เพื่อประชาชนทั่วไป คือความหมายของคำว่า สาธารณะ หากคุณค้นหาในพจนานุกรม
เช่นเดียวกันกับ SATARANA เครือข่ายภาคประชาสังคมกลุ่มหนึ่งที่เราอยากชวนมาพูดคุย
SATARANA ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับสาธารณะ ผ่านรูปแบบที่ถือเอา ‘ผู้คน’ และ ‘การมีส่วนร่วม’ เป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน เมื่อพบว่าสองสิ่งนี้ได้หายไปจากกระบวนการของภาครัฐเสมอ
SATARANA ร่วมงานกับหลากหลายหน่วยงาน สร้างผลงานมาแล้วหลายรูปแบบ ที่ถ้าเกริ่นออกไป คุณน่าจะร้องอ๋อ เช่น Trawell Thailand หยิบเอาการท่องเที่ยวมาเปลี่ยนแปลงชุมชน MAYDAY! ผลักดันขนส่งสาธารณะให้กลายเป็นตัวเลือกของทุกคน Locall Thailand อาสาส่งอาหารให้ร้านค้าในย่าน และ Attention.studio ออกแบบการสื่อสารประเด็นต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
เราพูดคุยกับ อุ้ม–วิภาวี กิตติเธียร หนึ่งในผู้ก่อตั้งท่ามกลางบรรยากาศโกลาหลของย่านท่องเที่ยวและการค้าส่ง ผู้คนจอแจ รถจักรยานยนต์วิ่งในซอยแคบ ร้านรวงเรียงกันแน่นขนัด เรียกได้ว่าชวนให้เห็นถึงความเป็น ‘สาธารณะ’ ชัดเจน ตั้งแต่สถานที่ตั้งของสำนักงานในย่านนี้ ไปจนถึงปฏิสัมพันธ์ของผู้คนรอบบริเวณ
ชวนทำความคุ้นเคยกับพวกเขาผ่านเรื่องเล่าตลอดการเดินทางในแบบ SATARANA และกระบวนการที่เชื่อมโยงให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างเมืองที่ตรงใจผู้ใช้ ผ่านการเป็น Active Citizen
ย้อนกลับไปก่อนปี 2016 ในช่วงที่มีเหตุการณ์ไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ทราบมาว่าตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ SATARANA เกิดขึ้น อยากรู้ว่าคุณมองเห็นอะไร
จริงๆ เริ่มจากที่เราสนใจการประกอบธุรกิจโฮสเทลก่อน เราตั้ง Once Again Hostel ขึ้นมาในย่านประตูผี (สำราญราษฎร์) เลยอยากจะสำรวจชุมชน อยากเป็นเพื่อนบ้านกับคนในย่าน ทางหนึ่งก็เพื่อเอาข้อมูลไปใช้ทำการตลาดด้วยว่าโฮสเทลเราใกล้กับสถานที่เหล่านี้นะ เป็นกิมมิกว่าถ้ามาพักที่นี่ คุณสามารถท่องเที่ยวชุมชนได้ และจากการลงพื้นที่ทำให้เราไปเจอชุมชนบ้านบาตร ชุมชนวังกรมฯ (ชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธ์) ชุมชนป้อมมหากาฬ และทำให้เราเจองานคราฟต์ที่น่าสนใจ เริ่มรู้สึกว่าอยากนำเรื่องราวเหล่านี้มาเป็นส่วนหนึ่งของกิจการเราให้ได้มากที่สุด ทีนี้ก็เริ่มจัดอีเวนต์พาเดินเที่ยวชุมชน เริ่มหยิบสิ่งของต่างๆ มาตกแต่งในโฮสเทล
ระหว่างทางที่ทำสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ เหตุการณ์ไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬก็เกิดขึ้น ตอนนั้นเราและทีมงานคุ้นเคยกับคนในชุมชนแล้ว ไปๆ มาๆ เราเลยทำหน้าที่เป็นคนกลางที่คอยเชื่อมทุกอย่างให้ชุมชน ซึ่งตอนแรกเริ่ม เราไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาชุมชน ไม่มีนักสังคมสงเคราะห์ ไม่มีนักวิชาการที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับเมืองหรือประเด็นพวกนี้เลย เราเริ่มจากศูนย์มาพร้อมๆ กับคนในชุมชน
ด้วยความที่ชาวบ้านก็คุ้นเคยกับเราแล้ว คนทั่วไปที่สนใจประเด็นนี้ก็ต้องการตัวกลางในการสื่อสาร เราเลยเป็นคล้ายๆ Facilitator คอยแมทชิ่งทุกคนให้เข้ามาสื่อสารประเด็นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกรมการพัฒนาชุมชนที่ขับเคลื่อนประเด็นการไล่รื้อในหลายพื้นที่ หรือผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่มีองค์ความรู้ในเรื่องนี้มาเลกเชอร์ให้ฟัง นอกจากนั้นก็คือการซัพพอร์ตชุมชน และช่วยหาแรงกระตุ้นในการผลักดันคนในชุมชน เมื่อเริ่มเกิดความรู้สึกขัดต่อนโยบายภาครัฐ เราจำเป็นต้องสร้างการต่อต้านที่ไม่ใช่แค่การประท้วง แต่สุดท้ายสิ่งที่เราทำได้ก็แค่ชะลอการไล่รื้อออกไป เพราะนโยบายมาค่อนข้างชัดเจน ถือเป็นเหตุการณ์ที่เราทำไม่สำเร็จ
แต่สิ่งที่ได้จากตรงนั้น คือการมานั่งทบทวนว่ากระบวนการทำงานและองค์ความรู้ที่เราได้จากเหตุการณ์นี้ สามารถขับเคลื่อนประเด็นเมืองเรื่องอื่นๆ ได้อีกมากมาย ไม่ใช่แค่กับป้อมมหากาฬ
เข้าใจว่า SATARANA ทำงานขับเคลื่อนหลากหลายประเด็น ในหม้อใหญ่ใบนี้มีอะไรบ้าง
อันแรกคือ Trawell ทำเรื่องการท่องเที่ยว โดยใช้กระบวนการแบบเดียวกับที่เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ป้อมมหากาฬมาทำให้การท่องเที่ยวชุมชนมีตัวตนที่ชัดเจนมากขึ้น เน้นไปที่การพัฒนาย่าน พัฒนาชุมชน คน และโปรดักต์
มอตโต้ของเราคือ When your travel makes a better city อยากให้การท่องเที่ยวทำให้เมืองดีขึ้น แต่เราไม่ใช่บริษัททัวร์ ไม่ได้เป็นไกด์ เราแค่อยากให้นักท่องเที่ยวที่เข้าไปแต่ละพื้นที่ช่วยพัฒนาศักยภาพคนในพื้นที่ได้ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการ Digitalize ตัวเอง หรือว่าการที่คนในชุมชนเริ่มทำการสื่อสารบางอย่างได้ เช่น ทำเมนูที่เข้าใจง่าย ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถสั่งได้ เรารู้สึกว่าอันนี้คือการที่เมืองพัฒนาได้จากการท่องเที่ยว
ต่อมาเรามี MAYDAY! ทำเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ ด้วยการใช้ User Experience ในการออกแบบ ซึ่งพอเอาปัญหาขนส่งทั้งหมดมากางดูเป็นภาพใหญ่ เราเห็นปัญหาเยอะมาก แต่ทีมเราเล็กเกินกว่าจะไปทำทั้งหมดได้ ผลงานส่วนใหญ่เลยจะเป็นการสื่อสาร เราอยากให้ผู้ใช้งานมีสิทธิออกแบบการเดินทางของตัวเองได้ เพราะปัญหามันคือช่องว่างของบริการการขนส่งที่มันอาจจะเล็กนิดเดียว แต่ก็ทำให้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงระบบ เช่น คนไม่รู้ว่าจะขึ้นรถเมล์สายไหน ก็ไม่ขึ้นสิ (หัวเราะ) หรือคนไม่รู้ว่าจะบริหารจัดการเวลาในการใช้ขนส่งสาธารณะได้ยังไง
เรามี Locall ที่เกิดขึ้นมาในช่วงโควิด เนื่องจากว่าโฮสเทลเราปิด และสิ่งที่เราเห็นคือในซอยนี้ (ซอยสำราญราษฎร์) ร้างมาก เพราะร้านอาหารเขาไม่ได้เข้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เราเลยทำตัวเป็นเหมือนลูกหลานที่อาสาส่งอาหารให้ ผ่านการรับออร์เดอร์ในไลน์แอดของ Locall แต่พอโควิดซาลง และรัฐบาลมีแอปฯ คนละครึ่ง ออกมา ปรากฏว่าคุณลุงคุณป้าในซอยเริ่มใช้สมาร์ทโฟนกันแล้ว มันเลยไม่ได้มีประเด็นอะไรที่ต้องขับเคลื่อน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ย่านอื่นๆ มีความสนใจที่จะ Digitalize ตัวเอง เราก็มีเครื่องมือสำหรับเรื่องนี้อยู่
และเรามี Attention ที่ทำเรื่องการสื่อสารโดยเฉพาะ เพราะเราพบว่าสุดท้ายแล้วผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงหรือการขับเคลื่อนเมืองจำเป็นต้องใช้งานออกแบบจำนวนมาก Attention เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยคนที่ไม่สามารถสื่อสารเรื่องราวของพวกเขาได้ เช่น กลุ่มคนตัวเล็ก หรือกลุ่มคนที่กำลังมีปัญหาในการผลักดันประเด็นบางอย่างอยู่ เช่น ตอนที่มีการขีดเส้นรอบเทือกเขาบูโดใหม่ให้เป็นเขตอุทยาน แต่ตรงนั้นเดิมมีหมู่บ้านมีชุมชนที่อยากจะส่งเสียงออกมาว่าพวกเขาคือคนที่เป็นมิตรกับป่ามาตลอด ไม่ใช่ผู้รุกราน การขีดเส้นอุทยานขึ้นมาใหม่ทำให้พื้นที่อยู่อาศัยกลายเป็นพื้นที่รุกราน เราก็เข้าไปทำเรื่องการสื่อสารให้เขา
ส่วนโฮสเทลที่ทำอยู่ ทั้ง LUK Hostel และ Once Again Hostel เรายึดเรื่อง Inclusive Business คือทำกิจการที่นับรวมเพื่อนบ้านเข้ามาด้วย เช่น ส่งผ้าของโฮสเทลไปซักกับคุณป้าในซอยข้างๆ หาแม่บ้านจากคนในย่าน อาหารก็ใช้วัตถุดิบจากย่านนี้ วัตถุประสงค์หลักไม่ได้แค่อยากเป็นคนดีและเป็นมิตรกับสังคมอย่างเดียว แต่มันประหยัดและสะดวกกว่าด้วย
ทำไม SATARANA ต้องแบ่งตัวเองออกเป็นหลายยูนิต
จริงๆ ทีมทำงานหลังบ้านเป็นทีมเดียวกันหมด แต่หน่วยงานที่เราร่วมทำด้วยมีความหลากหลายมากๆ และความบูรณาการและการส่งต่อกันของภาครัฐยังค่อนข้างน้อย ทำให้เราต้องแนะนำตัวเองในหลายยูนิต อย่างภาคการท่องเที่ยวและชุมชนจะจำเราในบทบาท Trawell ขสมก. (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) อาจจะจำเราในชื่อ MAYDAY! ส่วน SATARANA จริงๆ แอบตั้งไว้สำหรับหน่วยงานที่อาจจะยังไม่มีมิชชันที่แมตซ์กัน เช่น อบรมข้าราชการหัวข้อวิธีการบริการสาธารณะควรมีมายเซ็ตยังไง เราก็จะไปในชื่อนี้ (หัวเราะ)
ไม่ได้ติดว่าใครจะต้องจดจำเราภายใต้แบรนด์ไหน
เราไม่ห่วงว่าแบรนด์จะสื่อสารกับคนไหม เพราะเราเอาประเด็นปัญหาเป็นเฮดไลน์ และหาคนที่อินกับเรื่องนั้นๆ มาทำ ดังนั้น คนจะไม่ได้สนใจหรอกว่าเราคือ Trawell หรือ MAYDAY! แต่จะจำว่ารอบนี้เรามาด้วยเรื่องอะไรมากกว่า
หัวใจของทีมสาธารณะคือการมีส่วนร่วม หรือที่คุณเรียกว่า Citizen-centric Process ขยายให้ฟังหน่อยว่าคืออะไร
เหตุการณ์ป้อมมหากาฬคือครั้งแรกๆ ที่เรารู้สึกว่าอำนาจการตัดสินใจที่มาจากฝ่ายใดฝ่ายเดียวมันไม่ใช่การออกแบบเมืองร่วมกัน หมายความว่าคนที่อยู่อาศัยมาก่อน คนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ในความรู้สึก Sense of Belonging กระทั่งคนที่ใช้รถเมล์ตลอด ไม่ได้รู้สึกว่าความคิดเห็นของเขามีน้ำหนัก ทีนี้เราจะทำยังไงให้ Small People มารวมกันแล้วเกิดการขับเคลื่อนขึ้นมาได้
ยกตัวอย่าง คนขึ้นรถเมล์ทุกวันเขารู้ว่ารถเมล์ควรปรับปรุงอะไรบ้างเพื่อการใช้งานที่ดีขึ้น แต่สุดท้ายน้ำหนักของความคิดเห็นจากภาคประชาชนมันต่ำมาก เมื่อเทียบกับระดับนโยบายรัฐที่พุ่งเข้ามา
จริงๆ การพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี หรือเทรนด์ใหม่ๆ ของโลกต่างให้ความสำคัญกับ User Experience คือการหาเซอร์วิสที่แมตช์กับพฤติกรรมของผู้ใช้งานจริง ซึ่งมันตรงกับสิ่งที่เราคิดพอดีว่า Citizen-centric ของเรานี่แหละคือการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ใช้ อย่างการทำป้ายรถเมล์ก็เป็นวิธีคิดเดียวกันกับการออกแบบ Interface ของเฟซบุ๊กเลย คือทำยังไงให้คนอ่านปราดเดียวแล้วรู้เรื่อง แค่ต้องทำให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น ถามจากคนใช้งานว่าเซอร์วิสเหล่านี้ควรจะมีหน้าตาเป็นแบบไหน
อีกอย่างเรารู้สึกว่าเอาต์พุตของเรามันต้องไปตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ แต่ตัวเราไม่ได้ไปอยู่ตรงนั้นยี่สิบสี่ชั่วโมง ฉะนั้นเราไม่มีทางรู้เลยว่าสิ่งที่เราเอาไปติดตั้งมันไปกระทบหรือทำให้ใครเดือนร้อนบ้าง สมมติว่าตอนติดตั้งก็ไม่บังหน้าร้านใคร แต่พอหลังเที่ยงคืนจะมีแม่ค้ามาขายของตรงนั้น ทำให้ไปบังพื้นที่เขาโดยที่เราไม่รู้ เราเลยต้องพยายามหาปัจจัยทั้งหมดที่แวดล้อมเท่าที่จะเป็นไปได้
สำหรับเรา นโยบายรัฐไม่ได้ขัดกับความต้องการของคนเสมอไป แต่ในรายละเอียดต่างหากที่ไม่ตรงกัน อธิบายง่ายๆ คือสิ่งที่ทีมเราคิด เราสามารถหาทุนจากโครงการของรัฐมาตอบโจทย์ได้ทั้งหมดเลย หมายความว่ารัฐและเราอยากพัฒนาเรื่องนี้เหมือนกัน เพียงแต่วิธีการหรือระบบการทำงานของหน่วยงานรัฐทำให้มีคนตกหล่นระหว่างทาง ประชาชนเข้าถึงไม่ได้ เข้าถึงไม่ทัน ถามว่ารัฐอยากฟังความคิดเห็นประชาชนไหม อยากสิ แต่เป็นการรับฟังความคิดเห็นแบบประเมินระดับคะแนนความพึงพอใจ 5 คะแนน ดีมาก ดี ปานกลาง พอใช้ ต้องปรับปรุง เราในฐานะคนทำงานเข้าใจว่าเขารู้ว่าต้องเข้าใจผู้ใช้และต้องรับฟังความคิดเห็น แต่วิธีการอาจจะยังไม่เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานจริง
การเข้าถึงคนในพื้นที่หรือเข้าใจประเด็นปัญหาในแบบ SATARANA มีวิธีการอย่างไร
เรามีรูปแบบเครื่องมือที่เป็นอิมเมอร์ซีฟ เซอร์เวย์ คือเวลามีประเด็นอะไรขึ้นมา เราให้ทีมไปคลุกคลีอยู่กับประเด็นนั้น ลงพื้นที่สักเดือนหนึ่งแล้วค่อยตกตะกอนออกมาว่าได้อะไรบ้าง พยายามจะเจอผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มากที่สุด ซึ่งการไปอยู่นานๆ ทำให้เราเห็นครบทุกตัวละครว่าเรื่องนี้มีใครบ้าง ได้เห็นประเด็นต่างๆ ก่อนจะเลือกหยิบขึ้นมาคิดต่อว่าควรจะแก้อะไร และแก้อย่างไร
แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อน ก็ไม่ถึงกับเดินไปเคาะประตูทุกบ้าน แต่เราจะเข้าไปหาประธานชุมชน เทศบาล หรือคนที่ดูเป็นตัวละครสำคัญในพื้นที่นั้นๆ คือสภากาแฟอยู่ตรงไหน เราจะไปนั่งตรงนั้น ทำให้ตัวเองเข้าใจพื้นที่ด้วยการกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ให้ได้มากที่สุด
คุณเจอการตอบรับจากคนในพื้นที่ในรูปแบบไหนยังไงบ้าง
เวลาลงพื้นที่เรามักได้เจอกับ Active Citizen คือคนที่มีไอเดียมากมาย อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน การตอบรับในช่วงเริ่มต้นงานมักจะดีเสมอ แต่ด้วยระยะเวลาที่นานกว่าจะจบงาน การบูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่นที่จะเอาผลลัพธ์ไปดำเนินการต่อและงบประมาณจากภาครัฐก็ค่อนข้างจำกัด บางทีทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว เหลือขั้นตอนการผลิตที่ไม่มีสตางค์มาทำ อันนี้เราสร้างคอมมิทเมนต์ด้วยลำบากมาก
หลายครั้งที่คนในพื้นที่ให้ความร่วมมือดี ทั้งผลักทั้งดันกันเต็มที่ แต่พอจะทำให้เกิดขึ้นจริง กลายเป็นเรื่องของปีงบประมาณที่ไม่ได้รับการอนุมัติ หรือภาคส่วนที่ใหญ่กว่านั้นยังไม่เห็นว่าสิ่งนี้ควรต้องทำทันที พอปล่อยให้รอกันไปสักปีสองปี Active Citizen ก็เริ่มเกิดความสงสัยว่ามันจะทำได้จริงใช่ไหม
Active Citizen สำหรับคุณคืออะไร ต้องทำอะไรแค่ไหนถึงนับว่าแอคทีฟ
จริงๆ วัดได้หลายระดับ แต่สำหรับเรารู้สึกว่าถ้ามีประเด็นขึ้นมา แค่คุณเข้าร่วมเราก็นับเป็นหนึ่งใน Active Citizen แล้วนะ (หัวเราะ) เพราะคุณอยากแชร์ร่วมกัน อันนี้เป็นสเต็ปแรกที่คุณก้าวเข้ามา ภาพไกลกว่านั้นคือการระดมไอเดียและช่วยกันขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเด็นนั้นๆ เป็นเรื่องสาธารณะให้ได้
จากการเซอร์เวย์พูดคุยกับคน เรารู้สึกว่าแต่ละคนมีไอเดียมากมายอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องหาอะไรไปช่วยจุดประกายให้เขารู้สึกว่าเขาพูดได้ และเสียงของเขามีความหมายที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนต่อไป
ถ้ารัฐที่เป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่สาธารณะไม่เปิดประตูให้คนเข้าไป ต่อให้เราแอคทีฟยังไงก็ไม่เกิดอะไรขึ้นมา สุดท้ายกลายเป็นว่าการแอคทีฟก็คือการปิดถนนอย่างเดียว เรามองว่ารัฐไม่ควรฟังผู้เชี่ยวชาญแค่ไม่กี่คน แต่ควรจะฟังคนทั่วไปด้วย ซึ่งการจะให้ภาคประชาชนเข้ามาอยู่ในกระบวนการ มันทำงานยากขึ้นอยู่แล้ว เพราะต้องฟังคนจำนวนมากและเอาข้อมูลจำนวนมหาศาลไปย่อยออกมา แต่ถ้าทำให้ทุกคนมี Awareness ในเรื่องนี้ว่าความเห็นของเรามันคือสิทธิที่กำหนดได้ว่าพื้นที่สาธารณะควรจะออกมาเป็นอย่างไร จะเกิดประโยชน์มากๆ
เราเชื่อว่าทุกคนจะเป็น Active Citizen ได้ก็ต่อเมื่อเขารู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิในการออกแบบพื้นที่สาธารณะนั้นด้วย เราจะมีพลเมืองที่แอคทีฟเต็มไปหมด เพราะทุกคนมีสิ่งที่อยากพูด และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนอยู่แล้ว
นอกจากนโยบายภาครัฐไม่เอื้อ ยังมีอะไรอีกไหมที่ทำให้เราหลุดจากการเป็น Active Citizen
รสนิยมของชนชาติเราก็ส่วนหนึ่ง สังเกตว่าเรามีรั้วมีประตูสูงมากในทุกพื้นที่ สถานที่ราชการ โรงพยาบาลรัฐ กว่าจะเข้าไปถึงตัวอาคารได้ ต้องเจอทั้งรั้วและที่กั้น เพราะเราหวงแหนความเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ในอีกทางหนึ่งเพราะเรารู้สึกไม่ปลอดภัย ในบางสถานที่ลองคิดว่าถ้าถอดเอารั้วเอากำแพงออก ฟุตบาทจะกว้างขึ้น เมืองจะสวยขึ้นมาก สิ่งนี้ตรงกับคำว่าพื้นที่สาธารณะ คือการใช้พื้นที่ร่วมกัน ตัวอย่างของการมีรั้วมีประตูที่แน่นหนาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงยังเป็นเรื่องที่ยากอยู่
สิ่งที่คุณทำได้เข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือทำให้คนที่มองว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเขา ให้กลายเป็น Active Citizen ได้อย่างไร
ถ้าเราอ่านแค่ชื่อโครงการรัฐ เราอาจจะรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเราหรอก (หัวเราะ) อย่างตอนที่เราทดสอบการให้ข้อมูลของป้ายรถเมล์ เราทำแบบสอบถามให้คนรู้สึกว่าเขาสามารถตอบได้ทุกคน เราถึงจะได้อินพุตจริงๆ เช่น คุณระบุทิศเหนือจากที่ที่คุณยืนอยู่ได้หรือเปล่า พอทำแบบสำรวจออกมาพบว่าเก้าสิบเปอร์เซนต์ ไม่มีใครระบุได้ว่าทิศเหนืออยู่ทางไหนจากจุดที่ที่ตัวเองอยู่ กลายเป็นว่าดีเทลเล็กๆ แบบนี้แหละที่ควรจะเอามาแตกเป็นคำถามที่สะท้อนพฤติกรรมของผู้ใช้ได้จริงๆ
หรือล่าสุดที่ทีมเราเพิ่งทำมา เริ่มจาก WWF (องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล) มีวัตถุประสงค์ต้องการลดปริมาณขยะลงสู่ทะเล เราเลยลงไปทำที่เทศบาลหาดใหญ่ แต่อยู่ดีๆ ถ้าคุณเดินเข้าไปบอกร้านค้าในตลาดกิมหยงว่าเราจะชวนลดปริมาณขยะนะคะ (หัวเราะ) ก็คงไม่มีใครอยากคุยด้วย
แทนที่จะเข้าไปด้วยคำใหญ่ๆ แบบนั้น เราต้องเอาดีเทลไปชวนเขาคุย เช่น ขยะที่คุณป้าทิ้งเป็นประจำทุกวันคืออะไร เพราะร้านค้าส่วนใหญ่ผลิตขยะประเภทเดิมจากโปรดักต์เดิมๆ ตรงนี้จะทำให้เราเริ่มเห็นประเภทขยะ เส้นทางของขยะ กลายเป็นว่าพอจัดการขยะถูกต้อง คุณป้าก็ทำงานง่ายขึ้น ซึ่งตอนแรกเขาอาจจะไม่เข้าใจหรอก แต่หน้าที่ของเราคือการเอาประเด็นยากๆ มาตีความให้เป็นเรื่องในชีวิตประจำวันของคน ซึ่งทุกโจทย์มันคือวิถีชีวิตหมดเลย เพียงแต่ต้องทำให้เขาเข้าใจให้ได้
7 ปีที่ผ่านมา ในนามของ SATARANA คุณได้เรียนรู้อะไร
(หยุดคิด) เราได้เรียนรู้เรื่อง Human Change ว่าคนทุกคนเปลี่ยนไปตลอดเวลา ชุมชนก็เปลี่ยนได้ ประเด็นเมืองก็เปลี่ยนไปเสมอ เพราะฉะนั้นโครงสร้างอะไรหลายๆ อย่างก็ต้องปรับเปลี่ยนได้ ไม่ใช่แค่เพราะว่าคนไทยเป็นคนแบบนี้เลยเปลี่ยนไม่ได้ เราไม่ควรมองความเป็นไปไม่ได้ใหญ่เกินไป อย่างที่พูดเรื่องการ Digitalize ของกลุ่มคนที่ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนเลย ตอนนี้มันก็เกิดขึ้นแล้ว เราแค่ต้องหาตัวทริกเกอร์อะไรบางอย่าง เพื่อจะสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นให้เกิดขึ้นจริงๆ