สิ้นสุดวาทกรรมคนไทยอ่านน้อย โจทย์ที่ยากกว่าคือสร้างนิสัยรักการอ่าน

1,179 views
20 mins
February 19, 2021

          ถึงแม้ว่าผลสำรวจการอ่าน พ.ศ. 2561 มีปริมาณผู้อ่าน (อายุ 6 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 78.8 คิดเป็นจำนวน 49.7 ล้านคน แต่ข้อมูลที่น่าสนใจยังคงอยู่ที่ตัวเลขด้านกลับคือจำนวนประชากรที่ไม่อ่าน ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 21.2 หรือประมาณ 13.7 ล้านคน

          ในกลุ่มประชากรที่ไม่อ่านเกือบ 14 ล้านคนนี้ ให้เหตุผลประการหนึ่งที่ไม่อ่านว่าเป็นเพราะไม่ชอบหรือไม่สนใจอ่าน คิดเป็นร้อยละ 25.2 หรือประมาณ 3.45 ล้านคน เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี มีแนวโน้มไม่ชอบอ่านลดลงชัดเจนจากร้อยละ 32.3 ในปี 2551 เหลือร้อยละ 17.9 ในปี 2561 หรือประมาณ 1.3 แสนคน ในขณะที่กลุ่มวัยรุ่นหรือเยาวชนอายุ 15-24 ปี และวัยผู้ใหญ่อายุ 25-59 ปี มีสัดส่วนไม่ชอบหรือไม่สนใจอ่านสูงมากทั้งสองกลุ่ม คือร้อยละ 34.9 และ 32.8 ตามลำดับ ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่ชอบอ่านเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สัดส่วนของผู้ไม่อ่านเนื่องจากไม่ชอบอ่านหรือไม่สนใจอ่านในกลุ่มอายุ 15-59 ปี ทำให้จำนวนผู้ไม่อ่านเพราะไม่ชอบหรือไม่สนใจอ่าน สูงถึง 1 ใน 4 ของประชากรที่ไม่อ่าน นั่นหมายความว่ากิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ยกเว้นการรรณรงค์ส่งเสริมในกลุ่มเป้าหมายวัยเด็กที่อาจเรียกได้ว่าเห็นผลสำเร็จได้อย่างชัดเจน

          อย่างไรก็ตาม ควรตั้งคำถามต่อไปว่าประชากรที่อ่านเพิ่มขึ้นก็ดี หรือข้อมูลกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปีที่ไม่ชอบอ่านลดลงก็ดี จะถือว่าเป็นความสำเร็จได้หรือไม่ เพราะความสำเร็จของการส่งเสริมการอ่านนั้นหาใช่พิสูจน์ที่ปริมาณการอ่านเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อการอ่านไปสู่การมีพฤติกรรมการอ่านด้วย

          ดังนั้น ถ้าหากการส่งเสริมการอ่านประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงตั้งแต่วัยเด็กแล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็ควรจะยังคงมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่าน มีนิสัยรักการอ่าน และเป็นนักอ่านอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจำนวนผู้ไม่ชอบหรือไม่สนใจอ่านหนังสือจึงควรจะลดลงในทุกช่วงวัย แต่ข้อเท็จจริงนั้นกลับไม่ใช่ จึงนับเป็นเรื่องท้าทายทุกองค์กรและทุกหน่วยงานด้านส่งเสริมการอ่าน รวมถึงห้องสมุดต่างๆ เป็นอย่างยิ่งว่า จะร่วมกันลดปริมาณคนไม่ชอบหรือไม่สนใจอ่านในทุกช่วงวัยได้อย่างไร ไม่ใช่สนใจเฉพาะแต่เพียงวัยเด็กอีกต่อไป นี่คือโจทย์ใหม่ของการรณรงค์ส่งเสริมปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน

เหตุผลที่ไม่อ่านเพราะไม่ชอบอ่าน

อ่านหนังสือกระดาษลดลงเล็กน้อย อ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์พุ่งทะยาน

          ผลสำรวจการอ่าน พ.ศ. 2561 ยังพบว่าการอ่านจากหนังสือกระดาษและจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์กำลังจะมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือร้อยละ 88.0 อ่านหนังสือกระดาษ และร้อยละ 75.4 อ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กระนั้นก็ดี พึงสังเกตว่าการอ่านประเภทหลังนั้นส่วนใหญ่เป็นการใช้โซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ต (เกือบร้อยละ 70) หากย้อนดูข้อมูลการสำรวจครั้งก่อนซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการปรับนิยามการอ่านให้ครอบคลุมถึงการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย จะพบว่าการอ่านหนังสือกระดาษและอ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังมีความแตกต่างกันมาก คือร้อยละ 96.1 และ 54.9 ตามลำดับ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการอ่านหนังสือกระดาษลดลงทีละน้อย ส่วนการอ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ประเภทสื่อที่อ่านจำแนกตามช่วงวัย

          เมื่อจำแนกตามช่วงอายุยังพบอีกว่า เยาวชนวัยรุ่นอายุ 15-24 ปีเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่อ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากกว่าหนังสือกระดาษ คืออ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 96.7 อ่านหนังสือกระดาษร้อยละ 84.7 และเป็นการใช้โซเชียลมีเดียสูงที่สุดถึงร้อยละ 89.9 แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลาย และอุปกรณ์สื่อสารเหล่านั้นมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการพฤติกรรมการอ่าน

          เมื่อพิจารณาเชิงพื้นที่ระหว่างในและนอกเขตเทศบาล การอ่านของกลุ่มวัยรุ่นเปรียบเทียบสองพื้นที่มีความใกล้เคียงกันมากคือร้อยละ 93.9 และร้อยละ 92.1 ตามลำดับ จนอาจกล่าวได้ว่าลักษณะความเป็นเมืองหรือความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานเมืองไม่มีผลต่อการอ่านในกลุ่มวัยรุ่นเท่าไรนัก ตราบใดที่โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์การสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์สามารถเข้าถึงได้สะดวกทั่วถึง พฤติกรรมของวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มที่สนใจความทันสมัย อยากรู้อยากเห็น อยากสื่อสาร และอยากแสดงออก เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ได้เร็ว (แต่ไม่ได้หมายถึงมีทักษะการรู้ดิจิทัลเสมอไป) เป็นเงื่อนไขสนับสนุนให้การอ่านเกิดขึ้นได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่มีข้อจำกัดว่าด้วยความเป็นเมืองและชนบท

เด็กเล็ก 1.1 ล้านคนไม่ได้อ่าน เพราะถูกมองว่าเด็กเกินไป

          ผลสำรวจการอ่านในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี พบว่า เด็กที่ไม่อ่านหรือพ่อแม่ผู้ปกครองไม่อ่านหนังสือให้ฟังเป็นเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจว่าเด็กยังเล็กเกินไป สูงถึงร้อยละ 63.8 หรือคิดเป็นเด็กเล็กจำนวนประมาณ 1.1 ล้านคนที่ขาดโอกาสเข้าถึงการอ่าน และความเข้าใจเช่นนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดเมื่อเทียบกับเหตุผลอื่นๆ ที่เด็กกลุ่มนี้ไม่อ่าน เช่น อ่านไม่ออก อ่านไม่คล่อง ชอบดูโทรทัศน์

          นั่นหมายความว่า องค์กรและหน่วยงานส่งเสริมการอ่านในกลุ่มเด็กปฐมวัยยังคงมีภารกิจหนักหน่วงต่อไปในการรณรงค์สร้างความรู้และความเข้าใจ รวมถึงความร่วมมือจากพ่อแม่ผู้ปกครอง เนื่องจากเด็กปฐมวัยนั้น แม้จะยังอ่านหนังสือไม่ออกด้วยตนเอง แต่สามารถได้รับการส่งเสริมให้ใกล้ชิดหนังสือตั้งแต่แรกเกิดโดยพ่อแม่ เช่น การอุ้มลูกนั่งตักเล่านิทานให้ฟังเป็นประจำ งานวิจัยจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญมีข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าหนังสือนิทานภาพสามารถช่วยพัฒนาสมองและการเรียนรู้ของเด็กเล็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี ซึ่งเรียกกันว่าปีทองของสมองมนุษย์ที่จะมีการพัฒนาสูงที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น ดังนั้น การให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่านแก่เด็กที่เหมาะสมตามพัฒนาการ จะช่วยสนับสนุนให้เด็กเล็กก่อนวัยเรียนมีโอกาสได้อ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น

เด็กเล็กไม่ได้อ่านหนังสือเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองเชื่อว่าเด็กเกินไป

เด็กเล็ก 1.45 แสนคน อ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว

          การอ่านในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มเด็กเล็กที่อ่านนั้น ร้อยละ 56.9 อ่านหนังสือกระดาษอย่างเดียว ขณะที่ร้อยละ 5.4 หรือจำนวนประมาณ 1.45 แสนคนอ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อปี 2558 ราว 3 เท่าตัว

          แม้ว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติจะเพิ่งเก็บข้อมูลประเด็นดังกล่าวเพียง 2 รอบการสำรวจ และอาจยังไม่สามารถระบุถึงแนวโน้มในอนาคตได้ชัดเจน แต่จำนวนเด็กเล็กที่อ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอเพียงอย่างเดียวอาจสร้างความกังวลใจให้กับผู้เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านเด็กอยู่ไม่น้อย และเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับสังคมต่อไปให้มากขึ้น เนื่องจากมีงานวิจัยเชิงประจักษ์โดยกุมารแพทย์และนักจิตวิทยาเด็กที่เผยให้เห็นว่า การปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากเกินไปอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบเชิงลบต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ พร้อมทั้งแนะนำว่าการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์และการอ่านผ่านจอไม่สมควรใช้กับเด็กเล็กแรกเกิดจนถึงหนึ่งขวบครึ่งอย่างสิ้นเชิง

ประเภทสื่อที่เด็กเล็กอ่าน

คนอ่านหนังสือในห้องสมุดลดลง ใช้บริการยืมคืนหนังสือน้อยลง

          สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการห้องสมุด ผลสำรวจการอ่าน พ.ศ. 2561 ระบุว่ามีผู้ใช้ห้องสมุดเป็นสถานที่อ่านหนังสือเพียงร้อยละ 0.6 หรือประมาณ 2.98 แสนคน แต่ธุรกรรมหลักของห้องสมุดยังเป็นเรื่องของการยืมคืนหนังสือ ซึ่งมีผู้ใช้บริการประเภทนี้มากกว่าการใช้เป็นสถานที่อ่านหลายเท่าตัว แต่จำนวนผู้ยืมคืนหนังสือก็มีทิศทางลดต่ำลงเช่นเดียวกัน คือเหลือเพียงร้อยละ 8.3 หรือประมาณ 4.12 ล้านคน

          การใช้ห้องสมุดเป็นพื้นที่การอ่านกำลังมีความสำคัญน้อยลงเรื่อยๆ สอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับห้องสมุดทั่วโลก ตัวเลขจากผลการสำรวจปีล่าสุดนี้อาจดูน่าตกใจเมื่อจำนวนผู้ใช้ห้องสมุดสำหรับอ่านหนังสือลดลงเหลือต่ำกว่า 3 แสนคน ซึ่งนับว่าน้อยที่สุดตั้งแต่มีการสำรวจ แต่ข้อมูลนี้ยังไม่สามารถบ่งบอกได้ว่ามีการใช้บริการประเภทอื่นนอกเหนือจากการอ่านเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เพราะการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ห้องสมุดในการเรียนรู้ประเภทอื่นเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับห้องสมุดทั่วโลกเช่นกัน และห้องสมุดของไทยคงยากที่จะหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนผ่านในลักษณะเดียวกันนี้ไปได้

          ความสำคัญของห้องสมุดยังอยู่ที่ธุรกรรมการยืมคืนหนังสือก็จริง แต่บทบาทด้านนี้ก็มีความไม่แน่นอน ถึงแม้ว่าตัวเลขเชิงปริมาณยังคงมีผู้ใช้บริการนับล้านคน แต่ถ้าหากมีเทคโนโลยีสนับสนุนการยืมคืนหนังสือโดยไม่ต้องเดินทางไปห้องสมุด หรือร้านหนังสือออนไลน์และห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์เริ่มได้รับความนิยมและเพิ่มจำนวนมากขึ้น จะส่งผลกระทบให้คนเข้าไปใช้ห้องสมุดเพื่อการยืมคืนหนังสือลดต่ำลงหรือไม่ เป็นสิ่งซึ่งควรใคร่ครวญและคาดการณ์

อ่านหนังสือในห้องสมุดน้อยลงใช้บริการยืมคืนหนังสือลดลง

อ่านมากขึ้น อ่านไม่ออก และการรู้หนังสือ

          การรณรงค์และจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน รวมทั้งการเพิ่มจำนวนและการพัฒนาพื้นที่การอ่าน อันเนื่องมาจากนโยบายส่งเสริมการอ่าน เป็นปัจจัยสนับสนุนให้จำนวนผู้อ่านหนังสือเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66.3 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 78.8 ในปี 2561 และปริมาณการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นจาก 39 นาทีต่อวันในปี 2551 เป็น 80 นาทีต่อวัน ในปี 2561

          ถึงแม้ว่าปริมาณการอ่านจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งยังคงมีผู้ไม่รู้หนังสืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก ผลสำรวจของยูเนสโกครั้งล่าสุดเมื่อปี 2558 ระบุว่า มีประชากรที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มากกว่า 4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี เกือบ 2 แสนคน ทั้งนี้ จำนวนเยาวชนที่ไม่รู้หนังสือมีแนวโน้มลดลง แต่จำนวนผู้ไม่รู้หนังสือในวัยผู้ใหญ่ (อายุ 24 ปีขึ้นไป) กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

          เช่นเดียวกันกับข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2558 จะพบตัวเลขที่น่าสนใจในกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปีที่ไม่อ่าน หรือเทียบเท่าเด็กนักเรียนชั้น ป.1-ม.3 ซึ่งระบุว่าอ่านไม่ออกร้อยละ 31.7 คิดเป็นจำนวนถึง 2 แสนคนเศษ หากรวมเด็กกลุ่มอายุเดียวกันนี้ที่อ่านไม่คล่อง/อ่านได้เพียงเล็กน้อย อีกร้อยละ 34.7 นั่นหมายความว่ามีเด็กในวัยเรียนจำนวนกว่า 450,000 คน ที่ยังมีปัญหาอ่านไม่ออกหรืออ่านไม่คล่อง

          ในการสำรวจล่าสุดในปี 2561 พบว่ากลุ่มเด็กวัยเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานยังคงประสบปัญหาอ่านไม่ออกและอ่านไม่คล่องร้อยละ 42.9 และ 26.5 ตามลำดับ คิดเป็นจำนวนประมาณ 510,000 คน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน แน่นอนว่าสำหรับเด็กที่ได้รับการศึกษาในระบบนั้น ปัญหานี้จำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ทั้งในด้านหลักสูตร วิธีการจัดการเรียนการสอน และควรลงไปดูในรายละเอียดถึงสาเหตุและสภาพแวดล้อมของตัวเด็กเป็นรายคน จึงจะสามารถแก้ปัญหาอ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านไม่คล่องได้ตรงจุด

          ขณะเดียวกัน เด็กกลุ่มนี้อาจหมายรวมไปถึงเด็กซึ่งขาดโอกาสหรือไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เช่น เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน อันเนื่องมาจากความยากจน มีภาระในการช่วยเหลือครอบครัว หรือไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งจำต้องโยกย้ายไปตามอาชีพของพ่อแม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีการแตกต่างไปจากกลุ่มเด็กที่ได้รับการศึกษาในระบบ

          การส่งเสริมการอ่านตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้และปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ควรเป็นนโยบายสำคัญของรัฐและเป็นงานที่ภาคสังคมต้องมีส่วนร่วม ครอบคลุมเด็กทุกกลุ่มทุกช่วงวัยอย่างทั่วถึงโดยไม่มีการแบ่งแยกกีดกัน ในขณะเดียวกันจะต้องส่งเสริมการรู้หนังสือในกลุ่มผู้ใหญ่ และทักษะการทำงานในโลกยุคใหม่ โดยขยายโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต แม้จะพ้นจากวัยเรียนไปแล้วก็ตาม

ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป ที่อ่านหนังสือ
ปริมาณการอ่านหนังสือของประชากี อายุ  6 ปี ขึ้นไป

จำนวนประชากรที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

การอ่านกับความเหลื่อมล้ำ

          เมื่อวิเคราะห์ถึงสัดส่วนประชากรที่อ่านหนังสือเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาคต่างๆ และระหว่างพื้นที่ในและนอกเขตเทศบาลพบว่า ตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2561 กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอ่านหนังสือมากที่สุด ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้อ่านหนังสือน้อยที่สุดมาโดยตลอดนับจากการสำรวจปี 2551 เป็นต้นมา กระทั่งล่าสุดปี 2561 ภาคที่มีประชากรอ่านน้อยที่สุดคือภาคใต้ โดยมีช่องว่างของร้อยละระหว่างภาคที่อ่านสูงสุดกับต่ำสุดต่างกัน 18.6 ส่วนพื้นที่ในและนอกเขตเทศบาล มีช่องว่างของร้อยละต่างกัน 8.4

          มีข้อสังเกตว่า ตั้งแต่ปี 2551-2556 ช่องว่างความแตกต่างนี้ลดลงเรื่อยๆ แต่ในปี 2558 ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ปรับนิยาม “การอ่าน” ให้ครอบคลุมทั้งการอ่านหนังสือและการอ่านเนื้อหาผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ช่องว่างกลับเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย สะท้อนว่าความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการอ่านอาจมีความเชื่อมโยงกับปัญหาการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่ไม่เท่าเทียมกันด้วยเช่นกัน แต่ผลการสำรวจปี 2561 ช่องว่างนี้ได้ปรับตัวลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน ดังนั้นถ้าหากสมมติฐานดังกล่าวถูกต้อง ย่อมหมายความว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีการกระจายตัวทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้นกว่าเดิม

          ช่องว่างของปริมาณผู้อ่านระหว่างพื้นที่ เรียกได้ว่าเป็นความเหลื่อมล้ำประเภทหนึ่ง อันอาจสืบเนื่องมาจากปัจจัยทางสังคมเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานที่แตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท ซึ่งทำให้โอกาสในการเข้าถึงหนังสือ สื่อการอ่าน และแหล่งเรียนรู้สาธารณะ เกิดความไม่เท่าเทียมกัน แต่ก็ยังไม่เคยมีงานศึกษาวิจัยหรือข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการอ่านกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ

          ผลสำรวจการอ่านจำแนกตามภูมิภาคพบว่าแนวโน้มจำนวนผู้อ่านเพิ่มสูงขึ้นในทุกภาค แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือปัจจัยอะไรที่ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีจำนวนผู้อ่านเพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่าภาคอื่น และใช้เวลาประมาณ 10 ปีจึงพ้นจากภาคที่มีการอ่านน้อยที่สุดสองลำดับสุดท้ายไปได้ ในทางกลับกันอะไรคือสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้อ่านของภาคใต้ลดลงจากการสำรวจรอบที่แล้ว แม้จะเป็นตัวเลขที่ลดลงเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้กลายเป็นภาคที่มีร้อยละของผู้อ่านน้อยที่สุดไปในการสำรวจรอบนี้

          ข้อมูลความแตกต่างของจำนวนร้อยละของผู้อ่าน เปรียบเทียบเชิงพื้นที่ระหว่างภูมิภาค และระหว่างในกับนอกเขตเทศบาล อาจช่วยให้ตระหนักว่าการส่งเสริมการเข้าถึงหนังสือ สื่อการอ่าน และแหล่งเรียนรู้สาธารณะนั้น เกี่ยวข้องกับปัญหาโครงสร้างการพัฒนาที่มีความไม่เท่าเทียมกัน ถ้าหากไม่นับอุปสรรคหรือข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ซึ่งอาจแก้ไขได้ด้วยการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว นโยบายส่งเสริมการอ่านที่มีประสิทธิภาพควรที่จะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและรายได้ของครัวเรือน ตลอดจนการลดช่องว่างความเป็นเมืองและชนบทอีกด้วย

ปริมาณผู้อ่านเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาค
ปริมาณผู้อ่านเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่อยู่ในและนอกเขตเทศบาล

เปิดชื่อ 10 จังหวัดอ่านมากที่สุด

          ในปี พ.ศ. 2561 เป็นครั้งแรกที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ โดยความช่วยเหลือด้านการสนับสนุนข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทดลองจัดทำชุดข้อมูลจำนวนประชากรนักอ่านเป็นรายจังหวัด และพบว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑล คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เป็น 4 จังหวัดที่มีปริมาณผู้อ่านสูงติดอยู่ใน 10 อันดับแรก จังหวัดหัวเมืองสำคัญของภูมิภาค เช่น ภูเก็ต ขอนแก่น อุบลราชธานี ติดอยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน ที่น่าสนใจคือจังหวัดสระบุรี แพร่ และตรัง เป็นสามจังหวัดที่มีประชากรอ่านมากอยู่ในสิบอันดับแรกด้วย

          การจัดอันดับนี้พิจารณาเฉพาะร้อยละของประชากรที่อ่านเท่านั้น ซึ่งมาจากการลงพื้นที่สำรวจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยที่ยังไม่มีการนำข้อมูลอื่นๆ หรือการวิเคราะห์ถึงเงื่อนไขและปัจจัยแวดล้อมใดๆ ของแต่ละจังหวัดมาพิจารณาประกอบ เพราะในช่วงเวลาการสำรวจนั้นอาจมีกิจกรรมในพื้นที่ซึ่งเป็นตัวแปรแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด

          หากข้อมูลชุดนี้จะนำไปสู่การตั้งประเด็นหัวข้อการวิจัยเพื่อวิเคราะห์ลงลึกในบางจังหวัด และนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าจนเกิดความรู้ใหม่ๆ ที่จะนำไปประยุกต์ปรับใช้เป็นแนวทางส่งเสริมการอ่านในจังหวัดอื่นต่อไป ย่อมถือว่าข้อมูลการอ่านรายจังหวัดได้ช่วยจุดประกายให้เกิดการริเริ่มให้มีการใช้ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านที่มีความละเอียดซับซ้อนมากขึ้น แทนที่จะใช้เพียงวาทกรรมและความเชื่อดังเช่นที่ผ่านมา

10 อันดับจังหวัดอ่านมาก

เผยแพร่ครั้งแรก เมษายน – พฤษภาคม 2562
พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ เข็ม (2562)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก