วรรณกรรมไทยสู่วรรณกรรมโลก ถ้าไม่เริ่มก็ไปไม่ถึง

3,076 views
10 mins
August 18, 2023

          ทำอย่างไรวรรณกรรมไทยถึงจะโลดแล่นอยู่ในเวทีโลกได้…

          คำถามนี้ มักวนเวียนกลับมาในวงสนทนาที่เกี่ยวข้องกับวงการหนังสืออยู่บ่อยครั้ง อาจจะเป็นเพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จำนวนวรรณกรรมจากประเทศไทยที่อยู่ในตลาดสากลยังถือว่ามีไม่มากนัก หากเทียบกับประเทศอื่นในทวีปเอเชีย แม้ว่าจะมีกระแสผลักดันให้มีการส่งออกงานเขียนไทยอยู่เป็นระลอกตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ผลงานนักเขียนไทยหลายเรื่องได้รับทุนสำหรับการแปลและเผยแพร่ในต่างประเทศ แต่เมื่อการสนับสนุนสิ้นสุดลง การส่งออกผลงานก็พลอยหยุดชะงักลงไปด้วย

          ทำอย่างไร วรรณกรรมไทยถึงจะ ‘โกอินเตอร์’ ได้เหมือนกับหนังสือจากเกาหลีหรือญี่ปุ่น ที่มีนักอ่านแฟนประจำรอคอยติดตามผลงาน และมีสำนักพิมพ์จากประเทศปลายทางสนใจซื้อลิขสิทธิ์ไปแปล 

          บางทีการสนับสนุนที่นักเขียนและสำนักพิมพ์ต้องการอาจจะไม่ใช่แค่ทุนในการแปล หรือการผลักดันให้เกิดสถาบันหรือหน่วยงานส่งเสริมการแปลเท่านั้น แต่เป็นการส่งเสริมให้ทุกองคาพยพในระบบนิเวศการแปลและการส่งออกวรรณกรรมเข้มแข็งพอที่จะหมุนเคลื่อนไปได้ด้วยตนเอง 

          คำตอบของคำถามนี้…อาจมีมากกว่าหนึ่ง

ความยากของการผลักดันวรรณกรรมไทยสู่เวทีโลก

          การผลักดันวรรณกรรมไทยสู่เวทีโลก ต้องใช้ปัจจัยมากมาย ความยากประการแรกที่ต้องเจอ คือการแปล ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน อาศัยความละเอียด มีค่าใช้จ่ายสูง และใช้เวลา เพราะการแปลวรรณกรรมเป็นการถ่ายทอดอารมณ์ของงานเขียน บรรยากาศ รวมถึงวัฒนธรรมต้นทางที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่องไปสู่ภาษาและวัฒนธรรมปลายทาง การคงไว้ซึ่งเสน่ห์ของความเป็นท้องถิ่นในขณะที่ต้องสื่อสารข้ามภาษาให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องใช้ความเข้าใจอันดีและการสื่อสารไปมาระหว่างนักเขียน นักแปล รวมถึงบรรณาธิการทั้งสองภาษา 

          ส่วนปัจจัยภายนอกที่เป็นอุปสรรคในการส่งออกวรรณกรรม คือ ตลาดหนังสือในโลกตะวันตก สำนักพิมพ์ที่ให้ความสนใจวรรณกรรมต่างประเทศมีจำนวนน้อยมาก จากสถิติพบว่ามีเพียง 3% ของหนังสือแปลจากต่างประเทศที่ได้รับการตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา ยิ่งเป็นหนังสือกลุ่มภาษาเล็กยิ่งมีจำนวนน้อยลงไปอีก ตามที่ พาสคาล กาซาโนวา (Pascale Casanova) นักวิชาการทางวรรณกรรมที่กล่าวไว้ว่า วรรณกรรมของชาติกลุ่มภาษาใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าอาณานิคมตะวันตก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน มีโอกาสจะได้รับการยอมรับมากกว่า  วรรณกรรมจากภูมิภาคอื่นจึงมีที่ทางในตลาดหนังสือสากลเพียงน้อยนิด

          ลักษณะการดำเนินเรื่องและเนื้อหาของวรรณกรรมก็เป็นอีกส่วนสำคัญ วรรณกรรมในประเทศไทยหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางส่วน อาจเล่าเรื่องราวที่เป็นประเด็นพื้นถิ่น บ้างก็เป็นประเด็นในระดับประสบการณ์ส่วนบุคคล ไม่สอดคล้องกับแนววรรณกรรมในกระแสที่มักมุ่งเน้นประเด็นใหญ่ๆ ในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก นักวิชาการหลายท่านมองว่า ผลงานที่จะได้รับความนิยมในตลาดหนังสือระดับนานาชาติจำเป็นต้องมี ‘ความเป็นสากล’ คือผู้อ่านสามารถจินตนาการตาม คิดและมองเห็นภาพได้ ตัวอย่างเช่น ผลงานของ ฮารูกิ มูราคามิ ที่แม้จะมีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น แต่ก็บอกเล่าประเด็นที่เข้าใจกันได้ทั่วโลก

วรรณกรรมไทยสู่วรรณกรรมโลก ถ้าไม่เริ่มก็ไปไม่ถึง
ตัวอย่างหนังสือของฮารูกิ มูราคามิ ที่ถูกแปลเป็นภาษาโปรตุเกส
Photo: Farley Santos , CC BY-SA 2.0, via Flickr

          ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ทำให้การส่งออกวรรณกรรมไทยเกิดขึ้นได้ยากคือ ‘ขาดการส่งออกอย่างต่อเนื่อง’ ดังนั้น ที่ทางงานเขียนไทยในตลาดสากลจึงแทบไม่มี 

          ก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์และผู้แปลหนังสือ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ของวีรพร นิติประภาเป็นภาษาอังกฤษ ได้ให้ความเห็นว่า ก่อนหน้านี้การแปลวรรณกรรมไทยเกิดขึ้นจากความพยายามหรือความสนใจส่วนบุคคล ทั้งของสำนักพิมพ์ หรือนักแปลที่ชื่นชอบหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งเป็นพิเศษ หรือบางครั้งก็อาจเป็นการสนับสนุนจากหน่วยงาน องค์กร ในแต่ละวาระเฉพาะกิจ แต่ยังไม่มีการสร้างกลไกส่งเสริมการส่งออกวรรณกรรมอย่างเป็นทางการ

          “นักเขียน นักแปลไทย ห่างหายจากโลกนี้ไปนาน มันไม่มีตลาดที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นในแง่การค้าก็เลยไม่ค่อยมี พูดง่ายๆ ว่าขายไม่ค่อยได้ พอพูดว่าวรรณกรรมไทย ในโลกคนนึกไม่ออก แต่ถ้าพูดถึงวรรณกรรมอินเดีย จีน ญี่ปุ่น คนอาจจะนึกออก ซึ่งถ้าอยากให้นึกออก มันก็ต้องมีปริมาณมากพอ ดังนั้นก็ต้องแปล ต้องสร้างส่งออกไป”

วรรณกรรมไทยสู่วรรณกรรมโลก ถ้าไม่เริ่มก็ไปไม่ถึง
ก้อง ฤทธิ์ดี ผู้แปลหนังสือ  ‘The Blind Earthworm in the Labyrinth หรือ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ ของวีรพร นิติประภา
Photo: หอภาพยนตร์

วรรณกรรมไทยกับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เพื่ออะไร?

          ที่ผ่านมาวรรณกรรมไทยเคยถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่ามีจำนวนน้อยหากเทียบกับประเทศอื่นๆ วรรณกรรมไทยที่ถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศมีเพียง 137 รายการ ในขณะที่วรรณกรรมภาษาญี่ปุ่นมีมากถึง 16,818 รายการ วรรณกรรมเกาหลี 2,522 รายการ วรรณกรรมเวียดนาม 450 รายการ และวรรณกรรมอินโดนีเซีย 238 รายการ  (ข้อมูลการแปลวรรณกรรมตั้งแต่ปี 1790-2013 จาก Index Translationum ฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลการแปลโดยองค์การยูเนสโก)

          นอกจาก Index Translationum แล้วยังมีฐานข้อมูล Three Percent ของมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ที่รวบรวมข้อมูลการแปลวรรณกรรมตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งพบว่าในปี 2019 มีการแปลวรรณกรรมไทยอีก 2 เรื่อง ได้แก่ นวนิยายเรื่อง ช่างสำราญ (Bright) และรวมเรื่องสั้น ฝันแห้ง (Arid Dream) ของเดือนวาด พิมวนา แต่ด้วยความที่เป็นฐานข้อมูลแบบเปิดก็อาจเป็นไปได้ว่าผู้เกี่ยวข้องในแวดวงหนังสือไทยไม่ได้ส่งข้อมูลไปยังฐานข้อมูลนี้

วรรณกรรมไทยสู่วรรณกรรมโลก ถ้าไม่เริ่มก็ไปไม่ถึง
‘Bright หรือ ช่างสำราญ’ ของเดือนวาด พิมวนา แปลโดยมุ่ย ภู่พกสกุล
 Photo: Center for the Art of Translation
วรรณกรรมไทยสู่วรรณกรรมโลก ถ้าไม่เริ่มก็ไปไม่ถึง
‘Arid Dream’ เป็นหนังสือเวอร์ชันภาษาอังกฤษของ ‘ฝันแห้ง’ เขียนโดยเดือนวาด พิมวนา แปลโดยมุ่ย ภู่พกสกุล
 Photo: Feminist Press

          เมื่อย้อนมาดูมูลเหตุของการแปลวรรณกรรมไทย การแปลส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาเป็นหลัก อีกส่วนหนี่งเกิดจากการคัดเลือกวรรณกรรมแปลโดยหน่วยงานภาครัฐ และส่วนน้อยเกิดขึ้นจากภาคธุรกิจหรือเกิดจากความต้องการส่วนบุคคล ซึ่งทำให้ความสนใจในวรรณกรรมไทยในตลาดสากลมักจะจำกัดอยู่ในผู้อ่านเฉพาะกลุ่ม 

          ดร.กรญาณ์  เตชะวงค์เสถียร สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการแปลในอดีตคือเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเรียนการสอนเกี่ยวกับอาณาบริเวณศึกษา (Area Studies) 

          “วรรณกรรมไทยที่เคยถูกแปลส่วนหนึ่ง เพื่อให้นักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับประเทศไทย หรือเรียนภาษาไทยได้อ่าน…ซึ่งการที่วรรณกรรมเหล่านี้ถูกนำไปให้นักศึกษาเรียน แปลว่าต้องเป็นวรรณกรรมที่ ‘สะท้อนภาพ’ ทั้งภาพที่โลกตะวันตกอยากเห็น เช่น ความแร้นแค้น ความไม่ยุติธรรมในสังคม และจริงๆ ก็ไม่เชิงว่าเป็นการถูกมองจากตะวันตกเสียทีเดียว บางส่วนก็เป็นการคัดเลือกจากในประเทศเอง เช่น ช่วงหนึ่งที่วงการวรรณกรรมไทยได้รับอิทธิพลของกระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิต วรรณกรรมที่แสดงให้เห็นความแตกต่างทางชนชั้น บางเล่มก็เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียง ได้รับความนิยม หรือได้รับรางวัล เช่น ฟ้าบ่กั้น ครูบ้านนอก ข้างหลังภาพ”

          ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศที่มีการแปลวรรณกรรมไทยไปมากกว่าชาติตะวันตก เช่น โครงการ Know Your Neighbors ของมูลนิธิโตโยต้า (Toyota Foundation) ที่ต้องการรู้จักแนวคิดของประเทศอาเซียนผ่านวรรณกรรม

วรรณกรรมไทยสู่วรรณกรรมโลก ถ้าไม่เริ่มก็ไปไม่ถึง
ดร. กรญาณ์ เตชะวงค์เสถียร อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) มหาวิทยาลัยมหิดล
Photo: ดร. กรญาณ์ เตชะวงค์เสถียร

          แต่วรรณกรรมไทยก็ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านชาวญี่ปุ่นมากนัก ผลงานส่วนใหญ่ตีพิมพ์ออกมาเพื่อการศึกษาวิจัย หรือในกรณีที่ได้รับการตีพิมพ์เชิงธุรกิจก็มักจะเกิดขึ้นโดยสํานักพิมพ์ขนาดเล็กซึ่งพิมพ์และจําหน่ายเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับเอเชีย จุดเปลี่ยนของหนังสือไทยในประเทศญี่ปุ่นเกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อผลงานของนักเขียน เช่น วินทร์ เลียววาริณ และ คำ ผกา เริ่มได้รับการแปลและตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกัน ปราบดา หยุ่น ก็เริ่มเป็นที่นิยมจากผลพวงความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง รัก น้อยนิด มหาศาล (Last Life in the Universe) ซึ่งเขาเป็นผู้เขียนบท ทำให้งานเขียนของปราบดา หยุ่น หลายเล่มได้รับการแปลและเป็นที่นิยมในช่วงต่อมา โช ฟุกุโตมิ นักแปลและผู้เชี่ยวชาญงานวรรณกรรมไทยได้วิเคราะห์ไว้ว่าเป็นเพราะงานเขียนของปราบดา มีลักษณะเป็นโพสต์โมเดิร์น ไม่เน้นความผูกพันกับท้องถิ่นเหมือนงานเขียนไทยเล่มอื่นๆ ทำให้ผู้อ่านชาวญี่ปุ่นสามารถสร้างความรู้สึกร่วมและทำความเข้าใจเนื้อหาในผลงานได้ดี

          นอกเหนือจากการแปลเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการวิจัย การส่งเสริมจากภาครัฐก็ทำให้เกิดการแปลวรรณกรรมเป็นช่วงๆ ด้วยเช่นกัน สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) จัดทำโครงการหนังสือแปลคัดสรรไทย-ต่างประเทศขึ้นเพื่อส่งเสริมการแปลวรรณกรรมไทยในปี 2010 

          สศร. คัดเลือกหนังสือมาแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน รวมกว่า 10 เรื่อง  ซึ่งครอบคลุมทั้งวรรณกรรมเยาวชน วรรณกรรมร่วมสมัย และรวมเรื่องสั้น เช่น ‘คุณปู่แว่นตาโต’ โดย ชมัยภร แสงกระจ่าง ‘เขี้ยวเสือไฟ’ ผลงานของ มาลา คำจันทร์ และยังได้จัดทำหนังสือคู่มือแนะนำวรรณกรรมไทยร่วมสมัย 100 เล่ม เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้สนใจ

          นอกจากนี้ สศร. ยังร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการวรรณกรรมสัมพันธ์ไทย-อาเซียน อีกทั้งสนับสนุนงบประมาณให้กับนักเขียน นักแปล มีผลผลิตเป็นหนังสือแปลหลายเล่ม อาทิ นวนิยายเรื่อง ‘ลอดลายมังกร’ ของประภัสสร เสวิกุล กวีนิพนธ์ ‘ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์’ โดย อุเทน มหามิตร

วรรณกรรมไทยสู่วรรณกรรมโลก ถ้าไม่เริ่มก็ไปไม่ถึง
คุณปู่แว่นตาโต โดย ชมัยภร แสงกระจ่าง ฉบับแปลภาษาจีน
Photo: สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
วรรณกรรมไทยสู่วรรณกรรมโลก ถ้าไม่เริ่มก็ไปไม่ถึง
เขี้ยวเสือไฟ โดย มาลา คำจันทร์ ฉบับแปลภาษาอังกฤษ ในชื่อ The Fang of the Fire Tiger
Photo: สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

          การแปลวรรณกรรมไทยอีกส่วน เกิดขึ้นโดยภาคธุรกิจ อาทิ สำนักพิมพ์ต่างๆ เอเจนซีซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือ (Literary Agency) หรือการแปลที่เกิดจากความสนใจส่วนบุคคลผ่านการอุปถัมภ์ เช่น มาร์แซล บารังส์ นักแปลซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อแวดวงวรรณกรรมไทย ผู้แปลเรื่อง ‘เงาสีขาว’ ผลงานของแดนอรัญ แสงทอง เป็นภาษาฝรั่งเศสจนได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากนักอ่าน นำมาซึ่งการตีพิมพ์งานของแดนอรัญเล่มอื่นๆ  รวมถึงผลงานของนักเขียนท่านอื่นเป็นภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติมในภายหลัง 

          กลไกการดำเนินงานของภาคเอกชน ช่วยทำให้หนังสือที่ส่งออกมีความหลากหลายและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากต้องศึกษาความต้องการของตลาด แต่ก็มีข้อจำกัดทั้งในด้านเงินทุนและเวลา ผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่มักจะกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ากระบวนการนี้ไม่ง่าย และพวกเขาต้องเสียสละมากกว่าผลตอบแทนที่ได้รับเป็นอย่างมาก

ส่องมาตรการส่งเสริมการแปลวรรณกรรมของต่างประเทศ 

          เล่ามาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าประเทศอื่นๆ มีมาตรการและกลไกส่งเสริมให้เกิดการแปลวรรณกรรมส่งออกสู่ตลาดสากลอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้ย้อนกลับมามองประเทศไทยอีกครั้งว่าควรเดินหน้าในทิศทางไหน 

          เกาหลีใต้ หนึ่งในประเทศต้นแบบของการส่งออกทางวัฒนธรรม มีจุดเด่นคือการวางโครงสร้างด้านการส่งออกวรรณกรรมร่วมไปกับการส่งเสริมวัฒนธรรมด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ ภาครัฐมีการตั้งสถาบันการแปลวรรณกรรมแห่งเกาหลีใต้ (Literature Translation Institute of Korea) ขึ้นในปี 1996 เพื่อผลักดันโครงการแลกเปลี่ยนและสร้างเครือข่ายผู้จัดพิมพ์ มีการฝึกอบรมนักแปลทั้งชาวเกาหลีและชาวต่างชาติ สร้างโอกาสทางวิชาการโดยการมอบทุนด้านการแปล ส่งเสริมการจ้างงานสำหรับนักศึกษาและประชาชนเพื่อทำงานเป็นนักแปลมืออาชีพในสาขาต่างๆ ตั้งแต่สำนักพิมพ์ หน่วยงานและแพลตฟอร์ม ไปจนถึงบริษัทผลิตภาพยนตร์ รวมถึงมีการทำงานกับองค์กร ภาคส่วนอื่นๆ เช่น มูลนิธิแดซัง (Daesan Foundation)

          ภาครัฐของเกาหลีใต้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการสนับสนุนการผลิตและส่งออกวรรณกรรม ดูได้จากการจัดสรรงบประมาณ ในปี 2019 รัฐบาลอนุมัติงบประมาณราว 7 พันล้านวอนเพื่อใช้จ่ายด้านการส่งเสริมวรรณกรรม โดยแบ่ง 27% เพื่อสนับสนุนการแปล และ 19% สนับสนุนสถาบันการแปล 

          นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมการเขียนอ่านอย่างสม่ำเสมอ เช่น  เทศกาลนักเขียนนานาชาติโซล ซึ่งเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนวรรณกรรมระหว่างประเทศ มีการจัดทำนิตยสารเกี่ยวกับการแปลวรรณกรรม Korean Literature Now การมอบรางวัล LTI Translation Awards สำหรับบุคคลและองค์กรที่มีส่วนร่วมด้านการแปลวรรณกรรม กลไกทั้งหมดนี้ช่วยให้วงการแปลและอุตสาหกรรมหนังสือเกาหลีใต้เติบโตอย่างมีชีวิตชีวาและมีทิศทาง 

วรรณกรรมไทยสู่วรรณกรรมโลก ถ้าไม่เริ่มก็ไปไม่ถึง

นวนิยายเรื่อง The Vegetarian ของ ฮัน คัง นักเขียนชาวเกาหลีใต้ที่ได้รับการยกย่องในระดับสากล และได้รับรางวัล International Man Booker Prize ในปี 2016 เป็นตัวอย่างของความสำเร็จ ภายใต้กลยุทธ์ในการถ่ายทอด ‘ความเป็นเกาหลี’ สู่เวทีสากล
Photo: Korean Cultural Center New York
วรรณกรรมไทยสู่วรรณกรรมโลก ถ้าไม่เริ่มก็ไปไม่ถึง
เวทีแลกเปลี่ยนวรรณกรรมระหว่างประเทศ ในเทศกาลนักเขียนนานาชาติโซล
Photo: Literature Translation Institute of Korea

          ส่วนประเทศญี่ปุ่น ทบวงวัฒนธรรมญี่ปุ่น (Agency for Cultural Affairs of Japan) ได้จัดตั้งโครงการจัดพิมพ์วรรณกรรมญี่ปุ่น (Japanese Literature Publishing Project: JLPP) ซึ่งให้การสนับสนุนด้านการแปลและตีพิมพ์งานวรรณกรรม โดยส่งเสริมวงจรการแปลผ่านการแข่งขันการแปลระหว่างประเทศ การประชุมวิชาการด้านการแปลระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีระบบนิเวศอุตสาหกรรมการอ่านที่แข็งแรง ทำให้มีองค์กร มูลนิธิ และสำนักพิมพ์รายย่อยหลายแห่งที่ร่วมให้การสนับสนุนด้านการแปลแก่บรรณาธิการ ตัวแทน และนักแปลทั่วโลก ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มช่องทางเผยแพร่งานเขียนของญี่ปุ่นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

          จากข้อมูล จะเห็นได้ว่าการมีตัวตนในวงการวรรณกรรมโลกของเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ปัจจัยหลักมาจากการมีมาตรการและนโยบายด้านวัฒนธรรมที่แข็งแรง มีการวางแผนตั้งแต่ระดับโครงสร้าง ทุ่มเทงบประมาณ และต้องอาศัยระยะเวลา แต่ปัจจัยที่ทำให้วรรณกรรมอินโดนีเซียได้รับความสนใจ อาจแตกต่างออกไป

วรรณกรรมไทยสู่วรรณกรรมโลก ถ้าไม่เริ่มก็ไปไม่ถึง
Photo: Leo Okuyama on Unsplash

          อินโดนีเซีย เป็นประเทศในอาเซียนที่โดดเด่นในวงการหนังสือโลก โดยได้รับเลือกเป็น Guest of Honor  ใน Frankfurt Book Fair ปี 2015 งานหนังสือที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับเกียรตินี้ ประเทศที่ได้รับเลือกจะรับโอกาสนำเสนอนิทรรศการ กิจกรรม การซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือ โอกาสครั้งนั้น ทำให้อินโดนีเซียสามารถแนะนำนักเขียนของตนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และอินโดนีเซียยังได้รับเชิญเป็น ‘Market Focus’ ในงาน London Book Fair 2019 ซึ่งเป็นตลาดสำหรับการเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ระดับโลก (แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว London Book Fair 2019 จะถูกยกเลิกเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19) 

          งานของนักเขียนอินโดนีเซียได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมาอย่างยาวนาน รวมถึงมีนักเขียนที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ฮิลมาร์ ฟาริด (Hilmar Farid) กระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมอินโดนีเซีย ตั้งข้อสังเกตว่าจุดแข็งของอินโดนีเซียในโลกวรรณกรรมคือความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม เพราะโลกเริ่มอยากรู้ความเป็นไปและวิถีชาวมุสลิมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรม 

          อย่างไรก็ตาม นักเขียนและคนทำงานในแวดวงหนังสืออินโดนีเซียสะท้อนว่า ปัญหาของการเผยแพร่ผลงานสู่ระดับนานาชาติอยู่ที่มาตรฐานการแปลวรรณกรรมที่ค่อนข้างต่ำ อีกทั้งมีสำนักพิมพ์ไม่กี่แห่งเท่านั้นที่สามารถผลักดันให้มีการแปลวรรณกรรมโดยไม่อาศัยการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน 

บรรยากาศในงาน Frankfurt Book Fair เมื่อปี 2015

จะผลักดันการแปลวรรณกรรมไทยไปสู่สากลมากขึ้นได้อย่างไร

          จากข้อมูลที่เล่ามาทั้งหมด ก็พอจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาภาครัฐและภาคการศึกษาได้ส่งเสริมให้เกิดการแปลวรรณกรรมเป็นภาษาต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ส่วนมากเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา หรือเป็นผลิตผลเพื่อการส่งออกวัฒนธรรม และไม่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากต้องการผลักดันให้วรรณกรรมไทยออกสู่สายตานักอ่านในตลาดสากลมากกว่านี้ อาจต้องทบทวนว่าเราต้องการส่งออกวรรณกรรมในรูปแบบไหน แบบที่สะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นไทยผ่านมุมมองรัฐ หรืออยากให้ตลาดหนังสือไทยเติบโตและเป็นที่รู้จักมากขึ้นในต่างประเทศ เพื่อออกแบบมาตรการให้เหมาะสม เช่น

การให้ทุนสนับสนุนการแปล หรือการจัดพิมพ์โดยภาครัฐ องค์กรและหน่วยงานต่างๆ

          นี่คือรูปแบบการส่งเสริมซึ่งนับว่าเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระด้านค่าใช้จ่ายในการแปลและตีพิมพ์แก่เจ้าของผลงาน แต่ปัญหาคือจากการดำเนินการที่ผ่านของไทย หนังสือที่ทำขึ้นด้วยรูปแบบดังกล่าว มักไม่ได้คำนึงถึงการจัดการด้านการตลาด หรือการเผยแพร่หนังสือไปยังสาธารณชนในวงกว้าง นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดเรื่องรายละเอียดของการให้ทุนที่อาจมีข้อกำหนดต่างๆ อันยุ่งยาก รวมถึงปริมาณของทุนและการสนับสนุนก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการแปลและตีพิมพ์หนังสืออย่างต่อเนื่อง

การก่อตั้งสถาบันส่งเสริมการแปล เสริมความเข้มแข็งให้อาชีพนักเขียนนักแปล

          การก่อตั้งสถาบันการแปลแห่งชาติเป็นกลไกหนึ่ง ซึ่งอาจจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมหนังสือ ให้กลายเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและผลักดันให้ไทยสร้างผลงานออกสู่เวทีวรรณกรรมสากลอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันคนทำงานสายงานหนังสือ ไม่ค่อยได้รับการดูแลหรือเล็งเห็นคุณค่าเท่าที่ควร

การส่งเสริมให้เกิดธุรกิจ ‘Literary Agency’ หรือตัวแทนวรรณกรรมและผู้จัดพิมพ์ 

          ในต่างประเทศ ‘literary agency’ หรือตัวแทนวรรณกรรมและผู้จัดพิมพ์ เป็นองค์ประกอบสำคัญของธุรกิจหนังสือ ปัญหาของนักเขียนนักแปลโดยทั่วไปคือมองไม่เห็นโอกาสและขาดความรู้เรื่องการตลาด  ตัวแทนวรรณกรรมและผู้จัดพิมพ์จึงสามารถเข้ามาเป็นจิกซอว์ที่เข้ามาเติมเต็มให้การส่งออกวรรณกรรมเกิดได้ง่ายขึ้น

          จุฑา สุวรรณมงคล หรือ เจน บรรณาธิการบริหารของ ซอย | soi มองว่าวงการหนังสือไทยยังมีตัวแทนวรรณกรรมน้อย ทั้งที่สิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือ ขยายการรับรู้ และช่วยส่งวรรณกรรมไทยไปสู่ระดับโลก ซอย จึงพยายามจับมือกับสำนักพิมพ์ในสหราชอาณาจักรและสำนักพิมพ์ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้าง ‘ชุมชน’ ที่จะช่วยให้ผลงานในระดับภูมิภาคเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

          เจนเอ่ยถึงความเข้มแข็งของระบบ ‘literary agency’ ในต่างประเทศ ที่ช่วยนักเขียน นักแปล ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่ายและต่อยอด พร้อมทั้งเล่าการทำงานของซอยที่เริ่มจากการทำฐานข้อมูล ติดต่อนักเขียนด้วยตนเอง ก่อนที่จะเริ่มมีนักเขียนรู้จัก และติดต่อเข้ามาเรื่องการแปลมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้นักเขียนไทยหลายคนไม่มีช่องทางที่จะเผยแพร่ผลงานเลย

