ในยุคโลกาภิวัตน์ หลายเมืองในยุโรปได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองทันสมัย เพื่อให้สอดรับกับความเป็นอยู่ของผู้คนและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต แต่ขณะเดียวกันเมืองเก่าหลายแห่งกลับถูกละเลยจนค่อยๆ ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
เป็นไปได้หรือไม่ที่คุณค่าทางสังคม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของเมืองเหล่านี้ที่สั่งสมมายาวนานนับร้อยหรืออาจจะถึงพันปี จะสามารถฟื้นคืนจนกลายเป็นลมหายใจที่หล่อเลี้ยงผู้คนยุคใหม่ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ความท้าทายที่หลายเมืองในหลายประเทศทั่วยุโรปเผชิญร่วมกัน เป็นที่มาของโครงการวิจัยและพัฒนาระดับภูมิภาค ‘ROCK Project’ (Regeneration and Optimisation of Cultural heritage in creative and Knowledge cities) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป โครงการนี้ใช้เมืองประวัติศาสตร์เป็น ‘ห้องทดลองพิเศษ’ เพื่อแสวงหาแนวทางในการนำมรดกทางวัฒนธรรมมาเป็นกลไกฟื้นฟูเมืองที่กำลังประสบปัญหา พร้อมสกัดองค์ความรู้ที่สามารถนำไป ‘ทำซ้ำ’ กับเมืองมรดกแห่งอื่นๆ ในหลากหลายบริบท
บทเรียนจากเมืองต้นแบบ
ROCK Project ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2017 และเพิ่งดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อปลายปี 2020 โดยความร่วมมือของเมืองต่างๆ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน 32 แห่งจาก 13 ประเทศทั่วยุโรป โครงการนี้เริ่มต้นด้วยการสำรวจประสบการณ์ของเมืองต้นแบบ (Role Model Cities) ที่ประสบความสำเร็จด้านการฟื้นฟูเมืองโดยใช้มรดกทางวัฒนธรรมเป็นตัวชูโรง และมีความโดดเด่นด้านเศรษฐกิจฐานความรู้ (knowledge-based economy)
เมืองต้นแบบทั้ง 7 แห่งถูกนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบหลากหลายมิติที่นำไปสู่ความสำเร็จ เช่น ประสิทธิภาพด้านการเงิน นโยบายสาธารณะด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนและช่องว่างทางสังคม ขั้นตอนทางกฎหมาย และโครงสร้างด้านการบริหารจัดการ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาทดลองพัฒนาเมืองเก่าแก่ 3 แห่ง ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ‘เมืองทดลองทำซ้ำ’ (Replicator Cities)
ROCK Project จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเมืองต้นแบบและเมืองทดลอง ในฐานะเมืองพี่เลี้ยง (peer-to-peer) โดยมีกิจกรรมการเรียนรู้ 2 ลักษณะ คือ การเยี่ยมเยียนเพื่อให้ความเห็น (mentoring visits) ซึ่งเมืองต้นแบบได้ช่วยให้แนวทางด้านต่างๆ เช่น การกำหนดประเด็น การตัดสินใจ การวางแผน ฯลฯ เพื่อทำโครงการฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรม และ การเยี่ยมเยียนเพื่อทำงานตามต้นแบบ (work-shadowing visits) ซึ่งเมืองทดลองได้สังเกตการณ์ประสบการณ์ตรงของเมืองอื่นๆ และร่วมกันอภิปรายถึงแนวปฏิบัติในการทำงานจริง
7 เมืองโมเดล
เมือง | จุดเด่น | แนวทางการทำงาน |
---|---|---|
เมืองลียง (Lyon) ประเทศฝรั่งเศส | มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบแสงเพื่อใช้กับเมืองประวัติศาสตร์ | ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายร่วมกันดูแลพื้นที่มรดกขนาดใหญ่ ผู้คนรู้สึกเป็นเจ้าของและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลง |
เมืองเอเธนส์ (Athens) ประเทศกรีซ | เป็นโมเดลด้านการเข้าถึงมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อทุกคน (accessible-to-all) ทั้งประชาชนและนักท่องเที่ยว | ใช้กระบวนที่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการเพื่อสังคมและวัฒนธรรม |
เมืองคลูช (Cluj) ประเทศโรมาเนีย | มีโครงการ COM’ON Cluj-Napoca ให้ภาคประชาชนร่วมตัดสินใจในการใช้งบประมาณฟื้นฟูมรดก เพื่อสร้างทางออกที่ยั่งยืนตามความต้องการของชุมชน | มีกระบวนการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และภาคเอกชน |
เมืองไอนด์โฮเวน (Eindhoven) ประเทศเนเธอร์แลนด์ | มีพื้นที่เรียนรู้ ‘Strijp-S’ เพื่อฟื้นฟูย่านอุตสาหกรรมเก่า ทั้งด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการสร้างสรรค์เทคโนโลยี | ใช้แนวทางความร่วมมือแบบล่างขึ้นบน (bottom-up cooperation) |
เมืองตูริน (Turin) ประเทศอิตาลี | ต้นแบบด้านความยั่งยืน โดยการนำพื้นที่ทางวัฒนธรรมมา ‘ใช้ซ้ำ’ รวมทั้งการฟื้นฟูด้านกายภาพ | วางนโยบายระยะยาว เน้นการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ได้รับทุนสนับสนุนทั้งจากระดับชาติและนานาชาติ |
เมืองวิลนีอุส (Vilnius) ประทศลิธัวเนีย | ชุบชีวิตเมืองเก่าโดยปรับปรุงอาคารและพื้นที่สาธารณะ ส่งเสริมงานฝีมือท้องถิ่น และจัดกิจกรรมด้านการศึกษา | ทำงานเชื่อมโยงกับนโยบายระดับชาติ ‘Lituania 2030’ และใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด |
เมืองลิเวอร์พูล (Liverpool) ประเทศอังกฤษ | มีโครงการด้านการอนุรักษ์มรดกจำนวนมาก ห้องสมุดกลางและหอจดหมายเหตุเมืองมีบทบาทสำคัญด้านการให้บริการสารสนเทศและจัดกิจกรรมร่วมสมัย | การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมมีมาตรฐานระดับสูง และเป็นการผสมผสานระหว่างการบูรณะอาคารเดิมและการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ |
3 เมืองทดลอง
เมือง | โครงการที่น่าสนใจ | แนวทางการทำงาน |
---|---|---|
เมืองลิสบอน (Lisbon) ประเทศโปรตุเกส | การฟื้นฟูย่านบีเอโต้ (Beato) และย่านมาร์วิลา (Marvila) เพื่อสร้างแรงดึงดูดด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที และสร้างกิจกรรมที่เชื่อมกับพื้นที่มรดก | ใช้เครื่องมือการสร้างแผนที่ สนับสนุนนวัตกรรมการใช้ซ้ำ (reuse) อาคารประวัติศาสตร์ และพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ |
เมืองสโกเปีย (Skopje) สาธารณรัฐนอร์ทมาซิโดเนีย | การเปลี่ยนย่านบาร์ซาร์เก่าให้กลายเป็นศูนย์กลางที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้ วัฒนธรรม และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในพื้นที่สาธารณะ | สร้างห้องแล็บมีชีวิตโดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย |
เมืองโบโลญญา (Bologna) ประเทศอิตาลี | การเปลี่ยนย่านมหาวิทยาลัยซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ประวัติศาสตร์แซมโบนี (Zamboni) ให้กลายเป็นย่านวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน | พัฒนาด้านความปลอดภัย ลดความขัดแย้งทางสังคม สร้างแรงดึงดูดด้านการท่องเที่ยว การขับเคลื่อนสีเขียว ฯลฯ |
เชื่อมโยงผู้คนด้วย ‘ห้องแล็บมีชีวิต’
ROCK Project ได้ริเริ่มนวัตกรรมทางสังคมที่เรียกว่า ‘Living Labs’ พื้นที่การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงให้ผู้คนในเมืองมารวมตัวและร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน (co-creation) โดยเยาวชนรับหน้าที่เป็นผู้ผลิตเนื้อหา ส่วนผู้สูงอายุมีบทบาทเป็นเจ้าของเนื้อหา มีเป้าหมายเพื่อหาทางออกให้กับประเด็นที่ท้าทายด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์มรดก โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยสนับสนุน
Living Labs ได้แรงบันดาลใจมาจากพื้นที่ที่เรียกว่า ‘Strijp-S’ ในเมืองไอนด์โฮเวน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างอัตลักษณ์ที่เข้มแข็งให้กับย่าน ‘Brainport’ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต การขยายผล Living Labs ในแต่ละเมืองมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมทางด้านสังคมวัฒนธรรมของเมืองนั้นๆ
Living Labs | กิจกรรม | ผลลัพธ์ |
---|---|---|
Lisbon Living Lab (LLL) | สนับสนุนสตาร์ทอัปในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยว, Hackathon, เวิร์คชอปการสร้าง city-branding, งานประชุมนานาชาติด้านวัฒนธรรม, มหกรรมเกม bibliogamers ฯลฯ | กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยสร้างแรงดึงดูดระยะยาว เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที และเป็นสะพานเชื่อมช่องว่างระหว่างผู้คนต่างวัย |
Skopje Living Lab (SK Lab) | บ่มเพาะทักษะด้านไอซีที, งานฝีมือ, สร้างพื้นที่ทำงานโดยการร่วมมือกัน, สนับสนุนเครือข่ายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์, โปรโมทผลิตภัณฑ์ที่ถูกริเริ่มขึ้นใหม่ | กระตุ้นพื้นที่ซบเซาบริเวณบาร์ซาร์เก่าและละแวกใกล้เคียงให้กลับมามีชีวิตชีวา มีผู้คนไหลเวียนเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ เกิดช่างฝีมือยุคใหม่ที่สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ |
Bologna U-Lab | ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมด้านแสงสว่าง, เปิดรับข้อเสนอ (proposal) ของนักศึกษาและประชาชนในด้านการฟื้นฟูเมือง มีโครงการที่ได้รับทุนดำเนินงานจริง 16 โครงการ จาก 47 โครงการ | เกิดเส้นทางวัฒนธรรมที่อำนวยความสะดวกให้คนเดินเท้าและนักปั่นจักรยาน, เกิดการสร้างสรรค์เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะใช้สำหรับฟื้นฟูเมือง |
ขับเคลื่อนเมืองเก่าด้วยพลังเทคโนโลยี
การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ไม่ได้มีแค่การบำรุงรักษาสิ่งเก่าให้ดำรงอยู่อย่างไม่เสื่อมสลายเท่านั้น ROCK Project ชี้ให้เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูเมือง ควบคู่กับการเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจและการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนให้ดีขึ้น โดยมีการทดสอบเครื่องมือเหล่านี้กับเมืองต้นแบบและเมืองทดลองหลายแห่ง ดังนี้
1. ระบบติดตามฝูงชนขนาดใหญ่ (Large Crowd Monitoring) เป็นการใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับกิจกรรมและความเคลื่อนไหวของประชาชนและนักท่องเที่ยว
ในโรมาเนีย เซ็นเซอร์ถูกนำไปติดไว้ในพื้นที่ 6 แห่งของเมืองคลูช (Cluj) ในช่วงที่มีการจัดงานดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ส่วนที่ตูรินมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ในพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี 9 แห่ง รวมทั้งเก็บข้อมูลผู้คนในช่วงเทศกาลหนังสือนานาชาติและงานสัปดาห์ศิลปะร่วมสมัย เทคโนโลยีดังกล่าวนอกจากเป็นประโยชน์ในการทำงานเชิงวัฒนธรรม ยังเป็นประโยชน์ต่อตำรวจในการดูแลรักษาความปลอดภัยด้วย
2. ระบบวิเคราะห์การเคลื่อนตัวของผู้คน (People Flow Analytics) พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยไอนด์โฮเวน โดยใช้ข้อมูล GPS จากอุปกรณ์สื่อสารของผู้คนเพื่อบันทึกพฤติกรรมการท่องเที่ยว เช่น เส้นทาง วิธีคมนาคม ระยะเวลาของทริป กิจกรรมที่ทำแต่ละช่วงเวลา ฯลฯ ที่เมืองไอนด์โฮเวนเครื่องมือนี้ถูกทดสอบในงานสัปดาห์การออกแบบระดับชาติ ส่วนที่เมืองลิสบอน มีการนำเครื่องมือนี้ไปใช้หลายแห่งทั่วย่านมาร์วิลา เพื่อวัดพฤติกรรมของผู้คนช่วงที่มีการเปิดศูนย์การแปล ‘Traça’
3. AR (Augmented Reality) เป็นการนำเทคโนโลยี AR มาใช้ในการออกแบบแอปพลิเคชัน เพื่อยกระดับคุณภาพสารสนเทศทางวัฒนธรรม เช่น การรับชมภาพทางประวัติศาสตร์ แผนที่ วิดีโอ และโครงสร้างสามมิติ เครื่องมือนี้ถูกนำไปใช้ที่เมืองลิเวอร์พูล โดยมีการออกแบบให้ผู้พิการสามารถใช้งานได้ด้วย
4. เครื่องมือสีเขียว (Creative Green Tools) เป็นซอฟต์แวร์สำหรับคำนวณปริมาณคาร์บอนเพื่อหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากอาคารวัฒนธรรม กิจกรรมกลางแจ้ง และการท่องเที่ยว นำเสนอในรูปแบบกราฟซึ่งผู้ใช้งานสามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างกิจกรรมต่างๆ เครื่องมือนี้ถูกนำไปทดลองใช้ที่เมืองโบโลญญา โดยต่อยอดเป็นแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า ‘Beyond Carbon’ และยังถูกนำไปใช้ที่ย่านมาร์วิลา เมืองลิสบอนด้วย
5. วิดีโอวิเคราะห์สีหน้าและอารมณ์ (Video Neuroanalytics) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยวิลนีอุส โดยการติดตั้งกล้องไว้ทั่วเมืองเพื่อตรวจจับสีหน้าของผู้คน ซึ่งบ่งบอกถึงอารมณ์ ความรู้สึก ทัศนคติ ฯลฯ เมืองวิลนีอุสได้นำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนา ‘ดัชนีความสุข’ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพลเมือง โดยในอีก 10 ปีข้างหน้าดัชนีดังกล่าวจะเป็นหนึ่งใน 3 ของเกณฑ์ที่นำไปใช้วัดระดับความก้าวหน้าของเมือง
6. วัฒนธรรมแห่งแสง (The Cultural of Light) เมืองสโกเปียได้รับการสนับสนุนจากเมืองลียงซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนี้เป็นพิเศษ ในการจัด ‘ย่านศิลปะแห่งแสง’ โดยนำเสนอผลงานของศิลปินที่เชี่ยวชาญด้านการใช้แสงกว่า 20 คน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้เยี่ยมชม มีการใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวและอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม ซึ่งจะส่งผลต่อสีและรูปร่างของของแสงที่ปรากฏออกมา นวัตกรรมนี้ช่วยเปลี่ยนย่านเก่าแก่ให้คึกคักและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ขณะเดียวกันแสงสว่างยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับพื้นที่สาธารณะอีกด้วย
7. การตรวจจับสภาพบรรยากาศในอาคาร (Indoor Climate monitoring) ในห้องสมุดเมืองโบโลญญามีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงคุณภาพอากาศให้อยู่ในระดับมาตรฐาน
การดำเนินงานเกือบ 3 ปีของ Rock Project ร่วมกับเมืองทั้ง 10 แห่ง ยึดหลักในการพัฒนาอย่างบูรณาการใน 6 มิติ ได้แก่ ความสร้างสรรค์ วัฒนธรรม การบูรณะฟื้นฟู ความรู้ ความปลอดภัย และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาเมืองในอนาคต
โครงการนี้ได้ก่อให้เกิดนวัตกรรมทางสังคม เครื่องมือ และองค์ความรู้สำคัญด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม ซึ่งเมืองอื่นๆ สามารถศึกษาเอกสารถอดบทเรียน ชุดคู่มือในการสร้าง city-branding และแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละเมือง
ที่มา
The Community Research and Development Information Service (CORDIS) [Online]
Rock Project [Online]
Cover Photo : ROCKPROJECT.EU/City of Lyon