สิริพัชร์ สุธีรภัทรานนท์ : ‘Bookcase’ ห้องสมุด ร้านกาแฟ พื้นที่การเรียนรู้

815 views
5 mins
July 27, 2023

          ‘เหนือสุดแดนสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง’ คำขวัญประจำจังหวัดที่คาดเดาได้ไม่ยากด้วยเอกลักษณ์ชัดเจนทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ บรรยากาศล้อมรอบด้วยภูเขา อากาศเย็นสบายช่วงฤดูหนาว

          ใช่… เรากำลังพูดถึงจังหวัดเชียงราย แต่มีใครรู้บ้างว่านอกจากทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว เชียงรายยังได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ อีกด้วย

          เมืองแห่งการเรียนรู้คืออะไร?

          สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Institute for Lifelong Learning – UIL) นิยามความหมาย ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ เอาไว้ว่าเป็น ‘เมืองที่มีการใช้ทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ โดยมีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ มีการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต’

          “จริงๆ แล้วทุกที่ทุกแห่งสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ได้หมด ทั้งวัด พิพิธภัณฑ์ ประตูเมือง แต่เราคิดว่าคนเดินทางมาที่นี่ยังมองในเชิงการท่องเที่ยวมากกว่า ยังไม่ใช่การท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ ทั้งที่สองอย่างนี้มันควบคู่ไปด้วยกันได้”

          ดร.น้อย – ดร.สิริพัชร์ สุธีรภัทรานนท์ ผู้ก่อตั้งร้าน Bookcase แสดงความเห็นต่อสถานะของเชียงรายที่ได้รับเลือกให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้โดยองค์การยูเนสโก

สิริพัชร์ สุธีรภัทรานนท์ : ‘Bookcase’ ห้องสมุด ร้านกาแฟ พื้นที่การเรียนรู้
Photo: Bookcase

          แต่ไม่ว่าเชียงรายจะเป็นเมืองอะไร ในสายตาของใคร และไม่ว่าสถานที่พำนักของเธอจะเป็นจังหวัดเชียงรายหรือไม่ ความตั้งใจในการสร้าง ‘พื้นที่การเรียนรู้’ ที่เธอออกแบบเองได้ ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

          ดร.น้อยเล่าให้ฟังว่า เพราะบทบาทข้าราชการเป็นอาจารย์สอนหนังสือในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ตอบโจทย์ชีวิตอีกต่อไป ด้วยเหตุผลง่ายๆ…

          “อุดมการณ์ไม่ตรงกัน”

          เธอจึงหันหลังให้งานราชการที่ใครต่อใครบอกว่ามั่นคง มาสู่การสร้างพื้นที่ที่เธอปรารถนามาโดยตลอด นั่นคือการเปลี่ยนบ้านให้เป็นห้องสมุด สร้างห้องสมุดเล็กๆ ซึ่งเธอใช้ชื่อในเวลาต่อมาว่า Bookcase Space and Café เป็นห้องสมุดกึ่งร้านกาแฟ ในชุมชนเงียบสงบของเมืองเชียงราย

          “งานที่เราเคยทำมีกรอบชัดเจนว่าใครเรียนสายอะไร จบอะไรมาแล้วต้องเติบโตไปในทางไหน แต่เรากลับเชื่อว่าการเรียนรู้มันขึ้นอยู่กับทางเลือกของแต่ละคน”

          ด้วยความเชื่อดังกล่าว ดร.น้อยจึงมีความฝันที่จะสร้างห้องสมุดให้เป็นพื้นที่อิสระที่คนในชุมชนจะได้มาเรียนรู้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเลือกหยิบหนังสือมาอ่าน หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่เธอมีความถนัดและอยากถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้อื่น เช่น กิจกรรมการทำ ecobrick หรือก้อนอิฐซึ่งทำจากขวดพลาสติกยัดเศษขยะอัดแน่น การทำสบู่ธรรมชาติ ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้มาจากการผสานความรู้ของเธอทางด้านเคมี เข้ากับความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมของผู้คนในชุมชนบ้านป่าอ้อ ตำบลนางแล ที่ได้รับรางวัลให้เป็นชุมชนจัดการขยะดีเด่น

สิริพัชร์ สุธีรภัทรานนท์ : ‘Bookcase’ ห้องสมุด ร้านกาแฟ พื้นที่การเรียนรู้
Photo: Bookcase
สิริพัชร์ สุธีรภัทรานนท์ : ‘Bookcase’ ห้องสมุด ร้านกาแฟ พื้นที่การเรียนรู้
Photo: Bookcase

          ดร.น้อยยอมรับว่านี่เป็นงานที่เธอทำด้วยอุดมการณ์ การจัดการทางด้านธุรกิจเพื่อให้ร้านอยู่ได้จึงต้องอาศัยรายได้จากการขายกาแฟและอาหารเข้ามาเสริม โดยที่ยังคงแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทางร้านจึงกำหนดไว้ว่าผู้ใช้บริการต้องทานอาหารและเครื่องดื่มในร้านเท่านั้น เพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีผลพลอยได้ตามมาเพราะทำให้ผู้มาเยือนใช้เวลาในห้องสมุดแห่งนี้นานขึ้น มีเวลาเลือกสรรและละเลียดอ่านหนังสือ จนอาจค้นพบเรื่องราวความรู้ใหม่ๆ จากหนังสือที่ไม่เคยคิดว่าสนใจหรือรู้ว่ามีอยู่มาก่อนอีกด้วย

          หนังสือในร้านเป็นหนังสือสะสมของเธอและเพื่อนสนิทใกล้ชิด นำมาจัดระบบง่ายๆ ให้มีการจอง-ยืม-คืนได้แบบห้องสมุด สิ่งที่ต่างไปคือระยะเวลาในการยืมคืนที่ไม่ได้กำหนดไว้ แต่ใช้ความ ‘ไว้ใจ’ ระหว่างกัน เธอบอกว่าที่ผ่านมามีผู้ยืมนำหนังสือกลับมาคืนที่ร้านทุกราย ถึงแม้บางเล่มอาจใช้เวลานาน (จนแอบคิดว่าคงต้องแทงสูญหาย) แต่เธอก็มองในแง่ดีว่าหนังสือเล่มนั้นน่าจะถูกนำไปอ่านอย่างแท้จริง

          “จริงอยู่ที่หนังสือบางเล่มมีราคาแพง แต่เรามองว่าหนังสือยิ่งมีคนอ่านหลายคน ยิ่งทำให้หนังสือมีค่า”

          ดร.น้อยเล่าว่าผู้อ่านในร้านมีความหลากหลาย ทั้งเด็กมหาวิทยาลัย คนวัยเกษียณ หรือเด็กเล็กในชุมชน หลากหลายพอกันกับประเภทของหนังสือในร้านที่มีทั้งนิยาย วรรณกรรม ธรรมะ จิตวิทยา สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์อ่านง่าย ท่องเที่ยว วิชาการ สอดคล้องกับที่เธอเชื่อว่าคนเราควรเข้าถึงการเรียนรู้ที่กว้างขวางหลากหลาย และสามารถเรียนรู้ได้เองอย่างเสรี

          นอกจากความเป็นห้องสมุดแล้ว ดร.น้อยมองว่าสถานที่นี้เป็นเหมือนพื้นที่สาธารณะ ที่ทำให้ผู้คนได้ออกมาพบปะกัน บางทีอาจเกิดบทสนทนา ได้พูดคุย อาจเป็นเรื่องหนังสือ เรื่องทั่วไป หรือสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดผ่านกิจกรรมที่ทางร้าน Bookcase จัดให้ผู้คนได้มาเรียนรู้ร่วมกัน จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ทั้งนั้น เพราะหลายครั้งการเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อเราไม่รู้ว่าเรากำลังเรียนรู้อยู่ เหมือนที่เธอได้เรียนรู้ผ่านหนังสือหลากหลายที่เธอเคยได้อ่านตอนเด็ก บางครั้งอาจเป็นท่อนหนึ่งใน ‘นางนวลกับมวลแมว’ หรือบางประโยคใน ‘เด็กชายในชุดนอนลายทาง’ ที่เธอซึมซับมาแต่เด็ก จนกลายเป็นความใฝ่ฝันที่อยากส่งต่อความหมายดีๆ ที่น่าประทับใจเหล่านั้นให้กับคนอื่นบ้าง

          “อยากทำให้ลงมือทำเลย มันอาจไม่เห็นผลทันตา แต่รับรองว่าจะเกิดคุณค่าดีๆ ถ้าเราตั้งใจทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นผลเสียต่อใคร”

          ดร.น้อย ทิ้งท้ายว่าการทำห้องสมุดแห่งนี้ก็เป็นการเรียนรู้ของเธอด้วยเช่นกัน นั่นคือการเรียนรู้หนทางสร้างความฝันให้กลายเป็นความจริง และพยายามรักษาสิ่งที่สร้างขึ้นมาให้ยั่งยืน รายได้จากกาแฟ อาหาร กิจกรรม เพื่อหนุนการอยู่รอดของห้องสมุด อาจไม่ได้มากมายเป็นกอบเป็นกำ และมีเรื่องจุกจิกให้คิดให้ทำให้แก้ปัญหา แต่เธอกลับรู้สึกสนุกและมีความสุขที่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ เมื่อใดที่ความสนุกและความสุขบังเกิด เธอเชื่อว่าเมื่อนั้นการเรียนรู้ย่อมเกิดขึ้นตามมา

          เหมือนดังเช่นการนั่งอ่านหนังสือ ทานอาหาร จิบเครื่องดื่ม ร่วมกิจกรรม และพักผ่อนหย่อนใจในร้านกาแฟกึ่งห้องสมุดกลางชุมชนแห่งนี้ ที่ชื่อ Bookcase Space and Café

สิริพัชร์ สุธีรภัทรานนท์ : ‘Bookcase’ ห้องสมุด ร้านกาแฟ พื้นที่การเรียนรู้
Photo: Bookcase
สิริพัชร์ สุธีรภัทรานนท์ : ‘Bookcase’ ห้องสมุด ร้านกาแฟ พื้นที่การเรียนรู้
Photo: Bookcase


บทความนี้ปรับปรุงจากการสัมภาษณ์ในรายการ Coming to Talk เผยแพร่ครั้งแรกทาง TK Podcast เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ฟังบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ https://www.thekommon.co/comingtotalk-ep40/

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก