หากจีนยังคงเป็นประชาธิปไตย…

3,103 views
5 mins
May 20, 2021

          เราถูกตอกย้ำผ่านสื่อว่าแกนโลกกำลังเอียงมาทางจีน ซึ่งก็ไม่น่าจะผิดเพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจอันโดดเด่นและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของจีนก้าวกระโดด อีกส่วนหนึ่งมาจากรัฐไทยที่นโยบายต่างประเทศช่วงหลังโน้มเอียงเข้าหาจีนอย่างเห็นได้ชัด

          ประเด็นที่บางคนไม่รู้หรือบางคนรู้แต่เลือกมองข้ามคือการพุ่งทะยานของจีนมีต้นทุนสูงมาก ทั้งในเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต ความเหลื่อมล้ำ และโดยเฉพาะด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน แน่ล่ะ เพราะจีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ (หรือทุนนิยมแบบสั่งจากศูนย์กลาง?) สามารถกดปราบประชาชนให้อยู่นิ่ง ชี้นิ้วสั่งได้ทันทีว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร

           คราวนี้เราลองจินตนาการดูว่า ถ้าประเทศจีนปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มังกรตัวนี้จะมีหน้าตาเช่นไร

          ตรงนี้ขึ้นอยู่กับทัศนะทางการเมือง บ้างเชื่อว่าจีนจะไปไกลกว่านี้ บ้างเชื่อว่าจีนจะไปไหนไม่ไกล ซึ่งความคิดแบบหลังถือว่าเข้าใจได้ เนื่องจากการปฏิวัติซินไฮ่ปี 1911 ต่อเนื่องถึงก่อนปี 1947 ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีชัยเหนือพรรคก๊กมินตั๋ง เป็นช่วงที่สาธารณรัฐจีนปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ทว่า ความวุ่นวายจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างขุนศึกที่ตกค้างจากยุคศักดินากลับคุกรุ่นต่อเนื่อง จนถูกเรียกว่า ยุคขุนศึก

          ประวัติศาสตร์กระแสหลักวาดภาพยุคขุนศึกเป็นผู้ร้าย ทำให้มังกรตัวนี้ง่อยเปลี้ย กระทั่งการมาถึงของพรรคคอมมิวนิสต์ มังกรจึงผงาดอย่างแท้จริง ใช่ครับ ประวัติศาสตร์มักเขียนโดยผู้ชนะ ภาพอัปลักษณ์ในยุคประชาธิปไตยของจีนส่วนใหญ่เกิดจากการวาดเขียนของพรรคคอมมิวนิสต์ แล้วนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องจีนจำนวนหนึ่งก็เชื่อเรื่องเล่านี้เสียด้วย

          ‘จีนก่อนคอมมิวนิสต์: ประวัติศาสตร์จีนที่คุณอาจไม่รู้’ (The Age of Openness: China before Mao) ของ Frank Dikotter ให้ภาพที่ต่างไปโดยสิ้นเชิง

‘จีนก่อนคอมมิวนิสต์: ประวัติศาสตร์จีนที่คุณอาจไม่รู้’ (The Age of Openness: China before Mao)

          ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธว่ามีความสับสนอลหม่านในช่วงนั้น แต่ท่ามกลางความสับสนอลหม่าน ประชาธิปไตยก็หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเป็นไปได้ที่จะงอกงามขึ้นบนแผ่นดินจีน ถ้ามันได้ไปต่อ

          ตัวเลขการเสียชีวิตจากภัยสงครามตั้งแต่การปฏิวัติซินไฮ่ถึงปี 1930 ที่ถูกเรียกว่า ยุคขุนศึก มีประมาณ 400,000 ราย ถือเป็นจำนวนมหาศาล อันที่จริงไม่ควรนำความตายเปรียบเทียบกับความตาย แต่ข้อเท็จจริงคือการกบฏและปราบปรามกบฏในศตวรรษที่ 19 ปลายยุคราชวงศ์ชิง มีคนตาย 20-30 ล้านคน ปี 1958 นโยบายก้าวกระโดด (Great Leap Forward) และการปฏิวัติวัฒนธรรมช่วงปี 1966-1976 ของเหมาเจ๋อตง ส่งผลให้ผู้คนล้มตายกว่า 45 ล้านคน ตัวเลขนี้มากกว่าจำนวนชาวยิว 12 ล้านคนที่ถูกฮิตเลอร์และระบอบนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

          ในยุคสาธารณรัฐ กระทรวงยุติธรรมของจีนมีความพยายามปฏิรูประบบเรือนจำ เมือง ท้องถิ่น มณฑล รัฐบาลกลางกระตือรือร้นต่อหลักการของศาลสมัยใหม่เพราะต้องการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ผ่านการปฏิรูปกฎหมายและการสร้างความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เกิดความต่อเนื่องของข้าราชการ ข้าราชการบางคนถึงกับต้องการปฏิรูปด้านการเงินและระบบบริหารราชการของรัฐสมัยใหม่นี้

          ปี 1912 หลังปฏิวัติซินไฮ่ สาธารณรัฐจีนจัดให้มีการเลือกตั้ง พบว่ามีผู้มีสิทธิ์ถึง 40 ล้านคน ช่วยให้ชาวจีนมีผู้แทนราษฎรราวร้อยละ 10 ของจำนวนประชากร เร็วกว่าญี่ปุ่นและอินเดียที่ต้องใช้เวลากว่า 10-20 ปีกว่าจะทำได้ ธรรมนูญของมณฑลต่างๆ เช่น หูหนาน เจ้อเจียง เสฉวน มีความเป็นประชาธิปไตยสูงยิ่งในยุคนั้น

          สื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสูงกว่าในยุคราชวงศ์ชิงและยุคคอมมิวนิสต์ ช่วงกลางทศวรรษที่ 1930 มีหนังสือพิมพ์ในจีน 910 ฉบับ ใน 6 ภาษา และมีการตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งพิมพ์จำนวนมากเกิดขึ้นเพื่อรับใช้อุดมการณ์ของประชาชนและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกลาง

          นอกจากนี้ยังมีการเปิดกว้างทางศาสนา การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม สินค้าอุปโภคบริโภค ที่น่าสนใจ ภาพฝรั่งหนังขาวปีศาจแห่งจักรวรรดินิยมผู้กดขี่ของฝรั่งที่มักเห็นจากภาพยนตร์จีน ในความเป็นจริงนั้น ชาวต่างประเทศจำนวนไม่น้อยมีผลต่อการพัฒนาสาธารณรัฐจีน ไม่ว่าในรูปการเปิดโรงเรียน การค้า หรือการเป็นข้าราชการ

           เมล็ดพันธุ์ที่กำลังงอกงาม ผลิบาน สีสันอันหลากหลายของวัฒนธรรม ชีวิต ศาสนา และอีกมากมาย หายวับไปกับตาทันทีที่เหมาเจ๋อตงสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ นำพาสาธารณรัฐจีนสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนดังที่เราเห็นกันทุกวันนี้

          ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า ครั้งหนึ่งจีนเคยเป็นประชาธิปไตย ผมบอกไม่ได้หรอกว่าหากสาธารณรัฐจีนยังคงอยู่ แกนโลกจะเอียงหรือไม่

          แต่ความเชื่อส่วนตัวบอกผมว่า จะมีความเป็นไปได้มากมายเกิดขึ้นกับจีน มากกว่าความเงียบของผู้คน

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก