‘Productive Failure’ ล้มเหลวแต่เกิดผล ผิดพลาดแต่เรียนรู้

490 views
5 mins
October 19, 2023

          ‘ความล้มเหลว’ เป็นสิ่งที่หลายคนหลีกเลี่ยงและไม่อยากพบเจอ เพราะเป็นสิ่งที่สร้างความรู้สึกเจ็บปวด หรืออาจเกิดความเสียหายนานัปการ แต่หลายปีที่ผ่านมามีวลีซึ่งนิยมในกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ว่า ‘ล้มเร็วลุกเร็ว’ โดยมองว่าความผิดพลาดคือสิ่งที่สร้างบทเรียนและเป็นพื้นฐานเพื่อการเติบโตในอนาคต

          สำหรับวงการการศึกษา ความล้มเหลวมักจะถูกมองในแง่ลบ ผู้เรียนไม่ค่อยจะมีโอกาสได้ลองผิดลองถูกหรือค้นพบสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองภายใต้คำแนะนำของผู้สอน หลักสูตรเป็นสิ่งที่กำหนดอย่างชัดเจนว่า ผู้เรียนต้องทำอะไร และต้องทำอย่างไรจึงจะเกิดการเรียนรู้

          มนู คาปูร์ (Manu Kapur) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การเรียนรู้จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธรัฐสวิส ซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สังเกตว่าการออกแบบการเรียนการสอนโดยทั่วไปมักยึดหลักให้เนื้อหาเกิดความชัดเจนและเข้าใจง่าย แต่ในฐานะที่เคยเป็นนักฟุตบอลอาชีพมาก่อน เขาเชื่อมั่นว่าการฝึกฝนทักษะใดๆ ก็ตาม ย่อมต้องเผชิญความล้มเหลว ความหงุดหงิด และการดิ้นรน

          “ในเมื่อความล้มเหลวและความพยายามมีประโยชน์มาก ทำไมเราจึงไม่จงใจออกแบบมันในโรงเรียนล่ะ” ไอเดียดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาแนวคิดการเรียนรู้ที่ผสมผสานการสอนและการลงมือปฏิบัติเข้าไว้ด้วยกัน นั่นคือ Productive Failure (PF) หรือ การเรียนรู้ผ่านการล้มเหลว

เรียนก่อนลอง หรือลองก่อนเรียน อะไรดีกว่ากัน

          คาปูร์ ได้วิจัยเพื่อหาคำตอบว่า การสอนก่อนแล้วจึงให้นักเรียนลงมือปฏิบัติ หรือลงมือปฏิบัติก่อนแล้วจึงสอน กลยุทธ์การเรียนรู้แบบใดมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน โดยวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่จากงานวิจัยและเอกสารการวิเคราะห์ด้านการศึกษาย้อนหลัง 15 ปี สาขาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และการแพทย์ ในระดับมัธยมศึกษาและปริญญาตรี ผลจากการวิจัยดังกล่าวพบว่า การเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนล้มเหลวก่อนแล้วค่อยสอนมีประสิทธิภาพสูงกว่าการสอนแล้วปล่อยให้ลงมือทำถึง 2 เท่า

          ในการสอนความรู้แบบพื้นฐาน การสอนแบบบรรยายกับ Productive Failure ไม่ได้ให้ผลที่แตกต่างกันมากนัก แต่ Productive Failure ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าในด้านการพัฒนาทักษะที่ถ่ายทอดได้ (transferable skill) และความเข้าใจมโนทัศน์ (conceptual understanding) คาปูร์กล่าวว่า “ถ้าคุณเรียนรู้แบบ Productive Failure เปรียบเหมือนคุณกำลังเรียนล้ำไปข้างหน้ากว่าการสอนแบบปกติ 1-2 ปี”

‘Productive Failure’ ล้มเหลวแต่เกิดผล ผิดพลาดแต่เรียนรู้
Photo: Edutopia

การออกแบบการเรียนรู้ที่สนับสนุนให้นักเรียนล้มเหลว

          การเรียนรู้ผ่านการล้มเหลวสามารถประยุกต์ใช้กับกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการลงมือทำ การปฏิบัติ การทำโครงงาน หรือภาคทฤษฎีก็ได้ กลไกประกอบด้วยกลไก 4 ขั้นตอน แทนที่ครูจะกระโดดเข้าสู่การสอนทันที ควรเริ่มต้นด้วยการกระตุ้น (activation) สัญชาตญาณการเรียนรู้ของผู้เรียนจากภูมิหลังและความรู้เดิมที่พวกเขามีอยู่ จากนั้นให้นักเรียนได้ลองสร้างแนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์ย่อมไม่ถูกต้องหรือไม่ได้ดีที่สุด ขั้นตอนนี้จะนำไปสู่การตระหนัก (awareness)ถึง ‘ช่องว่างของความรู้’ ว่าพวกเขารู้หรือไม่รู้อะไรบ้าง และจำเป็นต้องรู้อะไรเพิ่ม

          หลังจากพยายามแก้ปัญหาแล้วแต่ไม่ได้ผล บทเรียนจากความผิดพลาดจะช่วยจุดประกายให้ผู้เรียนอยากหาทางออกที่มีประสิทธิภาพที่สุด เท่ากับว่าประสบการณ์ความล้มเหลวเป็นปัจจัยที่สร้างผลกระทบ (affect)ต่อสภาวะทางจิตวิทยาในการเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ มากขึ้น กระบวนการสุดท้ายคือการระดมพล (assembly) โดยครูยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ อธิบายปัญหาและวิธีแก้ไข มีการเปรียบเทียบระหว่างวิธีที่ถูกต้องกับวิธีที่นักเรียนได้ทดลองปฏิบัติ ขั้นตอนนี้ช่วยให้นักเรียนเห็นว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ หรือเงื่อนไขที่ทำให้การแก้ปัญหาได้ผล จนกระทั่งท้ายที่สุดเกิดการบูรณาการระหว่างความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม

          Productive Failure ตอกย้ำความสำคัญของครูหรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเข้ามามีบทบาทในจังหวะที่ควรจะเป็น เพราะลำพังความล้มเหลวโดยตัวของมันเองไม่สามารถทำให้ผู้เรียนสร้างความรู้ได้ มันเพียงแต่ช่วยสร้างความตระหนักและความปรารถนาที่จะเรียนรู้ ดังนั้นผู้ที่ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็อาจเป็นไปได้ว่าพวกเขาขาดกุญแจดอกสำคัญนี้ไป

          คาปูร์ ยกตัวอย่างเปรียบเทียบไว้ว่า “หากดูวิธีการที่เด็กเล็กๆ เรียนรู้ภาษา พวกเขาไม่ได้เข้าชั้นเรียน พ่อแม่ไม่ต้องสั่งให้พวกเขานั่งลงแล้วบอกว่า ‘ก่อนอื่นต้องเรียนรู้กฎไวยากรณ์หรือคำศัพท์ต่างๆ’ แต่เด็กเรียนรู้จากการฟังและการพูดคุย สำหรับเด็กผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน คำต่างๆ ล้วนเป็นเรื่องแปลกสำหรับพวกเขา และย่อมพูดผิดพูดถูกอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อได้รับการแก้ไขแล้วพวกเขาจะเรียนรู้ในการใช้ภาษาอย่างเหมาะสม มันเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติและเป็นกลไกการเรียนรู้ที่ทรงพลังมาก”

เคล็ดลับล้มอย่างไรให้เรียนรู้

          การเลือกโจทย์การทำงานที่สอดคล้องกับแนวคิด Productive Failure มีข้อควรคำนึงถึงคือ งานควรมีระดับความท้าทายพอที่จะสร้างแรงจูงใจ แต่ไม่ยากเกินไปจนทำให้ยอมแพ้ คำตอบของโจทย์จะต้องมีวิธีแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย เพื่อให้นักเรียนเกิดไอเดียไอเดียใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดเพียงหนทางเดียว นอกจากนี้งานจะต้องกระตุ้นความรู้เดิมและสัญชาตญาณการเรียนรู้ ไม่ใช่เพียงความรู้ที่อยู่ในบทเรียน

          การออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนทดลองล้มเหลว อาจทำให้นักการศึกษาหรือผู้ปกครองเกิดความกังวลใจ ถึงภาวะทางอารมณ์ด้านลบของนักเรียน เช่น ความรู้สึกผิด ความคับข้องใจ หรือความอับอาย ดังนั้นนักเรียนต้องการพื้นที่ลองผิดลองถูกซึ่งเป็นมิตรและปลอดภัย ในสถานการณ์ที่ไม่ได้มีเดิมพันสูงจนเกินไปอย่างเช่นการสอบ ซึ่งผลจากความผิดพลาดอาจตัดสินชะตาชีวิตผู้เรียนในการศึกษาต่อหรือสมัครงาน

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความล้มเหลวมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ แต่หากเกิดขึ้นถี่จนเกินไปก็จะส่งผลด้านลบเสียมากกว่า ครูจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ว่าในหนึ่งภาคการศึกษามีแนวคิดสำคัญๆ อะไรที่นักเรียนจำเป็นต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งบ้าง ซึ่งอาจมีเพียง 3-5 เรื่องเท่านั้น ทั้งนี้ ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาทักษะด้านความยืดหยุ่นและการปรับตัวได้เป็นอย่างดี ครูอาจดีไซน์เป็นกิจกรรมกลุ่มหรือการเล่นที่สนุกสนานก็ได้เช่นกัน

‘Productive Failure’ ล้มเหลวแต่เกิดผล ผิดพลาดแต่เรียนรู้
Photo: Ksenia Chernaya on Pexels

การประยุกต์และขยายผล Productive Failure

          แนวคิด Productive Failure ถูกนำไปทดลองใช้และพิสูจน์กับการเรียนการสอนในหลายประเทศ ทั้งสายวิทยาศาสตร์และสายมนุษยศาสตร์ ดังหลายกรณีตัวอย่าง

          มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มีการทดลอง ในห้องเรียนภาษาอังกฤษ โดยกลุ่มแรกให้นักศึกษาฝึกการสนทนาก่อนแล้วจึงสอนด้วยวิดีโอ เปรียบเทียบผลกับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งสอนด้วยวิดีโอก่อนจึงให้ฝึกสนทนา ผลพบว่า แม้ว่าทั้งสองกลุ่มมีผลสัมฤทธิ์ด้านการพูดที่ใกล้เคียงกัน แต่นักศึกษากลุ่มที่ได้ฝึกสนทนาก่อนมีผลสัมฤทธิ์ด้านคำศัพท์ การเขียน และเกิดอภิปัญญา (metacognition) หรือ การรู้เท่าทันกระบวนการคิดและวิธีเรียนรู้ของตนเอง เมื่อความรู้เดิมถูกกระตุ้นด้วยการลงมือปฏิบัติ นักเรียนจะเกิดความตระหนักถึงช่องว่างการเรียนรู้ เมื่อช่องว่างนี้ถูกเติมเต็มด้วยกิจกรรมการสอนที่ครูนำเสนอ นักเรียนจะเกิดรูปแบบภาษาใหม่ๆ ที่ซับซ้อนและมั่นคงกว่าเดิม กระบวนการเรียนรู้นี้เหมาะสำหรับการเรียนรู้ไวยากรณ์ภาษาในรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นอย่างดี

          ส่วนมหาวิทยาลัยโคเวนทรี สหราชอาณาจักร ได้ทดลองกับห้องเรียนดนตรีโดยให้นักศึกษาเรียนรู้การประพันธ์เพลงโดยการทดลองปฏิบัติก่อนสอนโดยการบรรยาย โดยมองว่าโดยธรรมชาติแล้วบุคลากรที่จะเติบโตในวิชาชีพนี้ย่อมต้องผ่านความผิดพลาดและล้มเหลวเป็นธรรมดา หากมีการตอบสนองต่อความล้มเหลวอย่างสร้างสรรค์จะช่วยให้พวกเขาพยายามปรับเปลี่ยนแนวทางการประพันธ์เพลง รวมทั้งเกิดทักษะและความรู้ใหม่ การมอบหมายงานให้นักศึกษาจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า งานเหล่านั้นมีความซับซ้อน และมีช่องว่างที่อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ สะท้อนธรรมชาติของการทำงานในอุตสาหกรรมดนตรีอย่างแท้จริง หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมดนตรีมาช่วยสะท้อนความคิดเห็นที่มีต่อผลงานของนักศึกษา ผลจากการทดลองพบว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการประพันธ์เพลงให้ก้าวสู่ระดับมืออาชีพอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการฟังและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

          กรณี ประเทศสิงคโปร์มีการนำแนวคิด Productive Failure ไปขยายผลในวงกว้างโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในโรงเรียน สถาบันอุดมศึกษา และการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ ตัวอย่างเช่นในห้องเรียนคณิตศาสตร์และสถิติมีการแบ่งกิจกรรมการเรียนการสอนเป็น 3 ขั้น ได้แก่ การให้นักเรียนลองแก้ไขโจทย์ที่อยู่ในใบงานเป็นเวลา 80 นาที ถัดมาเป็นช่วงของการพูดคุยเพื่อแบ่งปันวิธีการแก้ปัญหาระหว่างนักเรียน จากนั้นครูเปรียบเทียบระหว่างวิธีที่ถูกต้องและวิธีที่นักเรียนเลือก ต่อยอดด้วยการอธิบายถึงเหตุผลและหลักการ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางได้ศึกษาและสรุปถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนด้านคณิตศาสตร์และสถิติทั่วประเทศว่า กระบวนการดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงกว่าห้องเรียนการสอนโดยตรงแบบดั้งเดิม เมื่อนักเรียนพบโจทย์ใหม่ที่ซับซ้อนสามารถเรียนรู้และเข้าใจปัญหาได้ดีขึ้น แม้บางเนื้อหาอยู่นอกเหนือจากหลักสูตร

          โดยสรุปแล้ว แกนหลักของแนวคิด Productive Failure คือ ความรู้สามารถเริ่มต้นจากผู้เรียน โดยการนำประสบการณ์เดิมและข้อมูลใหม่มาเชื่อมโยงกัน จนเกิดเป็นความรู้ความเข้าใจตนเอง รู้ว่าตนเองต้องการการเรียนรู้แบบไหน ต้องการความรู้แบบไหนมาเติมเต็ม เช่นนั้นแล้วความรู้จึงมิได้ถูกจำกัดอยู่ในตำราหรือตัวครูเท่านั้น แต่เอื้อให้เกิดการงอกงามทางปัญญา และผู้เรียนสามารถแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ที่ผ่านเข้ามาไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม


ที่มา

บทความ “The 3 key skill sets for the workers of 2030” จาก weforum.org (Online)

บทความ “Student who productively fail may learn more” จาก futurity.org (Online)

บทความ “How to Cultivate Productive Failure When Using Edtech and AI Tools” จาก edutopia.org (Online)

บทความ “If You’re Not Failing, You’re Not Learning” จาก edutopia.org (Online)

บทความ “Using productive failure to activate deeper learning” จาก timeshighereducation.com (Online)

บทความ “We can take this powerful mechanism and deliberately design it to learn” จาก bold.expert (Online)

บทความ “Productive Failure” จาก lse.ethz.ch (Online)

บทความ “Discover the wonders of Productive Failure” จาก ial.edu.sg (Online)

บทความ “Productive Failure” จาก singteach.nie.edu.sg (Online)

บทความ “The role of failure in developing creativity in professional music recording and production” จาก sciencedirect.com (Online)

บทความ “Productive Failure in Virtual Language Learning for English” จาก ses.library.usyd.edu.au (Online)

Cover Photo: RDNE Stock project on Pexels

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก