โตเกียวติดอันดับที่ 7 ในดัชนี Sustainable Cities Index และอันดับที่ 3 ใน Arcadis Sustainable Cities Index ปี 2022 เป็นเมืองในแถบเอเชียประเทศเดียว ท่ามกลางเมืองที่มีชื่อเสียงด้านนโยบายความยั่งยืน เช่น ออสโล สตอล์กโฮม โคเปนเฮเกน ปารีส เบอร์ลิน
ในปี 2019 สำนักงานบริหารมหานครโตเกียว หรือ Tokyo Metropolitan Government (TMG) ประกาศ “Zero Emission Tokyo Strategy” กลยุทธ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเพียง 50% ในปี 2030 จนกลายเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดนโยบายเชิงปฏิบัติอีกหลายด้าน ทั้งการกำจัดอาหารเหลือ การกำจัดขยะ และที่น่าสนใจคือมุมมองต่อเรื่องพลังงาน
นโยบาย “ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงพลังงานหมุนเวียน” ของโตเกียว ทำให้เกิดแคมเปญ “Renewable Electricity Together” ซึ่งมีเป้าหมายส่งเสริมให้บ้านทุกหลังใช้ไฟฟ้าที่เกิดจากพลังงานหมุนเวียน โดยเริ่มปักหมุดจากโตเกียวแล้วค่อยขยายไปสู่เมืองอื่นๆ ถึงเป้าหมายนี้จะดูเรียบง่ายไม่หวือหวาเท่ากับการลดการปล่อยคาร์บอนให้ถึง 0 แต่ก็เป็นการเผยให้เห็นรายละเอียดชัดเจนว่า ญี่ปุ่นต้องการให้ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐานในการใช้ชีวิต
และโตเกียวยังมองรอบด้าน ไม่ทอดทิ้งประเด็นทางเศรษฐกิจและการลงทุน ปรับปรุงนโยบายการเงินสีเขียว (Green Finance) ให้เหมาะสมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนโยบาย Tokyo Green Bonds และนโยบาย The Tokyo ESG Fund ที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ประเด็นหลักที่น่าจะทำให้โตเกียวติดอันดับเมืองยั่งยืนทั้ง 2 ดัชนี คือแผน Future Tokyo: Tokyo’s Long-Term Strategy ในปี 2021 ที่มีเป้าหมายหลักคือปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากรโตเกียวด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัย วางแผนเพื่ออนาคตกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างสมาร์ทซิตี้ ให้ความสำคัญกับการขนส่ง ส่งเสริมการใช้ Micromobility หรือยานพาหนะขนาดเล็กท่ามกลางเมืองที่วุ่นวาย
ซึ่งแผนฉบับนี้ สอดคล้องกับเกณฑ์ของ Arcadis Sustainable Cities Index ที่วัดจาก 3 ปัจจัย นั่นคือ โลก (สิ่งแวดล้อม) ผู้คน (สังคม) และกำไร (เศรษฐกิจ) และเกณฑ์ของ Sustainable Cities Index ที่วัดเรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คุณภาพของอากาศ พื้นที่สาธารณะ การขนส่งยั่งยืน ฯลฯ
แน่นอนว่าการวางเป้าหมายที่ท้าทายของโตเกียว การแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งในระดับ Local และ Global คือหัวใจสำคัญ ดังที่ ดร.นาโอโกะ อิชิอิ รองประธานและผู้อำนวยการศูนย์ Global Commons ของมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้กล่าวเอาไว้ว่า โตเกียวต้องเป็น “ไอเดีย แล็บ” หรือพื้นที่นำเสนอความคิดด้านความยั่งยืน เพื่อให้เกิดต้นแบบที่เมืองอื่นๆ สามารถนำไปใช้ได้
เวทีแลกเปลี่ยนทดลองไอเดียเริ่มต้นจากความร่วมมือภายใน คือภาคธุรกิจ ประชาชน และรัฐบาล ขยายผลด้วยการเชื่อมต่อกับองค์ความรู้ระดับสากล TMG จึงจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ Re StaRT และ Time to Act: Climate Action Forum ขึ้นในโตเกียว ทั้งสองครั้งนี้มีตัวแทนมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์หลากหลาย ทั้งจาก World Economic Forum และเมืองที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เช่น นายกเทศมนตรีจากปารีส บริสเบน ลอสแองเจลีส และดาการ์
ด้วยปัจจัยที่ว่ามานี้ จึงพอจะมองเห็นว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้โตเกียวติดอันดับเมืองที่ยั่งยืนอันดับต้นๆ คือญี่ปุ่นมีเป้าหมายชัดเจน มีนโยบายที่ครอบคลุมรอบด้าน ผลักดันให้เกิดการระดมไอเดียทุกภาคส่วน มุ่งหน้านำเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้ เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและโลกที่สวยงามขึ้น
ที่มา
บทความ “Sustainable Cities Index Report Card” จาก corporateknights.com (Online)
บทความ “The Green City of the Future – Tokyo Metropolitan Government” จาก sponsorcontent.cnn.com (Online)
บทความ “TMG announces the formulation of the “Zero Emission Tokyo Strategy 2020 Update & Report”” จาก kankyo.metro.tokyo.lg.jp (Online)
บทความ “Where are the most sustainable cities in the world?” จาก citymonitor.ai (Online)
บทความ “The Arcadis Sustainable Cities Index 2022 – World Business Council for Sustainable Development (WBCSD)” จาก wbcsd.org (Online)
บทความ “What Makes Tokyo The Greenest City Of Asia-Pacific Region” จาก smartcity.press (Online)
บทความ “Tokyo wants to build a future-proof city. Here’s how” จาก weforum.org (Online)
บทความ “CREATING A SUSTAINABLE CITY TOKYO’S ENVIRONMENTAL POLICY” จาก metro.tokyo.lg.jp (Online)
บทความ “Japan is leading the way in sustainable new mobility” จาก greaterthan.eu (Online)