นับตั้งแต่วันที่สงครามในยูเครนเปิดฉากขึ้น นายกสมาคมห้องสมุดยูเครนได้ออกแถลงการณ์หลายฉบับ เพื่อเน้นย้ำถึงบทบาทและจุดยืนของห้องสมุด รวมทั้งบอกเล่าสถานการณ์และเสนอข้อเรียกร้องต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพบรรณารักษ์ทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือแถลงการณ์ที่ส่งไปยังสหพันธ์นานาชาติแห่งสถาบันและสมาคมห้องสมุด (IFLA) เพื่อเรียกร้องให้คว่ำบาตรทางวัฒนธรรมต่อรัสเซีย มีใจความสำคัญว่า
“ในวันที่ห้าของสงคราม (28 กุมภาพันธ์ 2565) กองกำลังรัสเซียไม่เพียงแต่ยิงโจมตีเป้าหมายทางการทหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโรงเรียน พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด โรงพยาบาล และอาคารที่พักอาศัยด้วย ห้องสมุดสำหรับเด็กในเมืองเชอร์นิฮิฟ (Chernihiv) ถูกทำลาย ทหาร พลเรือน รวมถึงเด็กๆ กำลังจะตาย และคนจำนวนมากถูกบังคับให้ต้องอพยพออกจากประเทศ
“ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ห้องสมุดของเรายังคงให้บริการแก่ผู้ใช้ เรายังคงให้บริการทางไกลและในไซเบอร์สเปซเพื่อต่อต้านข้อมูลที่ผิด รวมทั้งช่วยจัดตั้งที่พักพิงให้กับผู้พลัดถิ่น
“เราได้รับจดหมายสนับสนุนมากมายจากห้องสมุดที่เป็นสมาชิก IFLA พวกเขาช่วยเผยแพร่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสงคราม และช่วยเหลือให้การรองรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครน เรารู้สึกขอบคุณทุกคนที่อยู่ร่วมกับเราในช่วงเวลาอันคับขันนี้”
ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงช่วงท้ายของแถลงการณ์ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องต่อ IFLA สาระสำคัญระบุว่า
“ผู้ที่เลือกอาชีพบรรณารักษ์จำเป็นต้องมีคุณสมบัติด้านการรู้เท่าทันสื่อ ต้องต่อต้านการให้ข้อมูลเท็จ เรารู้สึกเสียใจที่บรรณารักษ์และสมาคมห้องสมุดของรัสเซีย มิได้ตอบสนองต่อบทบาทดังกล่าว
“(เราเห็นว่า) มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ จะมีส่วนช่วยหยุดสงครามครั้งนี้ได้ เราเชื่อว่าการคว่ำบาตรทางวัฒนธรรมก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ดังนั้น เพื่อให้การสนับสนุนบรรณารักษ์ยูเครน เราจึงขออุทธรณ์ต่อประธานและคณะกรรมการ IFLA ขอให้ปลดห้องสมุดและสมาคมห้องสมุดรัสเซียออกจากการเป็นสมาชิก และขอให้สมาชิกชาติต่างๆ สนับสนุนการอุทธรณ์ในครั้งนี้ด้วย”
เพียงไม่นานหลังจากข้อเรียกร้องดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง ได้นำมาซึ่งข้อถกเถียงอันเร่าร้อนในหมู่มวลห้องสมุดสมาชิก ผ่านช่องทางอีเมลของ IFLA ประเด็นโต้แย้งแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตร นำโดยสมาคมห้องสมุดโปแลนด์ ส่งข้อความสนับสนุนสมาคมห้องสมุดยูเครนเป็นรายแรกๆ และมีบรรณารักษ์เข้ามาแสดงความเห็นพ้องด้วยในนามส่วนตัวเป็นจำนวนมาก
เหตุผลที่น่าสนใจ อาทิ การเพิกเฉยต่อสงครามเท่ากับยอมรับให้คุณค่าสากลที่ห้องสมุดทั่วโลกยึดถือถูกทำลาย เช่น ประชาธิปไตย สันติภาพ บางรายหยิบยกเหตุการณ์ในอดีตเมื่อครั้งที่ IFLA เคยล้มเหลวในการแสดงจุดยืนต่อการรุกรานของกองทัพนาซี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และไม่ควรให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย บางรายเห็นว่าห้องสมุดเป็นสถาบันที่มิได้ปลอดจากการเมือง บรรณารักษ์ไม่ใช่วิชาชีพที่ปราศจากการเมือง บทบาทบรรณารักษ์และห้องสมุดเปรียบเหมือนสะพานเชื่อมผู้คนให้เข้าถึงสารสนเทศและแสดงออกได้อย่างเสรี แต่หากทำตัววางเฉยต่อเหตุการณ์นี้ ก็เท่ากับยอมรับการกระทำของกองทัพจากประเทศหนึ่งให้เข้าไปบังคับเข่นฆ่าผู้คนอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งหมายถึงการปิดกั้นทำลายการเข้าถึงสารสนเทศและการแสดงออก
ส่วนฝ่ายที่คิดเห็นแตกต่างนั้น แม้จะประณามการก่อสงครามครั้งนี้ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ปลดห้องสมุดและสมาคมห้องสมุดรัสเซียออกจากการเป็นสมาชิก IFLA เพราะมองว่า ห้องสมุดเป็นสถาบันที่เปิดกว้างให้กับความแตกต่างหลากหลาย การยอมรับข้อเสนอนี้เท่ากับการทำลายค่านิยมประชาธิปไตยของห้องสมุด และตกอยู่ภายใต้การแบ่งแยกกีดกันและความเกลียดชัง เพียงเพราะบรรณารักษ์และห้องสมุดนั้นเป็นชาวรัสเซียและตั้งอยู่ในประเทศรัสเซีย เหตุผลอื่นๆ เช่น ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าห้องสมุดและสมาคมห้องสมุดรัสเซีย มีท่าทีหรือได้กระทำการที่สนับสนุนสงคราม ทั้งยังไม่นับว่าพลเมืองรัสเซียจำนวนไม่น้อย (ซึ่งอาจรวมถึงบรรณารักษ์ด้วย) ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม แต่ไม่อาจแสดงออกได้อย่างโจ่งแจ้งภายใต้ข้อจำกัดของระบบการเมืองในประเทศ
จนถึงขณะนี้ (วันที่ 11 มีนาคม 2565) ยังไม่มีท่าทีหรือการตอบสนองจาก IFLA ที่มีต่อข้อเสนอคว่ำบาตรทางวัฒนธรรมของสมาคมห้องสมุดยูเครน
ที่มา
เว็บไซต์ Ukrainian Library Association (Online)
บทความ “Libraries are a strategic weapon of the state in the hybrid war waged by the Russian Federation” จาก dailykos.com (Online)
อีเมลหลายสิบฉบับผ่านช่องทาง iflalists.org