we!park ชวนชุมชนออกแบบพื้นที่สาธารณะสู้ปัญหาเมือง ในเมืองที่ชอบสู้เรากลับ

1,051 views
13 mins
May 23, 2022

          ลองจินตนาการว่าถ้าในพื้นที่ใกล้บ้านของเรามีสวนสาธารณะขนาดเล็กที่ร่มรื่น มีลานออกกำลังกาย (ที่ใช้ได้จริง) มีตลาดนัดครึกครื้นพาพ่อแม่ไปเดินเล่นได้ มี Co-Working Space หรือมุมสบายให้นั่งคิด นั่งปล่อยใจ กลับมาจากเรียนหรือทำงานเหนื่อยๆ ก็ทิ้งตัวนั่งคนเดียวสักพักหากชีวิตสู้กลับหนักหนา

          ยิ่งถ้าสวนสาธารณะที่ว่านั้น เราและคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบร่วมกันกับสำนักงานเขตและภาคีต่างๆ ตั้งแต่ร่างแบบ ถกเถียง หาข้อสรุป จนสร้างเสร็จเรียบร้อย เราคงจะได้พื้นที่สาธารณะที่ตอบความต้องการของเราจริงๆ

          จินตนาการสวยงามเสมอ แต่คำถามสำคัญคือเราจะมีสวนสาธารณะแบบนั้นได้อย่างไร เพราะที่เห็นและเป็นอยู่คือสวนที่ใช้งานไม่ได้บ้าง เข้าถึงยากบ้าง มีฟังก์ชันที่ไม่ต้องการบ้าง และดูเหมือนว่าเราไม่มีสิทธิหรืออำนาจในทางกฎหมายเพื่อเข้าถึงพื้นที่ที่เราอยากได้ในขั้นตอนการออกแบบ

          we!park คือ กลุ่มคนที่เชื่อมั่นว่าพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวเกิดได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคีอีกมากมาย แพลตฟอร์มนี้จึงทำหน้าที่ถักเส้นใยสายสัมพันธ์ให้เกิดระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ โดยเริ่มเดินหน้าไปแล้วใน 4 โครงการ คือ สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ที่สี่พระยา สวนสานธารณะที่คลองสาน สวนป่าเอกมัยที่เขตวัฒนา และสวนชุมชนโชฎึกที่เขตตลาดน้อย

          แต่ละชุมชนมีบริบทที่ต่างกัน ความพร้อม ความต้องการ ก็ยิ่งหลากหลาย นอกจากชุมชนที่เป็นตัวละครสำคัญที่สุด ยังมีทีม we!park ที่ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้บรรลุหนึ่งในเป้าหมายตามโครงการ Green Bangkok 2030 ที่มุ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ กทม.

          จากโครงการลานกีฬาพัฒน์ เปลี่ยนพื้นที่รกร้างใต้ทางด่วนบริเวณเคหะชุมชนคลองจั่นให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นหมุดหมายแรก สู่การทำงานเชื่อมโยงกับผู้คนหลากหลายโดยมีเป้าหมายเดียวกัน ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉมา จำกัด และผู้ก่อตั้งโครงการ we!park ย้ำกับเราเสมอว่า การมีส่วนร่วม คือหัวใจสำคัญของงานนี้

“พื้นที่สาธารณะที่ดีเกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วม ที่ดึงคนให้เข้ามาร่วมคิดร่วมสร้างตั้งแต่แรก แล้วสิ่งที่เราทำมันก็ชี้ให้เห็นว่า เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ทุกคนเรียนรู้ได้หมด เราจึงต้องมีกิจกรรมของคนทุกกลุ่มจริงๆ”

เพราะพื้นที่สาธารณะ คือพื้นที่ของทุกคน

โครงการ we!park เกิดขึ้นมาจากแนวคิดแบบไหน

          เราเป็นคนกรุงเทพฯ และเห็นว่าเมืองมันแย่ลงทุกวันๆ ก็เป็นคำถามว่าทำไมพื้นที่สีเขียวมันเกิดยากเกิดเย็น ทำออกมาแล้วคนก็ไม่ค่อยใช้ พอเราได้มีโอกาสทำงานจริงกับเอกชนบ้าง ภาครัฐบ้าง หรือภาคประชาสังคมบ้าง ก็เริ่มเห็นช่องโหว่ที่คนแต่ละฝั่งเขาไม่ได้คุยกัน ซึ่งจริงๆ เขามีทรัพยากรบางอย่าง เช่น เอกชนอยากสนับสนุนเรื่องเงิน ภาครัฐอยากออกแบบ หรือคนอย่างเรา แทนที่จะบ่นในเฟซบุ๊ก ก็แปลงมาเป็นการลงมือทำที่ใช้ได้จริง ตอนนั้นคิดเลยว่าน่าจะมีโมเดลที่ทำให้เกิดการทำซ้ำได้ อย่างลานกีฬาพัฒน์ที่ระดมความร่วมมือหลายภาคส่วน แต่มันทำซ้ำได้ยาก ก็เลยคิดว่ามันน่าจะมีตัวกลาง

          มีช่วงหนึ่งที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้ประชาชนนำเสนอนโยบายเข้าไป ว่าควรขับเคลื่อนพื้นที่สาธารณะอย่างไรดี เลยทำให้เราเห็นว่า เมื่อก่อนเราอาจจะเชื่อว่ารัฐเป็นเครื่องมือสำคัญ แต่พอทำเรื่องกระบวนการการมีส่วนร่วมกับชุมชนและทำในฝั่งนโยบาย ก็เห็นว่ามันมีกลไกอยู่ we!park เลยพยายามที่จะรวมทั้งกลไกและนโยบาย เพื่อที่สุดท้ายมันจะต่อยอดความรู้ได้

หมุดหมายแรกของการควบรวมหน่วยงานรัฐ เอกชน ชุมชนเข้ามาทำงานร่วมกันคืออะไร

          หมุดหมายแรกคือเราเห็นว่างานที่ดี ที่จะสำเร็จ มันทำคนเดียวไม่ได้ และอะไรที่ทำด้วยกันหลายๆ ภาคส่วน มีภาครัฐ ภาคประชาสังคม จะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วม สิ่งสำคัญคือแต่ละคนมีความเก่งไม่เหมือนกัน มีทรัพยากรที่เสริมกันได้ ชุมชนรู้เรื่องหนึ่ง เอกชนก็เก่งด้านหนึ่ง พอเสริมกันมันทำให้งานสำเร็จ เราเลยมองว่าหมุดหมายแรกเลยก็ต้องสร้างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มาเป็นภาคีในการขับเคลื่อน

          พอเราลองเข้าไปทำงาน ไอเดียต่างๆ ที่ชุมชนอยากทำ น่าเอามาพัฒนาต่อยอดได้เยอะ หรือศักยภาพของนักออกแบบ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ พลังของเขาทำให้เห็นว่าเขาไม่ได้สนใจแค่เรื่องการออกแบบ แต่เป็นเรื่องกระบวนการ การพูดคุย และการมองความยั่งยืนไปด้วย ทั้งเอกชนและรัฐ ต่อให้มีความติดขัดในเชิงโครงสร้าง แต่เมื่อได้มาร่วม ก็ทำให้เห็นว่ามันพอจะมีช่องทางที่ทะลุไปได้ แค่ที่ผ่านมาขาดคนที่จะมาฟัง เพราะฉะนั้น we!park ทำหน้าที่ในการเชื่อมจุดเล็กๆ เหล่านี้ และสร้างบทสนทนาเพื่อนำไปสู่รูปธรรม

วิธีในการเลือกพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ต้องมีศักยภาพอย่างไรบ้าง

          อันดับแรก เรามีเกณฑ์ในเชิงกายภาพก่อน ว่าถ้าเราอยากจะมีพื้นที่สีเขียว ตรงไหนยังมีช่องโหว่ อย่างที่สองคือต้องเข้าถึงง่าย สะดวกกับชุมชน เรื่องที่ดิน เราก็มีฐานข้อมูลกลางที่มาจากกทม. เอง หรือมีคนปักหมุดแจ้ง แล้วเราเอาข้อมูลนี้มาวิเคราะห์ก่อนในเชิงทุติยภูมิเพื่อสแกนว่าพื้นที่ไหนมีความเป็นไปได้สูง แล้วเราค่อยลงพื้นที่ไปคุยกับเจ้าของที่ดิน ประเมินสังคม ด้านกายภาพ ความพร้อมของภาคี

          ขั้นตอนที่สองคือการทำกระบวนการชุมชน we!park กำลังจะบอกว่าทุกคนอยู่ในกระบวนการของการก่อร่างสร้างพื้นที่นี้ได้หมด เป็นกระบวนการเรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาในกระบวนการต้องเปิดใจ กระบวนการจะเป็นตัวบอกข้างในของคุณเองว่าคุณเรียนรู้อะไรกับมัน และอยากจะทำอะไรต่อกับพื้นที่ ไม่ได้ต้องรู้สึกว่ามีแรงกดดันที่ต้องร่วมมือ

          สิ่งสำคัญเลยคือต้องดูความพร้อมของชุมชน ว่าเขาเปิดรับกับไอเดียนี้ ทำกระบวนการการมีส่วนร่วมได้ และอยากมาทำงานร่วมกัน เราไม่ได้จะมาช่วยเหลือชุมชน เพราะเป้าหมายคือการสร้างสังคม เพราะฉะนั้นสังคมก็ต้องไปด้วยกัน

ยกตัวอย่างการสร้างภาคีของ we!park ว่าออกแบบมาให้ทำได้จริงได้อย่างไร

          โปรเจกต์ทดลองแรกของ we!park คือสวนวัดหัวลำโพงฯ ทางกทม. ได้รับที่ดินบริจาคมา แล้วแทนที่ กทม. จะไปทำกระบวนการแบบเดิมที่อาจจะให้นักออกแบบในสำนักออกแบบไป มาลองทำกระบวนการแบบ we!park ไหม เราเห็นว่าเพื่อนบ้านเรามี จุฬาฯ อยู่ ที่เราอยากได้มหาวิทยาลัยมาร่วมเพราะคิดว่าจะเป็นการเชื่อมองค์ความรู้ให้นิสิตนักศึกษาได้มาเรียนนอกห้อง ไปลองคุยกับชุมชนจริงๆ แน่นอนว่าทำให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมในกลไกที่ว่า กทม. ชุมชน และมหาวิทยาลัยเริ่มมาสร้างข้อเสนอร่วมกัน ซึ่งถ้าแบบจะได้รับการพัฒนาต่ออย่างจริงจัง ก็ต้องมีสมาคมวิชาชีพเข้ามาช่วย

          แต่ก็ไม่ใช่ว่าไปคุยกับชุมชนแค่ครั้งสองครั้ง ต้องมีการทำ Mock-Up Test ต้องคุยกับกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มวัยรุ่น ก็ทำให้เห็นว่ากระบวนการมันใช้เวลาและมีความเลื่อนไหล สุดท้ายพอถึงขั้นตอนในการก่อสร้าง กทม.จะให้งบ 100% เลยก็เป็นไปได้ แต่เราบอกว่า มีคนอีกหลายกลุ่มเลยนะที่สนใจ เราเลยเปิดระดมทุนขึ้นมา ไปเชื่อมกับเทใจดอทคอม (องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ให้ทุนกับโครงการเพื่อชุมชนและสังคม) และคุยกับภาคเอกชนว่ามีใครสนใจบ้าง วงล้อที่เราบอกเรื่องภาคีมันเลยครบ

          เมื่อเราสแกนเพื่อนบ้าน แล้วดึงเขามาร่วมตั้งแต่แรก ความรู้สึกเป็นเจ้าของมันเริ่มค่อยๆ เกิดขึ้น แล้วตอนสวนสร้างเสร็จเราก็ต้องชวนเขามาดูว่าจะดูแลยังไง

กระบวนการนี้มันไม่จบแค่การสร้างเสร็จ ต้องมีการดูแลสวนต่อด้วย

          มันนับหนึ่งต่อ เปิดป้ายเสร็จแล้วมันไม่เสร็จ ตอนนี้ก็จะเป็นบททดสอบว่าสำนักงานเขตฯ มารดน้ำดูแลไหม โรงแรมข้างๆ ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมในพื้นที่ แต่ละคนต้องมีบทบาทต่อสวน ซึ่งจะไม่เกิดเลยถ้าเราไม่คุยกันตั้งแต่แรก เราต้องมองเห็นทุกคนเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนา เพราะฉะนั้น กระบวนการนี้มันทำให้เห็นโจทย์กับทางแก้ปัญหาที่ไปด้วยกัน เราไม่ได้มีสูตรสำเร็จ แค่ทำกรอบคิดของการเรียนรู้ขึ้นมา

          ส่วนสำคัญที่เราเรียนรู้จากลานกีฬาพัฒน์และสวนที่หัวลำโพงคือ มันควรมีช่องว่างให้เขาได้เติมต่อ หมายความว่า บางทีเขาอาจจะอยากปลูกสวนครัว เพนต์สีพื้น ทำสนามเด็กเล่นใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนไป ก็จะทำให้พื้นที่ไม่ได้เรียนรู้แบบรับไปอย่างเดียว (Passive Learning) แต่เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้แบบลงมือทำ (Active Learning)

          คีย์เวิร์ดคือคนที่อยู่รอบๆ ต้องได้ประโยชน์ ย่านที่เคยเป็นพื้นที่รกร้าง พอมีสวน พื้นที่ก็สว่างขึ้น เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจต่อ แต่มันสำคัญที่ว่าต้องอย่าจำกัดโจทย์ เช่น รัฐจะมีความคิดว่าสวนสาธารณะต้องเป็นแบบนี้ๆ ถ้ามองในมุมเขาคือถ้าทำเยอะแล้วจะไปดูแลยังไง แต่ถ้าบอกว่าฉันจะช่วยดูแลด้วยล่ะ ทุกอย่างมันต้องมีทั้งให้และรับต่อกัน

เสียงสะท้อนของคนในชุมชน รัฐ นักศึกษาเป็นอย่างไรบ้างระหว่างกระบวนการ

          แน่นอนว่าคนที่ทำมาด้วยกันมากหน่อย เขาจะเริ่มเข้าใจแล้วว่ามันควรจะจัดสรรงบประมาณตรงนี้ไว้ด้วย คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องการพัฒนาเมืองมาก และไม่ได้หยุดแค่ในวงการนักออกแบบ ที่สำคัญคือเราก็เรียนรู้ไปกับเอกชน เขาเริ่มเห็นแล้วว่าการพัฒนาโครงการของเขาอย่างเดียวมันอยู่ไม่รอดแล้ว ถ้าย่านไม่ได้ดีไปด้วยกัน แต่เขาอยากจะมั่นใจว่าการลงทุนของเขามันยั่งยืน ชุมชนเป็นยังไง เขาจะมีส่วนทำให้มันยั่งยืนอย่างไร

เหมือนเรามองพื้นที่สาธารณะเชิงกายภาพไม่ได้แล้ว แต่คือระบบนิเวศ

          คำตอบนี้อาจจะคิดไม่ได้ในวันแรกนะ เราคิดได้ประมาณหนึ่ง แต่พอทำเสร็จแล้ว ภาพจะชัดมาก จะเริ่มเห็นทั้งปัญหา เช่น มีหมาแมวมาขับถ่าย หรือเห็นโอกาส เช่น ใครจะไปรู้ว่าชมรมดนตรีของจุฬาฯ เขาจะอยากจัดกิจกรรมในสวน มันเลยต้องทำให้เห็นว่าการตรวจดูความเลื่อนไหล หรือการเลือกวิธีการระหว่างทางก็สำคัญ

ความท้าทายหลักของแต่ละพื้นที่ในโครงการ we!park

          เรื่องกลไกของรัฐนี่แหละที่จะเป็นกุญแจดอกแรกที่สำคัญ ข้อดีคือ we!park อยู่ในคณะกรรมการในการทำงานร่วมกันกับกทม. จะคุยกับหน่วยงานได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าลองนึกว่าชุมชนอยากจะทำอะไรขึ้นมาเอง อาจจะยุ่งยากพอสมควร หรือใช้เวลาเป็นปี มันมีความซับซ้อนของกระบวนการตรงนี้พอสมควร

          ต่อมาคือความท้าทายในการทำ Programing ในพื้นที่ งบประมาณตรงนี้ในการดำเนินการทั้งหมดในปัจจุบันมันไม่ได้อยู่ในการจัดสรรของรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นช่องโหว่เลยนะ เพราะมันคือการมีพื้นที่ แล้วกระโดดไปสู่กระบวนการออกแบบและสร้างเลย ถ้ามีงบฯ ส่วนนี้ จะเป็นการเซ็ตมาตรฐานของการทำสวน เพราะมันใช้เวลา ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ คุณจะของบประมาณแล้วสร้างเลย อย่างน้อยประมาณ 6 เดือนในการคุยกับชุมชน

          สุดท้ายที่ท้าทายมากๆ คือการบริหารจัดการ ปัจจุบันสวนจะให้สำนักงานเขตดูแล ซึ่งเขาจะมีภาระงานเพิ่ม มันจะดีกว่าถ้างบฯ นี้หรือการกระจายงานนี้มันไปสู่ชุมชนและสร้างงานสร้างอาชีพไปด้วย ทุกขั้นตอนมีทรัพยากรที่ต้องใช้ แต่ทรัพยากรเหล่านี้ส่วนใหญ่ไปอยู่กับรัฐ เพราะพอเป็นพื้นที่สาธารณะแล้ว รัฐก็มีอำนาจทางกฎหมายในการจัดการทั้งหมด

ในประเทศไทย เราสามารถสร้างพื้นที่สาธารณะควบคู่กันไปกับการเรียนรู้ได้ไหม

          ถ้ามองทั้งประเทศ การมองพื้นที่สาธารณะของเรายังเป็นในเชิงกายภาพอยู่มาก มีงบประมาณจะใช้เงินเพื่อสร้างพื้นที่ ก็หาผู้รับเหมา ประมูล สร้างกันเลย แต่ผลลัพธ์ไม่ได้นำมาสู่การเรียนรู้

          ถ้ามองว่าการเรียนรู้คือการ Empower ด้วย มันแทบจะน้อยมาก เลยต้องไปปรับทั้งในแง่ของทัศนคติก่อนเลย ว่าถ้าคุณมองพื้นที่สาธารณะในเชิงกายภาพอย่างเดียว มันก็จะพัฒนาแต่โครงสร้าง แต่ไม่ได้พัฒนาคนหรือกระบวนการไปด้วยกัน งบประมาณในการทำกระบวนการ หรือทำ Programming แทบจะไม่มี แล้วมันก็สะท้อนว่ารัฐไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้

          แล้วบุคลากรที่จะทำเรื่องนี้ก็ไม่ได้มีอยู่เยอะ จะดีมากถ้ามีการฝึกอบรมบุคลากรในฝั่งของรัฐเอง พอกระบวนการชัดเจน ก็จะเกิดกลุ่มแบบ we!park คือต้องมองให้เป็นการสร้างอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดการลงทุน แล้วไปสร้างงานสร้างอาชีพ เพราะว่าถ้ามันนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศและการ Empower ต่างๆ รัฐจะไม่ได้เป็นผู้เล่นหลักอีกต่อไปแล้ว แต่จะเป็นผู้จัดหาทรัพยากร หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้สวนกับการเรียนรู้ไปด้วยกันได้ คือมันต้องมีเจ้าภาพ และแนวนโยบายต้องชัด รัฐจะทำบทบาทนี้ ภาคประชาสังคม ชุมชนทำอันนี้ แล้วพอคุณมีบทบาทที่ชัด คุณก็ต้องมีทรัพยากรให้อีกฝ่ายไปขับเคลื่อนในวงล้อของเขา แต่เป็นวงล้อในลักษณะที่ต้องไม่รวมศูนย์ (Decentralized) ต้องแบ่งงานกันทำ แล้วพอวงล้อของแต่ละคนขยับ มันก็ไปขยับระบบนิเวศต่อ ไปสร้างงาน กระตุ้นชุมชน แต่ว่ากรอบตัวนี้ รัฐต้องสร้างเป้าหมายให้ทุกคนเห็นภาพนี้ว่าฉันจะเปลี่ยนบทบาทแล้วนะ แล้วคุณเล่นบทไหน

ยกตัวอย่างโมเดลประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจหน่อย

          ถ้ามองในมุมแบบ Top-Down หน่อย แต่เป็นนโยบายที่ดี ก็มีสิงคโปร์ที่กระตุ้นให้เอกชนทำ FAR Bonus (มาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน) ไปเลย คือถ้าคุณจะสร้างตึกขึ้นมาแล้วทำให้เป็นพื้นที่สาธารณะ คุณสามารถได้ FAR Bonus มากขึ้น มันก็ทำให้เห็นว่าการลงทุนเพื่อทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐแล้ว

          แต่ถ้าในมุมแรงจูงใจ (Incentive) ในอเมริกา หรือหลายๆ เมืองจะมีแรงจูงใจตั้งแต่ ถ้าคุณเป็นเจ้าของบ้าน อยากจะปลูกต้นไม้ ก็เอาใบเสร็จไปเคลมภาษีได้ สิ่งที่เด่นมากของตะวันตกคือการมีกรอบคิดในการทำกระบวนการแบบมีส่วนร่วม มีการรับบริจาคจากภาคเอกชนในการให้ทุนเรื่องเหล่านี้ ลดหย่อนภาษีได้

          ในต่างประเทศเขาไม่ได้มองเรื่องการพัฒนาสวนเป็นเรื่องในรั้ว  ที่สำคัญคือทุกประเทศมีการวัดผลเสมอว่าลงทุนไปแล้วได้อะไรคืนมา จะเป็นอุณหภูมิที่ลดลง คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าปีต่อไปเอกชนจะลงทุนต่อ

ถ้าเราสามารถทำพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ได้ทั่ว กทม. จะเป็นอย่างไร

          เราเชื่อว่ามันจะทำให้คนออกมาใช้ชีวิตกับเมือง เดินไปแป๊บหนึ่งก็เจอสวนขนาดเล็ก (Pocket Park)  แล้วเราก็เชื่อว่าพอมีสวน ก็ต้องปรับปรุงทางเท้า ไฟในซอยไม่สว่างหรือเปล่า คนในย่านก็ต้องคิดแล้วว่าจากพื้นที่รกร้างตอนนี้มีโอกาสทางธุรกิจ เปิดห้องแถวค้าขาย นักท่องเที่ยวมา มันก็จะเป็นตัวกระตุ้นคุณภาพชีวิต แต่สิ่งสำคัญคือ มันต้องทำผ่านการกระจายอำนาจโดยชุมชน ให้เขาเป็นคณะกรรมการขึ้นมาบริหารดูแล หรือแม้กระทั่งเกิดกองทุน แล้วสวนนี้มันจะเป็นเครื่องมือที่เขาจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสทางสุขภาพได้เอง

          มันไม่ได้แค่ปลุกเมืองนะ แต่มันจะปลุกพลังพลเมืองในแต่ละจุด ปลุกชุมชนที่เข้มแข็งขึ้นมาทำเรื่องนี้ได้ มันจะเกิดระบบนิเวศในการจ้างงาน สร้างอาชีพ ดูแลสวน โอโห มหาศาล

แล้วงานของ กทม. ก็จะลดลงด้วย

          ถูก แล้วเขาก็จะสามารถเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้จัด ผู้ให้ความสะดวก ให้ทุนได้อย่างภาคภูมิใจ และอยู่ในสมการอย่างภาคภูมิ ทุกคนควรจะอยู่ในสมการนี้อย่างภาคภูมิ นักออกแบบก็จะออกแบบได้โดยใช้ความรู้ความสามารถ ชุมชนก็จะยกมือให้ความเห็นได้อย่างฉะฉาน มหาวิทยาลัยก็จะเอาความรู้มาใช้ นักศึกษามีพื้นที่ทดลองในสนามเรียนรู้ นี่มันคือระบบนิเวศที่ดีมากๆ

แล้วถ้าเราไม่มีพื้นที่สาธารณะที่ดีเลยจะเกิดอะไรขึ้น

          เราว่าสิ่งสำคัญเลยคือเราอยู่ในเมืองที่รู้สึกว่าเราไม่ได้ใช้ชีวิตกับเมือง เป็นเมืองที่เราแค่อยากจะเดินจาก A ไป B แต่ระหว่างทาง ชีวิตที่มันมาพบเจอกัน ได้เห็นหน้ากันหรือเกิดอะไรใหม่ๆ มันไม่ค่อยมี

          เมืองที่ดีคือเราสามารถเดินอ้อยอิ่งไป แล้วระหว่างทางไปเจออันนี้ แวะเข้าอันนั้น ไปเจอคนที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ความเป็นไปได้หรือไอเดียต่างๆ มันเกิดในพื้นที่สาธารณะ แล้วถ้ามันให้แรงบันดาลใจเราในการได้คิด ได้ผ่อนคลาย เราว่าเราจะเป็นคนที่มีทัศนคติต่อเมืองและสังคมที่มองเห็นความเป็นสังคม แต่พอเราไม่มี ก็เหมือนเราอยู่คนเดียว ไม่ได้มีภารกิจร่วมกับสังคม ไปอยู่ในโซเชียลมีเดียเยอะ เหมือนเราไม่ได้อยู่ในโลกของความเป็นจริง เราบอกว่าเมืองมันมีความเหลื่อมล้ำนะ แต่ความเหลื่อมล้ำที่คุณพูดหมายถึงอะไร โอกาสที่เราจะได้เจอผู้คนหลากหลายเหล่านั้นในสังคมมันก็ต้องเป็นพื้นที่สาธารณะ

          เวลาเราไปเห็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนได้ใช้มันมีความสุขนะ คือช่วงเวลาและสายตาที่เราเห็นต่อกันว่านี่คือบ้านเราเมืองเรา เพราะฉะนั้นรัฐต้องมองให้ออกว่า ตราบใดที่คุณยังคิดแค่เชิงกายภาพแล้วมาทำกระบวนการหลอกๆ แบบนี้ มันเป็นการดูถูกเราทุกวันๆ คุณต้องมองว่านี่คือกระบวนการสร้างสังคมในการที่จะ Empower ผู้คนให้ตระหนักในศักยภาพ สวนมันจะสวยแค่ไหน แทบจะไม่ได้เป็นสาระสำคัญมากเท่ากับว่าคุณได้สร้างกระบวนการที่จะสร้างและเรียนรู้ไปด้วยกันทุกวัน แล้วผลลัพธ์ทุกคนรับได้น่ะ ถ้าจะออกมาไม่ดี ทุกคนก็ได้ตัดสินใจร่วมกันแล้วก็เรียนรู้ไป เราว่านี่คือคำว่าสังคม

          ติดตามข่าวสารและความคืบหน้าของโครงการได้ที่ https://wepark.co

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก