‘The Tyranny of Merit’ มดลูกที่ถูกต้องและความสำเร็จที่คู่ควร?

2,000 views
4 mins
May 27, 2022

          วอร์เร็น บัฟเฟตต์ เจ้าของบริษัท Berkshire Hathaway นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ผู้ได้ฉายาว่า ‘เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา’ เขาเป็นต้นแบบของนักลงทุนสายคุณค่าที่ถูกเขียนเป็นหนังสือไม่หวาดไม่ไหวและถูกเอ่ยถึงประหนึ่งมนต์คาถาที่จะช่วยให้การลงทุนหุ้นประสบความสำเร็จ

          ไม่มีข้อโต้เถียงว่าบัฟเฟตต์เป็นนักลงทุนที่ช่ำชอง อีกด้านหนึ่งเขาก็มีมุมมองเสียดเย้ยต่อความร่ำรวย สังคม และวัฒนธรรมบริโภคแบบอเมริกัน

          เขาเคยกล่าวไว้ทำนองว่า การให้เงินทองแก่ลูกหลานจำนวนมากจนสุขสบายไปทั้งชีวิต “เพียงเพราะพวกเขาออกมาจากมดลูกที่ถูกต้อง” ถือเป็นเรื่องอันตรายทั้งต่อลูกหลานและสังคม และ “ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง”

          ความเหลื่อมล้ำในสังคมอเมริกาสูงกว่าในยุโรปที่มีระบบสวัสดิการดีกว่า ส่วนประเทศไทย…ก็ดังที่รู้กัน ช่องว่างระหว่างคนรวยที่สุดกับคนจนที่สุดกว้างใหญ่เสียจนนกที่แข็งแรงที่สุดก็มิอาจบินข้าม มีปัญหาเชิงโครงสร้างมากมายที่ไม่จำเป็นต้องสาธยายเพราะมันถูกตีแผ่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

          แต่มีประเด็นหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยมีการอธิบายแจ่มแจ้งนักในสังคมไทย กระทั่งมาพบในหนังสือ ‘เผด็จการความคู่ควร เกิดอะไรขึ้นกับประโยชน์สาธารณะ’ หรือ ‘The Tyranny of Merit : What’s Become of the Common Good?’ โดย Michael J. Sandel นักปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่มีหนังสือแปลเป็นภาษาไทยมาก่อนแล้ว 2 เล่ม

          หนังสือเล่มนี้ตีแผ่และเจาะลึกเรื่อง ‘ความคู่ควร’ ในสังคมอเมริกัน

          ยังจำคลิปวิดีโอสัมภาษณ์นักแสดงผู้สวมบทบาทเป็นนักธุรกิจหนุ่มผู้ประสบความสำเร็จได้ไหม? ที่มีบทสรุปหักมุมว่าเพราะเป็นลูกคนรวยจึงประสบความสำเร็จ กระแทกใจใครหลายคนในสังคมคลั่งไคล้ความสำเร็จที่มักมองผลลัพธ์สุดท้ายมากกว่าการเดินทาง

          ในสังคมอเมริกันและไทย เราชื่นชอบคนประสบความสำเร็จ (และตวงวัดอย่างมักง่ายโดยใช้จำนวนสินทรัพย์) เราสรุปโดยไม่เฉลียวใจว่าคนเหล่านั้นต้องขยันหมั่นเพียร ต่อสู้ ฟันฝ่า ใช้ความรู้ความสามารถ จนพาตนเองมาถึงจุดนี้ ดังนั้น พวกเขาจึงคู่ควรกับผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะแปรเปลี่ยนเป็นความถือดีในตนและหยามเหยียดคนที่อยู่ต่ำกว่า

          แต่ด้วยความที่คู่ควรนิยม (Meritocracy) วางอยู่บนหลักการข้างต้น มันจึงสอดคล้องกับสามัญสำนึกทางจริยธรรมของเรา คนที่พยายามกว่า มีความสามารถมากกว่าย่อมคู่ควรกับผลลัพธ์ที่ดีกว่า

          ทว่า ทั้งหมดนั่นอาจเป็นแค่ความโชคดีบวกกับหนี้บุญคุณสังคมที่อุ้มชูพวกเขาก็ได้?

