ห้องสมุดสวีเดน ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นและเป็นไป

1,543 views
10 mins
October 25, 2021

          สวีเดน หนึ่งในประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่มีระบบการศึกษาคุณภาพสูง เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม และโดดเด่นด้านรัฐสวัสดิการ แต่กำลังเผชิญกับประเด็นปัญหาทางสังคมที่ต้องแก้ไข เช่น ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงสื่อและสารสนเทศ อัตราการรู้หนังสือลดลง และความถดถอยด้อยลงของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

          สวีเดนมองว่าห้องสมุดและความเชี่ยวชาญของบรรณารักษ์จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาความท้าทายนี้ได้ จึงพยายามวาดภาพกลยุทธ์ห้องสมุดขึ้นมาใหม่ กำหนดวิสัยทัศน์ให้กว้างไกลและจับต้องได้ โดยมีจุดมุ่งหมายอันดับแรกๆ เพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัล สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้และการพบปะของผู้คน และสนับสนุนสังคมให้มีความเป็นประชาธิปไตย

สถานการณ์ท้าทายห้องสมุด

          หอสมุดแห่งชาติสวีเดนได้สำรวจความคิดเห็นของบรรณารักษ์ทั่วประเทศ เพื่อประมวลสถานการณ์ห้องสมุด อุปสรรคและอุดมคติของห้องสมุดที่ทุกคนอยากเห็น พบประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น

          1. การมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์ ห้องสมุดมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่กายภาพสำหรับการพบปะของผู้คนมากกว่าเป็นที่สถานเก็บทรัพยากรหนังสือ ห้องสมุดที่เอื้อต่อการเรียนรู้คุณภาพสูงหรือวิชาการเข้มข้นคือห้องสมุดมหาวิทยาลัย ในขณะที่ห้องสมุดประชาชนจะเน้นไปที่การให้บริการพื้นที่เพื่อปฏิสัมพันธ์และการจัดกิจกรรมต่างๆ เป็นพื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงง่าย มุ่งตอบสนองด้านการพบปะของผู้คนที่มีวัตถุประสงค์หรือความสนใจชื่นชอบแตกต่างกัน เช่น กิจกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัย สตูดิโอสร้างสรรค์งานศิลปะแขนงต่างๆ การจัดแสดงศิลปะและอ่านบทกวี

          2. รูปแบบการบริหารและวิธีสร้างความร่วมมือ วิธีการบริหารแบบสั่งการจากบนลงล่าง ซึ่งล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา นำมาสู่โมเดลใหม่ในการทำงานร่วมกันระหว่างห้องสมุดส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เกิดวัฒนธรรมการทำงานแบบเติมเต็มซึ่งกันและกัน ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน

          3. ทักษะและความเชี่ยวชาญ ในอนาคตความสามารถของบรรณารักษ์จะมีหลายแง่มุมมากขึ้นนอกเหนือจากความรู้เฉพาะวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทักษะให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการรู้ภาษาที่มากกว่า 2-3 ภาษา แต่ห้องสมุดส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาในการสรรหาบรรณารักษ์ที่มีทักษะและคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ

          4. คอลเลกชัน โดยปกติ มรดกด้านสิ่งพิมพ์ของชาติจะถูกเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติและห้องสมุดมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University Library) เพื่อรองรับการค้นคว้าวิจัย และยังมีการจัดทำสำเนาไว้ที่มหาวิทยาลัยอีก 5 แห่ง แต่ในยุคดิจิทัลได้เกิดคำถามว่าสารสนเทศประเภทใดบ้างที่มีคุณค่าควรเก็บรักษาและจะจัดเก็บอย่างไรให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือกระดาษหรือทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม

          5. ปัญหาทางสองแพร่งของการเลือกใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัล ในทางทฤษฎี การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงสารสนเทศดิจิทัลได้อย่างสะดวกและทั่วถึงเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การสร้างความเท่าเทียมทางสังคม แต่ความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากในแต่ละพื้นที่ใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สื่อดิจิทัลแตกต่างกัน

          ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน คนทั่วไปมักจะมองอะไรแบบแยกเป็นสองขั้ว (dichotomy) เช่น แอนะล็อกเป็นเรื่องอดีต ดิจิทัลเป็นเรื่องอนาคต ทำให้คิดไปเองว่าสิ่งใหม่ไม่มีความเกี่ยวพันกันกับสิ่งเดิม และสิ่งหนึ่งสามารถเข้าไปแทนที่สวมทับอีกสิ่งหนึ่งได้

          ห้องสมุดบางแห่งก็คิดแบบนี้ จึงแบ่งประเภททรัพยากรเป็นสื่อที่จับต้องได้ (physical collections เช่นหนังสือกระดาษ) กับสื่อดิจิทัล (digital collections) ทั้งที่แท้จริงแล้วการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้กับห้องสมุดจำเป็นต้องวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งถึงผลกระทบที่จะตามมามากกว่าการมองแบบหยาบๆ แค่การแบ่งชนิดสื่อทรัพยากรออกเป็นสองกลุ่ม เพราะสื่อดิจิทัลอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ขัดแย้งสวนทางกับเป้าหมายของห้องสมุดก็ได้ หรือการไม่เปิดรับสื่อใหม่ก็อาจขัดขวางโอกาสที่จะได้รับจากการเปลี่ยนเทคโนโลยีได้เช่นกัน

          6. การอุดมศึกษาและการวิจัย ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษามีประสบการณ์ในการพัฒนาอย่างรวดเร็วเนื่องจากการบริหารงานที่คล่องตัว จนกลายเป็นองค์กรที่สามารถสร้างแบรนด์และทำการตลาดได้เอง ในอนาคตห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาจะยกระดับเป็นผู้ผลิตความรู้และผู้จัดพิมพ์หรือผู้ผลิตสื่อ ในขณะเดียวกันยังเป็นพื้นที่สำหรับให้บริการค้นคว้าที่ก้าวล้ำนำหน้า ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้ใช้หลักคือนักศึกษาและนักวิจัย

          7. เมืองและชนบท เมืองใหญ่และเมืองในชนบทของสวีเดนยังมีความแตกต่างกันอย่างมากในการเข้าถึงห้องสมุด ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองริทเซม (Ritsem) ทางตอนเหนือที่ห่างไกลต้องเดินทางกว่า 180 กิโลเมตรจึงจะเข้าถึงห้องสมุดที่ใกล้ที่สุด ส่วนเมืองหลวงสต็อกโฮล์มนั้นผู้ใช้บริการใช้เวลาเดินทางไปห้องสมุดแค่ไม่เกิน 30 นาทีด้วยระบบขนส่งสาธารณะ

          รัฐบาลพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการออกพระราชบัญญัติห้องสมุดสวีเดน (Swedish Library Act) กำหนดเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติสำหรับห้องสมุด ได้แก่ เวลาเปิดปิดทำการ งบประมาณ ระยะทางและการเข้าถึง รวมทั้งการจัดหาเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถ แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด

          8. ห้องสมุดสำหรับทุกคน พระราชบัญญัติห้องสมุดสวีเดน ปี 2014 เพิ่มเติมข้อความที่ระบุว่า “ทุกคนสามารถเข้าถึงได้” แนวคิดนี้เชื่อมโยงกับเรื่องการมีอิสระทางความคิด (free opinion-forming) และการขยายผลการให้บริการเชิงรุก ปัจจุบันโครงสร้างประชากรของสวีเดนยังประกอบไปด้วยแรงงานต่างชาติรวมทั้งคลื่นผู้อพยพจำนวนมหาศาล ในห้วงเวลาแห่งความท้าทายเช่นนี้ ห้องสมุดจึงควรเป็นสถานที่สำหรับคนทุกคนและทำหน้าที่ให้การศึกษาโดยไม่คิดมูลค่า เพราะการเข้าถึงสารสนเทศอย่างไร้ขีดจำกัดเท่านั้นจึงจะส่งผลต่อการสร้างความกลมเกลียวและความเชื่อมั่นไว้วางใจกัน และห้องสมุดก็เป็นหนึ่งในสถาบันเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงมีบทบาทสูงในการสนับสนุนความเป็นประชาธิปไตยทางสังคม

แนวโน้มการศึกษาและการเรียนรู้

          ในช่วงหลายปีมานี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งผลิตและเผยแพร่ทรัพยากรการเรียนรู้แบบเปิด (open education resource – OER) ในรูปแบบไฟล์วิดีโอ เสียง ข้อความ รูปภาพ หรือแอนิเมชัน ซึ่งอนุญาตให้ใช้งานได้ฟรีตามเงื่อนไขสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons License) รวมทั้งยังมีทรัพยากรการเรียนรู้ที่เปิดให้เข้าถึงโดยไม่คิดมูลค่าเกิดขึ้นมาอย่างแพร่หลาย เพียงแค่มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนเท่านั้น แม้จะอยู่คนละซีกโลกและไม่ได้สมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยระดับไอวี่ลีก หลายคนก็มีโอกาสได้ชมวิดีโอการสอนของอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังของโลก หรือเรียนผ่าน MOOCs สำนักต่างๆ รวมไปถึงสารคดี บทความ รายงานทางวิทยาศาสตร์ และพอดแคสต์ ที่มีคุณภาพอีกจำนวนมาก

          ความรู้และการศึกษาจึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในห้องเรียนหรือห้องสมุดอีกต่อไป ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองในแนวทางที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ผู้เรียนสามารถออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้มากขึ้น สามารถจบหลักสูตรโดยการเลือกเรียนรายวิชาจากหลายมหาวิทยาลัย สิ่งที่ท้าทายคือการหาแนวทางในการสอบและประเมินผลการเรียนรู้ที่สอดคล้องกันในแต่ละมหาวิทยาลัย

          โซเชียลมีเดียจะเป็นช่องทางสำคัญสำหรับการเรียนการสอน เพื่อใช้อภิปราย สื่อสาร และทำงานแบบร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก บล็อก วิกิ และยูทูบ ผู้เรียนสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ได้เองโดยเลือกใช้เครื่องมือเหล่านี้แทนที่จะใช้เครื่องมือที่สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยสร้างไว้ให้ ผู้เรียนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและสารสนเทศทุกที่ ทุกเวลา ทุกอุปกรณ์ ตำราเรียนอาจมีไว้ในไอแพดหรือแท็บเล็ต และเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจมีการทบทวนถึงความจำเป็นในการเดินทางไปมหาวิทยาลัยหรือเข้าห้องเรียน

4 ห้องสมุดสวีเดน ที่เห็นและเป็นไป

          สถานการณ์ที่เป็นประเด็นท้าทายห้องสมุด ผนวกกับแนวโน้มการศึกษาแบบเปิด (open education) ดังกล่าว นำมาสู่ข้อสรุปที่เรียกร้องให้ห้องสมุดมีบทบาทต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้นกว่าเดิม นั่นหมายถึงห้องสมุดจะต้องพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย เพราะเมื่อสารสนเทศทั้งมวลเข้าถึงได้ด้วยปลายนิ้ว ห้องสมุดรูปแบบเดิมซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกยึดครองด้วยชั้นหนังสือคงต้องเปลี่ยนไป คุณค่าของห้องสมุดจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับคอลเลกชันหนังสืออีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถของเจ้าหน้าที่หรือบรรณารักษ์มากยิ่งขึ้น

          แนวคิดการปรับตัวของห้องสมุดสวีเดนแทบไม่แตกต่างไปจากห้องสมุดในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียเท่าไรนัก แต่อาจไม่หวือหวาเท่ากับห้องสมุดในเดนมาร์กและฟินแลนด์ อิทธิพลของแบบจำลองจัตวากาศ (Four Spaces Model) ปรากฏร่องรอยให้เห็นอย่างชัดเจน คือการจัดพื้นที่เพื่อตอบสนองจุดประสงค์ผู้ใช้บริการเป็น 4 ส่วนหลัก คือ พื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่พบปะ พื้นที่แสดงออก และพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ โดยมีตัวอย่างห้องสมุดที่น่าสนใจ 4 แห่งต่อไปนี้

หอสมุดแห่งชาติสวีเดน (National Library of Sweden)

          หอสมุดแห่งชาติสวีเดนตั้งอยู่ในสวนสาธารณะใจกลางเมืองสต็อกโฮล์ม มีบทบาทหลักในการเก็บรวบรวมสิ่งตีพิมพ์ทุกชนิดของสวีเดน บางชิ้นมีอายุเก่าแก่นับพันปี ทั้งจารึก หนังสือพิมพ์ เพลง รายการโทรทัศน์และภาพถ่าย

          เมื่อปี 1661 รัฐบาลได้ออกกฎหมายว่าด้วย “หน้าที่ในการจัดส่ง” สำเนาสิ่งตีพิมพ์ให้กับหอสมุด ซึ่งในอีกด้านหนึ่งเป็นเครื่องมือในการเซ็นเซอร์ข่าวสารสารสนเทศเพื่อการควบคุมประชาชน ล่วงมาจนกระทั่งถึงปลายศตวรรษที่ 20 กฎหมายนี้ได้ขยายขอบข่ายของสารสนเทศที่จัดเก็บให้รวมถึงสื่อโสตทัศน์และเกมคอมพิวเตอร์ และในปี 2012 กำหนดให้ครอบคลุมทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ด้วย อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวมีส่วนช่วยในการเก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าไว้อย่างครบถ้วน ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติมีทรัพยากรกว่า 18 ล้านรายการ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้ในชั้นใต้ดิน

          ทรัพยากรของหอสมุดแห่งชาติเป็นหนังสือจากหลากหลายภาษา เน้นงานวิจัยทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ทั้งประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา และศิลปศาสตร์ นอกจากนี้ หอสมุดแห่งชาติยังมีบทบาทในการพัฒนาและบริหารจัดการฐานข้อมูลห้องสมุด Libris สำหรับสารสนเทศของห้องสมุดสวีเดนประมาณ 100 แห่ง

          อาคารหลักของหอสมุดฯ ชื่อว่าแอนเน็กซ์ (Annex) สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1878 เป็นอาคารใต้ดินซึ่งมีดาดฟ้าเป็นกระจกเพื่อรับแสงสว่างจากภายนอก อาคารดังกล่าวได้รับการบูรณะตกแต่งใหม่เป็นระยะๆ ภายในประกอบด้วยห้องออดิทอเรียม ห้องไมโครฟิล์ม ห้องประชุม โถงนิทรรศการขนาดใหญ่

          ข้อจำกัดในการออกแบบตกแต่งภายในของอาคารเดิมประกอบกับความต้องการของผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้หอสมุดแห่งชาติบูรณะอาคารแอนเน็กซ์ขึ้นมาใหม่ โดยเพิ่มเติมพื้นที่และบริการใหม่หลายส่วน เช่น พื้นที่สำหรับพบปะและทำกิจกรรม พื้นที่สำหรับทำงานแบบกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ พื้นที่บริการสื่อโสตทัศน์เพื่อการวิจัย พื้นที่ให้บริการสื่อดิจิทัล ปรับปรุงพื้นที่นิทรรศการให้มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงสำหรับจัดแสดงวัตถุมีค่า ออกแบบตกแต่งภายในใหม่ให้มีบรรยาการเป็นมิตร ทันสมัย ดึงดูดและน่าใช้บริการ

National Library of Sweden
หอสมุดแห่งชาติสวีเดน
Photo : Istvan Borbas/National Library of Sweden
Photo Istvan Borbas/National Library of Sweden
หอสมุดแห่งชาติสวีเดน
Photo : Istvan Borbas/National Library of Sweden

ห้องสมุดเมืองโกเทนเบิร์ก (Gothenburg City Library)

          ห้องสมุดเมืองโกเทนเบิร์กสร้างตั้งแต่ปี 1960 ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่และเปิดให้บริการห้องสมุดโฉมใหม่เมื่อปี 2014 โดยต่อเติมโครงสร้างอาคารหลายส่วน ห้องสมุดใหม่เพิ่มพื้นที่ห้องนั่งเล่น พื้นที่กิจกรรมวัฒนธรรม พื้นที่เรียนรู้ พื้นที่ทำงาน ห้องออดิทอเรียม และคาเฟ่ริมระเบียง มุ่งให้เป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น

           การพบปะเป็นหัวใจหลักของการออกแบบใหม่ โดยให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นทางสังคมที่ซับซ้อน พื้นที่ต่างๆ ได้รับการออกแบบอย่างใส่ใจ มีเส้นทางและผังที่ชัดเจนเพื่อให้สามารถค้นหาสารสนเทศได้อย่างสะดวก ออฟฟิศของห้องสมุดเป็นพื้นที่ทำงานที่ยืดหยุ่น ไม่เป็นทางการ เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์ ก่อให้เกิดเป็นชุมชนสร้างสรรค์ ห้องสมุดโฉมใหม่จึงสะท้อนถึงความต้องการในอนาคตของทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการหรือเจ้าหน้าที่ห้องสมุด

          ห้องสมุดเมืองโกเทนเบิร์กเป็นการผสมผสานกันระหว่างสิ่งเก่าและใหม่ และความตระหนักในคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ที่นี่มีหนังสือจำนวนไม่มาก มีเกมและหนังสือเสียงไว้ให้บริการ มีโซฟาตัวใหญ่สีสันสดใสไว้สำหรับอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสาร หรือนั่งคุยกัน อีกทั้งยังใช้เป็นสถานที่นั่งรอรถไปยังสนามบิน มีจุดชาร์จไฟอำนวยความสะดวก มีพื้นที่แสดงนิทรรศการและจัดกิจกรรมนับร้อยรายการต่อปี

The City Library of Gothenburg
ห้องสมุดเมืองโกเทนเบิร์ก (Gothenburg City Library)
Photo: Hundven-Clements
ห้องสมุดเมืองโกเทนเบิร์ก (Gothenburg City Library) Photo: Hundven-Clements
ห้องสมุดเมืองโกเทนเบิร์ก (Gothenburg City Library)
Photo: Hundven-Clements

ห้องสมุดเมืองสต็อกโฮล์ม (Stockholm City Library)

          เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 กุนนาร์ อัสพลุนด์ (Gunnar Asplund) สถาปนิกและเพื่อนร่วมงานถูกส่งไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาเตรียมการออกแบบสถาปัตยกรรมและก่อสร้างห้องสมุดประชาชนซึ่งสวีเดนยังไม่เคยมีมาก่อน พวกเขาได้ข้อสรุปว่าห้องสมุดแห่งใหม่จะต้องเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้คนสามารถศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ตอบสนองสังคมประชาธิปไตย และเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

          แนวคิดสำคัญคือสาธารณชนต้องสามารถค้นหาหนังสือด้วยตัวเองได้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ห้องสมุด การออกแบบผังควรมีความเรียบง่ายชัดเจน พื้นที่สำหรับเด็กควรออกแบบโดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับโรงเรียน ครูและโรงเรียนเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนรักการอ่านและแสวงหาความรู้

           ห้องสมุดเมืองสต็อกโฮล์มเปิดให้บริการเมื่อปี 1928 ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นห้องสมุดที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สะท้อนเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมที่สง่างามตามแบบสวีเดน และยังได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบห้องสมุดประชาชนแห่งแรกของประเทศ

          ต่อมาในต้นศตวรรษที่ 21 ห้องสมุดมีโครงการที่จะปรับปรุงอาคารห้องสมุดใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังคงอนุรักษ์เอกลักษณ์ดั้งเดิมที่อัสพลุนด์ได้ออกแบบไว้ ผู้ชนะการประกวดออกแบบจากทั้งหมดกว่า 1,700 โครงการเป็นสถาปนิกชาวเยอรมันที่แทบไม่มีชื่อเสียง ผลงานของเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในที่สุดเมืองสต็อกโฮล์มต้องระงับการก่อสร้างปรับปรุง โดยเห็นว่าการออกแบบดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบทางสังคมได้ไม่เทียบเท่างานดั้งเดิมที่อัสพลุนด์ได้ออกแบบไว้ เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนสำคัญถึงความรอบคอบในการปรับโฉมห้องสมุดที่เก่าแก่และมีความละเอียดอ่อนในมิติทางประวัติศาสตร์

           ปัจจุบัน สถาปัตยกรรมทั้งภายในและภายนอกของห้องสมุดเมืองสต็อกโฮล์มยังคงคล้ายกับของเดิมเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ในห้องอ่านหนังสือยังเต็มไปด้วยโต๊ะซึ่งสามารถจุผู้ใช้บริการจำนวนมาก ตามแนวผนังมีชั้นหนังสือเรียงรายบรรจุหนังสือกว่า 2 ล้านเล่ม เทปเสียง 2.4 ล้านรายการ ที่นี่เปรียบเสมือนห้องสมุดนานาชาติ เพราะมีหนังสือภาษาต่างประเทศจำนวนมากถึงกว่า 100 ภาษาทั่วโลก และเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันมาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย

Johan Jönsson (Julle), CC BY-SA 4.0, via Wikimedia Commons
ห้องสมุดเมืองสต็อกโฮล์ม (Stockholm City Library)
Photo: Johan Jönsson (Julle), CC BY-SA 4.0, via Wikimedia Commons
Photo by Alexandre Van Thuan on Unsplash
ห้องสมุดเมืองสต็อกโฮล์ม (Stockholm City Library)
Photo : Alexandre Van Thuan on Unsplash

ห้องสมุดมหาวิทยาลัยอุปซอลา (Uppsala University Library)

         มหาวิทยาลัยอุปซอลาก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1477 ในขณะนั้นยังไม่มีห้องสมุดมหาวิทยาลัย อาจารย์และนักศึกษาต้องยืมหนังสือจากโบสถ์ซึ่งห่างไกลออกไปและมีเพียงไม่กี่เล่ม จนกระทั่งปี 1620 ห้องสมุดได้ถูกสร้างขึ้นด้วยการบริจาค หลายร้อยปีที่ผ่านมาห้องสมุดมหาวิทยาลัยอุปซอลาย้ายที่ตั้งหลายครั้ง สุดท้ายไปอยู่ในอาคารชื่อว่าแคโรลินา เรดิวิวา (Carolina Rediviva)  

          ศตวรรษที่ 20 เป็นยุครุ่งเรืองของห้องสมุดทั่วโลกรวมถึงสวีเดนด้วย ห้องสมุดมหาวิทยาลัยอุปซอลามีปริมาณหนังสือเพิ่มขึ้นมหาศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านปรัชญา ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ห้องสมุดจึงเริ่มลดอัตราการเพิ่มทรัพยากรหนังสือ เนื่องจากเหลือพื้นที่จัดเก็บจำกัด และกระจายอำนาจการบริหารจัดการไปยังห้องสมุดสาขาคณะต่างๆ พร้อมกับการย้ายหนังสือบางส่วนออกไป ทำให้สามารถจัดสรรพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา

          ปัจจุบัน แคโรลินา เรดิวิวา ยังคงเป็นอาคารหลักของห้องสมุดมหาวิทยาลัยอุปซอลา เน้นการจัดเก็บหนังสือด้านมนุษยศาสตร์และเทววิทยา รวมถึงคอลเลกชันที่ทรงคุณค่าเช่น จารึกต่างๆ แผนที่ ภาพ และสิ่งพิมพ์โบราณ เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลห้องสมุดมหาวิทยาลัยอุปซอลาได้นำเอกสารโบราณทั้งหลายมาแปลงเป็นดิจิทัล ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงเนื้อหาได้ง่ายขึ้น พร้อมกับสามารถอนุรักษ์ต้นฉบับเดิมได้สะดวกขึ้น อย่างไรก็ตามห้องสมุดได้ประกาศปิดอาคารแคโรลินา เรดิวิวา เป็นเวลา 2 ปี ระหว่างปี 2017-2019 เพื่อทำการบูรณะครั้งใหญ่ให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคตของนักศึกษา

ห้องสมุดมหาวิทยาลัยอุปซอลา (Uppsala University Library)
ห้องสมุดมหาวิทยาลัยอุปซอลา (Uppsala University Library)
Photo : Mathias Klang from Lund, Sweden, CC BY 2.0, via Wikimedia Commons
Gerhard Huber
ห้องสมุดมหาวิทยาลัยอุปซอลา (Uppsala University Library)
Photo : Gerhard Huber

ที่มา

Barbro Thomas, Swedish libraries: An overview (2016) [Online]

The City Library of Gothenburg [Online]

Wikipedia,Stockholm Public Library [Online]

Stockholm Public Library: The Pioneer of Open Public Libraries in Sweden [Online]

History of the Library [Online]

The National Library of Sweden [Online]

Cover Photo : Hundven-Clements

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก