แปลงผักอัฒจันทร์ แปลงสนามกีฬาเป็นฟาร์มกลางเมือง พื้นที่สาธารณะที่รัฐร่วมริเริ่ม และพลเมืองได้เรียนรู้

17 views
May 12, 2022

พื้นที่ปลูกผักให้เช่าอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในยุคหลังโรคระบาด การปลูกผักในเมือง (Urban Farming) กลายเป็นประเด็นอีกครั้ง เพราะภาวะอาหารขาดแคลนเมื่อเมืองถูกปิด ราคาของผักผลไม้ที่สูงขึ้นจากความผันผวนของการเมืองโลก หรือแม้แต่การเข้าถึงแหล่งอาหารที่ไม่ง่ายดายเหมือนเก่า ยืนยันว่าเมืองที่มีความมั่นคงทางอาหารไม่ใช่กระแสสีเขียวที่เกิดขึ้นแล้วเหี่ยวเฉาไปตามเวลา

The KOMMON เคยเล่าถึง ‘The Plot’ แปลงผักจัดสรรที่ให้สมาชิกห้องสมุดประชาชนเมืองซอลต์เลก (Salt Lake City Public Library) ได้เวียนมาเรียนรู้การปลูกพืชผักไว้กินเอง (อ่านต่อได้ที่ https://bit.ly/3kX69Nx) เช่นเดียวกับ Urban Farming ที่เกิดขึ้นในหลากหลายเมืองทั่วโลก แตกต่างไปตามบริบทของพื้นที่และชุมชน แต่ที่หยิบยก ‘The Sky Farm’ ที่ไทเป ประเทศไต้หวันมาเล่า นอกจากความน่าสนใจของตัวพื้นที่ที่เกิดขึ้นในสนามกีฬาเก่า สิ่งที่น่าเอาอย่างคือความร่วมไม้ร่วมมืออย่างจริงจังทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา หรือแม้แต่เหล่าคนเมือง ที่ต่างเอาจริงเอาจังกับการ ‘ปลูก’ ปั้น Urban Farming ลอยฟ้าให้เกิดขึ้นจริง จนยืนระยะออกดอกออกผลให้ชาวเมืองเก็บกินได้จริงมาหลายฤดูเก็บเกี่ยว ในฐานะพื้นที่สาธารณะประจำเมืองที่ทุกคนเข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ใช่โปรเจกต์ที่ ‘เห่อ’ ประเดี๋ยวประด๋าวและถูกลืมในไม่กี่ปี

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ เกิดขึ้นเช่นเดียวกันเมืองใหญ่เมืองอื่น ที่ดินในไทเปราคาสูงขึ้น พร้อมๆ กับที่พักอาศัยมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จนแปลงผักเล็กๆ ในบ้าน (หรือแม้แต่ระเบียงห้อง) กลายเป็นเพียงความฝัน แม้ชาวเมืองจะตื่นตัวเรื่องการปลูกผักกินเองเพื่อหลีกเลี่ยงผักผลไม้ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยเคมี แต่น้อยคนที่จะสามารถเป็น ‘เกษตรกรวันหยุด’ ขับรถออกไปนอกเมืองที่ดูแลแปลงผลผลิตของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดินเองหรือเช่าเอาก็ตาม

ทาง Tai-pei Expo Foundation (TEF) เจ้าของสนามกีฬาจงซาน (Zhongshan Soccer Stadium) ซึ่งเคยจัดงาน Floral Expo มาก่อน เมื่อต้องหาทางลงว่าจะทำอย่างไรให้สนามกีฬาเก่าไม่กลายเป็นพื้นที่รกร้าง จึงจับมือกับสำนักพัฒนาเศรษฐกิจ เทศบาลนครไทเป เปลี่ยนสเตเดียมกว้างขวางให้กลายเป็น Urban Farming ที่ตอบโจทย์คนเมืองอยากทำฟาร์ม ‘ใกล้บ้าน’ มากขึ้น และช่วยกันโปรโมตคอนเซปต์ Family Farms ชวนครอบครัวมาสร้างแปลงผักแบบปลูกเอง กินเอง เรียนรู้การทำเกษตรแบบสนุกๆ ไปพร้อมกัน

ไม่ใช่แค่คอนกรีตบนอัฒจันทร์ว่างเปล่า แต่มีพร้อมทั้งกระบะปลูกผัก ดิน ระบบน้ำ และเมล็ดพันธ์ุ ให้ผู้คนได้มา ‘รับเลี้ยง’ ดูแลเอาใจใส่แปลงผักที่ลงมือเพาะเองกับมือ โดยมีกฎเหล็กว่าต้องมีเวลามาดูแลกระบะของตัวเองอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงในช่วงวันหยุด ขณะที่จันทร์ถึงศุกร์มีอาสาสมัครคอยเป็นกำลังเสริม ซึ่งพื้นที่นี้รองรับกระบะผักได้กว่า 520 กระบะ เปิดให้แต่ละครอบครัวเช่าได้เป็นเวลา 3 เดือน ขอต่อเวลาเช่าได้ 1 ครั้ง เพื่อให้ทุกคนในเมืองได้หมุนเวียนกันมาใช้ได้อย่างทั่วถึง

และที่มากไปกว่าพื้นที่ คือ Green Earth Village นิทรรศการที่ให้ข้อมูลเรื่องเกษตรกรรมทั้งการใช้ดิน ผักไฮโดรโปนิกส์ และการปลูกผักในรูปแบบต่างๆ เหมือนศูนย์การเรียนรู้ขนาดย่อมสำหรับมือใหม่หัดปลูก ให้ได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีก่อนลงมือปฏิบัติการรับเลี้ยงผัก รวมทั้งกิจกรรมเวิร์กชอปสำหรับครอบครัวเพื่อสร้างองค์ความรู้และต่อยอดการทำการเกษตร ที่สอดแทรกให้คนเมืองเห็นคุณค่าของอาหารมากขึ้น ไปจนถึงความร่วมมือจาก ฉิง เหลียง ตี้ ออร์แกนิคฟาร์ม และคณะวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ที่มาช่วยวางแผนให้ฟาร์มกลางเมืองแห่งนี้เป็นมิตรกับทุกคน ทั้งการคัดเลือกพืชผักที่เหมาะสมกับพื้นที่ ฤดูกาล และไม่มีแมลงหรือศัตรูพืชมารบกวนมากนัก ผลผลิตจากฟาร์มแห่งนี้ จึงมีทั้งผักกาด กะหล่ำปลี มะเขือเทศ สตรอว์เบอร์รี่ และอีกมากมาย

ความร่วมไม้ร่วมมือที่เข้มข้นและเข้มแข็งในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้มือใหม่หัดปลูกได้กินผลผลิตของตัวเอง และเห็นความสำคัญของอาหารอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เป็นเพราะเมืองมีนโยบายผลักดัน Urban Farming อย่างเต็มที่ตั้งแต่ ค.ศ. 2015 จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการเกษตรชุมชน (Community Agriculture Promotion Center) เดินหน้าประเด็นนี้อย่างจริงจัง ส่งเสริมให้เกิดฟาร์มในเมืองของเอกชนที่คนทั่วไปสามารถเช่าพื้นที่ปลูกผักได้กระจายอยู่ในย่านต่างๆ เกินกว่า 20 แห่ง มีสวนผักดาดฟ้าและแปลงผักเล็กๆ ในชุมชนเกือบ 300 จุดที่เข้าถึงได้ด้วยเส้นทางรถไฟใต้ดิน

กลับมาที่บ้านเรา แม้จะยังไม่เต็มรูปแบบและครบวงจรนัก แต่เราก็มีการขับเคลื่อนเรื่องการขอใช้พื้นที่ว่างเปล่ามาทำแปลงผักของกลุ่มสวนผักคนเมือง หรือตัวอย่างการจัดสรรพื้นที่เอกชนให้เช่าสำหรับปลูกผัก เช่น g Garden ที่พระราม 9 หรือ U-Farm ที่จังหวัดเพชรบุรี ให้พอให้เห็นความเป็นไปได้ว่าเราสามารถจัดสรรพื้นที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นพื้นที่ที่ได้ลงมือปลูก และได้เรียนรู้เรื่องความมั่นคงทางอาหารไปพร้อมๆ กัน

และคงจะดีไปมากกว่านั้น หากรัฐเข้ามาส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านแปลงผักเช่นเมืองใหญ่ทั่วโลก

แปลงผักอัฒจันทร์ แปลงสนามกีฬาเป็นฟาร์มกลางเมือง พื้นที่สาธารณะที่รัฐร่วมริเริ่ม และพลเมืองได้เรียนรู้
Photo: วรรษมน โฆษะวิวัฒน์


ที่มา

บทความ “Urban Micro-Farming: A Growth Industry” จาก taiwanpanorama.com.tw (Online)

บทความ “The Global Popularity of Urban Farming” จาก english.gov.taipei (Online)

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก