ผลสำรวจการอ่าน 2558 : ข้อค้นพบที่น่าสนใจและน่าตกใจ

4,170 views
5 mins
January 1, 2021

          ข้อมูลผลสำรวจการอ่านของประชากร พ.ศ. 2558 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่นำมาเผยแพร่อย่างกว้างขวางโดยทีเคพาร์คนั้น ถูกพูดถึงผ่านสื่อทุกแขนง และรับรู้ทั่วไปไล่เรื่อยไปจนถึงระดับผู้นำประเทศ หากมองเฉพาะตัวเลขสถิติเพียงอย่างเดียวก็ให้แง่มุมชวนคิดหลายอย่าง ยิ่งลองใช้ข้อมูลชุดเดียวกันแต่คิดลึกลงไปอีกชั้น ก็จะยิ่งพบข้อเท็จจริงอีกหลายประเด็นที่มีทั้งความน่าสนใจและน่าตกใจไปพร้อมกัน

ปริมาณการอ่านลดลง ความเหลื่อมล้ำในการอ่านเพิ่มขึ้น

          จากผลการสำรวจพบว่า ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป มีอัตราการอ่านร้อยละ 77.7 (48.4 ล้านคน) หรือมีคนอ่านลดลงจากการสำรวจรอบที่แล้ว (พ.ศ. 2556) ประมาณ 2 ล้านคนเศษ และมีผู้ไม่อ่านร้อยละ 22.3 (13.9 ล้านคน) เพิ่มขึ้นจากการสำรวจรอบที่แล้วประมาณ 2 ล้านคนเศษเช่นกัน

          สาเหตุของความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มีความเป็นไปได้หลายกรณี ที่น่าจะชัดเจนคือกิจกรรมการรณรงค์สาธารณะส่งผลโดยตรงต่อปริมาณการอ่าน กล่าวคือ ในการสำรวจเมื่อปี 2556 อยู่ในห้วงเวลาที่กรุงเทพมหานครได้รับเลือกจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองหนังสือโลก (World Book Capital) จึงมีข่าวคราว กิจกรรมและการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่อง

          ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจสังคมการเมือง ก็อาจมีผลต่อการอ่านของประชากรอยู่ไม่น้อย เนื่องเพราะในปี 2557 ต่อเนื่องถึงตลอดปี 2558 ปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง และบรรยากาศการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นปรากฏการณ์ที่ล้วนส่งผลทางลบต่อการนำเสนอและการรับรู้ข่าวสาร ตลอดจนการอ่านและการเขียนทั้งสิ้น

          ในทางกลับกัน ถึงแม้ว่าจำนวนคนอ่านจะลดลง แต่ความเหลื่อมล้ำของการอ่านก็ยังคงมีอยู่ และเป็นความเหลื่อมล้ำที่มีช่องว่างเพิ่มมากขึ้น พิจารณาได้จากอัตราการอ่านของประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเทียบกับนอกเขตเทศบาล เท่ากับร้อยละ 82.9 และ 73.4 หรือต่างกัน 9.5% เปรียบเทียบกับข้อมูลเมื่อสองปีก่อน ความแตกต่างนี้เท่ากับ 8% หมายความว่าช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้อาศัยอยู่ในเขตเมืองและนอกเมืองนั้นถ่างกว้างขึ้น แสดงว่าคนอ่านคือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีโอกาสเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากกว่า

          ส่วนคนกรุงเทพฯ มีอัตราการอ่านสูงกว่าคนในภาคอื่นๆ อย่างชัดเจน (คิดเป็น 93.5% ขณะที่ภาคอื่นอยู่ในระดับ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ – ต่ำสุดคือภาคอีสาน 73.0% รองลงมาคือภาคเหนือ 74.3%)

          ตัวเลขที่แตกต่างกันของแต่ละภาคนั้นอาจมาจากหลายสาเหตุ มิใช่เหตุปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น ซึ่งควรมีการศึกษาวิจัยโดยละเอียดต่อไป อาทิ ปัญหาการเข้าถึงหนังสือและสื่อการอ่าน ปัญหาการเข้าถึงแหล่งการอ่าน ปัญหาคุณภาพหนังสือหรือเนื้อหาสาระที่อาจไม่สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจสังคมของพื้นที่นั้นๆ และปัญหาเชิงสังคมวัฒนธรรม เช่น ข้อจำกัดด้านภาษา ศาสนา ความเชื่อ และชาติพันธุ์ เป็นต้น

สื่อใหม่และไอทีทำให้คนใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้น

          สถิติการอ่านปี 2558 พบว่าเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการอ่านเพิ่มสูงขึ้น เท่ากับ 66 นาทีต่อวัน (เทียบกับเมื่อสองปีก่อนเท่ากับ 37 นาทีต่อวัน) หรือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เหตุผลสำคัญที่ระยะเวลาในการอ่านเพิ่มขึ้นนั้นเป็นเพราะการสำรวจครั้งนี้ได้มีการกำหนดขอบเขตนิยามคำว่า “การอ่าน” ที่กว้างขวางครอบคลุมไปถึงสื่อใหม่ด้วย เช่น สื่อสังคมออนไลน์/SMS/E-mail มิได้จำกัดเพียงเฉพาะสื่อหนังสือที่เป็นกระดาษ ดังนั้นสื่อใหม่ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นจึงส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อพฤติกรรมและปริมาณการอ่าน เห็นได้อย่างชัดเจนในกลุ่มเยาวชน (อายุ 15-24 ปี) ซึ่งใช้เวลาอ่านมากที่สุดถึง 94 นาทีต่อวัน

          แต่… ความนิยมอ่านหนังสือรูปแบบกระดาษก็ลดลงไม่มากนัก เพราะมีผู้อ่านสูงถึงร้อยละ 96.1 ยังคงนิยมอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่มหรือเอกสาร (ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนประมาณ 3%) ขณะที่ประมาณร้อยละ 55 อ่านเนื้อหาจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์หลากหลายเช่น โซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ อีบุ๊ค อีเมล ไฟล์ข้อมูลและซีดี ผ่านอุปกรณ์ประเภทต่างๆ ทั้งพีซีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต และคาดว่าความนิยมอ่านสื่อใหม่ผ่านอุปกรณ์ไร้สาย (mobile devices) น่าจะเพิ่มสูงขึ้นในการสำรวจครั้งต่อๆ ไป

          จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์ไอทีส่งผลกระทบเชิงลบต่อการอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษบ้างแต่ก็นับว่าน้อยมาก แต่กลับทำให้มีแนวโน้มที่คนจะอ่านมากขึ้น (หรือใช้เวลาอ่านนานขึ้น) เพราะผู้อ่านมีช่องทางเข้าถึงการอ่านได้หลากหลายและสะดวกมากยิ่งขึ้น

เหนือ-อีสาน อ่านน้อย แต่ใช้งานห้องสมุดมากกว่าภาคอื่น

          ว่าด้วยเรื่องของห้องสมุดและแหล่งการอ่าน จากผลสำรวจพบว่าผู้อ่านอายุ 6 ปีขึ้นไป มีการใช้บริการห้องสมุดด้วยการยืมหรือไปอ่านที่ห้องสมุด เพียงร้อยละ 12.9 (ประมาณ 6.2 ล้านคน) ในจำนวนนี้ใช้ห้องสมุดโรงเรียนหรือสถานศึกษามากที่สุดคือประมาณ 4.3 ล้านคน ใช้ห้องสมุดประชาชน/ที่อ่านหนังสือชุมชน/แหล่งเรียนรู้ในชุมชน ประมาณ 1.7 ล้านคน

          ที่น่าสนใจคือภูมิภาคที่มีผู้อ่านใช้บริการห้องสมุดมากที่สุดคือภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เท่ากันทั้งสองภาคคือร้อยละ 17.7 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยภาพรวมประเทศที่ร้อยละ 12.9) ขณะที่ กทม. และภาคกลาง แม้จะมีอัตราการอ่านสูง แต่การใช้ประโยชน์จากห้องสมุดกลับน้อยมากเพียงร้อยละ 8.5 และ 8.6 ตามลำดับ ตัวเลขนี้ชัดเจนว่าในพื้นที่ซึ่งมีปริมาณการอ่านน้อย จะมีอัตราการเข้าใช้ห้องสมุดมากกว่าพื้นที่ที่มีปริมาณการอ่านมาก

ภายในปี 2564 จะไม่มีใครไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุด

          ถ้าดูตัวเลขผลสำรวจสถานที่ที่คนนิยมอ่าน จะพบว่า ห้องสมุดสาธารณะก็ไม่ใช่แหล่งที่ผู้คนนิยมใช้เป็นสถานที่อ่านเท่าไรนัก คือมีเพียงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับ บ้าน ที่ทำงาน หรือสถานศึกษา ซึ่งเท่ากับร้อยละ 84.3, 25.2 และ 21.7 ตามลำดับ หรือมีผู้ใช้ห้องสมุดเป็นสถานที่อ่านประมาณ 5.8 แสนคนเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากประมาณ 1 ล้านคนเมื่อปี 2554 เหลือ 8 แสนคนเศษเมื่อปี 2556 แต่หากรวมเอาที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน/ชุมชน/แหล่งเรียนรู้ในชุมชน อีกร้อยละ 3 เท่ากับว่ามีผู้อ่านใช้ห้องสมุดกับแหล่งที่คล้ายห้องสมุดเป็นสถานที่สำหรับอ่าน รวมกันเท่ากับร้อยละ 4.2 หรือประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งก็ยังนับว่าน้อยมากอยู่ดี

          ผลสำรวจการอ่านในประเด็นนี้ตอกย้ำคำถามโตๆ ว่า ถึงเวลาหรือยังที่ห้องสมุดของไทยจำเป็นต้องปรับตัว เพราะหากตัวเลขจำนวนผู้ใช้ห้องสมุดลดลงในอัตราข้างต้นอย่างคงที่ นั่นหมายความว่าภายใน 6 ปีนับจากนี้จะไม่มีผู้ใช้บริการไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุดเหลืออยู่อีกเลย

          การลดลงของปริมาณผู้ใช้ห้องสมุดในฐานะที่เป็นแหล่งการอ่านและการค้นคว้าข้อมูลเช่นนี้นับเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะการแพร่หลายของการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการสืบค้น แม้แต่ห้องสมุดในหลายประเทศต่างก็พยายามปรับตัวให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมใหม่เพื่อความอยู่รอด รูปแบบหลักของการปรับตัวของห้องสมุดในต่างประเทศ คือการเปลี่ยนบทบาทจากสถานที่อ่านและยืมคืนหนังสือเพียงอย่างเดียว ไปเป็นพื้นที่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนในการเรียนรู้รูปแบบอื่นๆ ที่แตกต่างหลากหลายนอกเหนือไปจากการอ่าน

เด็กไทย 450,000 คน อ่านไม่ออก-อ่านไม่คล่อง

          คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปที่ไม่อ่านหนังสือ ให้เหตุผลที่ไม่อ่านว่าเป็นเพราะอ่านหนังสือไม่ออก ร้อยละ 20.6 หรือประมาณ 2.8 ล้านคน ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนประมาณ 3 แสนคน แต่ที่น่าสนใจอยู่ที่กลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี หรือผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ป.1-ม.3 การสำรวจครั้งนี้พบว่ามีผู้ระบุว่าอ่านไม่ออกถึงร้อยละ 31.7 คิดเป็นจำนวน 2 แสนคนเศษ หากรวมเด็กกลุ่มอายุเดียวกันนี้ที่ตอบว่าไม่อ่านเพราะ อ่านไม่คล่อง/อ่านได้เพียงเล็กน้อย อีกร้อยละ 34.7 จำนวนเด็ก ป.1-ม.3 ที่อ่านไม่ออก/อ่านไม่คล่อง/อ่านได้เพียงเล็กน้อย จะสูงถึง 4.5 แสนคน เป็นภารกิจสำคัญที่หน่วยงานหลักอย่างกระทรวงศึกษาธิการ คงต้องเร่งหาแนวทางแก้ไข 

คนไทยขาดนิสัยรักการอ่าน 3,400,000 คน

           อีกเหตุผลหนึ่งที่คนไม่อ่าน คือ ไม่ชอบหรือไม่สนใจอ่าน (อ่านออก แต่ไม่ชอบอ่าน) มีร้อยละ 24.8 หรือประมาณ 3.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนถึง 1.4 ล้านคน นี่คือกลุ่มซึ่งควรได้รับการส่งเสริมปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน นอกเหนือไปจากกลุ่มที่รักการอ่านหรืออ่านหนังสือจนเป็นนิสัยอยู่แล้ว พูดง่ายๆ นี่คือกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงานภาคีส่งเสริมการอ่าน รวมถึงทีเคพาร์คด้วย

          หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มเยาวชนช่วงอายุระหว่าง 15-24 ปีที่ไม่อ่าน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 9.8 แสนคน ใกล้เคียงกับผลการสำรวจครั้งก่อน – – เพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่นคน ในจำนวนนี้ระบุว่าไม่ชอบหรือไม่สนใจอ่าน (ขาดนิสัยรักการอ่าน) สูงถึง 3.6 แสนคน หรือเพิ่มขึ้น 1.1 แสนคนเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งที่แล้ว อาจกล่าวได้ว่าวัยรุ่นกลุ่มนี้ควรได้รับการส่งเสริมการอ่านที่เข้มข้นยิ่งกว่ากลุ่มวัยรุ่นที่ชอบอ่านหนังสือหรือเดินเข้าห้องสมุดเป็นประจำเสียอีก

คำถามที่ต้องค้นหาคำตอบก็คือ เยาวชนวัยรุ่น 9.8 แสนคน (หรือ 3.6 แสนคน) นี้อยู่ที่ไหน ? และจะมีวิธีการอย่างไรในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านหรือดึงให้พวกเขาเข้าถึง “มหัศจรรย์” ของหนังสือ ?


เผยแพร่ครั้งแรก เมษายน 2559

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก