คำอธิบายฉบับย่อของสถานที่แห่งนี้คือโปรเจกต์หมู่บ้านแห่งความฝัน (Zhoushan House of Dreams) จากถ้ำ 19 ถ้ำและลานกว้างอีก 3 แห่งในโจวซาน เมืองที่ตั้งอยู่บนหมู่เกาะทางด้านตะวันออกของประเทศจีน ‘บ้านแห่งความฝัน’ นี้ ชุมชนผู้สูงอายุช่วยกันตั้งขึ้นมาเพราะที่นี่เคยเป็นบ้านของพวกเขาในวัยเด็ก ดังนั้นหมู่บ้านนี้จึงถูกสร้างขึ้นมาด้วยฝีมือและไอเดียของผู้สูงอายุกว่า 80 คน
ไม่ใช่แค่ไอเดีย แต่ลุงๆ ป้าๆ ที่เคยอาศัยอยู่ในถ้ำนี้มาตั้งแต่ยังเล็กยังเป็นผู้ออกแบบและลงมือก่อสร้างหมู่บ้านด้วยตัวเองผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม เจ้าของโปรเจกต์หลัก คือชุมชนโจวชาน (Zhoushan Community Group) และ In-situ Project องค์กรไม่แสวงหากำไรภายใต้โรงเรียนออกแบบของมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิค ฮ่องกง (The Hong Kong Polytechnic University School of Design) และมหาวิทยาลัยเซินเจิ้น (Shenzhen University) ที่ทำงานด้านการพัฒนาชุมชน ออกแบบก่อสร้าง เวิร์กชอปเชิงสังคมในพื้นที่ชนบทมาตั้งแต่ปี 2015 ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศจีน
“คนท้องถิ่นจำนวนมากเริ่มจะหลงลืมวิถีชีวิตแบบถ้ำยุคโบราณ เพราะเห็นว่ามันตกยุคแล้ว แต่ในระหว่างกระบวนการบูรณะ ชุมชนก็เริ่มมองมุมใหม่ผ่านความสงสัยใคร่รู้และความสนใจในวิถีดั้งเดิม นี่จึงเป็นสิ่งที่ช่วยฟื้นฟูความมั่นใจในวัฒนธรรมของพวกเขา” กัว จื่ออี๋ (Kuo Jze Yi) ผู้ร่วมก่อตั้ง In-situ Project กล่าว
หมู่บ้านนี้ไม่ได้เน้นการออกแบบที่เนี้ยบกริบ เพราะต้องการพัฒนาทักษะในการเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลและออกแบบของคนในชุมชน In-situ Project ทำงานใกล้ชิดและเน้นประโยชน์สูงสุด ประหยัดที่สุด เป็นส่วนผสมระหว่างการออกแบบและสังคมศาสตร์ที่มุ่งเป้าไปที่การกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นรับเรื่องความยั่งยืนไปปฏิบัติจริง ดังนั้นการนำใช้วัสดุใกล้ตัวมาใช้ เช่น ขวดน้ำใช้แล้ว พลาสติก ของใช้ในบ้านเก่าๆ ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ เสริมสร้างทักษะเชิงช่างให้กับชาวบ้าน เนรมิตถ้ำทิ้งร้างให้เป็นที่อยู่ใหม่และหลากหลายรูปแบบ ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับย่านนั้นๆ
“เราไม่ได้พยายามจะสร้างนวัตกรรมโครงสร้างอะไร แต่เราแค่สนุกไปกับการทำงานร่วมกับหน่วยงานก่อสร้างพร้อมกับค้นหาการอยู่อาศัยกับถ้ำโบราณนี้ในมุมมองที่หลากหลาย” เขาเสริม
แนวคิดในการนำวัสดุรอบๆ หมู่บ้านมาใช้จึงเรียบง่าย นั่นคือการทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบไปในตัวและสร้างสรรค์ระบบนิเวศที่หมุนเวียน
ที่น่าสนใจคือแนวทางนี้ยังสร้างความทรงจำร่วมให้กับผู้สูงอายุในบ้านแห่งความฝันหลังใหญ่นี้ผ่านวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้ว แต่เป็นวัสดุในความทรงจำ ขวดแก้วต่างๆ ที่มีคุณค่าและความหมายต่อผู้สร้างจะถูกฝังเข้าไปในสถาปัตยกรรมที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าเพื่อกระตุ้นความทรงจำของผู้อยู่อาศัยที่ตัวเลขอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่า ‘ถ้ำ’ ไม่ใช่สถานที่ที่ง่ายต่อการฟื้นฟูหรือก่อสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ In-situ Project ยังยืนหยัดที่จะบูรณะถ้ำทั้ง 19 แห่งให้กลายเป็นห้องรับแขก ห้องประชุม ห้องจัดแสดงนิทรรศการ รวมไปถึงครัวชุมชน ห้องอาหาร และเวิร์กชอปงานคราฟต์ โดยที่พื้นที่ทั้งหมดเชื่อมกันด้วยลานกว้าง 3 ลานที่เต็มไปด้วยต้นไม้ และตัวหมู่บ้านนี้ก็ถูกสร้างมาตั้งแต่เฟสแรก (ปี 2017) ที่วางเป้าหมายให้หมู่บ้านอื่นๆ นำรูปแบบของเกสต์เฮาส์ ครัวชุมชน พื้นที่อเนกประสงค์ หรือการอบรมไปใช้ได้ด้วย
ลุง ป้า นา อาในชุมชนคือผู้ที่มาร่วมออกแบบและอยู่ในทุกกระบวนการ และในเฟส 2 (ปี 2020) ซึ่งถือเป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมแบบเต็มขั้น พวกเขาก็เริ่มอยากค้นหาวิธีการต่างๆ ในการพัฒนาบ้านตัวเองผ่านคำแนะนำของหัวหน้าโครงการ และเข้าร่วมการอบรมกว่า 20 งาน ประชุมกับมหาวิทยาลัย โรงเรียนมัธยมศึกษา หรือแม้กระทั่งหน่วยงานจากรัฐบาล รวมทั้งบริจาคข้าวของส่วนตัวที่เก็บสะสมไว้กว่าหลายสิบปี และวัสดุเหลือใช้อื่นๆ ก็ถูกเก็บมาจากพื้นที่ในแถบนั้น เช่น ขวดน้ำ กระเบื้อง หม้อเซรามิก ศิลาชนิดพิเศษ
หรือแม้แต่กรอบประตูจากป้าบ้านนั้น ตัวหมากรุกของเด็กอีกบ้าน
“ระหว่างกระบวนการ ชาวบ้านได้โอกาสสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับวัฒนธรรมของพวกเขาอีกครั้ง การปรับปรุงเทคนิคในการก่อสร้างโดยที่ไม่ทอดทิ้งวิถีดั้งเดิมทำให้พวกเขาเข้าใจลึกซึ้งในวิถีและวัฒนธรรมของตนเอง ดังนั้นการที่เราเน้นเรื่องวัฒนธรรมและผู้คน จึงเป็นการพยายามที่จะแก้ปัญหาเชิงสังคมในเรื่องอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เริ่มจะถูกละเลยไปตามเวลา
ชาวบ้านวาดภาพหยินหยาง ในสิ่งก่อสร้างมีหินอ่อนที่เจ้าของคือบ้านข้างๆ ผู้คนต่างต้องการที่จะแบ่งปันประสบการณ์และไอเดียของตัวเอง เรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของหมู่บ้านนี้” กัวจื่ออี๋กล่าว
ผลงานที่สนใจในเฟสนี้คือลานกว้าง 2 ลานพร้อมห้องนอน 8 ห้อง ห้องอาบน้ำและห้องซักผ้า 2 ห้อง หนึ่งพื้นที่จัดแสดงงาน หนึ่งห้องเรียนที่จุคนได้ 60 ชีวิต และยังมีร้านค้าชุมชนอีกด้วย
ถ้ามองจากด้านหน้าหมู่บ้าน เราจะเห็นการตกแต่งที่ค่อนข้างโดดเด่นในทางสถาปัตยกรรม รายละเอียดเหล่านั้นเต็มไปด้วยการลงแรงจากผู้สูงอายุที่ไม่มีทักษะเชิงช่างหรือการก่อสร้างใดๆ เลย แต่มีทักษะเหล่านี้ขึ้นมาผ่านการทำงานร่วมกันหลายปี และเมื่อเดินเข้าไปด้านใน ทุกซี่ไม้และการดีไซน์ก็ตะโกนเสียงดังให้เห็นถึงความตั้งใจและความไม่เหมือนใคร
เฟสสุดท้ายจึงเป็นการทำงานกับชุมชนอย่างเข้มข้นและตรวจสอบความปลอดภัย คุณภาพของสิ่งก่อสร้าง และคุณภาพชีวิต
ฝึกฝนการออกแบบและสถาปัตยกรรมที่จะสร้างคุณค่าให้กับชุมชนมนุษย์ สร้างหมู่บ้านเหนือถ้ำร้างและเปลี่ยนระบบนิเวศของพื้นที่แถบนั้นให้มีชีวิตและมีการเคลื่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรมที่ทุกคนได้มาอยู่ในพื้นที่ที่ตัวเองสร้าง เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของชีวิตและประวัติศาสตร์ของอนาคต
หมู่บ้านแห่งความฝันได้รับรางวัล Grand Prize จาก Seoul Design Awards ในปี 2021 และเป็นผู้ชนะรางวัลด้านสังคมจาก AZ Award ในปี 2022
ที่มา
บทความ “House of Dreams” จาก architectureindevelopment.org (Online)
บทความ “House of Dreams” จาก seouldesignaward.or.kr (Online)
บทความ “The Development of the Village is also a Participatory Platform for Creation” จาก ccmccf.org.hk (Online)
เว็บไซต์ Insitu Project (Online)