          การตีพิมพ์นวนิยายเรื่อง จุติ ของอุทิศ เหมะมูล เป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Fabulist โดย Penguin Random House SEA คือ หนึ่งในความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการทำงานอย่างหนักของพวกเขา แต่สำหรับการเป็น ‘literary agency’ ในประเทศไทย ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรค เจนบอกว่าปัญหาที่เธอและทีมงานต้องเจอคือการไม่มีทรัพยากรเพียงพอ พร้อมทั้งตั้งความหวังว่าจะภาครัฐจะมองเห็นความสำคัญตรงนี้ 

          “…หนังสือเล่มหนึ่ง มีกระบวนการเยอะมาก กินระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งถ้ามองในแง่ธุรกิจ มันไม่คุ้มอยู่แล้ว แต่เราก็พยายามมากที่จะทำให้อยู่ได้ จริงๆ เราอยากสื่อสารกับหน่วยงานรัฐว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น เรามองว่ามันสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ และซอยก็ยินดีสร้างความร่วมมือมากๆ”

วรรณกรรมไทยสู่วรรณกรรมโลก ถ้าไม่เริ่มก็ไปไม่ถึง
The Fabulist หรือ จุติ ของอุทิศ เหมะมูล แปลโดย ปาลิน อังศุสิงห์ และ พลอย กิ่งชัชวาลย์
 Photo: ซอย | soi
วรรณกรรมไทยสู่วรรณกรรมโลก ถ้าไม่เริ่มก็ไปไม่ถึง
จุฑา สุวรรณมงคล บรรณาธิการบริหาร ซอย | soi
Photo: a day
สร้างโอกาสพบปะของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมหนังสือทั้งในไทยและต่างประเทศ

          การออกบูธในงานมหกรรมหนังสือนานาชาตินั้นสำคัญ แต่อาจต้องมีการวางแผนในการนำเสนออย่างมีเป้าหมาย เจน บรรณาธิการบริหารของซอย ยังมีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ตัวแทนวรรณกรรมและผู้จัดพิมพ์ที่คลุกคลีกับวงการนักเขียน นักแปล ย่อมมีข้อมูลว่าวรรณกรรมเรื่องไหนตรงกับความต้องการของตลาดสากล และจากประสบการณ์ในการพบปะกับสำนักพิมพ์ต่างๆ ในแถบยุโรป เจนเล็งเห็นว่าสำนักพิมพ์หลายแห่งเริ่มหันมามองวรรณกรรมนอกกระแสจากภูมิภาคอื่นๆ ในโลก

          ดังนั้น เราจึงควรใช้โอกาสนี้แนะนำวรรณกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักมากกว่าแค่การไปออกบูธในงานหนังสือนานาชาติ เช่น การจัดงานพบปะเจรจาทางธุรกิจให้คนในวงการหนังสือสำนักพิมพ์ นักเขียน นักแปล หรือตัวแทนวรรณกรรมของไทยและต่างประเทศได้มาพบกัน การจัดพื้นที่แนะนำหนังสือไทยสำหรับชาวต่างชาติในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ หากเป็นการจัดทำโดยภาครัฐย่อมมีแรงและน้ำหนักในการขับเคลื่อนได้มากกว่าการปล่อยให้ภาคเอกชน หรือกลุ่มคนเพียงไม่กี่กลุ่มจัดการ

ทางเลือกอื่นๆ ในการส่งออกวรรณกรรมไทยสู่ตลาดสากล

          ขณะที่วงการหนังสือในหลายประเทศกำลังมองหาโอกาสของการส่งออกวรรณกรรมผ่านหนังสือแบบรูปเล่มอย่างเป็นทางการ งานเขียนอีกกลุ่มกำลังก้าวข้ามข้อจำกัดและ ‘โก อินเตอร์’ ในอีกหลายช่องทาง เช่น อีบุ๊ก แพลตฟอร์มงานเขียนออนไลน์ หรือแม้กระทั่งแพลตฟอร์มที่ช่วยให้นักเขียนอิสระสามารถตีพิมพ์และจำหน่ายหนังสือได้ด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้เป็นช่องทางให้นักเขียนเผยแพร่ผลงานสู่ระดับสากลได้เช่นกัน 

          PublishDrive เป็นตัวอย่างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยให้นักเขียนอิสระสามารถจำหน่ายผลงานของตัวเองได้ทั้งในลักษณะอีบุ๊ก หรือหนังสือรูปเล่ม โดยมีทีมงานให้ความช่วยเหลือตั้งแต่การประกอบร่างหนังสือ การจัดพิมพ์และจัดจำหน่าย บริการเครื่องมือด้านการบริหารรายได้ รวมถึงแผนประชาสัมพันธ์ผลงานไปยังหลากหลายประเทศทั่วโลก 

          อีกช่องทางการส่งออกวรรณกรรม คือ เว็บโนเวล (Webnovel) ซึ่งทวีความนิยมอย่างมากในจีน ผลงานหลายเรื่องที่ได้รับความนิยมจนมีฐานนักอ่านจำนวนมาก ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือรูปเล่มและอีบุ๊ก ถูกแปลไปในหลายภาษา และต่อยอดด้วยการสร้างเป็นซีรีส์เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เช่น ปรมาจารย์ลัทธิมาร (The Grandmaster of Demonic Cultivation) ฮัสกี้หน้าโง่กับอาจารย์เหมียวขาวของเขา (Immortality) 

          สำหรับผลงานของนักเขียนไทย ปรากฏการณ์ของกระแสฟีเวอร์ซีรีส์บอยเลิฟ (Boy Love) และซีรีส์วายซึ่งพัฒนามาจากนวนิยายออนไลน์ ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง และกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ มีฐานแฟนคลับในต่างประเทศจำนวนมาก นักวิชาการหลายท่านเริ่มหันมาจับตามองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่าน่าจะเป็นโอกาสในการบุกตลาดต่างประเทศของนักเขียนไทย 

          อาจารย์กรญาณ์สะท้อนว่า การสำรวจตลาดเพื่อวางแผนนั้นเป็นขั้นตอนที่สำคัญ แต่ใช่ว่าการส่งออกวรรณกรรมนั้นจะต้องสนองความต้องการของตลาดไปเสียทั้งหมด 

          “ควรมีการทำรีเสิร์ชข้อมูลการตลาดของแต่ละประเทศ ว่าจริงๆ แล้ววรรณกรรมแบบไหนที่เขานิยมและเราควรส่งออกแบบไหนออกไป เช่น นวนิยายวาย เหมือนการกรุยทางไปก่อน เรานำเสนอสิ่งที่ตลาดชอบ ตลาดสนใจ แล้วค่อยพยายามผลักดันเนื้อหาแบบอื่นๆ เหมือนเกาหลีใต้ ที่ตอนแรกเขาก็ไม่ใช่ว่าเอาแต่หนังสือมานำเสนอนะ เขาก็มีซีรีส์ K-pop มาก่อน อะไรแบบนั้น ค่อยๆ ไปทีละขั้นตอน” อาจารย์กรญาณ์กล่าว

          จากการศึกษาร่องรอยและพัฒนาการของวรรณกรรมไทยที่ได้รับการนำเสนอในระดับโลกซึ่งมีแนวโน้มหยุดนิ่ง ไปจนถึงรวบรวมข้อคิดเห็นของบุคคลที่เกี่ยวข้องในวงการหนังสือ และเหลียวมองนโยบายของประเทศเพื่อนบ้าน ก็ทำให้ได้ข้อมูลและข้อเสนอบางส่วน ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในสร้างความร่วมมือคือการรับฟังเสียงสะท้อนของคนทำงานเกี่ยวกับการคัดเลือกวรรณกรรมที่จะนำเสนอในเวทีสากล ทลายกรอบค่านิยมที่มุ่งนำเสนอเนื้อหา ‘ความเป็นไทย’ จนทำให้วรรณกรรมหลายเรื่องที่สอดคล้องกับความต้องการตลาดโลกหลุดหายไปจากระบบอย่างน่าเสียดาย

          แต่คงไม่จำเป็นต้องเลือกแนวทางใดเพียงแนวทางเดียว เพราะทุกอย่างสามารถทำไปได้พร้อมกัน บนเงื่อนไขหลักที่คงไม่ต่างจากปัญหาระดับโครงสร้างอื่นๆ นั่นคือการผลักดันส่งเสริมไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องมาจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ หรือเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนและลงมือทำไปด้วยกันตั้งแต่วันนี้…


ที่มา

บทความ “Producing Korean literature (KLit) for export” จากjournalofchinesesociology.springeropen.com (Online)  

บทความ “Lost in translation: why the world is missing out on Indonesia’s best writers”  จาก southeastasiaglobe.com (Online)  

บทความ “Indonesians struggle to promote books abroad” จาก thejakartapost.com (Online

บทความ “Japan to Promote Its Literature by Boosting Translator Training” จาก japannews.yomiuri.co.jp (Online

บทความ “เมื่อวรรณกรรมไทย (อาจจะ) กลายเป็นวรรณกรรมโลก: มุมมองจากญี่ปุ่น” จาก kukr.lib.ku.ac.th (Online)  

อุทิศ เหมะมูล, บรรณาธิการ. “วารสารวรรณกรรมไทยร่วมสมัย ปรากฏ”, ฉบับที่ 2 เดือน กรกฎาคม – ธันวาคม 2557. สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม.

วิดีโอ “งานเสวนา THE PARAMETERS OF OUR STORIES – New Constitutions of Public Policy” จาก soi squad (Online)

เว็บไซต์ Index Translationum (Online)

เว็บไซต์ Three Percent (Online)

เว็บไซต์ Translation Database (Online)

เว็บไซต์ UMass Amherst Libraries: Translating Japanese Literature (Online)

เว็บไซต์ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (Online)

เว็บไซต์ ซอย | soi (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก