Play+Learn เล่นเรียนให้เพลินที่ ‘ป้ายรถเมล์’

18 views
June 23, 2022

ถ้านึกถึง ‘แหล่งเรียนรู้’ หลายคนอาจนึกภาพตอนไปทัศนศึกษากับโรงเรียนสมัยเด็ก นั่งรถหลับๆตื่นๆ ไปพิพิธภัณฑ์ลูกเต๋าปีละครั้งให้ได้ตื่นเต้น ส่วนตอนปิดเทอมบางบ้านอาจได้ตีตั๋วไปดูโอเชี่ยนเวิลด์ หรือที่เรียนปนเล่นอื่นๆ ตามกำลังทรัพย์

แต่เรารู้กันดีว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีมีทรัพยากรส่งเสริมการเรียนรู้ ไหนจะค่าตั๋ว ค่าข้าวนอกบ้าน ค่ารถ ไปจนถึงเวลาที่ต้องใช้ไปกับการเดินทาง เรื่องนี้กลายเป็นโจทย์ใหญ่ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆ ทุกคนเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ โดยที่พ่อแม่จะช่วยลูกเสริมทักษะนอกโรงเรียนได้ โดยที่ไม่ต้องเสียเงิน เสียเวลา และหนึ่งในคำตอบนั้นมาจากแนวคิดของ Thinkscape กับการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่ป้ายรถเมล์

เพราะป้ายรถเมล์คือพื้นที่ใกล้บ้านที่คนทุกเพศทุกวัย ทุกฐานรายได้เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องเสียเงิน และในระยะเวลาสั้นๆ ที่รอรถเมล์คือโอกาสในการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องหาเวลานอกตารางงานพาไปไหนไกล ยิ่งไปกว่านั้น ป้ายรถเมล์ยังเป็นพื้นที่ที่คนใช้กันอยู่แล้ว ไม่ต้องลงทุนจ้างคนเฝ้า ไม่ต้องประชาสัมพันธ์ เรียกว่าทำน้อยได้มากอย่างแท้จริง

คำถามถัดไปคงจะไม่พ้นเรื่องคุณภาพ แค่ ‘ป้ายรถเมล์’ จะเรียนรู้อะไรได้ขั้นนั้น เราอาจจะนึกถึงป้ายรณรงค์โตไปไม่โกง หรือป้ายรถเมล์มีทั้งชิงช้าและชั้นหนังสือที่จูร่ง สิงคโปร์ แต่ Thinkscape ไปอีกขั้นด้วยการวางแผนเติมเต็มป้ายรถเมล์ด้วยกิจกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาในระดับชาติ โดยเฉพาะด้านภาษา และทักษะ STEM (science, technology, engineering, and mathematics) ผ่านการใช้สิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นความคิด และล้อไปกับประสบการณ์การเรียนรู้ช่วงปฐมวัย

ป้ายรถเมล์เหล่านี้หน้าตาเป็นยังไง? คำตอบนั้นขึ้นอยู่กับบริเวณโดยรอบ ที่มีมากน้อยแตกต่างกัน ถ้าที่น้อยหน่อยอาจทำเกมแกนหมุนปริศนา (Puzzle Bench) ที่ประกอบกันเป็นรูปภาพ เสริมทักษะมิติสัมพันธ์ที่เป็นรากฐานของทักษะคณิตศาสตร์และการอ่านเขียน และกระตุ้นให้เกิดบทสนทนาระหว่างเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งช่วยพัฒนาการสื่อสารได้อีกเป็นต่อที่สอง หรือการสร้างโครงที่ทำให้เกิดเงาบนพื้นที่มีรูปร่างที่ต่างกันไปในแต่ละเวลา ที่กระตุ้นให้เด็กๆ ได้ดึงความสงสัยใคร่รู้ออกมา เป็นอิฐก้อนแรกสู่การเสริมสร้างการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต

หากบริเวณรอบๆ ป้ายรถเมล์มีพื้นที่อยู่บ้าง กิจกรรมที่ติดตั้งง่ายแต่ผลลัพธ์เกินคุ้ม คือ เกมกระโดดสลับขาตามรูปรอยเท้าบนพื้น ไม่ใช่แค่สนุกจนลืมไปเลยว่ากำลังรอรถเมล์ แต่ยังกระตุ้น EF คือการบังคับร่างกายให้ทำตามเงื่อนไขที่กำหนด หรือจะชวนกันนับรอยเท้าอีกก็ยังได้ อีกไอเดียคือปรับพื้นที่ให้สูงต่ำต่างกัน และติดตั้งคำใบ้เรื่องราวทั้งในภาษาเขียนและสัญลักษณ์ ให้เด็กๆ หลายช่วงวัยได้ปีนป่าย ฝึกทรงตัว พร้อมแตกหน่อจินตนาการผ่านภาษาให้ออกมาเป็นเรื่องราวสุดสร้างสรรค์ไปด้วย

สิ่งสำคัญในการวางแผนคือ ไม่ได้คิดปุ๊บทำปั๊บตามใจฉัน แต่มีการค้นคว้าบนฐานงานวิจัยด้านการเรียนรู้ และติดตามศึกษาการใช้งานจริงเปรียบเทียบก่อนและหลังการติดตั้ง เพื่อถอดบทเรียนร่วมด้วย ซึ่งผลลัพธ์พบว่า เกิดปฏิสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างเด็กและผู้ปกครองที่ใช้พื้นที่อย่างมีนัยสำคัญเชิงสถิติ โดยเฉพาะครอบครัวรายได้ต่ำซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของโครงการนี้ เพราะเมื่อมีป้ายทำหน้าที่ช่วยกระตุ้น เช่น “เห็นอะไรในภาพนี้กันนะ?” หรือ “รู้หรือไม่ ลูกพูดเก่งได้จากการเล่าเรื่องบ่อยๆ” ข้อความสั้นๆ นี้เองที่ช่วยจูนผู้ปกครองให้เข้าสู่โหมดชวนคิดชวนคุย และพื้นที่นี้ยังอาจช่วยปลดล็อกความคิดผู้ใหญ่หลายๆ คน ให้เห็นว่าการ ‘เรียน’ และ ‘เล่น’ นั้นซ้อนทับกัน ทำให้เข้าใจและเปิดรับแนวทางการจัดการศึกษาที่กว้างขึ้นได้ในอนาคต

สุดท้ายที่จะขาดไปไม่ได้ คือการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยรอบตั้งแต่ต้น เพราะความร่วมมือและแรงสนับสนุนคงไม่เกิด หากขาดความเข้าใจและเห็นความสำคัญ นอกเหนือจากประโยชน์ในเชิงการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยเฉพาะเมื่อวางแผนร่วมกันแล้ว พื้นที่เรียนรู้สะท้อนภาพ หรืออัตลักษณ์ของชุมชนนั้นๆ ออกมาได้ ก็ย่อมเป็นความยินดีของทุกฝ่าย และเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของที่จะช่วยกันดูแลพัฒนาร่วมกันเพื่อเด็กๆ และทุกคนต่อไป

ทำน้อยได้มากเป็นไปได้ ที่ป้ายรถเมล์ใกล้บ้านคุณ

Play+Learn เล่นเรียนให้เพลินที่ 'ป้ายรถเมล์'
Photo : Sahar Coston-Hardy, Playful Learning Landscapes


ที่มา

บทความ “Urban Thinkscape: Infusing Public Spaces with STEM Conversation and Interaction Opportunities” จาก tandfonline.com (Online)

บทความ “Urban Thinkscape” จาก playfullearninglandscapes.com (Online)

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก