เจมมา จอห์น (Gemma John) นักวิจัยและพัฒนาห้องสมุดทำการศึกษาสำรวจจุดเด่นจุดแข็งของห้องสมุดยุคใหม่จำนวน 34 แห่งจาก 11 เมืองใน 5 ประเทศ ได้แก่ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และนำมาถอดบทเรียนเขียนเป็นรายงานเรื่อง Designing Libraries in 21st Century: Lessons for the UK (2016)
เธอบอกว่า การออกแบบห้องสมุดนั้นไม่มีรูปแบบตายตัว ห้องสมุดแต่ละแห่งต้องสนับสนุนความต้องการที่ไม่เหมือนกันของผู้ใช้ในชุมชนของตน สถาปนิกและนักออกแบบตกแต่งภายในต้องมอบทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการด้วยการจัดวางองค์ประกอบสิ่งของต่างๆ ให้เคลื่อนย้ายง่าย การจัดพื้นที่เปิดโล่งช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถปรับใช้พื้นที่ตามที่ต้องการได้หลากหลายแบบ ซึ่งเอื้อให้เกิดการสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
หลักการออกแบบห้องสมุดยุคใหม่ คือ ‘เข้าถึงง่าย’ (accessible) ‘มองเห็นถึงกัน’ (visible) และ ‘ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนง่าย’ (flexible) แม้จะฟังดูดีแต่ก็นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน ห้องสมุดที่เปิดโล่ง จัดวางเฟอร์นิเจอร์แบบขยับเคลื่อนย้ายง่าย อาจเผชิญปัญหาเสียงดังรบกวนจากการใช้งานปกติหรือเมื่อมีการจัดกิจกรรมพิเศษ ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนการใช้งานประเภทต่างๆ อย่างระมัดระวัง
ห้องสมุดประชาชนกำลังวิวัฒน์จากพื้นที่เก็บหนังสือ (collection) มาเป็นพื้นที่เพื่อการเชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์ (connection) กลายเป็นสถานที่ปลดปล่อยความมีชีวิตชีวาของเมือง เธอจึงเห็นว่าการออกแบบห้องสมุดที่ประสบความสำเร็จคือการสร้างพื้นที่ให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงถึงกัน มองเห็นกันได้ง่าย ข้ามชั้นหรือข้ามพื้นที่
เธอให้ข้อแนะนำสำหรับการออกแบบและพัฒนาห้องสมุด สรุปเป็นวลีไว้จดจำสั้นๆ 3 ข้อ คือ
รู้ลึกรู้จริง (Keep it real) ด้วยการเก็บข้อมูลความต้องการของผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง สังเกตว่าพวกเขาใช้บริการอะไรบ้าง ในพื้นที่ใด และวิเคราะห์ลงลึกถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ ข้อมูลนี้จะช่วยในการตัดสินใจลงทุนหรือขอรับการสนับสนุนงบประมาณ
เพิ่มสิ่งดึงดูดน่าสนใจ (Keep it interesting) สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับห้องสมุดเพื่อสนองตอบรูปแบบการใช้งานหรือความสนใจของผู้ใช้ การปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยก็สร้างความแตกต่างได้ เช่น การติดไฟ LED เหนือชั้นหนังสือแบบเปิด ช่วยขับเน้นปกหนังสือให้ดูน่าสนใจมากขึ้น หรือการเปลี่ยนรูปแบบจัดวางเฟอร์นิเจอร์บริเวณโถงทางเข้าเพื่อสร้างความรู้สึกเชื้อเชิญมากขึ้น
จัดพื้นที่ให้เรียบง่าย (Keep it simple) ไม่จำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่โตก็ได้ พื้นที่ที่ประสบความสำเร็จที่สุด คือห้องสมุดซึ่งออกแบบเรียบๆ วางแปลนง่ายๆ และใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ซึ่งทุกวันนี้หาได้ง่ายมากในท้องตลาด เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้เจ้าหน้าที่ห้องสมุดสามารถสร้างสรรค์พื้นที่ได้สารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การทำงานร่วมกันไปจนถึงพื้นที่นั่งอ่านแบบเงียบๆ คนเดียว
เจมมายังทิ้งคำถามสำคัญไว้ให้ขบคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้คนในวิชาชีพห้องสมุดกับสถาปนิกหรือนักออกแบบ มีความเข้าใจในมุมมองการทำงานของอีกฝ่ายและสามารถทำงานร่วมกันได้ และทำอย่างไรจึงจะทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงเรื่องสำคัญ 2 เรื่องคือ หนึ่ง-การออกแบบอาคารและพื้นที่ห้องสมุดนั้นมีผลกระทบต่อการเรียนรู้และประสบการณ์ของคนที่เข้ามาใช้งาน และสอง-การปรับปรุงพัฒนาห้องสมุดประชาชนในวันนี้ส่งผลต่ออนาคตของผู้คนในวันพรุ่งนี้
เธอบอกว่าเราไม่อาจคาดการณ์อนาคตได้ถูกต้องเสมอไป แต่การออกแบบพื้นที่ห้องสมุดไม่ควรมองเพียงความเหมาะสมกับจุดประสงค์ของวันนี้เท่านั้น แต่จะต้องเหมาะสมกับอนาคตที่เราไม่มีทางรู้ได้อีกด้วย ประการหลังนี้เองที่เป็นความท้าทายของทั้งบรรณารักษ์และนักออกแบบ เพราะว่า ‘การคาดการณ์อนาคตมักจะมีส่วนที่ผิดพลาดเสมอ’ ดังนั้นจึงไม่มีคำตอบใดที่มั่นใจได้ว่าจะถูกต้องเสมอไป ในวันนี้เราจึงทำได้เพียงแค่ทดลองทำ และเรียนรู้ทำความเข้าใจกับผลลัพธ์ที่ออกมา เพื่อให้การพัฒนาห้องสมุดนั้นดีขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา
บทความ “Gemma John, Designing Libraries in 21st Century: Lessons for the UK, British Council, Winston Churchill Memorial Trust, 2016” จาก designinglibraries.org.uk (Online)
บทความ “Winston Churchill Fellowship: Designing Public Libraries | Blog | ADF” จาก design.britishcouncil.org (Online)