ตรวจสอบชีวิตบน ‘รถด่วนขบวนปรัชญา’

1,076 views
5 mins
September 26, 2023

          “The unexamined life is not worth living”

          “ชีวิตที่ไม่ได้รับการตรวจสอบย่อมไม่คู่ควรที่จะมีชีวิต”

          ถ้อยคำที่โด่งดังที่สุดของ ‘โสเครตีส’ นักปรัชญาผู้ไม่เคยเขียนงานใดๆ ทิ้งไว้ โลกรู้จักเขาผ่านงานของลูกศิษย์-เพลโต เป็นหลัก ทำให้ต้องเถียงกันมากมายว่าตกลงแล้วโสเครตีสพูดหรือเพลโตพูดผ่านปากโสเครตีสกันแน่

          มันค่อนข้างเชยอยู่หน่อยๆ เวลาพูดถึงหนังสือปรัชญาที่มีชื่อโสเครตีสแล้วต้องยกคำพูดนี้มาประดับ แต่ยกมาเพราะผมเห็นว่าเป็นประโยคที่สรุปใจความของหนังสือ ‘The Socrates Express: In Search of Life Lessons from Dead Philosophers’ หรือ ‘รถด่วนขบวนปรัชญา’ ของ เอริก ไวเนอร์ (Eric Weiner) ได้ครบถ้วน

          ปัจจุบันมีหนังสือแนวปรัชญาได้รับการตีพิมพ์มากขึ้น ผมแบ่งออกเป็น 2 แนว คือแนววิชาการที่ต้องปีนบันไดอ่านกับแนวที่นำปรัชญามาย่อยให้ง่ายและมุ่งกระตุกกระตุ้นให้คิดคู่ขนานไปกับชีวิตประจำวัน หนังสือเล่มนี้จัดอยู่ในประเภทหลัง เหมาะกับนักอ่านที่สนใจแนวคิดทางปรัชญาที่นำมาปรับเข้าการดำเนินชีวิตของเหล่านักปรัชญาตั้งแต่เมื่อ 2,500 กว่าปีก่อนจนถึงนักปรัชญาร่วมสมัย

          หนังสือปรัชญาส่วนใหญ่มีรสชาติฝาดขม ต้องใช้ความพยายามค่อนข้างมากเพื่อทำความเข้าใจเพราะมักพูดถึงเรื่องไกลตัวที่ผู้อ่านก็ตอบไม่ได้ว่าฉันจะต้องรู้ไปทำไม อย่างไรก็ตาม หนังสือปรัชญาลักษณะนี้ก็เป็นสิ่งจำเป็นในโลกวิชาการที่ต้องพัฒนา ต่อยอด หรือสร้างข้อโต้แย้งใหม่ๆ ผมแทบไม่เคยเห็นงานปรัชญาอ่านง่ายและติดดินจากนักวิชาการปรัชญาเมืองไทย ไม่รู้เป็นระบบระเบียบบางอย่างในสถาบันอุดมศึกษาของไทยทำให้เกิดข้อจำกัดขึ้นหรือเปล่า งานปรัชญาที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้อ่านทั่วไปส่วนใหญ่จึงเป็นหนังสือแปลจากโลกภาษาอังกฤษ

          นานมาแล้วในยุคกรีกแหล่งกำเนิดปรัชญาตะวันตก ปรัชญาไม่ได้มีรูปลักษณ์เช่นปัจจุบัน พวกเขาอาจจะเถียงกันเรื่องความดี ความงาม ความจริง ความกล้าหาญ หรือความยุติธรรมอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่เป้าหมายหลักของปรัชญาในยุคนั้นคือการเสาะแสวงหาแนวทางการมีชีวิตที่ดีและอยู่ในโลกปั่นป่วนวุ่นวายได้แบบไม่เดือดเนื้อร้อนใจ สโตอิกเป็นหนึ่งในบรรดาสำนักเหล่านั้น

          เอริก ไวเนอร์ ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านการเดินทางบนรถไฟ ตามรอยนักปรัชญา 14 คน โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ช่วงคือรุ่งสาง เที่ยงวัน และย่ำค่ำ สอดพ้องกับเวลาในชีวิตจากวัยของการเรียนรู้ การใช้ชีวิต จนถึงวัยที่เรี่ยวแรงถูกเวลาฉกชิงไปและเริ่มนับถอยหลัง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็ย้อนกลับไปที่ประโยคแรก

          เขาเริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ ว่าเรา ควร ลุกจากที่นอนหรือไม่โดยเล่าผ่านเรื่องราวของมาร์คุส ออเรลิอุส กษัตริย์โรมันผู้เขียนหนังสือที่โด่งดังอย่าง Meditations (ถูกแปลเป็นไทยในชื่อ ‘เมื่อจักรพรรดิพินิจชีวิต’) บทสรุปที่ได้คือเรา ควร ลุกจากที่นอนเพื่อไปทำหน้าที่ที่เรามี แต่เขาก็ทิ้งประเด็นของเดวิด ฮิวม์ให้ชวนคิดระหว่าง คือ กับ ควร เพราะ คือ เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ส่วน ควร เป็นเรื่องของคุณค่าและการตัดสินใจเชิงศีลธรรม ซึ่งบ่อยครับเราแยกไม่ออกระหว่าง คือ กับ ควร

          อาจพูดได้ว่าตลอดทั้งเล่ม เอริก ไวเนอร์ พยายามบอกเราว่า ควร ทำอะไรหรืออย่างไร เช่น สงสัยใคร่รู้อย่างโสเครตีส รื่นรมย์อย่างเอพิคิวรัส มีเมตตาอย่างขงจื่อ รับมืออย่างเอพิกเตตุส หรือตายอย่างมงแตญ เป็นต้น เขาเล่าถึงการตามรอยชีวประวัติของนักปรัชญา และความคิดของพวกเขาโดยสอดแทรกอารมณ์ขันไว้เป็นระยะๆ ซึ่งบางทีก็ไม่ขำ เพราะบางทีความตลกก็ถูกกีดกันด้วยวัฒนธรรมที่ต่างกัน

          ผมคิดว่า เอริก ไวเนอร์ กำลังนำเสนอวิธีการที่เราจะสัมพันธ์กับโลกปั่นป่วนและชีวิตที่แสนวุ่นวาย อย่างเช่นเอพิคิวรัส นักปรัชญากรีกที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพวกสุขนิยม เป้าหมายของชีวิตคือการแสวงหาความสุขมาเติมเต็ม ชื่อของเขากลายเป็นศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า epicurean ที่หมายถึงคนเจ้าสำราญ ชอบหาความสนุก ฟุ้งเฟ้อ แต่สุขนิยมของเอพิคิวรัสเป็นความสุขคนละแบบกับที่คนปัจจุบันส่วนใหญ่เข้าใจ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ เอริก ไวเนอร์ จะใช้คำว่า ‘รื่นรมย์’ มากกว่า ‘ความสุข’ แบบเอพิคิวรัส เอริก ไวเนอร์ เขียนว่า

          “อตารักเซีย (ataraxia) หรือ “ไร้สิ่งที่ทำให้ร้อนรน” เป็นภาวะไร้ความวิตกกังวลมากกว่าเป็นการมีอยู่ของสิ่งใดๆ ที่นำไปสู่ความพึงพอใจ ความสุขสำราญไม่ได้เป็นขั้วตรงข้ามของความเจ็บปวด แต่เป็นภาวะไร้ความเจ็บปวด เอพิคิวรัสไม่ใช่พวกสุขนิยม เขาเป็นพวก “สงบสุขนิยม” ต่างหาก”

          ความรื่นรมย์ของเอพิคิวรัสจึงเรียกร้องน้อยกว่าที่เราคิดมาก

ตรวจสอบชีวิตบน ‘รถด่วนขบวนปรัชญา’

          หรือในบท ‘มีเมตตาอย่างขงจื่อ’ เอริก ไวเนอร์ เริ่มต้นด้วยความรู้สึกกระอักกระอ่วนต่อขนบจารีตพิธีกรรมมากมายของนักปรัชญาจีนผู้นี้ (ใครที่อยากรู้จักขงจื่อให้มากขึ้นตามลิงค์นี้ไป ‘สุวรรณา สถาอานันท์: การเรียนรู้ของ ‘ขงจื่อ’ ชายผู้เรียกร้อง ‘ความรัก’’) แต่เขาก็อธิบายต่อมาว่า

          “ความเจ้าระเบียบของขงจื่อมีเหตุผลรองรับ และมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับ เหริน หรือกับความเมตตา ความเมตตาไม่ใช่การทำตามใจ แต่ต้องมีอะไรมาเป็นภาชนะรองรับ และภาชนะนั้นก็คือ หลี่ หรือธรรมเนียมปฏิบัติที่เหมาะสม”

          ในโลกภาษาอังกฤษ หนังสือปรัชญาแนวนี้มีอยู่มากมาย ในโลกภาษาไทยมีเพียงน้อยนิด หากจะมีก็มักอิงอ้างกับหลักพุทธศาสนา (คนละอย่างกับพุทธปรัชญา) และมีคำตอบให้เบ็ดเสร็จว่าชีวิตที่ดี คือ อะไร เราต้อง ทำ อะไร ซึ่งก็ไม่ถือว่าผิดเพราะเป็นธรรมชาติของศาสนา

          ปรัชญาแตกต่างออกไป ตั้งแต่มันถือกำเนิดไม่เคยมีแนวคิดของสำนักคิดใดสามารถยืนหนึ่งได้โดยไม่ถูกท้าทาย ตั้งคำถาม หรือแม้กระทั่งล้มล้างทฤษฎี เราไม่เคยได้ยินว่าเกิดสงครามเพราะการถกเถียงทางปรัชญา (แต่คงมีชกต่อยกันบ้างนะผมว่า) วิชาปรัชญาในต่างประเทศจึงเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่เด็ก ด้วยเชื่อว่าเด็กก็สามารถใช้เหตุผลได้

          ผมเคยสัมภาษณ์อาจารย์สิริเพ็ญ พิริยจิตรกรกิจ อดีตอาจารย์ประจำภาคปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอเล่าว่าช่วงปลายทศวรรษ 1960 แมทธิว ลิปแมน ได้ริเริ่มปรัชญาสำหรับเด็ก (Philosophy for Children: p4c) เพื่อส่งเสริมด้านการคิด การแก้ปัญหา และการใช้เหตุผล โดยมุ่งพัฒนาให้เด็กปรับปรุงการคิดใน 3 ด้าน คือ การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative thinking) และการคิดเชิงอาทร (Caring thinking) พร้อมกับสร้างทักษะ 4 ด้านคือทักษะการสร้างมโนทัศน์ (Concept formation skills) ทักษะการสืบสอบ (Inquiry skills) ทักษะการใช้เหตุผล (Reasoning skills) และทักษะการแปลความ (Translation skills)

          งานของ เอริก ไวเนอร์ เป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารปรัชญาสู่วงกว้าง มันนำมาสู่คำถาม 2 ข้อที่ผมสนใจ หนึ่ง เหตุใดนักวิชาการปรัชญาในไทยจึงไม่ผลิตงานทำนองนี้ออกมา ผมสงสัยว่าระบบไม่เอื้อจากปัจจัยต่างๆ เช่น อาจารย์มีภาระการสอนมาก งานเอกสารต่างๆ การต้องปฏิบัติภาระงานให้ได้ตามตัวชี้วัดของมหาวิทยาลัย การต้องเร่งสร้างผลงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ แล้วงานลักษณะนี้ก็ไม่ใช่งานที่ใช้ขอตำแหน่งได้ เมื่อระบบเป็นแบบนี้ก็เท่ากับตัดตอนการถ่ายเทองค์ความรู้สาธารณะไปโดยปริยาย

          สอง ทำไมไม่มีการสอนปรัชญาสำหรับเด็กทั้งที่องค์ความรู้ด้านนี้มีการคิดค้นมาอย่างน้อยก็ 6 ทศวรรษแล้ว ปัจจัยหนึ่งเป็นเรื่องความพร้อมครู ปัญหาใหญ่กว่าคือกระทรวงศึกษาธิการไม่ให้ความสำคัญ ขนาดไม่มีการเรียนการสอนปรัชญาในเด็กและเยาวชน พวกเขาก็ตั้งคำถามหลากหลายที่เจาะไปยังแกนกลางของระบบการศึกษา เช่น ระเบียบเครื่องแต่งกาย ทรงผม หรือทำไมต้องเรียนวิชานี่นั่นนู่นที่มองหาความเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันไม่เจอ เป็นต้น แล้วความเคยชินของสังคมไทยก็มักสับสนระหว่างการวิพากษ์กับความดื้อรั้น ซ้ำไม่เชื่อว่าเด็กหรือเยาวชนคิดได้ คิดเป็น แต่ต้องถูกผู้ใหญ่ใจร้ายหลอกใช้เสมอ

          เรา ควร มองโลกอย่างไร ควร ใส่ใจกับสิ่งเล็กๆ อย่างไร ควร แก่อย่างไร ควร รับมือกับชีวิตอย่างไร หรือทั้งหมดนี้ก็คือเรา ควร ใช้ชีวิตอย่างไร มันคือการหมั่นตรวจสอบชีวิตให้อยู่ในที่ในทางที่เราพอจะยอมรับได้

          เช่นกัน สถาบันการศึกษา ควร สร้างระบบที่เอื้อให้นักวิชาการเผยแพร่ความรู้สู่สังคมหรือไม่ ระบบการศึกษา ควร บรรจุปรัชญาเช้าไปในหลักสูตรหรือไม่ ก็เป็นคำถามตรวจสอบเชิงคุณค่า

          ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ควรเป็น ควรทำ ตลอดทั้งเล่ม เป็น ควร ของ เอริก ไวเนอร์ มันอาจไม่จำเป็นเลยที่จะเป็น ควร เดียวกับของเรา สิ่งที่ ควร คือตั้งคำถามว่าจริงหรือที่เรา ควร ทำนั่นนี่ตามอย่างนักปรัชญา แล้วพยายามค้นหาคำตอบ เราอาจเจอคำตอบที่เหมาะกับตัวเราหรือไม่เจอเลย เราก็เพียงยอมรับความเขลาของตน เพราะการรู้ว่าตนไม่รู้อะไรจัดเป็นความรู้ประเภทหนึ่ง แต่การคิดว่ารู้ทั้งที่ไม่รู้ต่างหากคือความเขลา

          เอริก ไวเนอร์ เขียนว่าในบท ‘สงสัยใคร่รู้อย่างโสเครตีส’

          “ความเขลาที่เลวร้ายที่สุดคือความเขลาที่แปลงกายมาอยู่ในคราบของความรู้ การไม่รู้อะไรต่อมิอะไรอย่างบริสุทธิ์ใจก็ยังดีกว่าการมีความรู้ที่แคบและรู้ไม่จริงเป็นไหนๆ”

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก