สนามเด็กเล่นของเด็กแต่ละคนอาจมีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่าง แต่สิ่งที่ไม่ต่าง คือ ความรู้สึกสนุกที่เกิดจาก ‘การเล่น’ แน่นอนว่าสนามเด็กเล่นของเด็กในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บางแห่งก็มีวิสัยทัศน์ไปไกลกว่าแค่เครื่องมือให้ได้สนุกกับการเล่น แต่เป็นเครื่องมือให้ได้สนุกกับ ‘การเรียนรู้’
‘โรงเล่น พิพิธิภัณฑ์เล่นได้’ คือ พื้นที่แห่งการเล่นขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ ตั้งอยู่ในอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งอัดแน่นไปด้วยความสนุก เพราะมาจากความตั้งใจของ ปุ๊-วีรวัฒน์ กังวานนวกุล ที่เชื่อว่าการเล่นก็เป็นการเรียนรู้ได้ โดยมี จิ๋ว-วีรวรรณ กังวานนวกุล มาช่วยดูแลพื้นที่นี้ให้เป็นไปตามความเชื่อของปุ๊ ในฐานะนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้
ก่อนจะมาเป็นโรงเล่น พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นพิพิธภัณฑ์เล่นได้ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านที่ชักชวนกันมาทำของเล่นที่ตัวเองเคยเล่นเพื่อสะสมไว้ พอโยกย้ายมาจากที่เดิมในบริเวณด้านหน้าวัดป่าแดดมาอยู่ที่นี่ ปุ๊มองว่าเป็นแค่พิพิธภัณฑ์ยังไม่พอ แต่ต้องทำให้ของเล่นเหล่านี้มีชีวิตขึ้นมา จึงขยับขยายไอเดียและต่อยอดจนกลายมาเป็น ‘โรงเล่น’ ที่เชื่อว่าของเล่นยุคเก่ากับการเรียนรู้ยุคใหม่สามารถผสมผสานกันได้ และช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยในพื้นที่ด้วย
ในพื้นที่ของโรงเล่น มีทั้งพื้นที่ให้เล่นแบบไม่ต้องพึ่งพาสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นบ่อทรายกลางแจ้งที่ให้ทุกคนได้ลองไปขลุกตัวเล่นสนุก พื้นที่ปีนป่าย ลานสนามกว้างโล่งพร้อมให้ทุกคนวิ่งเล่น รวมไปถึงพื้นที่ให้หยิบจับของมาเล่น ทั้งของเล่นภูมิปัญญาชาวบ้าน ของเล่นไม้ หรือหนังสือนิทาน แถมด้วยมุมเมกเกอร์สเปซเล็กๆ ให้เด็กได้ลองคิด ได้ลองสร้างของเล่นตามจินตนาการแบบไม่มีกรอบกำหนด โดยทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นมีแนวคิดว่า ‘การเล่นเท่ากับการเรียนรู้’ เสมอ
โรงเล่น เป็นพื้นที่สำหรับใครก็ตามที่ไม่จำเป็นต้องเป็นวัยเด็ก แต่มีหัวใจที่สนใจเรื่องการเรียนรู้ การเล่น การศึกษา ทุนทางสังคม และเครื่องมือชุมชน เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่เพื่อความหลากหลายและพร้อมโอบรับทุกคนให้ได้มาทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
เรียนรู้ผ่าน ‘อิสระในการเล่น’
‘เรียนรู้ผ่านการเล่น’ อาจฟังดูเป็นประโยคที่ขัดแย้งกันอยู่ในที แต่ไม่ใช่กับที่โรงเล่น เพราะนี่คือประโยคที่เป็นแกนกลางของกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดในสถานที่แห่งนี้ ทุกตารางเมตรถูกออกแบบให้ทุกคนที่เข้ามาได้เล่นสนุก โดยหัวใจคือการ ‘ไม่จำกัด’ ว่าผู้เล่นจะมีอายุเท่าไหร่ ทั้งบ่อทรายกลางแจ้งที่พร้อมให้ตัวเลอะ ทั้งห้องเมกเกอร์สเปซที่พร้อมให้ได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ ตามใจนึก หรือมุมอ่านหนังสือที่นอนเอกเขนกอ่านได้ แม้แต่โรงครัวที่ได้สนุกไปกับการทำอาหารด้วย
สำหรับเด็ก ที่นี่เชื่อว่าถ้าเด็กๆ ที่เข้ามาเล่นมี ‘อิสระ’ มากพอ จะช่วยเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์จากวิธีการเล่นใหม่ๆ และได้เติมเต็มทักษะในทุกๆ มิติ ไม่ว่าจะทักษะด้านร่างกายที่ได้ขยับกล้ามเนื้อ ทักษะด้านอารมณ์ในการแสดงออกหรือสัมผัสกับความรู้สึกหลากหลายแบบ ไปจนถึงทักษะในมิติทางสังคมที่จะเกิดขึ้นเมื่อเล่นกันหลายๆ คน เด็กก็มีโอกาสจะได้เรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกับเพื่อน ได้เรียนรู้การเข้าอกเข้าใจ ไปจนถึงมารยาททางสังคมด้วยตัวเอง
ในฐานะกระบวนกร จิ๋วมองว่าการเล่นคือ ศักยภาพดั้งเดิมของเด็กๆ เพราะเด็กทุกคนเกิดมาชอบเล่นอยู่แล้ว นักสร้างกระบวนการเรียนรู้จึงเป็นแค่ผู้ออกแบบให้การเล่นนั้นเหมาะสมกับช่วงวัย เช่น 3-7 ขวบ เน้นระบายสีและวิ่งเล่น พอ 8-10 ขวบ ก็ขยับมาสร้างความท้าทายขึ้นผ่านการแจกโจทย์ให้ลองประดิษฐ์ข้าวของ ถ้าโตไปกว่านั้นเราอาจจำลองสถานการณ์ หรือพาเดินป่าเพื่อเรียนรู้และสำรวจแบบเข้มข้นขึ้น แต่ยังไม่ละทิ้งความสนุกไป
พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นว่าความสนุกกับอิสระในการเรียนรู้สามารถเดินไปด้วยกันได้
พื้นที่ที่ไม่เคยมีคำว่า ‘ห้าม’
สมัยเด็กหลายคนอาจเคยโดนพ่อแม่หรือครูที่โรงเรียนสั่งว่าห้ามทำสิ่งนั้น อย่าแตะสิ่งนี้ หยุดเดี๋ยวนี้นะ จนทำเอาเด็กบางคนโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่เกรงกลัวการทำอะไรบางอย่าง จนหมดโอกาสที่จะทดลองหรือสนุก
แต่สำหรับที่โรงเล่น คำว่า “ห้าม” “อย่า” “หยุด” คือ คำต้องห้ามในพื้นที่แห่งนี้ เพราะมีแนวคิดว่าคำเหล่านี้ว่าจะส่งผลให้เด็กๆ หยุดชะงักกับการเรียนรู้ และทำให้ความคิดสร้างสรรค์หดหาย โรงเล่นจึงไม่ได้แค่สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ทางกายภาพอย่างเดียว แต่ยังทำให้คนที่เข้ามารู้สึกปลอดภัยในการจะได้ลองทำ ลองเล่น ลองเรียนรู้ในแบบของตัวเองไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น แม้จะมีมุมอ่านหนังสือ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะหยิบไปอ่านที่อื่นไม่ได้ หรือถ้าจะเล่นของเล่นที่ต้องนำมาต่อกัน ก็ไม่ได้แปลว่าต้องต่อในแบบเดียวกันทั้งหมด การทำให้เด็กได้รู้สึกถึงอิสระผ่านการเล่นแบบนี้ จะช่วยให้เขาเติบโตไปเป็นคนที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก แต่ในความมีอิสระนี้เองก็ต้องสอดคล้องไปกับสังคมด้วย การได้เล่นด้วยกันกับผู้คนหลายๆ แบบ หรือแม้แต่การแชร์ของด้วยกัน ได้มีปฏิสัมพันธ์ พูดคุยกัน จะนำไปสู่การเป็น Active Citizen ที่เคารพพื้นที่ทางความคิดของกันและกันไปในตัว
พื้นที่เล่นที่ทำให้คน ‘ต่างวัย’ ได้เรียนรู้กันและกัน
อย่างที่บอกไปว่าโรงเล่นไม่ได้เป็นพื้นที่แค่ให้เด็กๆ แต่พร้อมเป็นพื้นที่ให้ผู้ใหญ่หัวใจวัยเยาว์ได้ลองกลับมาเป็นเด็กอีกครั้ง ซึ่งที่นี่จะมีของเล่นตั้งแต่ยุคสมัยเก่าๆ ให้คนสูงวัยหรือพ่อแม่ได้หวนนึกถึงความหลัง และเล่นกับลูกๆ ไปพร้อมกัน สนุกไปด้วยกัน เรียกว่าทั้งได้พาผู้ใหญ่ด้วยกันย้อนวัย ได้สานสัมพันธ์ครอบครัว เกิดเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่เด็กและผู้ใหญ่ได้มีจังหวะลดช่องว่างระหว่างวัยและคุยในภาษาเดียวกัน
นอกจากทำผ่านกิจกรรม ที่นี่ยังจริงจังเรื่องการลดช่องว่างระหว่างวัย จนเกิดเป็นหลักสูตรพัฒนาการบนฐานความผูกพันและพลังแห่งการเล่น ที่ให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองได้มาเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับเด็กๆ โดยมีความเชื่อว่าถ้าอยากให้เด็กโตมาเป็นแบบไหน ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างให้เห็นก่อน เน้นทำความเข้าใจผ่านการตั้งวงคุย และลองให้ผู้ใหญ่ไม่ว่าจะครอบครัว หรือแม้แต่ครูในโรงเรียน ได้มาเรียนรู้วิธีการเข้าอกเข้าใจเด็ก และเป็นพลังใจให้เด็กๆ ของพวกเขาเอง ผ่านการเล่นของเล่นด้วยกัน
Maker Space สำหรับทุกคนที่อยาก ‘ทดลองเล่น’
ห้องเมกเกอร์สเปซเล็กๆ ในโรงเล่น ถูกสร้างเอาไว้ให้ทุกคนได้มาทดลองสร้างสรรค์จากอุปกรณ์ที่แชร์ให้ใครก็เข้ามาใช้ได้ ภาพที่เกิดขึ้นคือทั้งครู ผู้อำนวยการ นักเรียน หรือแม้แต่ชาวบ้านที่สนใจแวะเวียนมาใช้พื้นที่ แลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ทั้งความรู้และวัตถุดิบให้กัน เช่น เมื่อไหร่ที่ชาวบ้านหรือครูบนดอยมีไม้เหลือเยอะ ก็จะแบ่งปันมาให้เด็กๆ ได้ลองทำของเล่น
พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นฐานทัพของเหล่าครู ที่อยากลองออกแบบสื่อการสอนของตัวเอง หรือเด็กๆ ในพื้นที่ได้มาเห็นนวัตกรรมหรือของเล่นใหม่ๆ จนเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างของเล่นจากจินตนาการของตัวเอง รวมถึงเป็นพื้นที่ลองผิดลองถูกของคนในชุมชนที่มีไอเดีย ยกตัวอย่างครั้งหนึ่ง เคยมีคนในชุมชนเข้ามาสร้างต้นแบบรถไฟฟ้าที่วิ่งในชุมชนได้ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่นี่ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ในพื้นที่ ต่อยอดเป็นเวิร์กชอป โดยที่เจ้าของโรงเล่นก็ร่วมออกงบประมาณสนับสนุนไปด้วย
มากไปกว่านั้น คือ เมื่อใครก็ตามสร้างอะไรสักอย่างเสร็จสมบูรณ์ และมีศักยภาพที่จะเป็นของขายได้ ที่นี่ก็พร้อมเป็นพื้นที่ให้วางจำหน่ายได้ด้วย เรียกว่า ทดลองกันตั้งแต่เป็นผู้ผลิตไปจนถึงผู้ประกอบการ
“สร้างพื้นที่เล่น จากสิ่งแวดล้อมของเราเอง”
“เราต้องรู้สึกสนุกก่อน” จิ๋วให้คำแนะนำ สำหรับคนที่อยากสร้างพื้นที่เล่นแบบเดียวกัน หรือพื้นที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในแบบอื่นๆ ก็ตาม
“ถ้าอยากทำ ก็มองให้เห็นก่อนว่า พื้นที่ของเราเป็นแบบไหน ตัวเราสนใจหรือชอบทำอะไร เราทำแล้วสนุกยังไง จริงๆ ไม่ต้องออกแบบให้เหมือนที่โรงเล่นก็ได้ เช่น สมมติคุณมีบ้านสวน ก็ลองออกแบบความสนุกจากการมีสวน ทำบ้านต้นไม้ให้คนปีนเล่นได้ไหม ถ้าบ้านติดทะเล ก็ออกแบบให้ได้สนุกกับการใกล้ชิดทะเล หรือที่บ้านมีหนังสือหรือมีนิทานเยอะ ก็เปิดบ้านให้เป็นห้องสมุดไปเลย ไม่ต้องกลัวว่าของจะพัง เพราะมนุษย์ทุกคนพร้อมเรียนรู้ หากเราสร้างกติการ่วมกัน”
จิ๋วเชื่อว่า ทุกคนเลี้ยงดูเด็กในสังคมไปด้วยกันได้ ผ่านการช่วยกันสร้างพื้นที่และบรรยากาศที่จะสนับสนุนให้พวกเขาได้รู้สึกปลอดภัยและมีอิสระที่จะจินตนาการหรือเรียนรู้ไปพร้อมกัน สิ่งเหล่านี้น่าจะนำพาพวกเขาไปสู่อนาคตใหม่ๆ ที่เราอาจจะจินตนาการไม่ถึงเลยก็ได้
Tiny Space, Big Learning โดย ili.U คอนเทนต์ซีรีส์จากเพจที่สนใจ Conscious Lifestyle ชวนไปสำรวจพื้นที่การเรียนรู้ขนาดเล็กที่เกิดจากคนตัวเล็กๆ ทั่วประเทศ ใส่ใจเรื่องการศึกษาในแบบฉบับของตัวเอง และพยายามขยายขอบเขตการเรียนรู้ไปจากห้องเรียนที่เคยชิน พื้นที่เหล่านี้มีอะไรให้เรียนรู้ แล้วคนทำได้บทเรียนก้อนใหญ่อะไรจากการสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน หลังจากนี้พบกันได้ทุกวันพฤหัสที่ 2 และ 4 ของเดือน