พอดแคสต์ (Podcast) คือไฟล์เสียงดิจิทัลสำหรับอุปกรณ์พกพา เทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2004 โดยมีบริษัทแอปเปิลเป็นผู้บุกเบิกอุปกรณ์ในยุคแรกๆ นั่นก็คือเครื่อง iPod และนับจากนั้นมาเครื่องเล่นคาสเซ็ตแบบพกพา ที่เรียกกันว่าวอล์คแมนหรือซาวด์อะเบาท์ ก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากยุคสมัย
ถ้าไม่นับคอนเทนต์เพลง จะเห็นได้ว่าดิจิทัลคอนเทนต์ในรูปแบบไฟล์เสียงมีอัตราการเติบเติบโตอย่างรวดเร็ว ต่างจากสื่อที่เป็นรูปภาพหรือวิดีโอ ความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องสัมพันธ์ไปกับเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น เช่น วรรณกรรม สารคดี รายการทอล์ก บทสัมภาษณ์ รายการตอบคำถามหรือแนะนำเคล็ดลับต่างๆ
พอดแคสต์เป็นสื่อที่ควรค่าแก่การลงทุนสำหรับองค์กร เพราะมีต้นทุนไม่สูงนัก แต่มีจุดแข็งมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
หนึ่ง อุปกรณ์ที่นิยมใช้ฟังพอดแคสต์ก็คือสมาร์ทโฟน ซึ่งมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย เข้าถึงง่าย มีขนาดเล็ก พกพาสะดวก สามารถนำติดตัวไปไหนมาไหนได้ระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เดินทาง ออกกำลังกาย หรือทำงานบ้าน พอดแคสต์จึงกลายเป็นสื่อที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ฟังจนบางครั้งกลายเป็นเพื่อนหรือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
สอง เสียงพูดในพอดแคสต์ที่ถูกส่งเข้าไปถึงโสตประสาทของผู้ฟัง ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันเหมือนกับการสนทนากันโดยตรง ผู้ฟังมีโอกาสเสพติดเนื้อหา กลายเป็นแฟนคลับผู้ดำเนินรายการ หรือมีความผูกพันกับแบรนด์ขององค์กรที่ผลิตพอดแคสต์โดยไม่รู้ตัว
สาม พอดแคสต์สามารถนำไปใช้กับสื่อเกือบทุกช่องทางหรือทุกแพลตฟอร์มที่องค์กรมีอยู่แล้ว ทั้งเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย อีเมล หรือบล็อก และมีต้นทุนการผลิตต่ำมาก สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอ แบบมีผู้ดำเนินรายการคนเดียว มีแขกร่วมรายการ รวมถึงสามารถอัดรายการไว้ล่วงหน้า หรือเป็นรายการสดที่เปิดให้ผู้ฟังร่วมมีปฏิสัมพันธ์ด้วยก็ได้
สี่ เนื้อหาพอดแคสต์ที่มีจุดเด่นและมีความเฉพาะตัว ทำให้กลุ่มผู้ฟังถูกจำแนกได้อย่างชัดเจน การคัดสรรเรื่องราวที่นำมาเผยแพร่ถ่ายทอดจึงมีความสำคัญมากและมีประโยชน์อย่างยิ่งกับการทำการตลาดขององค์กร เพราะพฤติกรรมของผู้ฟังพอดแคสต์คือคนที่สนใจในสาระเรื่องราวนั้นจริงๆ หากเนื้อหามีความคลุมเครือ กระจัดกระจาย ผู้จัดขาดความรู้จริง มุมมองและจุดยืนหรือทัศนะของผู้ผลิตไม่มีความชัดเจน ก็จะไม่สามารถสร้างกลุ่มก้อนของผู้ฟังได้ ในทางกลับกันหากเนื้อหาตรงใจตรงความต้องการ นอกจากผู้ฟังจะฟังเนื้อหาตั้งแต่ต้นไปจนจบแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะติดตามเนื้อหาตอนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องอีกด้วย ช่วยให้องค์กรสามารถทำการตลาดกับลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน ห้องสมุดหลายแห่งได้รวบรวมไฟล์เสียงพอดแคสต์ เพื่อเป็นคอลเลกชันสำหรับให้บริการประหนึ่งเป็นหนังสือเสียง (audio book) โดยจัดทำเป็นแอปพลิเคชันให้ใช้งานผ่านอุปกรณ์โมบาย หรือทำเป็นจุดบริการในห้องสมุดสำหรับดาวน์โหลดไฟล์
นอกจากนี้ ยังมีห้องสมุดหลายแห่งที่ได้พัฒนาเนื้อหาขึ้นเอง โดยใช้แอปพลิเคชันที่เข้าถึงได้อย่างสะดวก เช่น Soundcloud, Spotify, Apple Podcasts, YouTube เป็นการสร้างช่องทางให้บรรณารักษ์สามารถสื่อสารเรื่องหนังสือและการอ่านกับผู้ใช้บริการได้อย่างกว้างขวาง นอกเหนือไปจากการพบปะลูกค้าที่เคาน์เตอร์ให้บริการ
คลับเฮาส์ (Clubhouse) เป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อพอดแคสต์โดยตรง เนื่องจากสื่อสารด้วยเสียงเช่นเดียวกัน แต่เหนือกว่าด้วยการสื่อสารสองทางและเป็นเรียลไทม์ ผู้ฟังจะรู้สึกเหมือนนั่งฟังและสามารถร่วมพูดคุยอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นในห้องได้ทันที ในขณะที่พอดแคสต์ยังมีอารมณ์คล้ายการฟังวิทยุ
ความนิยมฟังพอดแคสต์จะลดลงจนหายไปเฉกเช่นสื่อดิจิทัลที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้า หรือว่าคลับเฮาส์เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่ววูบที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาติดตามกันต่อไป
ทีเคพาร์คเริ่มจัดทำรายการพอดแคสต์ ผ่านแพลตฟอร์ม TK Podcast มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ปัจจุบันมีเนื้อหามากกว่า 200 ตอน ผู้สนใจสามารถติดตามรับฟังรายการต่างๆ ได้ที่ The KOMMON หรือ อ่านเพิ่มเติม “ประโยชน์ 7 ประการของพอดแคสต์” ที่ learningtimes.com
ที่มา
เว็บไซต์ Why Podcasts? (Online)