ในละแวกกาดกองต้า ย่านการค้าประวัติศาสตร์และหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัดลำปาง มีห้องสมุดส่วนบุคคลเล็กๆ แห่งหนึ่งซ่อนตัวอยู่ในตึกแถวเก่าแก่อายุเกือบร้อยปี ซึ่งทำหน้าที่เป็นคลังความรู้สาธารณะด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น
‘ห้องสมุดเสาจินดารัตน์’ ก่อตั้งโดยมูลนิธิน้อย-ลูกซัด เสาจินดารัตน์ อนุสรณ์ เปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ. 2558 ห้องสมุดได้เก็บรวบรวมเรื่องราวที่เกี่ยวกับลำปางไว้อย่างครอบคลุมทั้งกระแสหลักและกระแสรอง เช่น บทความวิจัย บทความวิชาการ วิทยานิพนธ์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หนังสือเรื่องเล่า ตำนาน นิทานพื้นบ้าน มุขปาฐะ ภาพถ่าย แผนที่เก่า เพลง และภาพยนตร์ รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลของนักวิชาการ ปราชญ์ท้องถิ่น ให้เป็นระบบและสามารถสืบค้นได้
ห้องสมุดเสาจินดารัตน์ ยังเป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ เปิดให้ทุกคนเข้ามาใช้จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น นิทรรศการ การแสดง การนำเสนอผลงาน นั่งอ่านหนังสือ หรือทำงาน ประหนึ่งเป็น Co-working Space ของชุมชน เรียกว่าทุกสิ่งมีครบจบที่นี่
อาคารเสาจินดารัตน์ ความงดงามข้ามกาลเวลา
อาคารเสาจินดารัตน์ ตั้งอยู่ที่ถนนทิพย์ช้าง มีลักษณะเป็น ‘ตึกฝรั่ง หัวใจจีน’ ซึ่งยังคงรักษาลวดลายปูนปั้นและมีการประดับหน้าจั่วรูปม้าคู่ที่บริเวณด้านบน ระบุปีที่ก่อสร้าง คือ พ.ศ.2474 แต่เดิมเป็นที่ประกอบกิจการของตระกูลเสาจินดารัตน์ และเคยเป็นที่ตั้งของร้านหนังสืออิสระ ‘เอกาลิเต้’ โดยภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง หนึ่งในทายาทของตระกูล ปัจจุบันอาคารนี้ใช้เป็นที่ทำการของมูลนิธิฯ และห้องสมุด ตามความตั้งใจของคุณยายบุญจันทร์ เสาจินดารัตน์ ผู้ก่อตั้ง
“ตั้งแต่ตอนที่คุณยายมีชีวิตอยู่ ท่านมีความคิดว่าอยากนำพื้นที่ตรงนี้มาใช้เป็นสาธารณประโยชน์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป สามารถเข้ามาศึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเมืองลำปาง นอกจากเป็นพื้นที่สำหรับห้องสมุดแล้ว แต่ใช้จัดกิจกรรมอื่นๆ ที่มูลนิธิฯ จะสามารถสนับสนุนได้” ธิดารัตน์ ไชยยาสืบ ผู้จัดการมูลนิธิฯ กล่าว
ห้องสมุดเสาจินดารัตน์ ต่อจิกซอว์ข้อมูลท้องถิ่น
เมื่อครั้งที่มูลนิธิฯ ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำชุดข้อมูลสำหรับการจัดตั้ง ‘มิวเซียมลำปาง’ ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางเดิม ทีมงานพบว่าข้อมูลเกี่ยวกับลำปางส่วนใหญ่ค่อนข้างกระจัดกระจาย ขาดการรวบรวมและบริหารจัดการที่ดี และยากต่อการศึกษาค้นคว้า จึงเกิดแนวคิดอยากจะรวบรวมข้อมูลต่างๆ มาไว้ในแหล่งเดียวกัน ทั้งนี้ ที่มาของทรัพยากรมีทั้งที่เป็นสมบัติส่วนตัวของตระกูล จัดซื้อเพิ่มเติม และได้มาจากการรับบริจาค
“เวลาหาข้อมูลเราต้องไปที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอสมุดเชียงใหม่ หรือลงพื้นที่ไปคุยกับคนเก่าแก่ในท้องถิ่น ทำให้เราเห็นปัญหาว่าหลายคนอาจจะเข้าไม่ถึงข้อมูล นี่จึงเป็นหมุดหมายแรกที่ทำให้เราเกิดความคิดว่า อยากจะรวบรวมหนังสือหรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับลำปางให้มาอยู่รวมกันอย่างครบถ้วนครอบคลุมที่สุด และต้องสามารถสืบค้นได้”
หนังสืออนุสรณ์งานศพ ขุมทรัพย์ความรู้ที่หลายคนมองข้าม
ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของห้องสมุดแห่งนี้ คือคอลเลกชันหนังสืออนุสรณ์งานศพ ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่าเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ชั้นดี เนื้อหาอัตชีวประวัติในแต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวที่แฝงแง่มุมทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมของเมืองในอดีต
“อย่างหนังสืออนุสรณ์คุณแม่เล็ก พิชญกุล ผู้ก่อตั้งกิจการหนังสือพิมพ์เอกราช ภายในเล่มสอดแทรกเรื่องของเศรษฐกิจลำปาง หรืออีกเล่มคือหนังสืออนุสรณ์คุณหญิงวลัย ลีลานุช ผู้ก่อตั้งโรงเรียนลำปางกัลยาณี ภายในเล่มมีเนื้อหาว่าด้วยสถาปัตยกรรมของบ้านเสานัก (เรือนไม้สักโบราณที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2438) ไทม์ไลน์การก่อตั้งโรงเรียน ประเพณีงานสลุงหลวง ข้อมูลเหล่านี้ช่วยทำให้เราเห็นภาพวิถีชีวิต ณ เวลานั้นได้ชัดเจนขึ้น”
ขับเคลื่อนการเรียนรู้ท้องถิ่นจากอดีตสู่ปัจจุบัน
ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ดำเนินงานโครงการต่างๆ ในด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมท้องถิ่น รวมถึงการรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจของลำปางในหลากหลายประเด็น แล้วนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ของห้องสมุด เช่น ราคาก๋วยเตี๋ยวเมืองลำปางจากวันวานถึงวันนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 การปิดตัวของร้านค้า ราคาค่าเช่าบ้าน ราคาอาหาร และค่าจ้างแรงงาน
มูลนิธิฯ ให้ความสำคัญกับการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างพันธมิตรเครือข่าย “เราเข้าไปร่วมงานในหลายลักษณะตามความเหมาะสม ทั้งในการสนับสนุนด้านข้อมูล แรงงาน หรืองบประมาณ ทุกคนต่างทำหน้าที่และต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ช่วยสนับสนุนเอื้อเฟื้อกัน ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ท้องถิ่นในลำปางให้งอกงาม”
การดำเนินงานของมูลนิธิฯ และห้องสมุดเสาจินดารัตน์ คือตัวอย่างขององค์กรไม่แสวงหากำไร ที่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกระบบนิเวศการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมความรัก ความเข้าใจ และการเห็นคุณค่าของท้องถิ่น ซึ่งคงจะดีหากมีหน่วยงานและห้องสมุดในลักษณะคล้ายกันนี้กระจายไปยังแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยมากขึ้น
ห้องสมุดเสาจินดารัตน์ให้บริการข้อมูลทั้งในรูปแบบออนไลน์และแบบออนไซต์ ผู้สนใจสามารถยืม-คืนหนังสือได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เปิดทำการวันอังคาร-เสาร์ เวลา 9.00 น. – 17.00 น. มีบริการคัดลอกสำเนาและจัดส่งไปรษณีย์โดยคิดค่าใช้จ่ายตามจริง หรือเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.saojindaratfnd.com