จิราวรรณ คำซาว : ‘ทุ่งกับดอย’ แปลงทดลองเกษตรอินทรีย์ เปลี่ยนวิถีเกษตรชุมชน

396 views
7 mins
May 4, 2023

          ‘มล-จิราวรรณ คำซาว’ อดีตนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ หนึ่งในคนรุ่นใหม่ผู้เปลี่ยนวิถีเกษตรชุมชนของอำเภอเชียงดาว ผ่านความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรมานานกว่า 10 ปี เธอเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ‘ทุ่งกับดอย’ และยังเป็นผู้นำ ‘แก๊งค์ถิ่นนิยม’ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากพัฒนาบ้านเกิดผ่านการให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติ ฝันใหญ่คือยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่ สร้างความยั่งยืนให้ระบบนิเวศ แต่ฝันส่วนตัวคือการมีชีวิตที่ดีและมีคุณภาพ

          “จริงๆ แล้วมลเกิดที่นี่ค่ะ” เธอหมายถึงเชียงดาว เมืองภูเขาในจังหวัดเชียงใหม่

          “เกิดที่นี่ตั้งแต่เด็ก พ่อแม่เป็นเกษตรกร เราทำเกษตรมาตั้งแต่เด็ก เรียนรู้ตั้งแต่ปลูกข้าวปลูกถั่ว บ้านของเราอยู่ติดกับป่า เราเข้าป่ากับปู่กับพ่อบ่อยมาก เพราะฉะนั้นเราก็จะมีทักษะเรื่องการอยู่กับป่า รู้เรื่องพืชสมุนไพร มันสนุกมาตั้งแต่เด็กแล้ว เมื่อโตขึ้นมากิจกรรมเหล่านี้มันซึมซับเข้าไปในตัวเรา ก็เลยมีความชอบในเรื่องของการสำรวจ มีนิสัยคล้ายกับนักวิทยาศาสตร์”

          เค้าลางของ ‘ทุ่งกับดอย’ ปรากฎให้เห็นผ่านเรื่องเล่าในวัยเยาว์ของมล แต่ก็คงเช่นเดียวกับเด็กทุกคนที่ทุ่งนาตอนกลางวันมักจะทำให้ท้อใจ เพราะแสงแดดร้อนแรงเหลือเกิน – บ้านนี้เมืองนี้

          “ทำเกษตรไประยะหนึ่ง ก็รู้สึกว่ามันทั้งเหนื่อยและร้อน มันจะมีช่วงหนึ่งที่งานมันต้องทำตอนแดดจัดๆ ก็รู้สึกว่าไม่ชอบ พ่อแม่ก็บอกว่าถ้าไม่ชอบแดดร้อนงานหนักแบบชาวนาก็ต้องไปเรียนสูงๆ สิ”

          …และเธอก็เชื่อฟังพ่อแม่

          มลเรียนจบปริญญาตรีด้านชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ต่อด้วยปริญญาโทด้านเทคโนโลยีชีวภาพ หลังจากนั้นก็เป็นนักวิจัยที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อยู่ 2 ปี แม้จะเดินหนีทุ่งกับดอยมาไกลเพียงใด เธอก็หนีไปไหนไม่พ้น เพราะงานของเธอต้องข้องเกี่ยวกับการส่งเสริมการเกษตร เพียงแต่เธอใช้เครื่องมือที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์

          “รู้สึกว่าตัวเองไม่ชอบทำงานที่อยู่ในห้องแล็บ เลยพยายามหางานที่ต้องออกนอกพื้นที่ ไปทำงานเกี่ยวกับการเกษตร คือการศึกษาวิจัยเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง ก็เลยได้เดินทางไปทั่วประเทศ แต่ละที่เราใช้หลักวิทยาศาสตร์เพื่อจะเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกพืชให้ได้ผลผลิตเยอะๆ”

          งานนี้ทำให้มลเก็บเกี่ยวประสบการณ์และมองเห็นปัญหาของเกษตรกร ก่อนที่จุดเปลี่ยนในชีวิตจะทำให้เธอได้นำประสบการณ์การทำงานออกมาใช้พัฒนาการเกษตรในบ้านเกิดของตนเอง

จิราวรรณ คำซาว : ‘ทุ่งกับดอย’ แปลงทดลองเกษตรอินทรีย์ เปลี่ยนวิถีเกษตรชุมชน

          จุดเปลี่ยนที่ว่านั้นก็คือเรื่องอาหารการกิน ด้วยความที่เธอเป็นคนสายคลีน แต่วันหนึ่งเมื่อไปตรวจสุขภาพกลับพบว่ามีสารพิษในเลือดเข้มข้นถึงระดับ 4

          “เป็นสาย Healthy ค่ะ เราชอบกินผัก กินน้ำผักปั่น แต่พอไปตรวจเลือด แล้วพบสารพิษสูงถึงระดับ 4 ลงไปสำรวจเด็กในชุมชนที่ชอบกินผักก็ตรวจพบค่าสารพิษในเลือดอยู่ในระดับ 3 ระดับ 4 กันแทบทุกคน แต่คนที่ไม่ชอบกินผัก กินแต่หมู กลับไม่มีสารพิษในเลือด เราก็เลย อ๋อ…”

          มลมองย้อนกลับมายังวิถีการผลิตของชุมชนบ้านเกิดของเธอ เกษตรกรในเชียงดาวนั้นไม่ได้ต่างไปจากเกษตรกรทั่วประเทศ แทบจะไม่มีสินค้าเกษตรใดในพื้นที่ที่ปลอดสารพิษ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังใช้ยาฆ่าหญ้า ใช้ปุ๋ยเคมี ถึงแม้ชาวนาจะทั้งจนและป่วย แต่ชุมชนกลับไม่ได้รู้สึกกังวลหรือตระหนักถึงเรื่องสารปนเปื้อนในอาหาร

          จากจุดนี้ เธอมาคิดวิเคราะห์และเห็นว่าการจะเปลี่ยนความเชื่อของผู้ผลิตหรือวิถีการเพาะปลูกของเกษตรกรที่หยั่งรากกันมาช้านานจนกลายเป็นความเคยชินไปแล้วให้ได้นั้น จำเป็นต้องเริ่มจากตลาดและผู้บริโภคเสียก่อน หากตลาดมีความต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพ ก็จะส่งผลหรือมีแรงกดดันมายังผู้เพาะปลูกให้ลดเลิกการใช้สารเคมี และหันมาผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ในที่สุด

          เธอจึงเริ่มต้นด้วยการวางแผนสร้างตลาดและกระตุ้นความต้องการสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพ และเป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัท ‘CNX Healthy Products’ เพื่อวิจัย ผลิต และจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ ขณะเดียวกันก็ริเริ่มทำศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบวงจร ‘ทุ่งกับดอย’ ขึ้นมา เพื่อให้เป็นพื้นที่ในการทดลองปลูกพืชเกษตรอินทรีย์และการวิจัยด้านจุลชีววิทยาเพื่อพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน โดยหวังให้องค์ความรู้จากแปลงทดลองนี้ถูกนำไปขยายผลในพื้นที่เพาะปลูกจริงทั่วทั้งอำเภอ

          วัตถุดิบหลักที่ใช้ตั้งต้นในการวิจัยทดลองคือ ข้าว และเธอเลือกที่จะพิสูจน์แนวคิดเกษตรวิถีใหม่นี้โดยเริ่มจากคนที่ใกล้ตัวที่สุด นั่นคือ พ่อของเธอเอง

          “ในวันที่เริ่มต้นจะทดลองปลูกข้าวโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี พ่อก็ไม่เชื่อหรอกค่ะว่าจะสำเร็จ” มลเล่า

          “เราควรจะกินอาหารให้เป็นยา ไม่ใช่กินยาเป็นอาหาร ใช่ไหม เราต้องการกินอาหารที่ดี แต่อาหารที่เรากินทำไมถึงปนเปื้อนได้ขนาดนี้ ก็เลยกลับมาดูที่กระบวนการผลิต และได้ข้อสรุปว่าจะต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงกันตั้งแต่ต้นทางกันเลย นั่นคือ ‘ดิน’ที่ใช้ในการเพาะปลูกต้องไม่ใช้สารเคมี ต้องลดเลิกการใช้ปุ๋ยเคมีกับดิน ทีนี้ถามว่าแล้วใครล่ะจะเปลี่ยนแปลงวิธีการเพาะปลูกโดยไม่พึ่งพาสารเคมี คนนั้นก็ไม่พร้อม คนนี้ก็ไม่เปลี่ยนหรอก ภาระหนี้สินเขาก็มี ไม่มีใครยอมเปลี่ยนสักคน งั้นเรามาทำเองก็ได้ เริ่มจากการปรับเปลี่ยนดิน”

          กระบวนการปรับสภาวะดินในแปลงเกษตรอินทรีย์ ‘ทุ่งกับดอย’ เริ่มต้นจากการทดลองปลูกข้าวโดยไม่พึ่งปุ๋ยเคมี เธอทุ่มเทด้วยตนเองจนกระทั่งได้ผลผลิตออกมาและสามารถขายได้ – แน่นอนว่าไม่มากเท่าที่เคยได้ – แต่เป็นเพราะเธอได้สร้างช่องทางการจำหน่ายไว้แล้ว จึงพอจะมีรายได้จากการขายให้เห็นเป็นรูปธรรม

          จุดประสงค์หลักของ ‘ทุ่งกับดอย’ อาจจะอยู่ตรงนี้เอง นั่นคือการทดลองลงมือทำจนเห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ พิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าการปลูกข้าวโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีนั้นสามารถขายได้ มีผู้ซื้อในตลาด มีช่องทางจำหน่าย ที่สำคัญคือมีความยั่งยืนมากกว่า

          เมื่อชาวบ้านและเกษตรกรใกล้เคียงรับรู้ ก็เริ่มเปิดใจ และเกิดไอเดียอยากทดลองปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ชนิดอื่นบ้าง ใครต่อใครจึงมาใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นสถานที่เรียนรู้ ช่วยกันศึกษาทดลอง และแบ่งปันความรู้ จนเกิดเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ที่สามารถนำความรู้ไปใช้จริงในพื้นที่เพาะปลูกของทุกคน

จิราวรรณ คำซาว : ‘ทุ่งกับดอย’ แปลงทดลองเกษตรอินทรีย์ เปลี่ยนวิถีเกษตรชุมชน

          อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ปริมาณ ผลผลิตจากการปลูกพืชอินทรีย์ย่อมไม่สูงเหมือนกับการปลูกพืชแบบใช้สารเคมีเข้มข้น การเพิ่มมูลค่าสินค้าและการตลาดจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน

          “เมื่อเรามีแปลงเกษตรอินทรีย์ที่เราเป็นคนลงมือทำการเพาะปลูกด้วยตัวเองแล้ว เราก็อยู่คนเดียวตามลำพังไม่ได้ เพราะพื้นที่ของมลหรือของเกษตรกรแต่ละคนไม่สามารถปลูกพืชได้ทุกชนิด และก็ไม่สามารถปลูกพืชแต่ละชนิดให้มีปริมาณมากพอกับการสร้างตลาดให้มีขนาดใหญ่ ยิ่งพอเราตัดสินใจเปิดบริษัทเพื่อที่จะแปรรูปสินค้าเกษตร นั่นหมายความว่าเราต้องมีเพื่อนเพื่อที่จะรวมผลผลิตทางเกษตรให้มีปริมาณมากและหลากหลายพอที่จะเอาไปแปรรูปเป็นสินค้าด้วย”

          “เริ่มต้นเราทำบริษัท CNX healthy products เพื่อที่จะแปรรูปและขายสินค้าเกษตรแนว Healthy แต่พอทำไปได้สักพักนึง งานของบริษัทมันกลายเป็นการพัฒนากลุ่มชาวบ้าน มีงานอีเวนต์เรื่องการเกษตร จัดอีเวนต์เพื่อเชื่อมผู้ผลิตและผู้บริโภคจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ให้ผู้ซื้อมาเจอเกษตรกรโดยตรง กิจกรรมของเรากลายเป็นศูนย์รวมของอะเวนเจอร์ในแต่ละพื้นที่ ก็เลยมารวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมาชื่อว่า แก๊งค์ถิ่นนิยม”

          ‘แก๊งค์ถิ่นนิยม’ หมายถึงคนที่ภูมิใจในถิ่นของตัวเอง รักในถิ่นของตัวเอง มีความนิยมชื่นชอบในถิ่นของตัวเอง และอยากพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง กิจกรรมของกลุ่มนี้นอกจากอีเวนต์ที่เน้นการเรียนรู้และส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรอินทรีย์แล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับเด็กๆ อีกด้วย ไม่เพียงแต่เด็กในชุมชนจะได้รับการปลูกฝังจิตสำนึกและความรู้เรื่องของการเกษตรอินทรีย์ ยังเป็นโอกาสที่เด็กๆ และครอบครัวที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นจะคัดสรรผลผลิตทางการเกษตร นำเอามาขายเพื่อเป็นแหล่งรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ภายใต้ชื่อแบรนด์ ‘Tinniyom Selected’

          “ก่อนที่จะรักและภูมิใจในถิ่นของตัวเอง ทุกคนต้องรู้ก่อนว่าท้องถิ่นของตัวเองมีอะไรบ้าง ดังนั้น กิจกรรมของ ‘ถิ่นนิยม’ จึงผนวกเอาเรื่องพวกนี้เข้ามา เช่นโครงการ ‘เชียงดาวคลาสรูม’ เป็นการเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติผ่านค่าย ผ่านทริปท่องเที่ยว เราอยากสื่อสารกับคนในชุมชนว่าทรัพยากรบ้านเรามีอะไรบ้าง เมื่อทุกคนรู้แล้วว่ามีอะไร มีมากหรือน้อยเท่าไร จากนั้นจึงจะไปต่อยอดในเรื่องของการจัดการความรู้ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อช่วยจัดการทรัพยากรที่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความยั่งยืน”

          “จุดประสงค์ของเราไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกินหรือสิ่งแวดล้อม มันเป็นเรื่องเดียวกัน เราอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าทรัพยากรม่ีจำกัด เมื่อเขาเข้าใจและเห็นความสำคัญ เขาจะเคารพและเกิดความตระหนักรู้ อยากจะปกป้องสิ่งนี้ เขาจะลุกขึ้นมาทำทุกอย่างเพื่อปกป้องโดยที่เราไม่ต้องบอก เพราะเขาตระหนักแล้วว่ามันสำคัญมากเพียงใด”

          สิ่งที่มลลงมือทำในบ้านเกิดที่เชียงดาวนั้นมีความหลากหลายและเชื่อมโยง เป็นสหวิทยาการหากมองจากสายตานักการศึกษา เป็นความยั่งยืนของทรัพยากรหากมองจากสายตานักนิเวศวิทยา เป็นความยั่งยืนของชีวิตหากมองจากสายตาของผู้คนในวิถีเกษตร และเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงหากมองจากสายตานักเคลื่อนไหวทางสังคม

          แต่สำหรับตัวเธอเองแล้ว บทสรุปของสิ่งที่ทำมาจากความเชื่อ ณ จุดเริ่มต้นว่า…

          “มันคือกระบวนการสร้างค่านิยมให้กับผู้บริโภคสินค้าเกษตร เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยม สุดท้ายผู้ผลิตหรือเกษตรกรก็ต้องปรับเปลี่ยนตาม”

          นี่คือความเชื่อของมล และเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน ‘ทุ่งกับดอย’

จิราวรรณ คำซาว : ‘ทุ่งกับดอย’ แปลงทดลองเกษตรอินทรีย์ เปลี่ยนวิถีเกษตรชุมชน


บทความนี้ปรับปรุงจากการสัมภาษณ์ในรายการ Coming to Talk เผยแพร่ครั้งแรกทาง TK Podcast เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ฟังบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ https://www.thekommon.co/comingtotalk-ep49/

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก