมนุษย์

          ทิศทางการดำเนินนโยบายการศึกษาของญี่ปุ่น คือการลงทุนสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่โครงการ ‘Super Science High School’ เพื่อพัฒนาความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับโรงเรียน การสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็นพลเมืองโลกที่มีภาวะผู้นำ มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาสังคม มีความสามารถในการแก้ปัญหา และมีความสามารถในการสื่อสาร

          ส่วนในระดับอุดมศึกษา มีโครงการ ‘Super Global University’ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่แข่งขันได้ในระดับนานาชาติ และยังมีนโยบายลดจำนวนนักศึกษาสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ เพื่อผลิตนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น สอดคล้องกับอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีผลการสอบ PISA ในปี 2018 ในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน มากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ OECD

           ปัจจุบัน คุณภาพการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นนับว่าอยู่ในลำดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียนและการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีอัตราคนทำงานที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาสูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังเป็นประเทศมีการเตรียมพร้อมด้านการศึกษาและการพัฒนาทักษะผู้สูงอายุที่ดีที่สุดโลก

สิงคโปร์ : เปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจบนฐานความรู้ (Knowledge-based economy)

           สิงคโปร์เตรียมความพร้อมประชาชนให้สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยปักธงเรื่อง ‘dynamic future’ ให้เป็นเป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดวิสัยทัศน์ทางการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 ไว้ว่า ‘โรงเรียนแห่งการคิด ชาติแห่งการเรียนรู้’ (Thinking Schools, Learning Nation) ซึ่งหมายถึงการที่สิงคโปร์ต้องการปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่มีวิธีคิดที่พ้นไปจากกรอบเดิมๆ เพื่อแก้ปัญหาใหม่ๆ และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในอนาคต

          การให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยการเสริมทักษะดิจิทัล ได้รับการส่งสัญญาณที่ชัดเจนในปี 2014 เมื่อมีการเปิดตัวโครงการ ‘SkillsFuture’ มีเป้าหมายในการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ สนับสนุนโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ใหญ่วัยทำงานอย่างเท่าเทียม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

          ต่อมาในปี 2016 ได้เกิดโครงการ ‘SkillsFuture Credit‘ ตามมา มีเป้าหมายหลักคือการยกระดับความรู้และเสริมทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัลให้กับคนในประเทศ ชาวสิงคโปร์ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปจะได้รับเครดิตคิดเป็นเงิน 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อนำไปลงทะเบียนหลักสูตรพัฒนาทักษะใหม่ๆ โดยมีผู้ให้บริการในโครงการมากกว่า 500 ราย รวมกว่า 10,000 หลักสูตร ตั้งแต่ความรู้ทางการเงิน การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ การถ่ายภาพ ไปจนถึงการทำอาหาร มีการประเมินว่า ชาวสิงคโปร์ได้รับประโยชน์จากโครงการ SkillsFuture กว่า 380,000 คน ส่งผลลัพธ์เชิงบวกต่อภาคแรงงานและเศรษฐกิจ และจะทำให้เกิดวัฒนธรรมการศึกษาตลอดชีวิตที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ

          อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ สิงคโปร์มุ่งผลิตบุคลากรในสายอาชีวศึกษาเป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดแรงงานของประเทศ ทุกคนที่จบออกมาจะมีงานทำและเป็นที่ต้องการของบริษัท รวมทั้งผลักดันให้กลุ่มคนวัยทำงานได้รับการฝึกอบรม (Training) เพื่อพัฒนาทักษะความรู้อย่างต่อเนื่อง

อิสราเอล กับการก้าวสู่มหาอำนาจแห่งสตาร์ทอัป

          อิสราเอลเป็นประเทศที่เผชิญกับภัยสงครามมายาวนาน และมีการไหลบ่าของผู้อพยพจากกว่า 70 ประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่ง อิสราเอลได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ชาติแห่งสตาร์ทอัป’ เพราะมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความสามารถมากมาย และเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมชั้นนำของโลก

          ปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดจากการที่กระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมของอิสราเอล กำหนดแผนแม่บท ICT เพื่อการศึกษา (2010-2015) มีเป้าหมายเพื่อรองรับการผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมกับการมีทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นการพัฒนา 3 ด้านได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที การพัฒนาเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ในทุกรายวิชา เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนทั้งในแบบออฟไลน์และออนไลน์ และการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน

          ในแง่ของการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ รัฐบาลอิสราเอลทุ่มเทกับการลงทุนด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ควบคู่กับการบ่มเพาะบุคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์เป็นจำนวนมาก จนสามารถรองรับการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างเพียงพอ และเต็มไปด้วย Know-How สำหรับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งยังมีการผลักดันและสนับสนุนให้ภาคการศึกษาค้นคว้านวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งศูนย์ TTO (Technology Transfer Organization) เพื่อทำหน้าที่นำเทคโนโลยีจากในห้องทดลองมาทำให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนในเรื่องการจัดการสิทธิบัตร มีการจัดหาแหล่งเงินทุนจาก Venture Capital (VC) ปัจจัยเหล่านี้เอื้อให้เกิดระบบนิเวศของสตาร์ทอัปที่แข็งแรงและเป็นเอกลักษณ์

          กล่าวได้ว่า ความยากลำบากของสภาพแวดล้อมของประเทศ เป็นตัวเร่งความฉลาดและนวัตกรรมของผู้ประกอบการชาวอิสราเอล พวกเขามีความอดทนอย่างมากเมื่อเผชิญกับความทุกข์ยาก ดังคำว่า ‘Chutzpah’ หมายถึง กล้ารับความเสี่ยงและไม่กลัวความล้มเหลว ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของการเป็นผู้ประกอบการ

          ปัจจุบัน ผู้ประกอบการอิสราเอลสามารถสร้างงานวิจัยใหม่ ที่มีมูลค่าสูงกว่าจำนวนเงินที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเบื้องต้นถึง 2-3 เท่า และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมซึ่งสูงกว่าการลงทุนของภาครัฐ 5-10 เท่า นอกจากนี้อิสราเอลยังกลายเป็นประเทศเนื้อหอม ที่สามารถดึงดูดคนที่มีความสามารถทั่วโลกให้มาเรียนและทำงานในประเทศด้วย

เอสโตเนีย กับการพลิกโฉมสู่สังคมดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก

          เอสโตเนียเป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน มีการประกาศ ‘วาระดิจิทัลแห่งชาติ 2020’ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้พร้อมสำหรับการเติบโตของการเชื่อมต่อข้อมูลสารสนเทศยุคใหม่ และยกระดับบริการสาธารณะต่างๆ ให้เข้าถึงง่ายและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

          เอสโตเนียมีบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งสามารถใช้เป็นพาสปอร์ตเพื่อท่องเที่ยวทั่วยุโรป เป็นประเทศแรกที่มีการเลือกตั้งออนไลน์ได้จากที่บ้าน ประชาชนสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ด้วยบริการ Wi-Fi ฟรี สามารถใช้บริการด้านสุขภาพแบบดิจิทัลและรับใบสั่งยาดิจิทัล ขณะที่การทำธุรกรรมต่างๆ ก็สามารถทำได้สะดวกรวดเร็ว เช่น การเปิดบริษัท ใช้เวลาเพียง 20 นาที โดยใช้หลักฐานแค่บัตรประชาชนใบเดียว

          หลักสูตรของประเทศเอสโตเนียแตกต่างจากประเทศอื่น คือมีเนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในทุกระดับชั้น เด็กทุกคนมีทักษะในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ ทั้งยังสร้างโอกาสในการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ให้เพิ่มพูนความสามารถด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและช่วยทำให้งานมีประสิทธิผลมากขึ้น

          มีการกำหนดยุทธศาสตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิต 2020 ที่มีจุดมุ่งหมาย 5 ประการ คือ เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ โดยกำหนดหลักสูตรแห่งชาติที่ทันสมัย สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม เน้นความคิดสร้างสรรค์ การคิดแบบมีตรรกะ และภาษาอังกฤษ  สร้างความสามารถและแรงจูงใจครูและผู้บริหารโรงเรียน โดยปรับฐานเงินเดือนครูให้สูงขึ้นและให้อิสระอย่างเต็มที่กับครูในการสอน สร้างโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้ทุกเขตมีโรงเรียนสายอาชีพให้ทุกคนเข้าถึงและเดินตามฝันได้ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศ เน้นเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถเข้าถึง E-learning 100% ทั่วประเทศ สร้างความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในรูปแบบสวัสดิการทางสังคม เช่น นักเรียนทุกคนได้เรียนฟรี ได้รับอาหารกลางวันฟรี และยังมีทุนการศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

          ในวันนี้ เอสโตเนียกลายเป็นสังคมดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก และเมืองหลวง ‘ทาลลินน์’ ได้รับเลือกให้เป็นชุมชนอัจฉริยะแห่งปี 2020 โดยประชากรกว่า 30% หรือราว 400,000 คน ทำงานในสายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต


ที่มา

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2564). ดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ. 2563. กรุงเทพฯ

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2564). รายงานวิจัย เรื่อง การติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวีตของประเทศไทย. กรุงเทพฯ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก