ถ้าไม่มีพื้นที่ทางศิลปะที่เป็นมิตร คนก็ไม่กล้าเรียนรู้ศิลปะ คุยกับ สิริมาดา และ ภาณุ แห่ง Xspace Gallery

1,903 views
8 mins
June 6, 2022

เวลาเดินเข้าไปชมงานศิลปะ หลายคนอาจรู้สึกตัวเล็กลีบ เพราะมีความคิดฝังหัวว่าจะดูไม่รู้เรื่อง และภาพจำของศิลปะ มักถูกทำให้สูงส่งจนไกลตัวไปจากชีวิตของทุกคน ทั้งๆ ที่ศิลปะคือส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน และเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ ไปจนถึงการเขย่าสังคมด้วยเนื้อหาหรือทัศนคติที่บรรจุภายในงานแต่ละชิ้น

เพราะไม่อยากให้ศิลปะกลายเป็นเรื่องไกลตัว และอยากให้ทุกคนเดินเข้าหาศิลปะได้แบบคนเท่ากัน คนทำงานศิลปะอย่าง แนน – สิริมาดา ศุภองค์ประภา ผู้ก่อตั้ง Xspace Gallery และ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ คิวเรเตอร์และผู้ออกแบบนิทรรศการประจำแกลเลอรี จึงพยายามสร้างทัศนคติใหม่ๆ ให้กับการดูงานศิลปะ จากการลองผิดลองถูกในการเปิดแกลเลอรีมาเกือบหนึ่งปีครึ่ง จนพบว่าที่จริงแล้ว พื้นที่ควรจัดแสดงงานศิลปะให้คุยกับคนทั่วไป และทำให้ศิลปะเป็นของทุกคนได้ โดยไม่มีเรื่องทุนทรัพย์มาเกี่ยวข้อง พวกเขาจึงออกแบบแกลเลอรีที่ไม่เน้นความเป็นทางการ ไม่มีภาษาเข้าใจยาก ไม่มีบรรยากาศขึงขัง จริงจัง หรือไว้ตัว แต่ทำให้แกลเลอรีเป็นเหมือน ‘พื้นที่สาธารณะ’ ในการเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยน ต่อยอดไปจากประเด็นที่ศิลปินทิ้งไว้ในผลงาน

จากที่แค่เข้าไปดูยังไม่กล้า พวกเขาทำอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้ในพื้นที่ทางศิลปะ และการเรียนรู้ที่ว่านั้นเป็นอย่างไร และที่สำคัญ จะทำอย่างไรให้ศิลปะถูกส่งไปถึงทุกคนได้อย่างเท่าเทียม นี่อาจเป็นความท้าทายทั้งภาครัฐและเอกชนในการช่วยกันสร้างพื้นที่แห่งความสร้างสรรค์นี้ไปพร้อมกัน

เสรีภาพและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเข้าถึงศิลปะ

การเรียนรู้ศิลปะเป็นการปลดล็อกตัวเราที่เมื่อก่อนชอบกังวลว่า ควรทําแบบนั้นไหม ควรทำแบบนี้ไหม เราเก็บวิธีนี้ไปใช้กับชีวิตประจำวันเลยด้วยซ้ำ รู้สึกว่าศิลปะทำให้เราได้มีเสรีภาพทางความคิด แถมไปคุยกับคนประเทศไหนก็ได้ เพราะศิลปะเป็นหัวข้อเดียวกัน เลยช่วยเปิดโลกด้วย”

นี่คือหนึ่งบทเรียนจากชีวิตส่วนตัวของสิริมาดา หลังจากได้ลองไปสัมผัสกับศิลปะที่พาให้มาเจอกับวิธีคิดใหม่ๆ และนำไปปรับใช้กับชีวิตจริงๆ นอกห้องจัดแสดงได้

แต่มากกว่าการเรียนรู้ส่วนตัวแล้ว สิ่งที่ศิลปะมอบให้คือแรงบันดาลใจที่จะนำไปสู่ไอเดียหรือการแก้ปัญหาใหม่ๆ อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้วิธีสื่อสาร ที่จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปสู่สังคมไม่มากก็น้อย ซึ่งภาณุได้ยกตัวอย่างงานศิลปะในต่างประเทศที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว

“มีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ โจเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys) ศิลปินเยอรมันที่หลายสิบปีที่แล้วทำโปรเจกต์ 7000 Oaks – City Forestation Instead of City Administration ในงาน documenta 7 เมืองคาสเซล มันไม่ใช่ชิ้นงานศิลปะที่ออกมาเป็นประติมากรรมหรือภาพวาด แต่เขาจัดแสดงด้วยการปลูกต้นโอ๊ค เพื่อรณรงค์ให้คนในเมืองมาปลูกต้นโอ๊คให้ครบเจ็ดพันต้น แต่ละต้นที่ปลูกก็จะฝังเสาหินเป็นเครื่องหมายกํากับไว้ ซึ่งเขาก็ค่อยๆ ทยอยปลูกไปเรื่อยๆ จนคนในสังคมเห็น ก็เลยมาร่วมปลูกต้นโอ๊คจนถึงเจ็ดพันต้นจริงๆ และปัจจุบัน ต้นโอ๊คกลายเป็นต้นไม้ที่เติบโตอยู่ในเมืองนั้น สร้างภูมิทัศน์จากเมืองที่แห้งแล้ง ให้กลายเป็นป่า นี่คืองานศิลปะที่ขับเคลื่อนสังคมได้ และทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ไปด้วย”

ภาณุยังชวนคิดต่อไปว่า จริงๆ แล้วศิลปะนั้นอยู่แวดล้อมตัวเรามาโดยตลอด ตั้งแต่เสื้อผ้าที่ใส่ไปจนถึงโทรศัพท์ที่เราใช้ ชีวิตของมนุษย์ไม่เคยขาดศิลปะในการดำรงชีวิต แต่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ทำให้บางคนหลงลืมการชื่นชมความสวยงามเหล่านี้ไป ซึ่งหากมองกลับไปในวัยเด็ก เกือบทุกคนต้องชอบช่วงเวลาที่ได้จับแท่งสีมาละเลงผนังหรือกระดาษ มันคือสัญชาตญานของคนในการมองหาความงามในชีวิต และที่ศิลปะหล่นหายไปจากชีวิตเรานั้น เกิดจาก ‘ระบบการศึกษา’

สิริมาดา ศุภองค์ประภา ผู้ก่อตั้ง Xspace Gallery

“เราอยู่ในสังคมที่มุ่งเน้นการศึกษาแบบด้านเดียว ถ้าคุณไปดูในต่างประเทศ โรงเรียนจะพาเด็กๆ ไปพิพิธภัณฑ์ตลอดเวลาเพื่อดูความหลากหลาย ผมว่าการศึกษาบ้านเราเป็นปัญหาที่ทําให้ศิลปะห่างจากชีวิตคนมากขึ้น เพราะไปมุ่งเน้นว่าคุณจบมาแล้วต้องทําอะไร อย่างเช่นคุณเรียนสายวิชาชีพก็ต้องเป็นวิชาชีพอย่างเดียว คุณเรียนสายวิทย์ต้องไปเรียนเลข ดิ่งไปอย่างเดียว แต่ไม่เคยบูรณาการเข้าด้วยกัน

“ส่วนวิชาศิลปะที่สอนในไทย บังคับให้เราไปเรียน ไปท่องจํา ไปเข้าใจ พอเข้าใจยากเข้าไปอีก ก็เลยเลิกสนใจเลย” สิริมาดาย้ำกับเราถึงปัญหาการเรียนรู้ศิลปะที่ทำให้สุดท้ายศิลปะก็กลายเป็นของไกลตัวของคนทั่วไป

อยากให้คนเรียนรู้ศิลปะ ต้องไม่กีดกันใครออกไปจากพื้นที่

หากจะริเริ่มสร้างพื้นที่ทางศิลปะให้คนเข้ามาเรียนรู้ สิริมาดามองว่า “สนุกและง่ายเข้าไว้” เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในการสร้างพื้นที่ศิลปะที่ช่วยให้เป็นมิตรต่อคนที่อยากเข้ามาเรียนรู้มากขึ้น

“ที่ Xspace เมื่อก่อนใต้รูปก็ต้องมีอธิบายว่างานศิลปะนี้คืออะไร มีความหมายอย่างไร เราเป็นคนทําก็เหนื่อย คนมาชมงานก็เหนื่อย เพราะว่ากว่าจะดูเสร็จแต่ละชั้น อ่านแทบตาย หลังๆ เลยไม่ได้ใส่ข้อมูลมากมาย” เจ้าของแกลเลอรีเล่าเจือรอยยิ้ม ก่อนจะบอกว่าเธอเปลี่ยนมาออกแบบพื้นที่โดยลดขั้นตอนและความเป็นทางการลง รวมไปถึงเพิ่มการสื่อสารระหว่างงานศิลปะกับคนดูมากขึ้น ผ่าน Art Tour หรือการเดินชมงานศิลปะกับศิลปินหรือคิวเรเตอร์ ที่ไม่ใช่การบรรยายแรงบันดาลใจด้วยศัพท์แสงยากๆ แต่เป็นการเล่าเรื่องให้สนุกและไม่จำเจ โดยบทสนทนาก็จะเป็นได้ทั้งการตั้งคำถามแสดงความเห็นโต้ตอบไปมา การเล่า Fun Fact ที่พาเปิดโลกศิลปะมากยิ่งขึ้น เช่น งานล่าสุดอย่าง The Colors of Jazz Solo Exhibition ที่หยิบแสดงผลงานศิลปะของศิลปินที่ต้องการถ่ายทอดความรู้สึกเมื่อฟังเพลงแจ๊สมาจัดแสดง นอกจากจะได้คุยกับศิลปินหรือคิวเรเตอร์แล้ว ยังแปะโค้ดเพลงจากสปอติฟายให้ทุกคนได้ลองฟังตามไปด้วยกันแบบสบายๆ

ถ้าไม่มีพื้นที่ทางศิลปะที่เป็นมิตร คนก็ไม่กล้าเรียนรู้ศิลปะ คุยกับ สิริมาดา และ ภาณุ แห่ง X-space Gallery

“ถ้าบางคนมีประสบการณ์ มีวิธีคิด ก็สามารถเดินชมได้เอง แต่ถ้าคนที่ใหม่ในวงการศิลปะ การมีคนมาเป็นไกด์ทัวร์ให้ก็อาจจะชวนให้เข้าใจผลงานได้เร็วขึ้น รู้วิธีมองงาน สนุกกับการสำรวจศิลปะมากขึ้น ไม่รู้สึกว่าศิลปะเป็นเรื่องเข้าถึงยากเกินไป ซึ่งปกติการเดินทัวร์ก็จะเล่าที่มาที่ไป แรงบันดาลใจเป็นยังไง เทคนิคทำยังไง บางทีก็เล่าถึงตัวตนของศิลปินว่าเขาเป็นใคร พื้นเพที่ไหน ถึงทําให้งานของเขาออกมาเป็นแบบนี้”

“เมื่อก่อนเราจะเข้าใจว่าแค่แขวนรูป ติดตั้งผลงานก็พอแล้ว แต่จริงๆ ไม่ใช่ เราต้องวางแผนเนื้อหาที่จะนำเสนอ ทำยังไงให้บทสนทนาไปต่อได้ในการชมงาน ทำยังไงให้คนที่มาชมงานได้อะไรกลับไป แล้วจะนำเสนอด้วยวิธีการไหน ซึ่งต้องผ่านการวางแผนมาหนักมากๆ เพื่อให้การเรียนรู้ศิลปะมันเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการเสพงาน”

สิริมาดามองว่าการทำให้ศิลปะมีชีวิตผ่านบทสนทนา จะค่อยๆ ปลูกต้นกล้าให้กับคนที่อยากเรียนรู้ หรือแม้แต่เด็กๆ ที่เริ่มสนใจศิลปะ ซึ่งอาจทำให้หลายคนได้เห็นภาพมากขึ้นว่า ถ้าสนใจอยากทำอาชีพเกี่ยวกับงานศิลปะ จะได้พบเจอกับอะไรบ้าง

สำหรับภาณุเองก็คิดเห็นเช่นเดียวกันว่าการสื่อสารด้วยวิธีการเล่าให้ฟัง และสื่อสารด้วยภาษาธรรมดาๆ จะทำให้คนไม่กลัวศิลปะ “เราเชื่อว่าเราสามารถทำให้การดูศิลปะไม่ต้องปีนกะไดได้ เราจึงใช้วิธีสื่อสารด้วยภาษาชาวบ้าน คือพูดอธิบายให้ฟังง่าย ให้คนรู้สึกว่าผ่อนคลายแล้วก็รู้สึกว่าศิลปะไม่น่ากลัว เราอยากให้มองศิลปะด้วยสายตาของเด็กๆ ที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องกลัวว่าจะดูไม่ฉลาด ถ้าสงสัยก็ถามได้เลย”

การเติบโตของแกลเลอรีในฐานะพื้นที่เรียนรู้ศิลปะ

“ในประเทศเรามีพิพิธภัณฑ์ศิลปะน้อยมาก” นอกจากเรื่องระบบการศึกษาที่ตัดศิลปะออกไปจากชีวิตจนขาดการเรียนรู้ ทั้งสิริมาดาและภาณุยังเสริมเหตุผลอีกข้อคือเรื่องของพื้นที่ทางศิลปะในชีวิตประจำวัน

ภาณุชวนเรานึกถึงพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยที่มีภาครัฐเป็นเจ้าของ ซึ่งคำตอบคือไม่มีเลย

“ถ้าไปดูต่างประเทศ แต่ละเมืองจะมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยเยอะมาก หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะทั่วไป ก็เก็บงานสําคัญของชาติไว้ด้วย โดยรัฐเป็นคนสร้างทั้งหมด กลับมาในไทย งานของศิลปินแห่งชาติสูญหายไปเยอะมาก ไม่มีที่จะเก็บ ไม่มีที่จัดแสดง ทำให้เยาวชนของเราไม่มีโอกาสได้ดูงานดีๆ เราไม่เห็นความสําคัญนี้ เห็นแต่ความสําคัญของธุรกิจหรือของเศรษฐกิจ โดยไปตั้งคำถามว่างานชิ้นนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจตรงไหน ซึ่งถ้ามองดีๆ สิ่งเหล่านี้คือซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐพูดบ่อยๆ ด้วยซ้ำ”

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ คิวเรเตอร์และผู้ออกแบบนิทรรศการประจำแกลเลอรี
Photo : ​​สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

สิริมาดาช่วยเสริมว่าการมีอยู่ของพื้นที่นั้นสำคัญมากในการเรียนรู้ศิลปะ เพราะช่วยทำให้ศิลปะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ผ่านการได้เห็น ผ่านการได้ยิน ผ่านการเข้าไปทำความรู้จัก หรือแม้แต่เข้าไปเดินเล่น เหมือนในต่างประเทศที่เราอาจตั้งคำถามว่าทำไมเขามีความคิดสร้างสรรค์ ทำไมเขาออกแบบผลิตภัณฑ์ดีๆ ออกมาได้

“ทั้งหมดนี้เกิดจากการที่เขาได้เห็นศิลปะอยู่รอบตัวมาตั้งแต่เกิด เห็นมาทั้งชีวิต โรงเรียนที่ต่างประเทศจะมีโปรแกรมพาเข้ามิวเซียมทุกอาทิตย์ แล้วก็อธิบายงานแต่ละชิ้น จนเด็กๆ ซึมซับได้”

สำหรับประเทศไทย ภาณุมองเห็นความหวังเล็กๆ ในวันที่ไร้การสนับสนุนจากภาครัฐ ก็คือภาคเอกชน ประชาชน และคนที่สนใจศิลปะ พวกเขาตัดสินใจลุกขึ้นมาทำพื้นที่ทางศิลปะกันเองมากยิ่งขึ้น และกระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ

“อย่างสุขุมวิทก็มีแกลเลอรีเยอะขึ้น ไม่ว่าจะ Galerie Oasis, WTF Gallery and Café หรือ SAC Gallery หรือมีกิจกรรม Galleries’ Night ที่คนทำแกลเลอรี่รวมตัวกันสร้างทัวร์งานศิลปะมาอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งสําคัญคือพวกเขาจัดกิจกรรมที่ไม่ได้คํานึงถึงแต่ธุรกิจอย่างเดียว แต่คํานึงถึงการให้ความรู้คน ให้แรงบันดาลใจคนด้วย เปิดให้คนได้มาดูงานฟรี ซึ่งก็มีทั้งนําชมหรือว่าทํากิจกรรมต่างๆ ให้คนได้มีส่วนร่วม จะเห็นได้ว่าเอกชนก็ทํากันเองเยอะ แล้วก็ทําได้ดีด้วย”

ซึ่งสิริมาดาเองก็ลุกขึ้นมาทำ Xspace ด้วยความคิดดังกล่าว แต่ก็ยังเชื่อว่าหากรัฐมาสนับสนุน จะทำให้พื้นที่ทางศิลปะไปได้ไกลกว่าเดิม

“สุดท้ายแล้วรัฐต้องสนับสนุนให้คนทำงานศิลปะอยู่ได้ ประกอบเป็นอาชีพได้ อย่างประเทศรอบๆ เราที่เขาพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ คนทำงานศิลปะทำเป็นอาชีพได้เพราะรัฐสนับสนุนทั้งศิลปินและพื้นที่ศิลปะ นั่นจะทำให้สิ่งที่เอกชนกำลังพยายามทำกันเอง จะเดินหน้าทำต่อเนื่องไปได้เรื่อยๆ”

เมื่อทุกคนเข้าถึงพื้นที่ศิลปะได้อย่างเท่าเทียม และรับไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน เมื่อนั้นศิลปะจะช่วยให้สังคมยิ่งงอกงาม

ถ้าไม่มีพื้นที่ทางศิลปะที่เป็นมิตร คนก็ไม่กล้าเรียนรู้ศิลปะ คุยกับ สิริมาดา และ ภาณุ  แห่ง X-space Gallery

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก