‘ทำไมเราไม่ฟังกัน’ เมื่อเราแค่ได้ยินเสียง แต่ไม่ได้ฟังเรื่องราว

7,462 views
5 mins
July 19, 2022

ครั้งหนึ่งผมเคยลงไปเก็บข้อมูลเพื่อเขียนเรื่องราวของ Sex Worker ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ตอนอยู่ที่เบตง จังหวัดยะลา ได้มีโอกาสพูดคุยฟังเรื่องราวชีวิตของพี่ผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเดินทางบนถนนสายนี้ไกลและนาน ภูมิลำเนาเป็นชาวเหนือ ถูกชีวิตซัดเซให้ระเหระหกไปตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ไกลสุดคือ สิงคโปร์ ต้องหาทางหนีจากพวกค้ามนุษย์ และผ่านอีกหลายเรื่องราวกว่าจะมานั่งอยู่ต่อหน้าผม เธอเล่าประสบการณ์มากมายด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และอารมณ์ขัน

แต่ก็เหมือนที่ใครๆ ต่างพูดกัน สายตาไม่อาจโกหกความรวดร้าวที่พยายามปิดบังได้ มันสื่อออกมาค่อนข้างชัด ผมจ้องเข้าไปในดวงตาของเธอ บริเวณข้อมือทั้งสองข้างที่มีรอยกรีดซ้ำๆ มันบอกเล่าเรื่องราวอีกแบบ

จำได้ว่าการสัมภาษณ์ครั้งนั้นใช้พลังงานสูงมาก การตั้งใจฟังอย่างจดจ่อเป็นทักษะที่ต้องได้รับการฝึกฝนและใช้พลังงาน ถึงจะผ่านการสัมภาษณ์ผู้คนมาเป็นจำนวนมาก ผมกลับไม่เคยคิดว่าตนเองมีทักษะการฟังที่ดีพอจะเรียกว่าเป็น ‘ผู้ฟังที่ดี’ ในทุกๆ บทสนทนา

ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน โฆษณาคอร์สฝึกอบรมการพูดในลักษณะต่างๆ การพูดเพื่อขายสินค้าหรือบริการ การพูดในที่สาธารณะ การพูดเพื่อนำเสนอ การพูดเพื่อเจรจาต่อรอง ฯลฯ มีมากมายไม่หวาดไหว แต่ลองนึกดูว่าเราเห็นโฆษณาคอร์สฝึกอบรมการฟังบ่อยแค่ไหน บางคนอาจไม่เคยเห็นเลย บางคนแค่ผ่านตา สิ่งที่ค่อนข้างชัดคือ การฝึกพูดมีสัดส่วนมากกว่าฝึกฟังอย่างเทียบกันไม่ได้

หากใช้สามัญสำนึกโดยทั่วไป น่าแปลกใจว่าทำไมมนุษย์จะต้องฝึกฟังคนอื่นพูด ในเมื่อเราไม่สามารถปิดหูได้เหมือนกับปิดดวงตา เพราะอย่างไรเสียเราก็ได้ยินเสียงคู่สนทนาเสมอ แต่ถ้าให้พูดด้วยคำเท่ๆ ก็คือ การได้ยินกับการฟังนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

“การได้ยินไม่เหมือนกับการฟัง การได้ยินเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อน การได้ยินคือการถูกกระทำ การฟังคือการกระทำ ผู้ฟังที่ดีที่สุดตั้งใจและเอาสัมผัสอื่นๆ มาใช้ในการฟังด้วย ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจลึกซึ้ง และความรู้ความเข้าใจ คือ เป้าหมายของการฟัง และมันต้องใช้ความพยายามอย่างสูง”

ผมยกข้อความนี้มาจากหนังสือ ‘ทำไมเราไม่ฟังกัน สิ่งสำคัญที่หล่นหายเมื่อเราไม่ตั้งใจฟัง’ หรือ ‘You’re Not Listening What You’re Missing and Why It Matters’ เขียนโดย Kate Murphy

ผมหันมาสนใจทักษะการฟังอันเนื่องจากความเจ็บป่วยของตัวเอง เคยเข้าร่วมอบรมการฟังอยู่สองสามครั้ง จับหลักการได้นิดๆ หน่อยๆ พอไม่ได้ฝึกฝนต่อเนื่องอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มันก็ค่อยๆ ฝ่อไปตามเวลา สิ่งเดียวที่จดจำได้แม่นยำ คือ การตั้งใจฟังมีพลังเกินกว่าที่เราจินตนาการ มันเปลี่ยนตัวเราและหลายครั้งมันเปลี่ยนหรือกระทั่งช่วยชีวิตผู้พูดไว้ได้

Murphy เป็นนักข่าว ความจำเป็นทางอาชีพทำให้เธอต้อง ‘ฟัง’ แหล่งข่าวเหมือนกันกับผม ผมยอมรับว่าไม่ใช่ทุกการสัมภาษณ์หรอกที่ผมจะจดจ่อกับแหล่งข่าวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางทีห้าสิบเปอร์เซ็นต์ยังยากเลย แต่ขั้นต่ำที่สุด คือ ต้องจับประเด็นได้ว่าแหล่งข่าวกำลังพูดเรื่องอะไรและจะถามต่อว่าอะไร

ตรงนี้แหละครับที่สำคัญ ‘จะถามต่อว่าอะไร’ หรือ ‘จะพูดอะไรต่อ’ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำหากคุณต้องการเป็นผู้ฟังที่ดี ลองสังเกตตัวเองดูยามสนทนากับเพื่อน เราจะคิดเสมอว่าเดี๋ยวจะพูดอะไรต่อดี ท้ายที่สุดก็กลายเป็นต่างคนต่างพูด

“ในโลกยุคใหม่ เราได้รับการกระตุ้นให้ฟังเสียงหัวใจ” Murphy เขียน “เสียงจากภายใน และสัญชาตญาณของตัวเอง แต่น้อยครั้งนักที่เราจะถูกกระตุ้นให้ฟังคนอื่นพูดอย่างใส่ใจและตั้งใจ เราถูกสอนมาให้เป็นผู้นำมากกว่าจะเป็นผู้ตามในการสนทนา ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกันทางออนไลน์หรือแบบพบหน้าค่าตากันจริงๆ สิ่งสำคัญอยู่ที่การบอกว่าเราเป็นใคร กำหนดรูปแบบการเล่าเรื่อง และยึดติดอยู่กับสารที่จะสื่อ คุณค่าอยู่ที่สิ่งที่เราแสดงออกไป ไม่ใช่สิ่งที่รับเข้ามา”

“ภาพแห่งความสำเร็จและอำนาจในทุกวันนี้ คือ ภาพของใครสักคนที่ติดไมโครโฟนและเดินเตร่ไปทั่วเวที หรือไม่ก็ปราศรัยอยู่หลังโพเดียม การได้ขึ้นพูดบนเวที TED Talks หรือกล่าวสุนทรพจน์คือ การทำตามความฝัน”

ผมคิดว่าเป็นข้อสังเกตที่น่าฟังทีเดียว ภาพของการพูดเชื่อมโยงกับความเป็นผู้นำ การกระทำเชิงรุก ขณะที่การฟังเป็นเรื่องตรงกันข้าม จะแปลกอะไรถ้าเราชื่นชมเด็กคนหนึ่งที่อาสาพูดหน้าห้องว่าเป็นเด็กกล้าแสดงออก แล้วอยากให้ลูกของเรากล้าแสดงออกบ้าง ทั้งที่การกล้าแสดงออกกับการพูดหน้าห้องเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง เรายังตีขลุมอีกว่าคนที่พูดเก่ง คือ คนเก่ง ฉลาด และมีความรู้ ซึ่งก็เป็นคนละเรื่องอีกเช่นกัน

เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราต่างแย่งกันพูด คำตอบง่ายๆ เลยคือ ไม่มีใครฟัง Murphy ชี้ให้เห็นว่าสภาวะนี้สร้างปัญหาสุขจิตโดยรวมแก่ผู้คนในสังคม ความเหงา ความโดดเดี่ยว การแยกขาดจากคนอื่นๆ แต่การฟังคือการโอบกอด การเชื่อมประสานคนสองคนเข้าด้วยกันในระดับสมอง

“การพูดโดยไม่มีการฟังก็เหมือนกับการสัมผัสโดยไม่ได้ถูกสัมผัส การฟังครอบคลุมยิ่งกว่าการสัมผัส เพราะทุกส่วนของตัวเราก้องกังวานไปด้วยเสียงของความคิดและความรู้สึกที่คนอีกคนถ่ายทอดออกมา”

Murphy ใช้เนื้อที่สองสามบทแรกเพื่อชี้ให้เห็นว่าการฟังสำคัญเพียงใด และใช้ส่วนที่เหลือของหนังสืออธิบายการเป็นผู้ฟังที่ดี ปัจจัยที่ทำให้เราไม่ฟังกัน การทำงานของสมอง หรือกระทั่งประเด็นเชิงศีลธรรม (Moral) ของการฟัง มาดูตัวอย่างกัน

เคยเป็นไหมครับตอนคุณเมาท์มอยกับเพื่อนแล้วคิดว่า ฉันรู้ว่าเธอกำลังจะพูดอะไร แล้วก็ชิงพูดขึ้นก่อนหรือเตรียมถ้อยคำที่จะพูดหลังจากเพื่อนเงียบ มันทำให้คุณหลุดออกไปจากเรื่องราว และรู้หรือไม่ คู่รักที่มีปัญหาส่วนใหญ่จนต้องพึ่งนักจิตวิทยา เป็นเพราะคิดว่าตนเองรู้จักอีกฝ่ายอย่างหมดจด รู้ความต้องการ รู้นิสัยใจคอ และถึงกับรู้ว่าอีกฝ่ายจะพูดอะไร นี่คือจุดเริ่มต้นของรอยปริแตกในความสัมพันธ์ มันส่งสัญญาณว่าคุณเริ่มไม่ฟังอีกฝ่าย

การศึกษาของ มาริโอ ลูอิส สมอลล์ นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งเล็กน้อยจะเปิดเผยปัญหาตึงเครียดกับคนที่ตนมีสายสัมพันธ์ไม่ค่อยแน่นแฟ้น มากกว่าจะบอกกับคนที่ใกล้ชิด

“เพราะกลัวความใจร้าย การตัดสิน ผลกระทบทางลบ หรืออารมณ์ที่ท่วมท้น”

อีกสิ่งหนึ่งที่เรามักทำกันมากเวลาเพื่อนมีเรื่องทุกข์ร้อนมาปรึกษา ‘คำแนะนำ’ เป็นหลักการพื้นฐานข้อหนึ่งของทักษะการฟังเลยว่า จงหลีกเลี่ยงการแนะนำอีกฝ่ายว่า ควรทำอะไร ควรรู้สึกอย่างไร การเปรียบเทียบ หรือเลวร้ายสุด คือ การสั่งสอน นอกจากมันไม่ใช่การเปิดรับ การตั้งใจฟังแล้ว มันยังเป็นการดึงเอาเรื่องราวของอีกฝ่ายมาเป็นของตนเอง การที่คุณบอกอีกฝ่ายว่าควรทำอะไรก็ไม่ต่างจากการบอกว่าถ้าเป็นคุณ คุณจะทำอะไร

หลายครั้งที่ผมมีโอกาสเป็นผู้รับฟัง พบว่า ผู้พูดมีทางออกจากปัญหาในใจอยู่แล้ว เขาเพียงต้องการระบายสิ่งตกค้าง ต้องการพูด ต้องการคนรับฟัง เข้าใจ และไม่ตัดสิน มันมากพอที่เขาจะฟื้นฟูเรี่ยวแรงกลับไปเดินชนปัญหาด้วยตนเองโดยที่เราไม่ต้องแนะนำอะไร

แต่ใครจะรู้ การฟังอาจเป็นเรื่องแปลกปลอมในชีวิตประจำวันมากขึ้น ในอนาคตถ้าคุณไม่ได้มีอาชีพที่ข้องเกี่ยวกับทักษะนี้โดยเฉพาะ ทุกวันนี้เราแทบไม่รู้สึกอะไรแล้ว ถ้าเพื่อน คนรัก หรือคนใกล้ชิดจะก้มหน้าดูโทรศัพท์มือถือไปด้วยขณะที่เรากำลังพูด เราอาจแค่ต้องการมนุษย์ตัวเป็นๆ มาอยู่ต่อหน้าเพื่อให้เราพูดให้ ‘ได้ยิน’ โดยไม่จำเป็นต้องฟังอีกต่อไป หรืออาจมีคนคิดหุ่นยนต์หรือเอไอมาทำหน้าที่ฟังแทนมนุษย์ ถึงตอนนั้นบางอย่างจะหล่นหายไปหรือไม่ อนาคตเท่านั้นที่ตอบได้

Murphy เขียนประโยคสุดท้ายไว้ในหนังสือว่า

“การเข้าใจและเป็นที่เข้าใจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราชะลอตัวเองให้ช้าลงและใช้เวลากับการฟัง”

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก