สมุทรสาครเป็นเมืองปากแม่น้ำซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับท้องทะเลฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพด้านประมงและอุตสาหกรรมอาหารทะเล แต่ปัจจุบันท้องทะเลไทยกำลังขาดความยั่งยืนโดยสาเหตุหลักมาจากน้ำมือของมนุษย์ การให้ความรู้และปลุกจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญและสามารถเริ่มได้ตั้งแต่วัยเด็ก นี่เป็นแนวคิดที่แฝงอยู่ในโครงการ ‘Anubarn Submarine’ ในการพลิกโฉมห้องสมุดโรงเรียนอนุบาลสมุทรสาคร ให้กลายเป็นห้องสมุดที่น่าเรียนรู้และตอบโจทย์สำคัญในท้องถิ่น
เมื่อทีมงานนักออกแบบของบริษัทกรีนบ็อกซ์ดีไซน์ (Greenbox Design) หวนนึกถึงความทรงจำว่าด้วยห้องสมุดเมื่อวัยเด็กและตั้งคำถามกับห้องสมุดในฝันก็พบว่า เด็กๆ ไม่ได้ต้องการห้องสมุดที่เงียบขรึม แต่ใช้ห้องสมุดเป็นพื้นที่ทั้งสำหรับเล่น วิ่งซน งีบหลับ หรือเล่นเกม การออกแบบจึงคำนึงถึงพื้นที่ 2 ลักษณะ คือ พื้นที่การเรียนรู้แบบตั้งรับ (Passive Learning) เช่น การอ่านหนังสือ และการสอน ส่วนพื้นที่การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เน้นให้ผู้เรียนมีบทบาทในการแสวงหาความรู้ หรือมีปฏิสัมพันธ์จนสามารถนำไปสู่ความรู้ เช่น การทำงานเป็นกลุ่ม การเล่น การพูดคุย และการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต
บรรยากาศของห้องสมุดชวนให้เด็กๆ โลดแล่นไปกับจินตนาการราวกับกำลังอยู่ในเรือดำน้ำ มีการใช้สีสันแบ่งพื้นที่การใช้งานแต่ละห้อง โซนห้องหนังสือมีธีมสีเลียนแบบท้องทะเล ห้องแรกมีสีเหลืองทองเหมือนหาดทราย ห้องถัดไปมีสีฟ้าอ่อนเหมือนผิวน้ำทะเล และด้านในเป็นห้องสีน้ำเงินเข้มเหมือนทะเลน้ำลึก มีการออกแบบช่องทรงกลมสำหรับนั่งคู้ตัวอ่านหนังสืออย่างเป็นส่วนตัว และมีพื้นไล่ระดับเป็นขั้นสำหรับนั่งเล่นกับเพื่อน
บริเวณโถงสีขาวมีเคาน์เตอร์บรรณารักษ์ให้บริการยืมคืนหนังสือ ใกล้กันมีเวทีและอัฒจันทร์ขนาดเล็กพร้อมจอฉาย สำหรับชมสื่อโสตทัศน์และทำกิจกรรมต่างๆ ท้ายห้องสมุดเป็นห้องสำหรับการเรียนรู้ที่ต้องใช้สมาธิ มีที่นั่งทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม ส่วนบริเวณปีกด้านข้างเป็นพื้นที่สำหรับเล่น พบปะพูดคุย ใช้คอมพิวเตอร์ และมุมเล็กๆ สำหรับทำงานเป็นกลุ่มย่อย
เฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งห้องสมุดพยายามสร้างแรงบันดาลใจเรื่องการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น เคาน์เตอร์บรรณารักษ์ทำจากวัสดุพลาสติกที่ผ่านกระบวนการอัปไซเคิล ถังเหล็กถูกดัดแปลงให้เป็นสื่อการเรียนรู้เรื่องการคัดแยกขยะ เก้าอี้ทำจากตะกร้าที่ไม่ใช้แล้วสามารถบรรจุสิ่งของไว้ภายใน โคมไฟรูปปลาสร้างสรรค์มาจากตะแกรงเหล็ก ฯลฯ
โรงเรียนอนุบาลสมุทรสาครมีห้องสมุดจำนวน 3 ห้อง ห้องสมุดที่เพิ่งปรับปรุงใหม่นี้เป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ครูแต่ละวิชาจะหมุนเวียนกันพานักเรียนเข้ามาใช้พื้นที่ห้องสมุดเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการเรียนรู้ให้สร้างสรรค์ ผ่อนคลาย และเกิดกระบวนการเรียนรู้หลายหลายมิติ ประการสำคัญคือผู้เรียนไม่ได้มีบทบาทเพียงฟังครูสอน แต่สามารถมีส่วนร่วมในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองควบคู่กันไปด้วย
ที่มา
บทความ “เปลี่ยนขยะเป็นเฟอร์นิเจอร์” จาก Greenbox Design