เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองหลวงแห่งโอลิมปิก’ เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) และยังเป็นที่ตั้งของแหล่งเรียนรู้ว่าด้วยการแข่งขันโอลิมปิก ได้แก่ ศูนย์ศึกษาโอลิมปิก ห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์
ปิแอร์ เดอ กูแบร์แต็ง (Pierre de Coubertin, ค.ศ. 1863-1937) ชาวฝรั่งเศส ซึ่งสนใจเรื่องกีฬากับการพัฒนาคน ผู้ก่อตั้ง IOC กล่าวไว้ว่า “สิ่งสำคัญที่สุดในการแข่งขันโอลิมปิก ไม่ใช่ชัยชนะ แต่คือการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง สิ่งสำคัญในชีวิต ไม่ใช่การห้ำหั่น แต่คือการได้สู้กันอย่างสมศักดิ์ศรี”
เขาคือผู้จุดประกายให้เกิดพิพิธภัณฑ์โอลิมปิกขึ้นในปี 1993 เพื่อพาผู้ชมไปรู้จัก ‘ขบวนการโอลิมปิก’ (Olympic Movement) และคุณค่าของโอลิมปิกที่ไปไกลกว่าเกมกีฬา ครอบคลุมเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เทคโนโลยี จริยศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ และสังคมวิทยา
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร มีการจัดแสดงวัตถุที่เกี่ยวกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกกว่า 1,500 ชิ้น ภาพถ่ายกว่า 5,000 ภาพ และสื่อโสตทัศน์กว่า 150 รายการ ไฮไลท์ที่น่าสนใจ เช่น การจัดแสดงคบเพลิงกว่า 50 อันที่ใช้จุดเปลวไฟในการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 1936 การฉายภาพยนตร์บนหน้าจอ 180 องศา ซึ่งถ่ายทอดทุกอารมณ์ความรู้สึกและเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังของนักกีฬา หลายนิทรรศการใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (immersive technology) เพื่อให้ผู้ชมได้ทดลองสัมผัสประสบการณ์เดียวกับผู้เข้าแข่งขัน
สวนด้านนอกมีประติมากรรมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากปรัชญาโอลิมปิกกว่า 40 ชิ้นติดตั้งอยู่ทั่วบริเวณ ผู้มาเยือนจะต้องเดินขึ้นบันได 97 ขั้น เพื่อขึ้นไปยังบริเวณสวน ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับความเหนื่อยยากของนักกีฬากว่าจะได้ก้าวขึ้นไปยืนอยู่บนแท่นรับเหรียญรางวัล และถ้ายังรู้สึกอินไม่พอ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีลู่วิ่ง 100 เมตร ที่รอคอยทุกคนมาทำลายสถิติของยูเซน โบลต์ (Usain Bolt) นักวิ่งชื่อดังชาวจาเมกา
ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม – 21 พฤศจิกายน 2021 พิพิธภัณฑ์โอลิมปิกจัดนิทรรศการพิเศษ ‘Tokyo 2020’ ให้ผู้เยี่ยมชมได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดมหกรรมกีฬาระดับโลกครั้งนี้ ไฮไลท์คือนิทรรศการ ‘Sport X Manga’ นำเสนอเรื่องราวของมังงะญี่ปุ่นที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับกีฬา ในฐานะวัฒนธรรมป๊อปที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อแวดวงกีฬาญี่ปุ่น และสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอเรื่องราวของโตเกียวและสถานที่ที่มีชื่อเสียง รวมทั้งกีฬาชนิดใหม่ๆ ที่ถูกบรรจุไว้ในการแข่งขัน มีกิจกรรมเวิร์กชอป ‘The Lausanne-Tokyo AR’ สนับสนุนให้นักเรียนนำภาพที่ได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นและ Tokyo 2020 นำมาสร้างสรรค์เป็น ‘Augmented collage’ ส่วนด้านนอกพิพิธภัณฑ์ ถูกเปลี่ยนให้มีบรรยากาศแบบสวนเซ็น มีบ่อปลาคาร์พและดอกซากุระบานสะพรั่ง และมีเกมที่นำพาผู้ชมไปสัมผัสประสบการณ์ในสนามกีฬาแห่งชาติโตเกียวแบบ 360 องศา
และเพื่อเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ผู้รับชม พิพิธภัณฑ์ได้มีการจัดทำแอปพลิเคชัน ‘The Olympic Museum in AR’ ที่นำพาผู้เข้าชมไปสัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงในประเทศญี่ปุ่น มีฟีเจอร์ที่เพิ่มความตื่นตาตื่นใจให้กับการรับชมนิทรรศการ ‘Sport X Manga’ ส่วนด้านนอกพิพิธภัณฑ์ หากดูหน้าจอผ่านแอปพลิเคชัน เราจะได้เห็นภาพบรรยากาศแบบสวนเซ็น มีบ่อปลาคาร์พและดอกซากุระบานสะพรั่ง รวมทั้งมีเกมที่นำพาผู้ชมไปสัมผัสประสบการณ์ในสนามกีฬาแห่งชาติโตเกียวแบบ 360 องศา
ชมคอลเลกชันออนไลน์ของพิพิธภัณฑ์โอลิมปิก ได้ที่ artsandculture.google.com
ที่มา
บทความ “THE OLYMPIC MUSEUM” จาก myvaud.ch (Online)
บทความ “the olympic museum” จาก villars-diablerets.ch (Online)
บทความ “The Olympic Museum” จาก artsandculture.google.com (Online)
เว็บไซต์ Olympics Museum (Online)