          Sandel ชี้ให้เห็นว่ามายาคติเรื่องความคู่ควรมีอันตราย ทำร้ายผู้คนและสังคมมากกว่าที่คาดคิด สังคมไทยคุ้นเคยแนวคิดคู่ควรนิยมในแบบกลับด้าน เราได้ยินคำว่า จนเพราะขี้เกียจ บ่อยๆ แต่เพิกเฉยข้อเท็จจริงที่ว่าคนจนทำงานหนักมากแค่ไหน การสมาทานแนวคิดนี้จึงกำลังบอกว่าคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ คนยากจน คนชายขอบ คนเรียนไม่จบ เพราะไม่พยายามพอ ไม่ต่อสู้ ขี้เกียจ สมควรแล้วที่จะลงเอยในปลักโคลนความยากจน คนกลุ่มนี้จึงถูกหมิ่นหยามทั้งจากผู้ที่เหนือกว่าและจากตัวพวกเขาเอง

          Sandel เปิดเรื่องด้วยแผนการโกงอันซับซ้อนของวิลเลียม ซิงเกอร์ เจ้าของบริษัทให้คำปรึกษาด้านการศึกษาต่อ เพื่อช่วยให้ลูกหลานคนมีเงินมีชื่อเสียงสามารถเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ ได้ มันวางบนความเชื่อว่าการจบจากมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงเป็นก้าวแรกของความสำเร็จ-การมีงานทำ มีคอนเน็กชั่น มีเกียรติ มันคุ้มค่าที่จะลงทุนเพื่อลูกของฉัน

          ผู้เขียนพาสำรวจคู่ควรนิยมตั้งแต่แนวคิดทางเทววิทยาในคริสต์ศาสนาและโวหารกลวงเปล่าแบบ ‘American Dream’ ที่ว่าทุกคนสามารถไปถึงดวงดาวได้หากมีความพยายามมากพอ ซึ่งไม่จริง ตรงข้าม มันทิ้งคนมากมายไว้ข้างหลัง ปะทุความโกรธแค้นออกมาเป็นผลการเลือกตั้งปี 2016 เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จาก Voter ที่เป็นชายผิวขาวพ่ายแพ้จากตลาดและโลกาภิวัตน์ ไม่มีใบปริญญา น้อยเนื้อต่ำใจ ชิงชังคนผิวสีและผู้อพยพที่ช่วงชิงโอกาสในชีวิตของพวกเขาไป

          น่าเสียดายที่นักการเมืองทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันมองไม่เห็นความขุ่นเคืองนี้ มองว่าคู่ควรนิยมไม่ใช่ปัญหา หนทางแก้จึงต้องทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียม ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ Sandel วิจารณ์อย่างแหลมคม ดูเหมือนใครต่อใครคิดว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทำได้ง่ายดายแค่ให้ทุกคนเรียนจบปริญญาตรี แล้วไปไขว่คว้าความสำเร็จเอาเอง

         Sandel หยิบยกงานศึกษามาประกอบหลายชิ้น ทำให้เห็นว่าวัยรุ่นที่มาจากครอบครัวมีฐานะสามารถทำคะแนนและมีโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัยมากกว่าวัยรุ่นที่มาจากครอบครัวยากจน ผู้เขียนยังนำถ้อยคำของนักเขียนนาม ทอมัส แฟรงค์ มากล่าวถึงว่า

          “(มัน-การศึกษา) ไม่ใช่คำตอบอะไรเลย มันคือการตัดสินทางศีลธรรมที่ถูกโยนลงมาโดยผู้ประสบความสำเร็จ จากจุดที่พวกเขาประสบความสำเร็จแล้ว ชนชั้นวิชาชีพถูกนิยามด้วยผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษา และทุกครั้งที่พวกเขาบอกกับประเทศว่าสิ่งที่ชาติต้องการคือการไปโรงเรียนมากขึ้น ก็เท่ากับพวกเขาพูดว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ความล้มเหลวของระบบ มันคือความล้มเหลวงของคุณต่างหาก”

          สังคมคู่ควรนิยมยังเปิดทางให้เทคโนแครต ชนชั้นวิชาชีพ เป็นฝ่ายกำหนดนโยบายสาธารณะที่ถูกอธิบายว่าเป็นเรื่องความฉลาดกับโง่ ไม่จำเป็นต้องบอกว่าฝ่ายใดถูกมองว่าฉลาดและฝ่ายใดไม่ Sandel เห็นว่านโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของการถกเถียงของพลเมือง มากกว่าการใช้โวหารฉลาดกับโง่ เพราะเมื่อแบ่งเช่นนี้ แน่นอนว่าความฉลาดย่อมคู่ควรและดูเหมือนอยู่เหนือความขัดแย้งทางศีลธรรมและอุดมการณ์ทางการเมือง Sandel บอกว่าวิธีนี้ทำให้การเมืองเบี่ยงเบนออกจากประเด็นความยุติธรรมและประโยชน์สาธารณะ

          การเรียกร้องความสำเร็จของคู่ควรนิยมไม่ได้ทำร้ายเฉพาะคนที่อยู่ใต้ถุนสังคม มันยังทำร้ายบรรดาลูกหลานผู้มีอันจะกินด้วย เช่นเดียวกับในสังคมไทย คนหนุ่มสาวถูกบีบคั้นจากความคาดหวังของพ่อแม่ที่มาในนามความหวังดี เรียนพิเศษ ทำกิจกรรม เรียนดนตรี หรือใดๆ ที่ช่วยเพิ่มพูนโปรไฟล์ของพวกเขาให้ดูดี ผลลัพธ์คือภาวะซึมเศร้า การใช้สารเสพติด โรควิตกกังวล ความเครียด

          บางข้อเสนอของ Sandel เขาต้องการให้ใช้วิธีจับสลากหรือลอตเตอรี่สำหรับผู้มีคุณสมบัติ เขาต่อยอดความคิดจากคณะกรรมการรับสมัครนักศึกษาของเยลที่ว่า เอาใบสมัครหลายพันใบมารวมกันแล้วโยนลงไปบนบันได จากนั้นก็เกิดไปหยิบใบสมัครพวกนั้นมาสักพันใบขึ้น เยลก็จะได้นักศึกษาที่มีคุณภาพไม่แพ้ที่ได้จากการคัดเลือกในที่ประชุมคณะกรรมการ ทั้งนี้เพราะคนที่สมัครเข้ามาต่างมีคุณสมบัติไม่ทิ้งห่างกันมาก ดังนั้น เมื่อผ่านการคัดเลือกรอบแรกแล้วต่อด้วยการจับสลาก

         Sandel เชื่อว่าวางเกณฑ์ขั้นต่ำ แล้วปล่อยให้โชคชะตาจัดการที่เหลือเป็นการต่อสู้กับเผด็จการคู่ควรนิยม ลดแรงกดดันและคืนชีวิตวัยรุ่นให้แก่คนหนุ่มสาว

          ในบทท้าย Sandel เสนอให้เราหันกลับมาพิจารณา ‘งาน’ อย่างจริงจัง เขาเชื่อว่าการคืนคุณค่าให้กับงานเป็นอีกทางหนึ่งในการเยียวยาพิษร้ายของคู่ควรนิยม มีความผิดเพี้ยนในวิถีที่เราให้ค่าต่องาน งานที่สร้างรายได้ดีมีคุณูปการต่อสังคมมากกว่างานที่สร้างรายได้น้อย Sandel โต้เถียงว่าอาจเป็นเพียงภาพลวงตา

          เขายกตัวอย่างอุตสาหกรรมการเงิน ภาคธุรกิจที่มีอิทธิพลสูงและทำเงินมหาศาลโดยไม่มีการผลิตใดๆ จับต้องได้ ยิ่งวิศวกรรมทางการเงินรุ่งเรือง มันก็ยิ่งเป็นการโยกย้ายเงินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเพื่อเก็งกำไร แต่นักการเงินกลับมีรายได้สูงกว่าซึ่งถูกประเมินว่ามีคุณูปการมากกว่ากุมารแพทย์

          กลไกทุนนิยมพร้อมแปลงทุกอย่างเป็นสินค้าทำเงิน ลองนึกถึงเซเลบฯ หรือดาราสักคน ที่เพียงโชว์ตัวโดยไม่ทำการผลิตอะไรก็อาจมีรายได้เท่าคนหาเช้ากินค่ำทั้งปี น่าสงสัยว่าเราสามารถเรียกเป็นความสำเร็จของคนแรกและความล้มเหลวของคนหลังได้จริงหรือ?

          เพราะเป็นนักปรัชญา Sandel เชี่ยวชาญการสร้างข้อถกเถียง การใช้ข้อมูล และนำเสนอเหตุผลสนับสนุน มันทำให้ ‘เผด็จการความคู่ควรฯ’ อัดแน่นด้วยข้อคิด ความเห็น และโวหารคมคายที่ต้องนำไปใคร่ครวญต่อ (ต้องยกความดีงามให้กับผู้แปล-สฤณี อาชวานันทกุล) มีหลากหลายประเด็นต้องทำความเข้าใจเอง ผมเล่าได้ไม่หมด

          ในมุมมองโค้ชการเงิน ความยากจนแก้ไขได้ด้วยการทำงานและหาความรู้ จริงบางส่วน แต่ก็ตื้นเขินเกินกว่าจะยอมรับ มันผลักภาระทั้งหมดให้แก่ปัจเจก ความยากจนและร่ำรวยถูกส่งต่อรุ่นสู่รุ่น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมแก้ไขด้วยการขยัน หาความรู้ จับทุกคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอย่างนั้นหรือ?

          สำหรับผม ชีวิตที่ดีในสังคมประชาธิปไตยหาใช่การทำให้ทุกคนเริ่มต้น ณ จุดเดียวกัน ให้โอกาสอย่างเท่าเทียมกันเท่านั้น แต่มันหมายถึงการส่งเสริมให้ทุกคนได้เติบโตตามศักยภาพของตน พาตนเองไปยังจุดที่ต้องการโดยไม่ต้องมีแนวคิดคู่ควรนิยมคอยชี้นิ้วบอกว่าสิ่งใดสำเร็จ สิ่งใดล้มเหลว

          ไม่มีหรอกมดลูกที่ถูกหรือมดลูกที่ผิด มีก็แต่รัฐที่ดูแลหรือไม่ดูแลประชาชน

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก