หนังไทยท้องถิ่นในระบบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

487 views
December 21, 2023

          ภาพยนตร์นอกกระแสจากทีมผู้สร้างท้องถิ่นเริ่มเป็นที่กล่าวถึงในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์และสังคมไทย เนื่องด้วยปรากฏการณ์ความสำเร็จของ ‘สัปเหร่อ’ หนึ่งในภาพยนตร์จักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์ ที่กวาดรายได้รวมในประเทศมากถึง 700 กว่าล้านบาท ทุบสถิติหนังไทยที่ทำรายได้สูงสุดในรอบ 10 ปี

          ความนิยมดังกล่าวปลุกกระแสความสนใจไปสู่ภาพยนตร์จากผู้สร้างในภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ เรื่องราวที่แฝงไว้ด้วยเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ยังช่วยสร้างความหลากหลาย เพิ่มมิติที่แปลกใหม่แก่วงการภาพยนตร์ไทย

          แต่กว่าที่ภาพยนตร์สักเรื่องจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ทรัพยากรทั้งงบประมาณและบุคลากรจำนวนมาก บทความนี้ชวนตั้งคำถามและค้นหาคำตอบว่าทำอย่างไรให้ภาพยนตร์จากเหล่าผู้สร้างในท้องถิ่นมีพื้นที่ให้โลดแล่นได้อย่างสม่ำเสมอในวงการภาพยนตร์ อะไรเป็นอุปสรรคในการพัฒนาภาพยนตร์จากผู้สร้างในท้องถิ่น และอะไรคือโอกาสของภาพยนตร์ไทยตามภูมิภาค

สถานการณ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

          โดยทั่วไปการสร้างภาพยนตร์มี 3 ขั้นตอน ได้แก่ หนึ่ง การเตรียมงานสร้างภาพยนตร์ (Pre-Production) นับตั้งแต่การคัดเลือกบทภาพยนตร์ การจัดเตรียมสิ่งต่างๆ ไปจนถึงการจัดทำสตอรี่บอร์ด สอง ขั้นตอนการถ่ายทำ (Production) คือช่วงการถ่ายทำทั้งหมด และ สาม หลังการถ่ายทำภาพยนตร์ (Post-Production) หมายถึงการตัดต่อและลำดับภาพ ดนตรีประกอบและเสียงเอฟเฟกต์ ซีจี และอื่นๆจนกลายเป็นภาพยนตร์ที่พร้อมออกฉาย

          จะเห็นได้ว่าจากกระบวนการสร้างภาพยนตร์หนึ่งเรื่องจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง โดยแบ่งออกเป็นต้นทุนการสร้างและต้นทุนการตลาด ซึ่งถ้าออกฉายในประเทศแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ผู้อำนวยการสร้างอาจต้องพยายามเบนเข็มมองหาตลาดจัดจำหน่ายในต่างประเทศ ผู้เล่นสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจึงเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีกำลังการผลิตภาพยนตร์ออกฉายอย่างต่อเนื่องเพียงไม่กี่ราย และเกือบทุกรายมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงภาพยนตร์ ระบบสายหนัง หรือผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์

          การต้องพึ่งพาแหล่งทุนจากค่ายหนังรายใหญ่ ส่งผลให้ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องทำงานไปตามแนวทางที่กำหนดโดยกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่เหล่านี้ แม้อยากนำเสนอเนื้อหาภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ แต่สุดท้ายก็อาจถูกเปลี่ยนบทหรือตัวนักแสดง ภายใต้มุมมองการตลาดที่ถูกกำหนดทิศทางมาอย่างจำเจ ส่วนหนึ่งของปัญหาในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย จึงอาจไม่อยู่ที่การผลิต แต่เป็นเรื่องของการตลาด

          อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์ไทยนอกกระแสหรือภาพยนตร์อิสระเริ่มได้รับการจับตามองและเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเมื่อมองไปยังภูมิภาคต่างๆ ก็พบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของกลุ่มคนสร้างหนังที่พยายามผลิตภาพยนตร์ไทยในทิศทางที่แตกต่างให้เกิดขึ้น บุคคลเหล่านี้คือผู้สร้างภาพยนตร์จากท้องถิ่นต่างๆ ทั้งรุ่นใหม่ และผู้มีประสบการณ์ในท้องถิ่นที่มีเรื่องเล่าและอยากสื่อสาร ผ่านการลองผิดลองถูกมาระดับหนึ่ง จนเริ่มเห็นหนทางที่จะผลักดันให้ภาพยนตร์ของตนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้

3 ประสาน ส่งเสริมระบบนิเวศอุตสาหกรรมภาพยนตร์ท้องถิ่น

          ภายใต้โครงสร้างของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ บุคลากร เงินทุน เทคโนโลยี สถานที่ถ่ายทำ และตลาด การจะพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในท้องถิ่นจึงต้องมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมองค์ประกอบเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงกันได้อย่างเหมาะสม โดยความร่วมมือที่ประสานสอดรับกันจาก 3 ภาคส่วนสำคัญ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษา

          ผศ.ดร.ปรีชา สาคร อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในนักวิชาการที่ร่วมทำงานส่งเสริมด้านการผลิตภาพยนตร์ในภูมิภาคอีสาน ระบุว่า ภาครัฐ ควรมีบทบาทในการกำหนดยุทธศาสตร์เป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้เกิดการผลักดันการทำงานที่เป็นระบบ ขับเคลื่อนเป็นลูกโซ่เชื่อมร้อยไปด้วยกัน ภาคเอกชน ควรมีบทบาทให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ เงินทุน การตลาด การประชาสัมพันธ์ ส่วนสถานศึกษา ควรมีบทบาทในฐานะแหล่งผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ รวมไปถึงเป็นคลังสมองวิเคราะห์ข้อมูลเพื่ออุดช่องว่างของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

          อาจารย์ปรีชา ยังกล่าวเสริมด้วยว่าแค่ใครคนใดคนหนึ่งไม่สามารถขับเคลื่อนกลไกทั้งระบบได้ การจะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องเป็นไปทั้งองคาพยพ ตัวอย่างกรณีที่น่าสนใจคือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมุ่งมั่นให้เมืองเจริญเติบโตสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ภายใต้แผน ‘ขอนแก่นโมเดล’ โดยมีหนึ่งในเป้าหมาย คือ พัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในจังหวัดขอนแก่นสู่เมืองหนังโลก

          นโยบายดังกล่าวทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองท้องถิ่น เอกชนทั้งรายเล็กและรายใหญ่ในพื้นที่ บุคลากรที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ในสายอาชีพภาพยนตร์ และสถานศึกษาในระดับภูมิภาค ทั้งหมดนี้ได้จับมือทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับคุณภาพหนังไทย โดยมีการปรับตัวให้สอดรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น การเรียนการสอนที่ไม่จำเป็นต้องกำหนดชั่วโมงสอนเป็นสำคัญ แต่คำนึงถึงการเรียนที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ตัวอย่างหนึ่ง คือ การก่อตั้ง ‘แก่นฟิลม์ อะคาเดมี’ สถาบันพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านธุรกิจภาพยนตร์แห่งแรกในภาคอีสาน จัดทำหลักสูตรอบรมระยะสั้นของสถาบัน จำนวน 10 หลักสูตร ครอบคลุมในทุกกระบวนการผลิตภาพยนตร์ไปจนถึงการเป็นนักแสดง

          นอกจากนี้ สถานศึกษายังถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีหน้าที่ส่งเสริมให้เรื่องของการชมภาพยนตร์เป็นเรื่องปกติในสังคม ภาพยนตร์ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนรู้ ทั้งในแง่ของการเป็นผู้ช่วยฝึกทักษะการวางแผน การดำรงชีวิต ขณะเดียวกันภาพยนตร์ก็สามารถเป็นสื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพ และทำให้เด็กๆ คุ้นเคยและเปิดใจกับวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ตั้งแต่เด็กได้อีกด้วย

          กรณีตัวอย่างจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ บิ๊ก-อับดุลฮาฟิส แมเยาะ แกนนำกลุ่ม มุสลิมิเต็ด (Muslimited) เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเยาวชนคนรักหนัง ซึ่งร่วมกันผลิตผลงานภาพยนตร์สั้น สารคดีให้ความรู้ในภาษายาวี นำเสนอผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และมีผู้ติดตามจำนวนมาก บิ๊กอยากนำความรู้เกี่ยวกับการทำภาพยนตร์มาถ่ายทอดให้กับเด็กและเยาวชนรุ่นน้องจึงเข้าไปจับมือกับโรงเรียนใกล้บ้าน ก่อตั้งชมรมทำหนัง SATU ADDI ในโรงเรียนอัดดีนียาตุลอิสลามียะห์ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีการผลิตหนังสั้นส่งประกวดจนได้รับรางวัลมาแล้ว เขามองว่า สถานศึกษาตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมสามารถเข้ามามีบทบาทช่วยส่งเสริมทักษะด้านภาพยนตร์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย การตั้งชมรมภาพยนตร์ในโรงเรียน เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าสถานศึกษาสามารถช่วยให้เด็กๆ ค้นพบตัวเองได้ไวขึ้น รู้ว่าชอบอะไร และกล้าที่จะตัดสินใจก้าวไปสู่สายงานที่ตนเองสนใจในอนาคต

งานเทศกาล ค่ายหนัง พื้นที่บ่มเพาะทักษะ เชื่อมเครือข่ายภาพยนตร์ท้องถิ่นให้แข็งแรง

          การพัฒนาทักษะและความรู้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้สร้างหนัง การเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น เวิร์กชอป ค่ายหนัง ชมรมต่างๆ เป็นกระบวนการที่ขาดไม่ได้ เพราะนอกจากจะช่วยให้ผู้ที่อยากจะเป็นนักสร้างหนังมืออาชีพได้มีโอกาสและพื้นที่ทำกิจกรรมด้านภาพยนตร์แล้ว ก็ยังเป็นอีกช่องทางส่งเสียงตัวตนหรือความคิดของพวกเขาผ่านภาพยนตร์อีกด้วย

          ตัวอย่างงานเทศกาลหนังเมืองแคน เทศกาลระดับชาติและระหว่างประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ในส่วนภูมิภาคโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภายในงานเทศกาล ประกอบไปด้วยการจัดเสวนา การฉายภาพยนตร์ อบรมเชิงปฏิบัติการ ฯลฯ มีการจัดประกวดและจัดอบรมหนังสั้นสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยผู้สนใจจะต้องส่งทีเซอร์ภาพยนตร์เข้าร่วมประกวด ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการ ทดลองนำเนื้อหาภาพยนตร์ของตน ไปถ่ายทำเป็นภาพยนตร์สั้นให้เสร็จภายใน 3 วัน โดยต้องทำงานร่วมกับทีมงาน และนักแสดงที่ทางผู้จัดเตรียมไว้ กิจกรรมดังกล่าว ทำให้คนที่เข้าร่วมมีโอกาสลงมือทำงานจริงอย่างเข้มข้น และฝึกแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้แบบมืออาชีพ

          นอกจากนี้ ผลงานที่เข้าร่วมประกวดที่รับความสนใจจากคนในวงการภาพยนตร์ ก็อาจได้รับโอกาสต่อยอดไปสู่การผลิตภาพยนตร์ที่ออกฉายจริง เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ‘นาค เรื่องเล่าจากชาวบ้าน’ รวม 8 เรื่องเล่าพื้นบ้านจาก 8 ผู้กำกับหน้าใหม่ทั้งชาวไทยและชาวลาว โดยมีโปรดิวเซอร์รุ่นพี่ในวงการ ได้แก่ ธนิตย์ จิตนุกูล, ปรัชญา ปิ่นแก้ว และบัณฑิต ทองดี ควบคุมกระบวนการผลิต อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ภาพยนตร์เรื่อง 4 ขมัง ภาพยนตร์แนวแอคชั่นแฟนตาซีที่เกิดจากกระบวนการประกวดคัดเลือกอย่างจริงจังจากงานเทศกาลหนังเมืองแคนเช่นเดียวกันดังนั้น ความพยายามของเทศกาลหนังจากผู้จัดในภูมิภาคเช่นนี้ จึงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการผลักดันผู้สร้างภาพยนตร์จากท้องถิ่นสามารถทดลองผลิตหนังให้เข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้อย่างจริงจัง

          อาจารย์ปรีชา กล่าวถึงเรื่องเทศกาลหนังไว้อย่างน่าสนใจว่า “งานเทศกาลหนัง เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้วงการหนังในภาคอีสานเติบโต เพราะเป็นการสร้างพื้นที่ให้มีการทำความรู้จักเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง นักวิชาการในพื้นที่มาทำงานร่วมกัน อาจารย์รู้จักกัน นักศึกษารู้จักกัน และยังมีรุ่นพี่ ผู้กำกับในวงการหนังที่มีชื่อเสียงมาช่วยกันผลักดัน ด้วยเครือข่ายต่างๆ ที่เรามี กลายเป็นความเข้มแข็ง ทําให้เด็กมองว่า เฮ้ย พี่คนนั้นก็ทําได้ หนังของเราได้อยู่ในค่ายเดียวกัน มีไอเดียที่ไม่ต่างกัน หนังของเราก็น่าจะเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรมได้โดยผ่านหูผ่านตาของพี่ๆ โปรดิวเซอร์เหล่านี้ด้วยเช่นกัน นี่คือความเติบโตของวิธีคิดของเราในการทํางานในระดับภูมิภาค”

หนังสั้นเรื่อง ป่าสุขสันต์ วันอันตราย จากทีมสองขวดน้อย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากงานเทศกาลหนังเมืองแคน ครั้งที่ 7 และจะได้รับการพิจารณาในการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวต่อไป

          ค่ายหนัง (Film Camp) หรือการจัดอบรมเวิร์กชอปเกี่ยวกับภาพยนตร์ เป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนระดับภูมิภาค เข้าถึงโอกาสในการฝึกทักษะด้านภาพยนตร์ อีกทั้งเพิ่มพื้นที่สำหรับให้พวกเขาได้สะท้อนความคิดตนเอง เช่น โครงการ ‘Deep South Young Filmmaker เยาวชนสร้างหนัง หนังสร้างคน’ มีจุดประสงค์เพื่อให้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ให้สามารถผลิตสื่อภาพยนตร์ นำเสนอมุมมองและเรื่องราวผ่านการเล่าเรื่อง

          พิมพกา โตวิระ ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ และผู้จัดการโครงการฯ เล่าว่า “เราเห็นการเติบโตของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ และเสียงสะท้อนว่าหนังที่แสดงภาพของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ มักมาจากมุมมองของคนภายนอก ดังนั้น น่าจะมีหนังที่เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้มาทำงานร่วมกันและ พัฒนาภาพยนตร์จากมุมมองของคนในพื้นที่เองบ้าง”

          จุดเด่นของโครงการนี้ ไม่ใช่แค่การทำเวิร์กชอปภาพยนตร์ที่มีคนมาสอนทำแล้วจบไป แต่ลงลึกไปตั้งแต่การสำรวจ เก็บข้อมูล ค้นหาข้อจำกัด ศึกษาวัฒนธรรมประเพณีเฉพาะของพื้นที่ รวมถึงสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานราชการ สถานศึกษา รวมไปถึงรายละเอียดของกระบวนการที่เป็นแบบพี่สอนน้อง

          “การทำหนังเป็นทักษะ การทำงานกับเด็กและเยาวชน ไม่ได้จบแค่สอนให้เขาทำหนังเป็น กระบวนการของเราคือเรา stand by คอยให้คำปรึกษา คอยแก้ปัญหา พอสุดท้าย หนังในโครงการฯ แล้วเสร็จออกมาฉาย ถ้าใครมีโอกาสได้ดู ผลงานเหล่านี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ว่าเป็นผลงานที่น้องๆ เขาทำเอง เพราะถ้าเขาไม่ทำเขาก็จะไม่ได้เรียนรู้”

          พิมพกาบอกว่า ประเทศไทยไม่ได้ขาดกิจกรรมหรือโครงการอบรมให้ความรู้ด้านภาพยนตร์ แต่สิ่งที่ขาดอาจเป็นเรื่องของการออกแบบโครงการเหล่านั้นให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่

ป่าล้อมเมือง ปลุกกระแสความหลากหลาย ขยายขอบเขตการเสพภาพยนตร์ไทย

          ความมุ่งหมายของคนทำภาพยนตร์แทบทุกคน คืออยากให้ผลงานของตนเองได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง พิมพกา โตวิระ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า จุดสำคัญก็คือถ้าหากภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่ได้ฉายเลยหรือฉายจำกัดแค่ในบางพื้นที่ ความแพร่หลายและเป็นที่รู้จักจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย กรณีภาพยนตร์จากผู้สร้างสามจังหวัดชายแดนใต้แสดงให้เห็นว่าอุปสรรคหนึ่งของการที่หนังไม่แพร่หลาย คือ การไม่มีสถานที่หรือช่องทางสำหรับเผยแพร่ผลงาน

          แต่กรณีของภาพยนตร์ในจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์ ที่ใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง คือ การฉายภาพยนตร์จากส่วนภูมิภาคให้ได้รับความนิยม จนเกิดกระแสและขยายรุกคืบมายังภูมิภาคอื่นๆ จนถึงเมืองหลวง ดูจะเป็นกรณีศึกษาที่ช่วยพิสูจน์ว่ามีความเป็นไปได้จริงที่หนังจากผู้สร้างท้องถิ่นจะสามารถแพร่หลายและได้รับความนิยมในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น ความสำเร็จของกลยุทธ์นี้คือหนังเรื่อง ‘สัปเหร่อ’ ภาพยนตร์หนึ่งในจักรวาลไทบ้านได้ออกฉายโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศตั้งแต่วันแรก หลังจากที่ซีรีส์ชุดนี้พยายามสร้างตัวตน จนบรรลุผลและเข้าตาฝ่ายการตลาดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่วิเคราะห์แล้วเห็นแล้วว่ามีกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนเพียงพอต่อการฉายทั่วประเทศ

          ในขณะที่หนังสะท้อนกลิ่นอายความเป็นอีสานได้รับความนิยมไปแล้ว ถ้ามองไปที่ภาคใต้หรือภาคเหนือจะสามารถทำได้หรือไม่ ?

          จากคำถามข้างต้น อาจารย์ปรีชา มีความเห็นว่าภูมิภาคต่างๆ ต้องสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ระดับหนึ่งก่อน โดยเริ่มที่การสร้างภาพยนตร์ที่ดีในระดับที่สามารถเป็นกระแสได้ “หลายคนอาจจะเห็นความสำเร็จของไทบ้านเป็นโมเดล แต่ต้องบอกว่าก่อนจะมาถึงจุดนี้ พวกเขาก็ต้องทำงาน ทุ่มเท และสร้างกระแสความนิยมในท้องถิ่นให้ได้ก่อน กล่าวแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าหนังภูมิภาคอื่นยังไม่ดีพอ แต่ผมมองว่ามันอาจจะเป็นประเด็นที่คนในท้องถิ่นต้องหาว่า ก่อนจะให้หนังเผยแพร่ได้ทั่วทุกภูมิภาค หนังเรื่องนี้จะได้รับการยอมรับมากน้อยแค่ไหนจากต่างภูมิภาค”

          เช่นเดียวกับ พิมพกา โตวิระ ที่มองว่า หนึ่งในเทคนิคเพิ่มกระแสภาพยนตร์ที่ดีที่สุด คือ ‘ปากต่อปาก’ รวมไปถึงต้องสร้างวัฒนธรรมการรับชมภาพยนตร์ที่หลากหลาย นอกจากนี้ เธอยังมองว่า การจะส่งเสริมระบบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ไม่ควรมองที่เป้าหมายความสำเร็จสุดท้าย แต่ควรย้อนกลับมาที่การรวบรวมข้อมูลและจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การผลิต การจัดจำหน่าย การเผยแพร่ และพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับสากล เพราะหากขาดข้อมูล เราก็ไม่รู้ว่าควรจะมุ่งเป้าหรือส่งเสริมไปที่ตรงไหนดี

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก