มีการสำรวจพบว่า เด็กไต้หวันกว่าครึ่งหนึ่งไม่รู้จักว่าตนเองคือใคร ชื่นชอบหรือหลงใหลสิ่งใด อยากประกอบอาชีพอะไรในอนาคต หรือมีศักยภาพที่จะทำอะไรให้กับโลกใบนี้ได้บ้าง
การศึกษาของไต้หวันให้ความสำคัญกับการสอบแข่งขันและการทำเกรด คล้ายหลายประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีน นักเรียนใช้เวลา 12 ปี ไปกับการเรียนรู้ในโรงเรียนเพื่อการท่องจำเพียงอย่างเดียว ความทุกข์จากการเรียนกดดันให้เด็กๆ หลายคนเกิดภาวะซึมเศร้า และบ่อยครั้งนำไปสู่การฆ่าตัวตาย
สมาคมการศึกษานานาชาติ ‘City Wanderer’ ของไต้หวัน จึงหาหนทางที่จะช่วยนำพาเยาวชนออกจากวังวนดังกล่าว โดยออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่อิงประสบการณ์และใช้เกมเป็นฐาน ชื่อว่า ‘Wandering Challenge’
นักเรียนที่เข้าร่วมเกมนี้จะถูกแบ่งออกเป็นทีมละ 3 คน เพื่อช่วยกันพิชิต 30 ภารกิจ ภายในเวลา 3 สัปดาห์ โดยมีเมืองเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ ตัวอย่างภารกิจ เช่น การเขียนทบทวนพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดของตัวเองในเชิงบวก เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเอง การเขียนจดหมายถึงพ่อแม่จากเบื้องลึกของหัวใจ เพื่อก้าวข้ามการสื่อสารที่ยากลำบาก การเตรียมอาหารให้กับคนไร้บ้านและนั่งแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงเรื่องราวในชีวิต เพื่อให้เกิดการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ ทักษะการคิดวิเคราะห์ และทักษะการสื่อสาร
ส่วนภารกิจที่เป็นไฮไลท์ คือการวางแผนและออกเดินทางท่องเที่ยวโดยไม่ใช้เงินเลย ซึ่งเด็กๆ จะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน การถูกปฏิเสธ และความล้มเหลว ทำให้ได้เรียนรู้และบ่มเพาะทักษะการแก้ไขปัญหา
Anny Chang ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมการศึกษานานาชาติ City Wanderer กล่าวว่า “ไม่มีใครสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ทั้งหมด แต่หากรวมพลังกัน ทุกคนสามารถร่วมกันทำบางสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้”
การพิชิตทุกภารกิจล้วนส่งเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ผู้เรียนได้สำรวจตัวเองอย่างลึกซึ้ง เกิดความมั่นใจในตนเอง เกิดแรงบันดาลใจที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ รวมทั้งใส่ใจต่อปัญหาของผู้คนและสังคมรอบตัว
ผู้เรียนคนหนึ่งสะท้อนว่า “ฉันเคยรู้สึกเขินอายที่อยากจะเป็นนักแสดงตลก แต่หลังจากเข้าร่วมกิจกรรม ฉันไม่กลัวอีกต่อไปที่จะบอกเล่าความฝันของฉันให้คนอื่นรับรู้ เพราะการเป็นตลกคือการมอบความสุขและเสียงหัวเราะให้กับผู้อื่น ทางที่ฉันเลือกช่างมีความหมาย!”
ส่วน Hannah หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2014 ค้นพบว่า เธออยากเป็นกระบอกเสียงให้กับคนที่เคยติดคุกและช่วยให้พวกเขาสามารถกลับคืนสู่สังคม ในปี 2018 จึงได้ก่อตั้งโครงการ ‘Free the Handcuff’ ซึ่งมีความหมายว่าปลดกุญแจมือ “ก่อนหน้านี้ฉันมองไม่เห็นอะไรที่เกี่ยวกับอนาคตของตัวเองเลย แต่วันนี้ฉันได้ทำในสิ่งที่ฉันหลงใหล City Wanderer สร้างจุดเปลี่ยนในเส้นทางชีวิตของฉันอย่างแท้จริง”
ปัจจุบัน เกม Wandering Challenge ถูกนำไปขยายผลใน 25 เมืองของไต้หวัน ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฮ่องกง จีน และสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่าหมื่นคน บทเรียนความสำเร็จจากกระบวนการเรียนรู้ที่อิงประสบการณ์และมีเกมเป็นฐาน คือการสร้างความอยากรู้อยากเห็น ให้อิสระในการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้มีการเลือกและวางแผน กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์โดยไม่สร้างมาตรฐานหรือคำตอบที่ตายตัวในการเรียนรู้ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสะท้อน (reflection) สิ่งที่ได้เรียนรู้และความรู้สึกนึกคิดเมื่อเสร็จสิ้นแต่ละภารกิจ
ที่มา
บทความ “City Wanderer- Wandering Challenge” จาก hundred.org (Online)