หากย้อนเวลาไปสัก 20 ปีที่แล้ว ผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน ต้องหอบหิ้วต้นฉบับไปเสนอสำนักพิมพ์ต่างๆ ด้วยตัวเองแล้วรอการตอบรับ งานเขียนที่ผ่านการพิจารณาจะเข้าสู่กระบวนการผลิต ประกอบด้วยการตรวจแก้จากบรรณาธิการ การพิสูจน์อักษร การออกแบบรูปเล่ม ก่อนเข้าโรงพิมพ์ต่อไป จากนั้นหนังสือจะถูกกระจายผ่านสายส่ง และวางจำหน่ายที่ร้านหนังสือเป็นจุดสุดท้าย
ปัจจุบัน การสร้างสรรค์ผลงานเองและตีพิมพ์เอง (Self-publishing) โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสำนักพิมพ์ สามารถทำได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหนังสือกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ มีการประเมินว่า หนังสือซึ่งผลิตแบบ Self-publishing ที่วางจำหน่ายทั่วโลกมีสัดส่วนประมาณ 30-34% โดยคิดเป็นมูลค่าราว 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในอนาคตมีแนวโน้มเติบโตถึง 17% ต่อปี
ตัวอย่างกระบวนการหรือเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้นักเขียนที่เป็น Self-publisher เช่น
นักเขียนเงา (Ghost Writer)
นักเขียนเงาคือผู้รับไอเดียมาเขียนร้อยเรียงแทนผู้อื่น กระบวนการก่อนเขียนจะต้องสัมภาษณ์พูดคุยเกี่ยวกับแนวเนื้อหา รายละเอียด รวมทั้งตัวตนของเจ้าของงาน อาชีพนี้มีมานานแล้วซึ่งนับว่ามีเกียรติและสร้างรายได้ นักเขียนเงามักได้รับการว่าจ้างโดยผู้มีชื่อเสียง ประเภทงานเขียนมีทั้งอัตชีวประวัติ หนังสือฮาวทู รวมทั้งนวนิยาย
เบตารีดเดอร์ (Beta Reader) และบรรณาธิการ
เบตารีดเดอร์ เปรียบเสมือน ‘นักอ่านทดลอง’ (Test Audience) ที่ช่วยให้คำแนะนำในกระบวนการขั้นต้นของการเขียนเนื้อหา ชี้จุดเด่นจุดด้อยของเนื้อเรื่อง หรือข้อความที่ยังสื่อสารไม่ชัดเจน การใช้บริการอาจพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์หรือพบปะกันแบบส่วนตัว อาชีพนี้แตกต่างจากบรรณาธิการซึ่งทำหน้าที่ตรวจแก้ต้นฉบับอย่างละเอียด พิจารณาความถูกต้องและคุณภาพเนื้อหา บางครั้งก็รวมงานพิสูจน์อักษรไว้ด้วย
การออกแบบปก
ปกหนังสือเป็นสิ่งแรกๆ ที่ช่วยสร้างความน่าสนใจ ทำให้ผู้อ่านอยากหยิบหนังสือเล่มนั้นๆ ขึ้นมา การจ้างออกแบบปกตามคอนเซปต์เฉพาะสำหรับหนังสือแต่ละเล่มมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ปัจจุบันมีการผลิตปกนิยายสำเร็จรูปรวมทั้งอาร์ตเวิร์กจำหน่ายอย่างแพร่หลาย หรือหากนักเขียนมีความครีเอทอยากลงมือออกแบบปกด้วยตนเอง ก็สามารถใช้โปรแกรมที่ไม่ซับซ้อน เช่น Canva
การจัดรูปเล่มเนื้อหา
เนื้อหาต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์จะถูกนำมาจัดให้เป็นระเบียบ สวยงาม และน่าอ่าน ตามขนาดรูปเล่มหนังสือ ผู้ออกแบบมืออาชีพมักใช้ซอฟต์แวร์ Adobe InDesign ซึ่งมีคำสั่งค่อนข้างซับซ้อน อย่างไรก็ตาม นักเขียนสามารถประยุกต์ใช้ Microsoft Word เพื่อจัดหน้าหนังสือได้เช่นกัน จากนั้นจึงแปลงไฟล์เป็น PDF และ EPUB สำหรับเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์
การรีวิวหนังสือ
หนึ่งในกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ซึ่งเป็นที่นิยม คือการจ้างให้ influencer โพสต์รีวิวหนังสือ กรณีที่นักเขียนหรือ influencer ไม่เขียนเนื้อหาดังกล่าวเอง ก็สามารถจ้างคนเขียนบทรีวิว ให้มีลักษณะการสื่อสารเหมาะกับแพลตฟอร์มออนไลน์แต่ละชนิด
ร้านขายหนังสือออนไลน์
นักเขียนสามารถเลือกเผยแพร่ผลงานในร้านขายหนังสือออนไลน์ที่เข้าถึงผู้อ่านได้ง่าย เช่น readAwrite, Dek-D, Joylada, Fictionlog, ธัญวลัย และ Meb ฯลฯ แต่ละแพลตฟอร์มมีความโดดเด่นและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เช่น การจัดเรทเนื้อหา อัตราส่วนแบ่งรายได้ การจัดโปรโมชันหรือให้สิทธิ์ผู้อ่านทดลองอ่านฟรี ฯลฯ ส่วนการตั้งราคาขายขึ้นอยู่กับนักเขียน
การตีพิมพ์หนังสือ
ปัจจุบัน นักเขียนไม่จำเป็นต้องมียอดเข้าโรงพิมพ์หลักพันเล่ม แต่สามารถสั่งพิมพ์ตามจำนวนที่ต้องการ (Print on Demand) โดยไม่มียอดขั้นต่ำ การเปิดรับยอดสั่งซื้อแบบพรีออเดอร์ จะทำให้นักเขียนทราบจำนวนผลิตที่แน่ชัดและง่ายต่อการคำนวณต้นทุน
การเป็น Self-publisher ช่วยเพิ่มโอกาสการสร้างสรรค์และกระจายผลงานไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการขายต้นฉบับให้สำนักพิมพ์แล้ว นักเขียนที่ตีพิมพ์เองมักได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่มากกว่า คือ ราว 70% ของยอดขาย ในกรณีขายผ่านร้านออนไลน์ และอาจสูงถึง 96% ของยอดขาย กรณีเป็นนักเขียนมีชื่อเสียง ซึ่งมีเว็บไซต์หรือร้านออนไลน์เป็นของตัวเอง
ที่มา
บทความ “Self-published Books & Authors Sales Statistics [2023]” จาก wordsrated.com (Online)
บทความ “How Much Does It Cost to Self-Publish a Book in 2024?” จาก blog.reedsy.com (Online)
บทความ “10 อันดับ แอปอ่านนิยาย แนะนำ ปี 2023 รวมนิยายออนไลน์ชื่อดัง” จาก my-best.in.th (Online)
บทความ “มาทำความรู้จักกับอาชีพ “นักเขียนเงา” หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม “นักเขียนผี” (Ghost Writer) กันดีกว่า” จาก keangun.com (Online)
บทความ “รวบรวมคำถาม-คำตอบ สำหรับนักเขียน – 6 ลงนิยายที่ไหน หาเงินจากการเขียนอย่างไร เปิดขายแล้วส่งสนพ.ได้ไหม: สาระความรู้” จาก readawrite.com (Online)
บทความ “เว็บนิยายออนไลน์ รายได้เท่าไร ? Dek-D ReadAWrite ธัญวลัย Fictionlog กวีบุ๊คส์ และจอยลดา” จาก marketeeronline.co (Online)
เฟซบุ๊ก FictionPrint (Online)