ชุมชนชนบทหลายแห่งในประเทศจีน ต่างเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับความทันสมัยและการเติบโตของเมือง เด็กๆ มักถูกเลี้ยงดูโดยปู่ย่าตายาย เพราะพ่อแม่จำเป็นต้องไปทำงานต่างถิ่น จนเมื่อพวกเขาอายุราว 10 ขวบ ก็ต้องออกไปเรียนหนังสือที่เมืองใกล้เคียงที่มีคุณภาพการศึกษาที่ดีกว่า หรือมีโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการเรียนรู้มากกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือชนรุ่นหลังค่อยๆ ห่างเหินจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน
ทีมงานจากคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง และวิทยาลัยสถาปัตยกรรมและการวางแผนเมือง มหาวิทยาลัยกวางซู เล็งเห็นถึงปัญหาทางสังคมที่มาพร้อมกับการขาดแคลนพื้นที่เรียนรู้ในย่านชุมชน จึงได้ร่วมกันออกแบบและพัฒนาห้องสมุดเพื่อให้เด็กได้อ่าน เล่นสนุก และทำกิจกรรมต่างๆ ได้ในละแวกบ้าน เริ่มต้นจากหมู่บ้านเกาปู้ (Gaobu) มณฑลหูหนาน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต้ง (Dong) และมีมรดกทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์
ห้องสมุดเกาปู้ (Gaobu Book House) สร้างขึ้นบนแนวคิดที่เชื่อว่า การออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องหรูหรา แต่สถาปัตยกรรมแบบเรียบง่ายและความร่วมมือของทุกฝ่ายก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชุมชน ทีมงานทำงานร่วมกับผู้คนในหมู่บ้านกว่า 5 ปี จนในที่สุดห้องสมุดก็เปิดให้บริการในปี 2018 เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 200 ตารางเมตร ชั้นล่างเป็นพื้นที่เปิดโล่งสำหรับทำกิจกรรมหรือจัดนิทรรศการ ส่วนชั้นบนเป็นห้องหนังสือ
การออกแบบห้องสมุดได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านไม้ดั้งเดิมของวัฒนธรรมต้งที่เรียกว่า ‘Ganlan’ นำมาปรับให้ดูร่วมสมัยยิ่งขึ้น ผนังอาคารทำจากแผงโพลีคาร์บอเนตซึ่งทำให้พื้นที่ภายในอาคารได้รับแสงสว่างในเวลากลางวัน ขณะเดียวกันก็ส่องแสงเรืองรองจากแสงไฟในเวลากลางคืน จุดเด่นอีกประการหนึ่งคือ บันไดเวียนขนาดใหญ่กลางอาคาร ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมต่อพื้นที่และกิจกรรมต่างๆ ในอาคารให้เกิดเอกภาพ ทั้งการอ่านหนังสือ การวิ่งเล่น และการปีนป่ายของเด็กๆ
ห้องสมุดเกาปู้กลายเป็นพื้นที่โปรดปรานของผู้คนในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ ที่ได้มาอ่านหนังสือและเล่นสนุกกับเพื่อนๆ แทนที่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับโลกออนไลน์ นอกจากนี้ห้องสมุดยังได้รับรางวัลด้านสถาปัตยกรรมมากมาย อาทิ รางวัลจากงาน World Architecture Festival 2019 รางวัล DFA Design for Asia และ WA Award
จากความสำเร็จของห้องสมุดเกาปู้ ซึ่งสามารถปลุกชีวิตชีวาให้หมู่บ้าน ได้ขยายผลต่อไปสู่การออกแบบห้องสมุดผิงถาน (Pingtan Book House) ตั้งอยู่ในโรงเรียนประถมประจำหมู่บ้านชาติพันธุ์ต้ง ที่อยู่ห่างออกไปจากหมู่บ้านเกาปู้ราว 10 กิโลเมตร ห้องสมุดเปิดให้บริการในปี 2020 โดยมีแนวทางการออกแบบและกระบวนการทำงานที่คล้ายคลึงกัน
ห้องสมุดทั้งสองแห่งนี้ ได้นำเสนอคุณค่าของห้องสมุดในฐานะพื้นที่สำหรับชุมชน ทั้งการทำกิจกรรม การอ่านและการเล่นของเด็กๆ ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับห้องสมุดในหมู่บ้านชนบทของจีน และยังเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า งานออกแบบที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชน ไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการขนาดใหญ่หรือใช้งบประมาณจำนวนมากเสมอไป
ที่มา
บทความ “Pingtan Book House / Condition_Lab” จาก archdaily.com (Online)
บทความ “Gaobu Book House / CONDITION_LAB +UAL Studio” จาก archdaily.com (Online)
บทความ “Gridded timber Pingtan Book House featuring polycarbonate panels forms illuminated look in China” จาก worldarchitecture.org (Online)
บทความ “Gaobu Book House” จาก worldarchitecture.org (Online)
บทความ “Pingtan Book House: A rural children’s library that references the Dong minority’s heritage” จาก cpr.cuhk.edu.hk (Online)
บทความ “Pingtan Library” จาก condition-lab.com (Online)
Cover Photo: Condition_Lab