ระหว่างปี 1980-2017 ห้องสมุดไดค์มัน สโตฟเนอร์ (Deichman Stovner Library) ในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ตั้งอยู่บริเวณชั้นล่างของอาคารจอดรถซึ่งไม่ค่อยดึงดูดให้เข้าไปใช้บริการ เดิมมีขนาดเล็กและทรุดโทรม เมื่อมีการสำรวจพฤติกรรมผู้ต้องการใช้ห้องสมุดในนอร์เวย์ พบว่ากว่าร้อยละ 90 มีเป้าหมายเพื่อการนัดพบปะสังสรรค์หรือการรวมกลุ่มทางสังคม ผู้บริหารเมืองและห้องสมุดจึงตัดสินใจปรับปรุงก่อสร้างห้องสมุดใหม่ ขนาด 1,100 ตารางเมตรในห้างสรรพสินค้า ภายใต้แนวคิด ‘ห้องสมุดสังคม’ (social library) ด้วยการออกแบบพื้นที่ให้มีความยืดหยุ่น จัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้ปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายง่าย ส่งเสริมการรวมกลุ่มและเน้นสร้างแรงบันดาลใจ
“แทนที่จะออกแบบพื้นที่ห้องสมุดด้วยการจัดแบ่งเป็นโซน ให้มีบรรยากาศแตกต่างกันไปตามกลุ่มอายุของผู้ใช้บริการ เราเลือกวิธีที่ให้ความรู้สึกกลางๆ สำหรับให้ผู้ใช้บริการทุกวัยสามารถมีปฏิสัมพันธ์กัน พื้นที่หลักมีบรรยากาศแบบสวน (park) ซึ่งทุกคนเข้าถึงง่ายและให้ความรู้สึกอิสระ ผ่อนคลาย สามารถนั่งเล่น อ่านหนังสือพิมพ์ หรือนั่งทานบาร์บีคิวกับครอบครัว ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้ช่วยเติมความสมดุลระหว่างความเป็นกลาง (neutrality) และความยืดหยุ่น (flexibility)” สถาปนิกเล่าถึงแนวคิดการออกแบบ และกล่าวว่า
“เนื่องจากห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ตั้งอยู่ชานเมืองออสโล ซึ่งผืนป่ามาบรรจบกับความเจริญของเมือง ห้องสมุดต้องการสร้างมิติใหม่สำหรับการพบปะ เรียนรู้ และให้ความบันเทิง ขณะเดียวกันก็มีนัยถึงเมืองที่ใกล้ชิดธรรมชาติ ทั่วทั้งพื้นที่จึงเน้นการออกแบบตกแต่งให้สอดคล้องกับความรู้สึกดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นห้องอ่านสีเอิร์ธโทน ใช้วัสดุจากไม้ และมีต้นไม้ให้ดูมีความเขียวขจีเจริญงอกงาม การเลือกใช้สีเขียวมาจากรากฐานทางจิตวิทยาว่า สีเขียวอยู่ตรงกลางของสเปกตรัม ช่วยให้เกิดความรู้สึกสงบ เติมความสดชื่นด้วยสีฟ้าและผนังกระจก ดูคล้ายโรงเรือนกระจกสำหรับเพาะต้นไม้”
นอกจากนี้ยังออกแบบและสร้างรังนกขนาดใหญ่สำหรับให้คนเข้าไปนั่งรวมกันข้างใน กลายเป็นพื้นที่ยอดนิยม วัสดุตกแต่งในห้องสมุดนำมาจากกระบวนการรีไซเคิล เช่น เปลือกไม้จากสวนสาธารณะ กรอบหน้าต่างจากเศษเหล็กภาคอุตสาหกรรม ชั้นหนังสือทำมาจากวัสดุ 3 ชนิดคือ คอนกรีต แผ่นไม้ที่ยังคงรูปทรงตามธรรมชาติ และเหล็กฉากรับน้ำหนัก เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ มีล้อเลื่อนเพื่อให้ง่ายสำหรับเคลื่อนย้ายและปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน
ห้องสมุดประสบความสำเร็จในการดึงดูดคนทุกกลุ่มทุกวัยเข้ามาใช้บริการ ในตอนเช้าเป็นช่วงเวลายอดนิยมของผู้สูงอายุหรือพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก ช่วงบ่ายหลังเลิกเรียนเป็นเวลาที่เด็กๆ เข้ามาใช้ห้องสมุดแทบจะเต็มพื้นที่ ส่วนตอนค่ำกลุ่มผู้ใช้บริการหลักคือผู้ใหญ่ ระยะเวลาเปิดให้บริการครอบคลุมตั้งแต่ 7.00-23.00 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุด เพื่อให้คนทุกช่วงวัยสามารถเข้ามาใช้บริการได้ในเวลาที่สะดวก
ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองออสโลบอกว่า “ผู้คนนิยมมาที่ห้างสรรพสินค้า ดังนั้นห้องสมุดควรเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ที่ผู้คนใช้ชีวิต… ห้องสมุดสังคม ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ผู้คนมาพบปะรวมตัวและมีปฏิสัมพันธ์กันได้โดยสะดวก ที่นี่จึงไม่ใช่ห้องสมุด ‘ของคุณ’ แต่เป็นห้องสมุด ‘ของเรา’… งานของเราคือการสร้างพื้นที่เพื่อตอบสนองความรู้ การคิดและการมีส่วนร่วม ห้องสมุดตั้งใจเปิดกว้างให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ สามารถสร้างความทรงจำและมีประสบการณ์ที่เปี่ยมด้วยความหมาย รวมทั้งมีความรู้สึกร่วมต่ออัตลักษณ์ของท้องถิ่นและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ขณะเดียวกันก็สร้างความเป็นไปได้ในการคิดออกจากกรอบเดิมๆ นำไปสู่การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง”
ที่มา
บทความ “Transforming Norwegian Public Libraries” จาก (Online)
บทความ “The extraordinary Stovner library: the shape of things to come” จาก designinglibraries.org.uk (Onine)
บทความ “Stovner Library Oslo” จาก aatvos.com (Online)