ในยุคที่พฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้คนเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี ห้องสมุดสิงคโปร์ไม่หยุดอยู่กับที่ โดยตัดสินใจปรับจุดยืนและบทบาทของตัวเองใหม่ ให้กลายเป็น ‘ผู้ให้บริการด้านการเรียนรู้’
เป้าหมายหลักคือมุ่งสร้างแรงบันดาลใจและความตื่นเต้นในการเรียนรู้ กระตุ้นความสนใจเชิงลึกและจูงใจให้ผู้เรียนกล้าท่องไปในพรมแดนความรู้ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยสัมผัสมาก่อน
คณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติ (National Library Board หรือ NLB) เริ่มการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ด้วยการนิยามถึงวิธีการเรียนรู้อันหลากหลาย เพราะแต่ละบุคคลมีสไตล์การเรียนรู้ที่แตกต่างกัน บางคนชอบอ่านหนังสือ บางคนชอบอ่านบทความออนไลน์ บางคนชอบฟังพอดแคสต์ ดูวิดีโอ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
หลังจากนั้นจึงวิเคราะห์ทรัพยากรต่างๆ ที่ห้องสมุดจะนำมาให้บริการ เพื่อสนับสนุนผู้เรียนให้สามารถสร้างหนทางการเรียนรู้ของตนเองได้ นอกจากนี้ยังศึกษากลยุทธ์การใช้เทคโนโลยีจากบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Amazon และ Netflix นำไปสู่การทดลองใช้อัลกอรึทึมแนะนำหนังสือให้ผู้ใช้บริการเป็นรายบุคคลด้วย
Ng Cher Pong ประธานบริหาร NLB อธิบายถึงแนวทาง 3 ประการ ในการขับเคลื่อนให้ห้องสมุดเกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อเสริมพลังให้กับระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบด้วย
ประการแรก ห้องสมุดต้องขยายคอลเลกชันให้ไปไกลกว่าเรื่องหนังสือ โดยให้บริการทรัพยากรอื่นๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลายควบคู่กันไปด้วย เช่น ปัจจุบันผู้ใช้บริการสามารถเข้าร่วมกิจกรรมอบรมทักษะความรู้ใหม่ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้จากที่บ้าน เรียนรู้วิธีใช้เครื่องพิมพ์สามมิติที่เมกเกอร์สเปซในห้องสมุด ส่วนผู้สูงอายุก็สามารถเรียนรู้ทักษะดิจิทัลได้ โดยมีผู้ช่วยคอยดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
ประการที่สอง การให้บริการห้องสมุดมิได้เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของปัจเจกเท่านั้น แต่จะต้องอำนวยความสะดวกด้านการเรียนรู้ให้กับกลุ่มคน ชุมชน หรือผู้ที่มีความชื่นชอบคล้ายๆ กันด้วย โดยทุกวันนี้ห้องสมุดส่วนใหญ่ในสิงคโปร์ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านค่อนข้างหลากหลายและมีชีวิตชีวา กิจกรรมเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการสร้างชุมชนการเรียนรู้ (Learning Community) ทำให้ผู้ที่มีความสนใจคล้ายกัน ได้มาพบปะและมีปฏิสัมพันธ์กัน โดยมีบรรณารักษ์ช่วยจัดหาทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ห้องสมุดยังสนับสนุนให้ชุมชนริเริ่มกิจกรรมใหม่ๆ ตามความสนใจของคนในชุมชน จนเกิดกลุ่มการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น กลุ่มที่มารวมตัวกันเพื่อเล่นอูคูเลเล่ หรือกลุ่มที่สนใจประวัติศาสตร์เกี่ยวกับราชวงศ์แมนจู เป็นต้น
ประการสุดท้าย ห้องสมุดจะต้องส่งเสริมความแข็งแกร่งในการเรียนรู้ ด้วยการสร้างประสบการณ์ที่เหมาะกับแต่ละบุคคล จากแต่ก่อนที่การค้นหาหนังสือสักเล่ม มักขึ้นอยู่กับ ‘โชค’ ของผู้ใช้บริการว่าเมื่อเดินไปตามชั้นหนังสือแล้วจะพบเล่มที่ตนสนใจหรือไม่ ทว่าในปัจจุบัน สิงคโปร์กำลังมองหาเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถค้นพบทรัพยากรได้ตรงความต้องการที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังคงสร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้บริการเกิดความรู้สึกว่า พวกเขาบังเอิญค้นพบทรัพยากรเหล่านั้นอย่างน่าอัศจรรย์
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 บทบาทของห้องสมุดในการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น การปรับบทบาทห้องสมุดให้สอดรับกับบริบทการเรียนรู้ที่หลากหลาย จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ห้องสมุดอยู่รอดได้ในอนาคต
ที่มา
บทความ “Reimagining Libraries in a Learning Ecosystem” จาก wise-qatar.org (Online)