ดอกไม้มหัศจรรย์กับกิจกรรม STEAM บ้านเรา

1,516 views
7 mins
November 3, 2022

          “ดอกอัญชัน ดอกไม้วิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ ใครจะรู้ว่าต้นไม้เล็กๆ จะสามารถสร้างการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ได้จากเมล็ดเล็กๆ สู่อาหารและการทดลองไม่รู้จบ”

          เรื่องของดอกไม้มหัศจรรย์ “ดอกอัญชัน” เป็นหนึ่งในบรรดาดอกไม้ที่มีคุณค่าในแง่วิทยาศาสตร์ ศิลปะ อาหาร และสมุนไพร เกิดจาก STEAM Kids House หรือบ้านแห่งการเรียนรู้กิจกรรม STEAM ของน้องแก้มหอมและน้องชะเอมกับคุณพ่อนักวิทยาศาสตร์ นักกิจกรรมที่มีใจรักวิทยาศาสตร์และมีความเข้าใจเด็กๆ ร่วมกันลงมือทำกิจกรรมดีๆ

          จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้เรื่องดอกอัญชันครั้งแรก เกิดจากบ้านของคุณตาที่ปลูกต้นอัญชันไว้เต็มแนวรั้ว แผ่ดอกซ้อนสีม่วงเข้มสวยงามละลานตา เมื่อเวลาผ่านไปจนดอกอัญชันร่วงก็จะเกิดเป็นฝักแก่ให้เด็กๆ ได้เก็บกันอย่างสนุกสนาน และเด็กๆ ก็ผุดไอเดียที่อยากจะแบ่งปันดอกไม้มหัศจรรย์นี้ให้แก่เพื่อนๆ และคนที่รักของทั้งสองคน

          เด็กๆ เริ่มเก็บสะสมฝักอัญชันแก่จนเป็นกอบเป็นกำ ก่อนจะเริ่มลงมือเพาะเมล็ดด้วยตนเอง ด้วยแรงสนับสนุนของคุณพ่อและคุณแม่ในการทำกิจกรรมที่มีคุณค่าต่อตนเองและสังคม ด้วยคุณพ่อเองเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “กิจกรรมเด็ก STEAM Kids” ด้วย

          คำว่า STEAM เป็นคำย่อมาจาก S-Science / T-Technology / E-Engineering / A-Art / M-Mathematics ซึ่งที่ผ่านมา คุณพ่อของน้องแก้มหอมและชะเอมใช้พื้นที่ในในเขตรั้วบ้านตัวเองเพื่อการสร้างกิจกรรมและเปิดสอนเด็กๆ เกี่ยวกับการทดลองวิทยาศาสตร์กลุ่มเล็กๆ ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ที่เด็กๆ ไปไหนกันไม่ได้ ซึ่งในครั้งนี้ ได้จัดพื้นที่และกิจกรรมให้สองมือน้อยๆ ของเด็ก 5 ขวบ (น้องชะเอม) และเด็ก 7 ขวบ (พี่แก้มหอม) ให้เขาสามารถทุ่มเทแรงกายแรงใจผ่านระยะเวลาหลายเดือนเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมพิเศษนี้ ผ่านขั้นตอนต่างๆ ที่ไล่เรียงตั้งแต่เริ่มต้นจนจบได้ดังนี้

           (1) เด็กๆ เริ่มต้นจากการเพาะเมล็ด ด้วยการเลือกเมล็ดที่แข็งแรงจากฝักที่สมบูรณ์ ไม่ลีบ มาลงถาดเพาะต้นกล้า ซึ่งเด็กๆ เลือกใช้ดินปลูกจากดินถุงที่ซื้อมาจากร้านเกษตร เพราะเป็นดินที่มีวัสดุทางการเกษตรที่อุ้มน้ำได้ดี แม้ไม่มีธาตุอาหารที่เต็มสมบูรณ์ก็ไม่เป็นไร เพราะเมล็ดอัญชันน้อยอาศัยพื้นที่นี้เพียงได้รับความชุ่มชื้นรองรับ เพื่องอกขึ้นมาเป็นต้นกล้าที่มีใบเลี้ยงคอยเป็นแหล่งอาหารหลักในช่วงขวบเดือนแรก

          การเพาะต้นกล้าอัญชันจากเมล็ดทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการปลูกพืชด้วยเมล็ดที่แตกต่างกันไปแต่ละชนิด พืชบางชนิดต้องการให้โรยเมล็ดบนผิวดินเพื่อรับแสงในการกระตุ้นให้รากงอกออกจากเมล็ดและป้องกันการเน่า เช่น พริก คะน้า ส่วนพืชบางชนิดต้องการให้กดฝังเมล็ดลงลึกไปในดินเพื่ออาศัยความชื้นที่มากกว่าในกิจกรรมการงอกภายใน อัญชันเป็นแบบที่สอง เด็กๆ จะต้องใช้ไม้ขนาดที่พอเหมาะ เจาะดินด้วยความลึกประมาณ 1 เซนติเมตร ก่อนจะหย่อนเมล็ดอัญชันและกลบดินตามลงไปเบาๆ ไม่นานเมล็ดอัญชันจะงอกรากลงสู่ใต้ดิน และส่งใบเลี้ยงต้านแรงโน้มถ่วงขึ้นมาสู่อากาศด้านบนเป็นต้นอ่อนน้อยๆ น่ารัก สวยงาม

           (2) เมื่อต้นกล้าจากถาดเพาะเมล็ดพันธุ์มีอายุได้ 2 สัปดาห์ หรือต้นกล้าสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ก็ถึงเวลาย้ายต้นกล้าลงสู่กระถางเพาะต้นไม้ 1 กระถางต่อ 1 ต้น โดยเมล็ดพันธุ์ที่เด็กๆ ได้เริ่มต้นหย่อนลงดินครั้งแรกจำนวน 200 เมล็ดเกิดเป็นต้นอ่อน ชูใบเลี้ยงคู่อวบอิ่ม และมีใบเลี้ยงจริง 2-4 ใบ ซึ่งระยะเวลาการงอกของอัญชันแต่ละเมล็ดแตกต่างกันออกไป เมล็ดส่วนใหญ่ 70% สามารถงอกเป็นต้นอ่อนได้ภายใน 3-5 วัน 10% ของเมล็ดจะงอกภายใน 1 เดือน และอีก 10% จะงอกตามออกมาอีกภายใน 3 เดือน ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแต่ละเมล็ด และสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้นนั่นเอง

           “เอ้า….แล้วอีก 10% ที่เหลือล่ะ หายไปไหน” กิจกรรมครั้งนี้เด็กๆ ได้เห็นด้วยตนเองว่า เมล็ดบางส่วนจะไม่สามารถงอกเป็นต้นได้ ด้วยความผิดปกติภายในเมล็ด มดแมลงกัดกิน หรือการเน่าเสียเองตามวิสัยของธรรมชาติที่คัดเลือกเมล็ดที่แข็งแรงให้ได้เติบโตในโลกต่อไป

           (3) เมื่อต้นกล้าโตและพร้อมแล้ว คุณพ่อจึงนำทีมเด็กๆ ไปตัดไม้ไผ่เพื่อใช้ทำเป็นเสาหลักปักในกระถาง ให้ต้นอัญชันน้อยๆ ใช้ยอดอ่อนที่เลื้อยเกี่ยวพันขึ้นสู่ที่สูงได้ด้วยตัวเอง ไม้ไผ่ที่เลือกมาใช้เป็นหลักหรือค้างให้ไม้เลื้อยเตี้ยๆ ในกระถางต้นกล้านี้ เราเลือกจากไม้ไผ่สดต้นขนาดเล็กหรือขนาดกลาง เนื่องจากเนื้อไม้ไผ่ไม่แข็งเกินไป สามารถผ่าและตัดได้ง่ายกว่าลำไผ่ที่แก่และหนา แต่แม้กระนั้น การผ่าและเหลาไม้ไผ่ก็ก่อให้เกิดรอยบาดจากเสี้ยนไม้ไผ่และคมมีดพร้า ให้เด็กๆ ได้เห็นและเข้าใจงานยากที่คุณพ่อทำให้ดู ส่วนเด็กๆ ช่วยกันวัดขนาดและจัดเก็บไม้ไผ่ที่ตัดเหลาเสร็จแล้วกว่า 100 ท่อน ไว้ใช้ในขั้นตอนถัดไป

           (4) ขั้นตอนต่อมาคือ การย้ายต้นกล้าจากถาดเพาะสู่กระถางต้นกล้าเดี่ยวๆ ซึ่งกระบวนการนี้น้องแก้มหอมและชะเอมใช้เวลาเป็นสัปดาห์ในการทยอยย้ายต้นกล้าวันละ 10-20 ต้น หรือใช้เวลาประมาณ 30-45 นาทีต่อวัน ตามแต่จะมีเวลาว่างหลังจากการทำการบ้านและกิจกรรมอื่นในบ้าน ซึ่งเด็กๆ รอคอยจะทำกิจกรรมนี้ทุกวัน เพราะเป้าหมายที่วางไว้คือการมอบให้แก่เพื่อนๆ ที่โรงเรียน

          ในขั้นตอนนี้พวกเขาได้เรียนรู้ถึงการเตรียมดินปลูกในแบบฉบับง่ายๆ ของเราเอง ดินสูตรของเราประกอบไปด้วย ดินปลูกสีดำ 1 ส่วน: ดินลูกรังสีน้ำตาลจากในสวน 1 ส่วน: หญ้าแห้งผสมเศษใบไม้ 1 ส่วน: มะพร้าวสับ 1 ส่วน โดยส่วนประกอบทั้ง 4 อย่างมีเพียงดินปลูกและมะพร้าวสับที่เราซื้อมาด้วยงบประมาณรวม 80 บาท นอกจากนั้นก็ใช้วัสดุเศษเหลือและดินภายในสวนบ้านของเราเองแบบไม่ต้องจ่ายเงิน จนสามารถปลูกต้นกล้าอัญชันได้กว่า 100 ต้น ซึ่งดินปลูกที่เตรียมขึ้นเองนี้มีอินทรียวัตถุเพียงพอ และมีธาตุอาหารจำเป็นพื้นฐานได้แก่ ธาตุอาหารหลัก N, P และ K จากดินที่มีเศษใบไม้และเศษหญ้าที่ค่อยๆ เน่าเปื่อย ค่อยๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารอย่างเพียงพอสำหรับต้นกล้าเล็กๆ ของเราในช่วงระยะเวลา 3 เดือนต่อจากนี้ไป ดินลูกรังที่มีส่วนของดินเหนียวมีส่วนของธาตุอาหารรองอื่นๆ ทั้งแคลเซียม แมกนีเซียม แมงกานีส สังกะสี เหล็ก ซัลเฟอร์ โบรอน ในปริมาณที่พอเหมาะและหลากหลายสามารถช่วยเสริมให้ต้นกล้าสมบูรณ์แข็งแรง ส่วนกาบมะพร้าวเป็นอีกส่วนประกอบสำคัญหนึ่งที่ช่วยในการสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ดินตลอดระยะเวลาการปลูก แม้ในวันที่งดการรดน้ำเพราะครอบครัวต้องเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด 2-3 วัน

           (5) ขั้นตอนสำคัญต่อไปคือ การเตรียมขวดน้ำพลาสติกหรือแก้วพลาสติกใช้แล้วในการทำเป็นกระถางต้นไม้ ทั้งแก้ว Starbuck แก้วกาแฟ 7-11 ขวดนม ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำมัน ซึ่งการนำขวดพลาสติกเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ เป็นกระบวนการหลักของการ Reuse และ Recycle ของกิจกรรมที่เด็กๆ คิดขึ้นตั้งแต่แรก ให้พ่อทำหน้าที่ตัดขวด เจาะรูระบายน้ำที่ผิวขวดให้สูงกว่าก้นขวดสัก 1 เซนติเมตรเพื่อสามารถเก็บน้ำไว้ที่ก้นขวดได้ในระยะเวลาหนึ่งโดยที่รากไม่เน่า

          ส่วนเด็กๆ มีหน้าที่สำคัญ คือการใช้สองมือย้ายต้นกล้าจากถาดเพาะด้วยความทะนุถนอมเบามือ ลงสู่กระถางขวด Recycle เพื่อเตรียมนำไปแจกจ่ายให้แก่เด็กๆ คนอื่นต่อไป ซึ่งกิจกรรมที่แก้มหอมและชะเอมได้ทำขึ้นถือเป็นการ Revive หรือการชุบชีวิตให้แก่ธรรมชาติด้วยการกระจายพันธุ์ไม้ที่เป็นประโยชน์นี้ สู่แต่ละบ้านของเพื่อนๆ ให้ได้นำไปปลูกเพื่อใช้สอย กิน หรือทำการทดลองแบบที่แก้มหอมและชะเอมได้ทำและเห็นคุณค่าของมันมาตลอด

           (6) วันที่ 100 ของการทำกิจกรรมนี้เป็นวันสิ้นสุดของการทุ่มเทของเด็กๆ (ที่ยังไม่จบสิ้น) เพราะเป็นวันที่แก้มหอมและชะเอมได้นำต้นอัญชันทั้ง 100 ต้นไปที่โรงเรียนของตัวเอง คือโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ฝ่ายประถม) เพื่อมอบให้แก่เพื่อนๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมส่วนหนึ่งของโรงเรียน คือ “Low Carbon School” ซึ่งคุณพ่อและเด็กๆ ได้เรียนปรึกษากับผู้อำนวยการโรงเรียนถึงความตั้งใจและเรื่องราวกิจกรรมนี้ก่อนแล้วหลายสัปดาห์

          ผู้อำนวยการโรงเรียน – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เครือศรี วิเศษสุวรรณภูมิ ยินดีและภูมิใจที่นักเรียนสองคนนี้มีความตั้งใจและลงมือปฏิบัติกิจกรรมที่มีคุณค่านี้ด้วยแรงกายแรงใจจนถึงวันส่งมอบคุณค่าให้แก่โรงเรียน โดยท่านผู้อำนวยการได้ให้เกียรติและสร้างความสุขสมหวังแก่พี่แก้มหอมน้องชะเอมด้วยการให้ทั้งสองคนเป็นผู้มอบต้นกล้าคนละ 1 ต้น รวม 100 ต้น แก่เพื่อนๆ ในฝั่งประถมและอนุบาลด้วยตนเอง พร้อมถือไมโครโฟนบอกเล่าประสบการณ์ที่ได้รับที่หน้าเสาธงตอนเข้าแถวตอนเช้า ซึ่งเงื่อนไขของผู้รับมอบต้นกล้าอัญชันดอกไม้มหัศจรรย์นี้คือ ให้เพื่อนๆ ที่ต้องการต้นกล้านำขวดพลาสติกใช้แล้วเอามาแลก “1 ต้น แลก 1 ขวด” เพื่อนำขวดน้ำพลาสติกนี้ไปใช้ในการทำกระถางกล้าไม้ในครั้งต่อไป หรือเข้าสู่โรงงานรีไซเคิลต่อไป

           “การให้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเพียงอย่างเดียว แก้มหอมและชะเอมได้ใช้เวลา แรงกาย และความทุ่มเทในการสร้างสิ่งที่มีค่าให้แก่คนที่สนใจในเรื่องเดียวกันอีก 100 คน เกิดการ Reuse Recycle และ Revive ได้ง่ายๆ และหากผู้รับต้นกล้ามหัศจรรย์นี้ไปแล้วได้เข้าใจถึงประโยชน์และคุณค่าของต้นอัญชันหรือกิจกรรมครั้งนี้ ก็จะเกิดการส่งต่อคุณค่าและแรงบันดาลใจนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด”

          การเรียนรู้ของแก้มหอมและชะเอมในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างยาวนานในช่วงเวลาร่วม 3 เดือน แม้จะไม่ยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน กับคำถามที่ได้คำตอบมากมายจากการลงมือปฏิบัติทำกิจกรรมด้วยตนเอง เช่น

  • เตรียมวัสดุปลูกทำยังไงบ้าง ทำไมต้องมีดิน ทำไมต้องมีเศษหญ้า ทำไมต้องมีกาบมะพร้าว
  • เสียบไม้ไผ่ทำหลักให้ต้นกล้าลึกๆ แน่นๆ ยังไงไม่ให้เสี้ยนตำมือ!!
  • เลือกต้นกล้า กับกระถาง กับไม้เสียบทำเสาหลักยังไงดี?
  • ถ้าขวดพลาสติกหมดใช้อะไรแทนดี ถุงดำได้ไหม?
  • วางแผนลำดับขั้นตอนต่างๆ ยังไงดี อะไรก่อน อะไรหลัง: ขวด – ดิน – ต้นกล้า – ไม้ไผ่?
  • เราลัดขั้นตอนไหนได้บ้างนะ อิอิ?
  • ทำแล้วเหนื่อย จะพักดี หรือทำต่อดี เป้าหมายวันละ 20 ต้นพอมั้ย หรือ ค่อยเป็นค่อยไป?

           “สิ่งหนึ่งที่เด็กๆ ได้จากกิจกรรมนี้ คือพวกเขาได้ฝึกทำ ได้ลงมือทำ ได้เหนื่อย ได้บริหารจัดการเวลา และเรียนรู้งานบางอย่างตั้งแต่ต้นจนจบด้วยความเข้าใจถ่องแท้ (หรืออาจจะเท่าที่เขาเข้าใจในวันนี้) เขาจะต้องเป็นผู้ตามเป็นผู้ปฏิบัติที่ดีให้ได้ก่อน เมื่อเก่ง เมื่อเข้าใจ อนาคตก็จะสามารถเป็นผู้นำหรือผู้ออกแบบกิจกรรมได้ด้วยตนเอง จากนั้นเขาก็จะฝึก “ทักษะสื่อสาร” ต่อได้ไม่ยาก เมื่อเขาพร้อม เมื่อเขารู้จริง เมื่อเขาทำมากับมือ เขาก็จะนำเสนอสื่อสารได้ดีเอง พ่อเชื่ออย่างนั้น”

          ในฐานะของคุณพ่อลูกสองที่เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ เป็นทั้งผู้นำแห่งแรงบันดาลใจด้าน STEAM ของลูกสาวและเด็กๆ ที่มาเรียนกิจกรรม STEAM Kids ที่บ้าน ขอฝากเกร็ดกิจกรรมสนุกๆ แบบฉบับของ STEAM Kids ที่เราสามารถใช้ประโยชน์จากดอกอัญชันที่ปลูกไว้ริมรั้ว เช่น

           (1) “น้ำอัญชันมะนาวสีรุ้ง แบบนี้ จะดื่มได้จริงๆ มั้ยน้า” น้ำอัญชันมีหลายสี ขึ้นอยู่กับสภาพกรด-ด่างของสารละลาย

               – กรดแก่ ให้สีแดง (เห็นได้ยาก เพราะต้องกรดแก่จริงๆ) / กรดอ่อน ให้สีแดงม่วง / กลาง ให้สีน้ำเงินม่วง / ด่างอ่อน ให้สีน้ำเงิน / ด่างแก่ ให้สีเขียว (เห็นได้ยาก ต้องใช้เบสแก่จริงๆ ซึ่งไม่ค่อยมีในอาหารทั่วไป)

            (2) “เรามาประดิษฐ์การ์ดล่องหนกันเถอะ” ขั้นตอน ดังนี้

               – ใช้ Cotton Bud จุ่มน้ำด่าง (เบกกิ้งโซดา) และน้ำกรด (มะนาว) แล้ววาดข้อความบนการ์ด ก่อนจะปล่อยให้แห้งจนมองไม่เห็นรอยน้ำยาดังกล่าว กลายเป็นการ์ดล่องหน

               – เมื่อเรามอบการ์ดให้กับใคร ก็จะใช้น้ำดอกอัญชันเข้มข้นทาลงไปบนการ์ด ก็จะสามารถแสดงข้อความหรือรูปภาพที่ซ่อนอยู่เอาไว้ได้ ปีนี้ “การ์ดวันแม่วันพ่อแบบล่องหน” ต้องเข้าแล้วล่ะ

          นอกจากนี้ดอกอัญชันยังสามารถนำมาใช้เป็นอาหารทั้งเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือนำมาชุบแป้งทอดก็อร่อยแบบเด็กๆ ได้ง่ายๆ หรือจะนำมาบดแล้วทาคิ้วทำยาสระผมบำรุงเส้นขนตามสูตรโบราณก็ได้ หรือจะคั้นน้ำทำน้ำมะนาวอัญชันสำหรับดื่มก็อร่อยชื่นใจในวันอากาศร้อน

          แต่ใครจะรู้บ้างว่า สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่อยู่ในดอกอัญชัน ช่วยลดการเกิดลิ่มเลือดได้เป็นอย่างดี แล้วยังกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตด้วย ยืนยันจากหลายผลงานวิจัย เช่นงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) ประเทศอังกฤษและตามรายงานในข่าวที่ว่าผู้ป่วยชายที่มีภาวะ Long COVID บางคนจะมีปัญหาขนาดของน้องชายขณะแข็งตัวเล็กลงเนื่องจากจากระบบไหลเวียนโลหิตที่ยังฟื้นตัวไม่เหมือนเดิม สารแอนโทรไซยานินในดอกอัญชันสามารถช่วยได้นะครับ แต่จะมากหรือน้อยก็ต้องรอการศึกษาเชิงลึกต่อไป (อิอิ) แต่สงสัยงานนี้มีหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ที่ได้อ่านบทความนี้รีบหาเมนูน้ำอัญชันมะนาวมาดื่มดับร้อนแก้กระหายกันถ้วนหน้าแน่ๆ เลย


ที่มา

บทความ “The effect of anthocyanin supplementation in modulating platelet function in sedentary population: a randomised, double-blind, placebo-controlled, cross-over trial” จาก cambridge.org (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก