จำใจต้องเรียนออนไลน์ แต่อย่าวางใจเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล

19 views
August 5, 2022

เทคโนโลยีการศึกษาหรือ EdTech ถูกนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอน ในภาวะที่นักเรียนไม่สามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติและจำเป็นต้องเรียนออนไลน์ มีการประเมินว่าในปี 2021 ทั่วโลกมีการนำเทคโนโลยีการศึกษามาใช้งานประมาณ 100 ล้านชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 90 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2019

Human Rights Watch (HRW) องค์การระหว่างประเทศซึ่งทำวิจัยและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ได้ตรวจสอบการใช้งานเทคโนโลยีการศึกษาจำนวน 163 ผลิตภัณฑ์ ทั้งแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ จาก 49 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย พบว่ามี 146 ผลิตภัณฑ์ ที่ไม่ปลอดภัยต่อข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก แม้กระทั่งแพลตฟอร์มที่พัฒนาโดยหน่วยงานรัฐในบางประเทศ

รายงานที่ชื่อว่า ‘How Dare They Peep into My Private Life?’ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยแบบเจ็บๆ ว่า ‘พวกเขากล้าดียังไงมาแอบส่องชีวิตส่วนตัวของฉัน’ ระบุว่า “เด็กๆ มีทางเลือกแค่เพียงทางเดียวแต่กลับถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว ไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มิหนำซ้ำเด็กที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีการศึกษายังถูกประเมินว่าขาดเรียน ถูกบังคับให้ต้องพักการเรียน หรือออกจากระบบการศึกษา”

รายงานวิเคราะห์ว่า มีเทคโนโลยีการศึกษาจำนวน 31 ผลิตภัณฑ์ ที่รวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก แล้วส่งต่อไปยังเฟซบุ๊กผ่าน Facebook Pixel ซึ่งมีผลต่อการปรับแต่งโฆษณาในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมให้ตรงกับพฤติกรรมของลูกค้า และแม้ว่าเด็กจะออกจากห้องเรียนออนไลน์ไปแล้วแต่บางผลิตภัณฑ์ยังติดตามตำแหน่งของนักเรียนผ่านเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างแพลตฟอร์มดังกล่าว เช่น Zoom, Minecraft Education Edition, Microsoft Teams และ Adobe Connect

ทั้งนี้ มีแอปพลิเคชันการศึกษาจำนวน 11 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยรัฐบาลของ 9 ประเทศ เก็บรหัสส่วนตัวจากระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่มีผลต่อการโฆษณา ได้แก่ กานา อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย ศรีลังกา และตุรกี เด็กและครูประมาณ 41 ล้านคนที่ใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ ในรายงานระบุว่า แพลตฟอร์มสำหรับเรียนออนไลน์ ‘DEEP’ ซึ่งพัฒนาโดยกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทย มีนโยบายในการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลและมีความปลอดภัยในการใช้งาน

HRW ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลประเทศต่างๆ ในการแก้ไขการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล โดยการใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลสำหรับเด็กโดยเฉพาะ การออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทแสวงหาประโยชน์จากสิทธิเด็ก และเสนอให้บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีหยุดการเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลของเด็กเพื่อประโยชน์ทางการตลาด และจัดทำนโยบายความเป็นส่วนตัวที่เหมาะสมกับเด็ก

ในกรณีประเทศไทย สังคมทั่วไปน่าจะเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า PDPA หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 กฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของทุกคน รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลและนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ประกอบการ องค์กร หรือบริษัทต่างๆ จึงต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการเก็บรวบรวมและการนำข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอื่นไปใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ ต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอม ส่วนเด็กและเยาวชนที่มีอายุ 10-19 ปี ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะต้องได้รับความยินยอมจากทั้งตัวเด็กและผู้ปกครอง

จำใจต้องเรียนออนไลน์ แต่อย่าวางใจเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล


ที่มา

บทความ ““How Dare They Peep into My Private Life?”: Children’s Rights Violations by Governments that Endorsed Online Learning During the Covid-19 Pandemic” จาก hrw.org (Online)

บทความ “4 ข้อสงสัย ชวนผู้บริหารสถานศึกษา และครูเข้าใจกฎหมาย PDPA ใช้คุ้มครองสิทธิเด็กในโรงเรียน(opens in a new tab)” จาก starfishlabz.com (Online)

บทความ “Ed tech wrongfully tracked school children during pandemic: Human Rights Watch” จาก zdnet.com (Online)

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก