‘เร็ม คูลฮาส และ โจชัว ปรินซ์-รามุส’ คู่หูนักออกแบบต่างวัย ผู้เจียระไนสรรค์สร้างห้องสมุดกลางซีแอตเทิล

668 views
8 mins
January 22, 2021

          ปลายศตวรรษที่ 20 ย่างเข้าศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่สถาปัตยกรรมห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้เริ่มก้าวข้ามไปจากขนบการออกแบบเดิมๆ มันจะไม่ใช่พื้นที่ที่ผู้คนเดินเข้าไปรับความรู้อย่างเชื่องๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่เป็นยุคซึ่งพื้นที่ (space) ถูกออกแบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้คนในสังคมอนาคต
          เมื่อแหล่งเรียนรู้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเลยที่วันนี้คนจำนวนหนึ่งไปที่พิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุดเพื่อจัดการแสดงทางวัฒนธรรม งานเทศกาล นัดเจรจาทางธุรกิจ สร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งจัดงานแต่งงาน ในขณะเดียวกันสถานที่เหล่านั้นก็ยังคงรักษาบทบาทในการให้บริการด้านการเรียนรู้และสารสนเทศไว้อย่างเหนียวแน่น
          แหล่งเรียนรู้ยุคมิลเลนเนียมสามารถออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่และมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ส่วนหนึ่งก็เพราะวิทยาการด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น และส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือนักออกแบบซึ่งต้องตีโจทย์ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชน จนกระทั่งแปรจินตนาการที่กว้างไกลให้กลั่นตัวเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าจดจำ
          ซีรีส์ชุด “เบื้องหลังความคิดและจินตนาการของนักออกแบบแหล่งเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21” จำนวน 6 ตอน นำเสนอเรื่องราวและผลงานเจ้าของไอเดียแหล่งเรียนรู้ที่โดดเด่น 7 ราย ได้แก่ เร็ม คูลฮาส (Rem Koolhaas) โจชัว ปรินซ์-รามุส (Joshua Prince-Ramus) อึน ยัง ยี (Eun Young Yi) แฟรงก์ โอเวน เกห์รี (Frank Owen Gehry) ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) และโตโย อิโตะ (Toyo Ito)

เร็ม คูลฮาส (Rem Koolhaas)
เร็ม คูลฮาส (Rem Koolhaas)
Photo: Rem Strelka Institute for Media, Architecture and Design from Moscow, Russia, CC BY 2.0 via Wikimedia Commons
โจชัว ปรินซ์-รามุส (Joshua Prince-Ramus)
โจชัว ปรินซ์-รามุส (Joshua Prince-Ramus)
Photo: © Art Streiber

          เร็ม คูลฮาส (Rem Koolhaas) เป็นสถาปนิกชาวดัตช์ เกิดเมื่อปี 1944 นิตสารไทม์ได้คัดเลือกเขาให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลที่มีอิทธิพลต่อโลก ในฐานะนักคิดและนักออกแบบที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองในยุคสมัยใหม่ คูลฮาสก่อตั้งบริษัทสถาปนิกระดับแนวหน้าชื่อว่า OMA ซึ่งต่อมาหนุ่มน้อย โจชัว ปรินซ์-รามุส (Joshua Prince-Ramus) ได้เข้ามาร่วมงานกับเขา แม้วัยจะต่างกันถึง 25 ปี แต่เขาก็ได้กลายเป็นคู่หูรู้ใจที่สร้างผลงานที่มีชื่อเสียงร่วมกันหลายครั้งหลายครา

          รามุสเป็นคนรุ่นใหม่ที่ชีวิตเปี่ยมไปด้วยสีสัน หากมีใครถามว่าเขาเป็นใคร เขาอาจจะตอบแบบติดตลกว่า เป็นสถาปนิกเพียงคนเดียวในโลกที่สามารถทำสเต็กทูน่าได้ในเวลาต่ำกว่า 12 วินาที นั่นก็เพราะอาชีพแรกในชีวิตของรามุสคือแรงงาน (เถื่อน) ในร้านขายปลา นอกจากนี้เขายังเป็นศิลปิน เป็นนักกีฬาเรือพายและเป็นโค้ชคุมทีมชาติจนเข้ารอบรองชนะเลิศโอลิมปิกปี 1996 เมื่อรามุสเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานจนปีกกล้าขาแข็งเขาได้ขยายสาขาย่อยของ OMA ไปยังนิวยอร์ก และต่อมาแยกตัวไปเปิดบริษัท REX ซึ่งเขาเป็นประธานบริหารอย่างเต็มตัว พรสวรรค์ของรามุสทำให้บางคนเรียกเขาว่า “เร็มน้อย” ในวันนี้เขาก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 5 สถาปนิกอายุไม่ถึง 50 ปีที่มีผลงานยิ่งใหญ่ระดับโลก

          แนวทางการออกแบบที่คูลฮาสและรามุสถนัดก็คือสถาปัตยกรรมด้านวัฒนธรรมที่มีรูปลักษณ์สะท้อนถึงวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของพวกเขาก็คือ โครงการปรับปรุงห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิล ซึ่งเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีงานออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม และแกลเลอรีที่มีรูปลักษณ์ทันสมัยอีกหลายแห่ง

ห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิล 
Seattle Central Library, สหรัฐอเมริกา

          ห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิลก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1891 ภายหลังจากชาวผิวขาวมาตั้งรกรากที่เมืองนี้ได้ไม่นาน เคยเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ ย้ายสถานที่ตั้ง และผ่านการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง จุดเปลี่ยนสำคัญของห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิลคือการปรับปรุงกายภาพห้องสมุดครั้งใหญ่ซึ่งออกแบบโดยเร็ม คูลฮาส และโจชัว ปรินซ์-รามุส จนกระทั่งกลับมาเปิดให้บริการอย่างสง่างามอีกครั้งในปี 2004

          รูปโฉมใหม่ของห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิลดูเหมือนหนังสือหลายเล่มวางซ้อนทับกัน สื่อถึงจุดยืนของห้องสมุดในอนาคตว่า แม้ยุคดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 จะมาถึงแต่คนก็จะไม่ทอดทิ้งหนังสือกระดาษ นอกจากนี้สถาปนิกยังต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ห้องสมุดยุคเดิมที่ดูล้าสมัยเพื่อเชื้อเชิญผู้คนมาใช้บริการมากขึ้น

          ห้องสมุดมีทั้งหมด 11 ชั้น ส่วนหลักของอาคารเรียกว่า “Book Spiral” กินพื้นที่ตั้งแต่ชั้น 1 ทะลุขึ้นไปถึงชั้น 4 ออกแบบการจัดวางหนังสือโดยยังคงรักษาระบบทศนิยมดิวอี้ ผู้ใช้บริการรวมถึงผู้พิการสามารถเพลิดเพลินกับการเลือกดูหนังสือแต่ละชั้นได้โดยใช้ทางลาดไม่ต้องเดินขึ้นบันได ภายในห้องสมุดยังมีห้อง Microsoft Auditorium อยู่บริเวณชั้นล่าง ห้องนั่งเล่นสำหรับอ่านหนังสือที่ชั้น 3 ส่วนที่ชั้น 10 มีโต๊ะบริการให้คำแนะนำด้านสารสนเทศและการวิจัยโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความรู้สหสาขาวิชา และมีห้องอ่านหนังสือมุมสูงที่มองเห็นทิวทัศน์ของอ่าวเอลเลียต

          เมื่อการปรับปรุงห้องสมุดหน้าตาแปลกประหลาดเสร็จสิ้น ก็ได้รับคำวิจารณ์หลากหลายทิศทาง ทั้งคนที่ยกย่องว่า ห้องสมุดแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมแห่งยุคสมัยที่ควรจารึกไว้ แต่บ้างก็มองว่าขัดกับแนวทางเรื่องความเชื่อมโยงกับชุมชน เนื่องจากอยู่ห่างจากถนนสายหลักที่ผู้คนสัญจรกันทั่วไป อีกทั้งยังมีผังที่สับสน ไม่เป็นส่วนตัว ร้อนอบอ้าว และใช้วัสดุไม่สมกับราคา อย่างไรก็ตาม ในปีแรกมีผู้เข้ามาใช้บริการถึงกว่า 2.3 ล้านคน ซึ่งเป็นคนจากต่างเมืองถึงร้อยละ 30 อีกทั้งในปี 2007 ห้องสมุดแห่งนี้ยังได้รับการโหวตให้เป็นหนึ่งใน 150 สถาปัตยกรรมในดวงใจอเมริกันชน และมีการประเมินผลกระทบทางสังคมว่าได้กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่โดยรอบ กว่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ

ห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิล Seattle Central Library, สหรัฐอเมริกา
ห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิล Seattle Central Library, สหรัฐอเมริกา

ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตคอร์ไทรจ์
Kortrijk BibLLLiotheek, เบลเยี่ยม

          เมืองคอร์ไทรจ์มีประชากรประมาณ 75,000 คน ส่วนท้องถิ่นมียุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาสิ่งแวดล้อม 6 ด้านเพื่อช่วยยกระดับการดำรงชีวิตของคนเมือง ซึ่งห้องสมุดเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด จึงจัดให้มีการประกวดออกแบบห้องสมุดขึ้นในปี 2009 บริษัท REX ของโจชัว ปรินซ์-รามุส ได้รับรางวัลชนะเลิศด้วยแนวคิดที่ว่า ห้องสมุดควรจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning Center) ของเมือง เขาประดิษฐ์ชื่อให้มันว่า “BibLLLiotheek” ซึ่งถูกเปรียบเทียบว่าเป็น “ห้องสมุดซีแอตเทิล เวอร์ชั่น 2.0”

          รามุส จินตนาการให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ซึ่งให้โอกาสทางการศึกษาแก่ผู้คนตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา มีศูนย์เรียนรู้ดนตรีซึ่งเป็นส่วนขยายเพิ่มเติมจากซีแอตเทิลโมเดล โดยทั่วไปแล้วการเรียนรู้ผ่านสื่อเป็นเรื่องของห้องสมุด การเรียนรู้จากการเรียนการสอนเป็นเรื่องของโรงเรียน และการเรียนรู้ประสบการณ์ดนตรีก็อยู่ในวงการเฉพาะ สำหรับเขาห้องสมุดแห่งอนาคตควรเป็นพื้นที่ที่ลื่นไหล กล่าวคือสามารถเป็นทั้งห้องเรียน พื้นที่ลงมือปฏิบัติ ห้องค้นคว้าวิจัย หรือพื้นที่จัดการแสดงก็ได้ BibLLLiotheek จะทลายกำแพงที่เคยมีอยู่แล้วหลอมรวมการเรียนรู้ทุกรูปแบบไว้ด้วยกัน

          ห้องสมุดถูกออกแบบให้เอื้อต่อฟังก์ชั่นการใช้งานแบบกลุ่ม พื้นที่ครึ่งหนึ่งจัดสรรอย่างเป็นสัดส่วน และอีกครึ่งหนึ่งเปิดกว้างเชื่อมถึงกันโดยไม่ได้แบ่งออกเป็นชั้นๆ ดูคล้ายเส้นริบบิ้นที่ไขว้กันไปมา ใจกลางของห้องสมุดเป็นที่ตั้งของ Synter (Synergy+Center) ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมสารสนเทศที่เปี่ยมประสิทธิภาพ พร้อมที่จะให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ในเชิงลึก

          ภายหลังจากการออกแบบเสร็จสิ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ประสานของบประมาณในการก่อสร้าง แต่จนถึงทุกวันนี้ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตคอร์ไทรจ์ก็ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง

ภาพร่างการออกแบบ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตคอร์ไทรจ์ Kortrijk BibLLLiotheek, เบลเยี่ยม
Photo: เว็บไซต์ Rex

พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ในลาสเวกัส
Guggenheim Las Vegas และ Guggenheim Hermitage Museum, สหรัฐอเมริกา

          แม้ว่าโจชัว ปรินซ์ รามุส จะเดินออกมาจากร่มเงาของเร็ม คูลฮาส แต่ทั้งสองคนก็ยังคงมิตรภาพระหว่างกันและร่วมงานกันอยู่เนืองๆ ดังเช่นงานออกแบบพิพิธภัณฑ์ 2 แห่งในลาสเวกัส ที่ OMA กับ REX ออกแบบให้กับมูลนิธิโซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์ เพื่อจัดแสดงศิลปวัตถุล้ำค่าซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนคาสิโน

          กุกเกนไฮม์เฮอร์มิเทจมิวเซียมตั้งอยู่ในโรงแรมเวนีเชียน เปิดตัวเมื่อปี 2001 ได้รับการเชิดชูว่าเปรียบประดุจ “กล่องอัญมณี” เพราะจัดแสดงผลงานภาพวาดระดับมาสเตอร์พีซของศิลปินแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ โพสต์อิมเพรสชั่นนิส และโมเดิร์นจากทั่วโลก โถงนิทรรศการมีพื้นที่ 5 พันตารางฟุต ผนังห้องกรุด้วยเหล็กที่ทำปฏิกิริยาจนมีสีสันที่ช่วยขับเน้นความโดดเด่นของผลงานศิลปะ วัสดุที่พัฒนาขึ้นใหม่ยังมีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็กซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้การติดตั้งหรือเปลี่ยนตำแหน่งชิ้นงานสามารถทำได้สะดวกยิ่งขึ้น กลางห้องโถงออกแบบเป็นผนัง 3 ชิ้น ที่สามารถเลื่อนหมุนได้ เพื่อให้ภัณฑารักษ์สามารถกำหนดทิศทางการจัดแสดงที่เหมาะสมกับนิทรรศการแต่ละชุด กุกเกนไฮม์เฮอร์มิเทจมิวเซียมปิดตัวลงในปี 2008 รวมตลอดระยะเวลาที่ให้บริการมีผู้เข้าชมนับล้านคน

          กุกเกนไฮม์ลาสเวกัสถูกสร้างขึ้นแทนที่พิพิธภัณฑ์แห่งเดิมเพื่อจัดแสดงศิลปะรถจักรยานยนต์ การสรรหาวัตถุจัดแสดงจำนวน 114 คัน มีกระบวนการที่เข้มงวดราวกับเป็นเวทีการประกวด เนื้อหาของนิทรรศการได้รับการเรียบเรียงจากนักประวัติศาสตร์ ที่สามารถเชื่อมโยงศิลปะแห่งยานยนต์เข้ากับเรื่องราวทางสังคมเข้าไว้ด้วยกัน แนวทางการออกแบบพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ให้ความรู้สึกทันสมัย มีทั้งห้องสีแดงสด ผนังลายเส้นหลากสี โถงสูงตกแต่งด้วยม่านบางๆ สีขาวดูเรียบหรู และบันไดสีเขียวฉูดฉาด กุกเกนไฮม์ลาสเวกัสมีผู้ซื้อบัตรเข้าชมสูงถึง 4-5 พันคนต่อวัน อย่างไรก็ตามพิพิธภัณฑ์ถูกปิดตัวลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียง 15 เดือน อันเนื่องจากกองทุนกุกเกนไฮม์สาขาแม่ที่นิวยอร์กยุติการให้งบประมาณต่อ

Robert Kimberly from Houston, CC BY-SA 2.0 ,via Wikimedia Commons
ศิลปะรถจักรยานยนต์ ภายในพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ในลาสเวกัส
Photo: Robert Kimberly from Houston, CC BY-SA 2.0 ,via Wikimedia Commons

ที่มา

Seattle Central Library [Online]

Kortrijk Central Library Competition in Belgium [Online]

Guggenheim Hermitage Museum [Online]


เผยแพร่ครั้งแรก กันยายน 2559
เผยแพร่ซ้ำ ธันวาคม 2561

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก