ไม่ใช่เพื่อผลกำไร: ทำไมประชาธิปไตยต้องการมนุษยศาสตร์?

1,116 views
5 mins
July 22, 2021

          ช่วงเดือนเมษายนปี 2561 มีกระแสข่าวการยุบภาควิชาปรัชญาของมหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตัวผมเองมีโอกาสเขียนสกู๊ปข่าวเรื่องนี้ มันไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในไทย มหาวิทยาลัยทั่วโลกดูเหมือนจะลดความสำคัญของวิชาสายมนุษยศาสตร์และศิลปะเช่นกัน

           เหตุผลพื้นฐานคือมันเป็นวิชาที่ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ตอบโจทย์ตลาด และไม่สร้างรายได้

           มาร์ทา นุสบาม (MARTHA C. NUSSBAUM) นักปรัชญาหญิงเพียงหนึ่งเดียวที่ติด Top 10 ผู้ที่ผลงานของเธอได้รับการอ้างอิงมากที่สุดในอเมริกาเหนือ ไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว ผลักดันให้เธอเขียน ‘NOT FOR PROFIT: WHY DEMOCRACY NEEDS THE HUMANITIES’ หรือ ‘ไม่ใช่เพื่อผลกำไร: ทำไมประชาธิปไตยต้องการมนุษยศาสตร์?’ เพื่อโต้แย้งว่า การละเลยสาขาวิชานี้ส่งผลเสียมากกว่าดี และเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย

           เธอไม่ได้ปฏิเสธความสำคัญของสาขาวิชาด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การแบ่งขั้วหยาบๆ เป็น 2 ฝักฝ่าย แต่นุสบามพยายามสร้างข้อถกเถียงและชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างศาสตร์ 2 สาย การสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนามนุษย์ในฐานะปัจเจกที่มีเหตุผล เรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเป็นพลเมืองของโลก มิใช่ของพรมแดนใดโดยเฉพาะ

           “ความสามารถในการคิดและการจินตนาการ ซึ่งทำให้เราเป็นมนุษย์ และทำให้ความสัมพันธ์ของเราเป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่รุ่มรวย มากกว่าจะเป็นความสัมพันธ์ของการใช้ประโยชน์จากกันและกันและปลุกปั่นกันและกัน”

           เป็นที่ชัดเจนว่าแนวคิดของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่สืบเนื่องจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติมุ่งไปยังทิศทางไหน ตัดเรื่องวาระทางการเมืองออกไป ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและการส่งเสริมธุรกิจ New S-curve เรียกร้องการสร้างบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อรองรับตลาดและนักลงทุน นุสบามเห็นว่ามันยิ่งจำเป็นต้องมีส่วนผสมของวิชาสายมนุษยศาสตร์และศิลปะ เพื่อเพิ่มความคิดเชิงวิพากษ์ จินตนาการ และอารมณ์ที่มีคุณธรรม (นุสบามเป็นนักปรัชญาสาย Aristotelian ซึ่งเป็นแนวคิดจริยศาสตร์คุณธรรมหรือ Virtue Ethics ที่มองว่าอารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของจริยศาสตร์) ไม่อย่างนั้นเราจะได้บัณฑิตที่เชื่องและคิดตามกัน

           “เสรีภาพในการคิดของนักเรียนนักศึกษาเป็นเรื่องอันตราย ถ้าสิ่งที่รัฐต้องการคือคนงานที่มีทักษะทางเทคนิคและว่านอนสอนง่าย เพื่อดำเนินงานตามแผนของชนชั้นนำที่หมายตาการลงทุนจากต่างชาติและการพัฒนาทางเทคโนโลยี”

           นุสบามยังเรียกร้องให้มีการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่เน้นการคิดวิพากษ์ ประวัติศาสตร์ที่มองเห็นความเชื่อมโยงกันของผู้คน กว้างไกลกว่าเขตแดนประเทศ และไม่จมปลักกับลัทธิชาตินิยม เธอยกตัวอย่างหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ของอินเดียที่แต่งโดยพรรคภารติยะ ชนะตะ (BJP) พรรคชาตินิยมฮินดู ซึ่งเสนอแต่เรื่องราวความยิ่งใหญ่ของอินเดีย ปัญหาใดๆ ก็ตามในอินเดียล้วนมีต้นตอจากคนนอกและคนในที่ต่างชาติต่างวัฒนธรรม

           “ชาตินิยมที่ก้าวร้าวต้องการสำนึกทางศีลธรรมที่ทึ่มทื่อ” คือคำกล่าวของรพินทรนาถ ฐากูร ที่นุสบามยกมา

           เราเห็นตัวอย่างการสอนประวัติศาสตร์ทำนองนี้ได้ไม่ใกล้ไม่ไกล ผลของมันโหดร้ายและน่ากลัว

           “การหลงคิดว่าสังคมของเราบริสุทธิ์ผุดผ่อง มีแต่จะนำไปสู่การก้าวร้าวรุนแรงต่อคนนอกและมองไม่เห็นความรุนแรงที่กระทำต่อคนในสังคม”

           นอกจากนี้ นุสบามยังส่งเสริมให้เรียนวรรณกรรมและศิลปะ เครื่องมือสำคัญในการหล่อหลอมจินตนาการ ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ ส่งเสริมให้ใช้วิธีการเรียนการสอนแบบโสเครติส ตั้งข้อเสนอและโต้แย้งอย่างใช้เหตุผล เรียนรู้ว่าเราคิดผิดได้และคนตรงหน้าอาจคิดถูก มันคือการตรวจสอบชีวิตตนเองตามคำพูดที่โด่งดังของโสเครติส

           “ชีวิตที่ไม่มีการตรวจสอบ ไม่ใช่ชีวิตที่คู่ควรสำหรับมนุษย์”

           นุสบามกล่าวว่า “ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของคนที่ใช้ชีวิตโดยไม่มีการตรวจสอบ คือพวกเขามักไม่เห็นหัวคนอื่น เมื่อคนคิดว่าการโต้แย้งทางการเมืองคล้ายกับการแข่งกีฬาที่เป้าหมายคือทำแต้มให้ฝ่ายตน พวกเขาจึงมีแนวโน้มจะเห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรูและต้องการเอาชนะ กระทั่งข่มให้ได้อาย พวกเขาจะไม่ประนีประนอมหรือหาจุดที่ยอมรับได้ร่วมกัน”

           มนุษยศาสตร์และศิลปะจะเป็นกระบวนการสร้างวุฒิภาวะทางประชาธิปไตยให้แก่พลเมือง วุฒิภาวะทางอารมณ์ การใช้เหตุผล และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น นุสบามเชื่อเช่นนั้น

           ย้อนกลับมาดูสังคมไทย ณ เวลานี้ การเรียนการสอน เนื้อหา หลักสูตรที่เป็นอยู่ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาที่เป็นข่าวออกมา สวนทางโดยสิ้นเชิง ในอนาคตเราอาจได้บัณฑิตผู้เก่งกาจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่พวกเธอและเขาอาจไม่ใช่พลเมืองในสังคมประชาธิปไตย ได้บัณฑิตผู้มากความสามารถในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่เชื่องเชื่อต่ออำนาจ

           ผมหวังว่าตัวเองจะคิดผิด

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก