จำเป็นหรือไม่ที่การออกแบบห้องสมุดให้น่าใช้บริการ จะต้องดูล้ำสมัยหรือมีเฟอร์นิเจอร์หรูหราเสมอไป?
ผลการประกาศรางวัล Design Educates Award ประจำปี 2564 อาจเป็นเรื่องพลิกล็อคที่หลายคนคิดไม่ถึง เมื่ออาคารที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นห้องสมุดเล็กๆ ในชนบทของจีนที่แสนเรียบง่าย ภายในไม่มีโซฟานุ่มสบายหรือแม้แต่เก้าอี้ มีเพียงที่นั่งซึ่งทำจากก้อนหินและเสื่อที่ทอจากฟาง
ห้องสมุดธรรมชาติเจ้อสุย (Zheshui Natural Library) ตั้งอยู่ในมณฑลชานซี ท่ามกลางภูมิประเทศสูงชันของเขาไท่หาง การออกแบบห้องสมุดได้แรงบันดาลใจมาจากวิธีการก่อสร้างบ้านเรือนแบบดั้งเดิมในท้องถิ่น ด้านหนึ่งของอาคารเกาะเกี่ยวอยู่กับผาหินบนเชิงเขา ถูกแปลงสภาพให้กลายเป็นที่นั่งอ่านหนังสือจากวัสดุธรรมชาติ ชั้นหนังสือทำจากไม้ นอกจากเป็นที่เก็บหนังสือแล้วยังช่วยค้ำยันไหล่เขาด้วย ส่วนผนังฝั่งที่หันเข้าหาลำธารกรุด้วยกระจก ช่วยให้แสงสว่างจากธรรมชาติส่องเข้ามาในอาคารได้เต็มที่
จุดเล็กๆ ที่น่าประทับใจคือ ต้นไม้สูงตระหง่านที่ตั้งขวางด้านหน้าห้องสมุดไม่ได้ถูกกำจัดออกไป แต่ผู้ออกแบบได้เจาะพื้นและหลังคา เพื่อให้สถาปัตยกรรมแห่งนี้รบกวนสภาพแวดล้อมธรรมชาติน้อยที่สุด
ห้องสมุดธรรมชาติเจ้อสุย เป็นผลงานการออกแบบของ LUO Studio ก่อตั้งโดย หลัว หยู้เจีย (Luo Yujie) ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบที่เป็นมิตร ใส่ใจต่อธรรมชาติ และสะท้อนถึงจิตวิญญาณของช่างฝีมือ เขาเคยฝากผลงานที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในวงการการออกแบบอย่าง ‘Shared Lady Beetle’ ห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับเด็กที่มีรูปลักษณ์เป็นแมลง ขับเคลื่อนช้าๆ ด้วยแรงถีบ ทำหน้าที่เป็นห้องเรียนขนาดย่อมสำหรับเด็กในชุมชน
LUO Studio ยังมีผลงานการออกแบบในลักษณะที่คล้ายคลึงกันอีกหลายแห่ง เช่น ศูนย์บริการสาธารณะ หมู่บ้านหยวนเหอกวน (Yuanheguan) มีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นห้องสมุด รวมถึงศูนย์ประสบการณ์ชีวิตหลงฟู่ (Longfu Life Experience Center) ที่มีความโดดเด่นเรื่องโครงสร้างอาคารไม้ที่สวยงามและให้ความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ
ที่มา
บทความ “Luo Studio Beijing” จาก world-architects.com (Online)
บทความ “Zheshui Natural Library” จาก designeducates.com (Online)
Cover Photo: Jin Weiqi