เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์

1,051 views
9 mins
July 27, 2022

ประเทศนอร์เวย์เพิ่งเปิดตัวพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไปเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2022 รวมระยะเวลาปลุกปั้นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นานกว่า 3 ทศวรรษ ด้วยความที่รวมผลงานศิลปะจากพิพิธภัณฑ์ และแกลเลอรีที่สำคัญถึง 4 แห่งเข้าด้วยกัน พิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์จึงรั้งตำแหน่งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติขนาดใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของยุโรป เป็นรองเพียง Louvre Museum ของฝรั่งเศส และ The State Hermitage Museum ของรัสเซีย

วิธีการสื่อความหมายของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ใช้วิธีบอกเล่าแบบมีสไตล์แทนที่จะเล่าเรื่องถึงความยิ่งใหญ่ของชาติแบบตรงไปตรงมา แต่กลับเลือกใช้งานศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) เป็นแกนกลางเล่าประวัติศาสตร์ชาติ บางนิทรรศการเล่าเรื่องผ่าน ‘ความขัดแย้ง’ ยกตัวอย่างเช่น ม่านกะโหลกกวางเรนเดียร์ ชิ้นงานไฮไลต์ที่บอกเล่าเหตุการณ์ที่ชนพื้นเมืองฟ้องร้องรัฐบาลนอร์เวย์กรณีสังหารหมู่กวางเรนเดียร์ในเขตฟินน์มาร์ค นอกจากจะสะดุดตาแล้ว ยังชวนสะดุดใจในฐานะงานศิลป์ที่แสดงออกถึงรากฐานวัฒนธรรมประชาธิปไตยของนอร์เวย์ และสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของทุกชีวิตบนโลก

จุดเด่นอีกประการของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ที่การจัดการ เมื่อชิ้นงานจัดแสดงและงานศิลปะที่อยู่ในคลังมีจำนวนมาก การจัดการวัตถุจำนวนมหาศาลทำได้โดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถแยกประเภทของผลงานศิลปะ เกิดเป็นฐานข้อมูลและระบบสืบค้นผลงานศิลปะร่วมสมัย และองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ พื้นที่เรียนรู้อย่างห้องสมุด และส่วนงานจดหมายเหตุที่เป็นทรัพยากรสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งแบบออนไซต์ และออนไลน์

แท่งสีเทาทะมึนชวนฉงนหลังศูนย์สันติภาพโนเบล

จากยุคไวกิ้งที่เคยใช้ชื่อเมืองหลวง Ánslo จนเปลี่ยนเป็น Oslo เมื่อปี 1925 ตลอดรายทางของการสร้างชาติ นอร์เวย์สั่งสมมรดกวัฒนธรรมจำนวนมาก ยิ่งเป็นเมืองท่าที่ทรงอิทธิพลต่อเส้นทางการค้าทางทะเลของโลก ‘ข้าวของ’ และ ‘ความคิดของผู้คน’ ที่สะท้อนความเป็นวัฒนธรรมจึงรุ่มรวยและหลากหลาย เป็นโจทย์ใหญ่ของการจัดพิพิธภัณฑ์ อีกโจทย์สำคัญคือ การควบรวมเสาหลักทางศิลปะ 4 แห่งเข้าด้วยกัน ได้แก่ The National Gallery, The Museum of Architecture, The Museum of Decorative Arts and Design และ The Museum of Contemporary Art จะนำเสนออย่างไรให้ครอบคลุมความเป็นนอร์ดิกให้ครบถ้วน

ในปี 1989 พื้นที่ด้านหลังศูนย์สันติภาพโนเบล (Nobel Peace Center) ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสถานีรถไฟกรุงออสโล (Oslo West Station) เริ่มมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ขึ้นหลังจากย้ายศูนย์กลางคมนาคมของเมืองไปที่จุดเชื่อมต่อระบบคมนาคมแห่งใหม่

หากมองจากภายนอกอาคารแห่งนี้แทบไม่มีหน้าต่างให้แสงสว่างลอดผ่านเข้าสู่ตัวอาคาร สร้างความรู้สึกฉงนและคาดเดากันไปว่าทางการกำลังจะสร้างเรือนจำหรือโรงพยาบาล กระทั่งเดือนมิถุนายน ปี 2022 ผ้าคลุมโครงการเปิดออกเผยให้เห็นชื่อ Norway’s Nasjonalmuseet (NaM) ผู้คนที่เดินผ่านไปมาจึงคลายสงสัยเพราะนี่คือ พิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์ ซึ่งใช้เวลาพัฒนาโครงการยาวนานกว่า 30 ปี เพื่อก่อสร้างอาคารและจัดการกับวัตถุจัดแสดงจำนวนมาก กล่องสีเทาหลังศูนย์สันติภาพโนเบลใบนี้สะท้อนตัวตนและบุคลิกของคนนอร์เวย์ อาคารที่มีหน้าต่างน้อยเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมยุค Modernism ของนอร์เวย์และประเทศในคาบสมุทรนอร์ดิกที่เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี 1950 หน้าต่างที่จำนวนไม่มากเกินไปยังมีประโยชน์ช่วยคุมแสงสว่าง ความชื้น และอุณหภูมิ อันอาจส่งผลต่อชิ้นงานที่จัดแสดงอยู่ภายใน

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์
Photo : Nasjonalmuseet/Iwan Baan
Photo : Nasjonalmuseet/Borre Hostland

เล่าประวัติศาสตร์ชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัย

กล่องสีเทาหลังศูนย์สันติภาพโนเบลใบนี้สะท้อนตัวตนและบุคลิกของคนนอร์เวย์ อาคารที่มีหน้าต่างน้อยเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมยุค Modernism ของนอร์เวย์และประเทศในคาบสมุทรนอร์ดิกที่เริ่มต้นตั้งแต่ทศวรรษ 1950 หน้าต่างที่ไม่เยอะเกินไปยังมีประโยชน์ช่วยคุมแสงสว่าง ความชื้น และอุณหภูมิ อันอาจส่งผลต่อชิ้นงาน ภายในอาคารมีห้องจัดแสดงงานของศิลปินชาวนอร์เวย์แต่ละยุค อาทิ โยฮัน คริสเตียน ดาห์ล (Johan Christian Dahl) จิตรกรสายโรแมนติกในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 ที่ได้ชื่อว่าเป็น บิดาแห่งภูมิทัศน์แบบนอร์เวย์ งานของดาห์ลช่วยให้ผู้ชมเข้าใจพัฒนาการของนอร์เวย์ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์แฮเรียต บากเกอร์ (Harriet Backer) จิตรกรหญิงชาวนอร์เวย์ ซึ่งสร้างผลงานศิลปะในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 คู่ขนานไปกับขบวนสตรีนิยมที่เฟื่องฟูในยุโรปตอนกลาง ที่ขาดไม่ได้คือสถาปนิกชื่อแห่งศตวรรษที่ 20 ย่าง 21 อย่าง สแวร์ เฟห์น (Sverre Fehn) สถาปนิกชาวนอร์เวย์ที่ได้รับเลือกให้สร้างสรรค์ส่วนจัดแสดงของกลุ่มประเทศนอร์ดิกในงาน Venice Biennale (งานจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมประจำปีของเมืองเวนิซ) ในปี 1963

พื้นที่ชั้นล่างจัดแสดงวัตถุไล่ไปตามธีมที่สำคัญ เปิดด้วยนิทรรศการของยุคที่เรียกว่า Serving Faith (ค.ศ.1100-1530) หรือยุคที่ศรัทธาในคริสต์ศาสนาคือแก่นในการดำเนินชีวิต โซนนี้จัดแสดงโบราณวัตถุเก่าแก่ในยุคศาสนาเฟื่องฟูมาจนถึงช่วงเวลาต้นศตวรรษที่ 17 ที่ ‘Gutenberg Effect’ หรืออิทธิพลของแท่นพิมพ์เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อศาสนจักร นิทรรศการแสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีการพิมพ์ที่มาจากการตีพิมพ์พระคัมภีร์ วัตถุจัดแสดงอีกกลุ่มคือสิ่งทอและเสื้อผ้าช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ราว 1,200 ผืน จากกรุงเฮดมาร์ค (Hedmark) ซึ่งวิเคราะห์กันว่าลวดลายของผ้าสามารถบอกเล่าความเป็นมาของนอร์เวย์ได้

ชั้น 2 เป็นส่วนจัดแสดงจิตรกรรมนอร์เวย์ 6 ยุค เปิดโซนด้วยภาพเลียนแบบโมนาลิซ่า (Mona Lisa) หมุดตัวแรกที่พาผู้ชมเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะของนอร์เวย์ ถ้าแยกไปปีกซ้ายจะเป็นช่วง ค.ศ. 1500-1900 มีผลงานของ Lucas Cranach (1472-1553), Titian (1488-1576), Paul Bril (1554-1626), Artemisia Gentileschi (1593-1656) ปีกขวาของอาคารเป็นช่วง ค.ศ. 1900-1960 มีผลงานของ Picasso (1881-1973), Rodin (1840-1917) จัดแสดงคู่กับศิลปินนอร์เวย์ Harald Sohlberg (1869-1935) และ Gustav Vigeland (1869-1943) ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนจัดแสดงสำคัญเพราะถือเป็นยุคที่ศิลปะร่วมสมัยในนอร์เวย์ก่อตัว จนกระทั่งเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเป็น Oslo เมื่อ ค.ศ.1925 และเชื่อมต่อเข้ากับยุคปัจจุบัน

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์
Photo : Nasjonalmuseet/Iwan Baan
เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์
Photo : Nasjonalmuseet/Iwan Baan
เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์
Photo : Nasjonalmuseet/Iwan Baan
เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์
Artemisia Gentileschi, Mary Magdalene penitent
Photo : Nasjonalmuseet/Frode Larsen

เมื่อเรื่องราวของนอร์เวย์ถูกเล่าผ่านงาน ‘ศิลปะเพื่อการประท้วง’

ชิ้นงานจัดแสดงไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์ชื่อ Pile o´Sápmi โดย มาเรท แอนน์ ซารา (Máret Ánne Sara) สมาชิกของชนเผ่าซามิ (Sami) ชนพื้นเมืองที่สืบทอดภูมิปัญญาการเลี้ยงกวางเรนเดียร์หลายชั่วอายุคน กระทั่งวันหนึ่งรัฐบาลนอร์เวย์ผุดมาตรการควบคุมจำนวนกวางเรนเดียร์ในเขตฟินน์มาร์ก (Finnmark) ซึ่งมีประชากรมากกว่า 70% ของกวางเรนเดียร์ทั้งประเทศ หลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กวางเรนเดียร์ครั้งนั้น ซารา ในฐานะสมาชิกของชนเผ่าซามิได้ยื่นฟ้องรัฐบาลนอร์เวย์ และศาลตัดสินให้ซาราชนะคดี กะโหลกกวางเรนเดียร์ที่มีรูปืนไรเฟิลเจาะกลางหน้าผากนับร้อยชิ้น ถูกร้อยเรียงจนกลายเป็นม่านผืนใหญ่เพื่อย้ำเตือนให้ผู้ชมตระหนักถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกวางเรนเดียร์ในเขตฟินน์มาร์คที่ชาวซามิให้ความสำคัญเหมือนสมาชิกในครอบครัว

Pile o´Sápmi ปรากฏตัวต่อสายตาสาธารณะครั้งแรกในงานด็อกคิวเมนตา 14 (documenta 14) ปี 2017 ภายใต้แนวคิด The Parliament of Bodies เพื่อเรียกร้องสิทธิในการมีชีวิตอยู่ ซึ่งทีมงานพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์คุยกันว่าทางเข้าหลักของพิพิธภัณฑ์คือพื้นที่ที่เหมาะกับการจัดแสดง Pile o´Sápmi ซึ่งบอกเล่าเหตุการณ์สำคัญในนอร์เวย์พร้อมกับส่งเสียงประท้วงต่อรองกับรัฐบาลผู้มีอำนาจส่งแรงกระเพื่อมหลายวงการตั้งแต่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มต่อต้านการทารุณสัตว์ กลุ่มที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือทางการเมือง ฯลฯ

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์
Photo : Nasjonalmuseet/Mathias Völzke
เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์
Photo : Nasjonalmuseet/Iwan Baan

แนวคิดของการตกแต่งภายในพิพิธภัณฑ์ การจัดนิทรรศการ และลูกเล่น

คาริน ฮินด์สโบ (Karin Hindsbo) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์ ให้สัมภาษณ์ว่า “กระบวนการมีส่วนร่วมในการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แสดงถึงการทำงานแบบนอร์ดิกที่เรียกกันว่า Collaborative Process ยกตัวอย่างตอนที่จะจัดนิทรรศการถาวร เราต้องระดมความเห็นจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ ภัณฑารักษ์ นักการศึกษา ผู้จัดการโครงการ บริษัทประชาสัมพันธ์ รวมทั้งสิ้น 15 ทีม คุยไล่ไปแต่ละส่วนว่าจะจัดแสดงอะไรด้วยวิธีการแบบไหน แน่นอนว่าค่อนข้างเสียเวลา แต่เราก็แน่ใจว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้ช่วยกันคิดและตัดสินใจ”

บริษัทตกแต่งภายในที่ดูแลพื้นที่ภายในของพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์คือ Guicciardini & Magni Architetti บริษัทออกแบบสัญชาติอิตาลี ซึ่งตั้งใจให้ผู้ชมรู้สึกผ่อนคลายและเพลิดเพลินไปกับการชมนิทรรศการ ผู้ออกแบบการสื่อความหมายเลือกที่จะไม่ใช้ศัพท์วิชาการกับข้อมูลหรือข้อความที่ติดบนผนัง รวมทั้งเลี่ยงการใช้คำศัพท์ในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะที่ลงท้ายด้วย -ism ทุกห้องจะมีม้านั่งซ่อนอุปกรณ์ที่ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์กับนิทรรศการ อาทิ ของเล่นและชุดตัวต่อสำหรับเด็ก ลำโพงฟังเสียงและแท็บเล็ตพร้อมแป้นพิมพ์อักษรเบรลล์สำหรับผู้ชมที่มีปัญหาทางสายตา และที่ขาดไม่ได้คือจอสัมผัสซึ่งช่วยให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์กับนิทรรศการมากขึ้น

บทบาทของผู้ชมที่มีต่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ช่วงที่จัดนิทรรศการ I Call It Art  มีศิลปินส่งผลงานเข้าร่วมมากกว่า 150 ราย พิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์ใช้ระบบคัดเลือกชิ้นงานที่เรียกว่า Curatron งานที่ถูกเลือกมาจะนำมาจัดแสดงใน Light Hall เพื่อนำออกจัดแสดงให้ผู้ชมมีส่วนร่วมคัดเลือกผ่านจอสัมผัสคล้ายวิธีการลงคะแนนโหวต เมื่อได้ผู้ที่ชนะโหวต ทีมภัณฑารักษ์จึงค่อยมาคัดเลือกต่อว่าจะให้งานชิ้นไหนเป็นนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์

ฮินด์สโบ เชื่อว่าวิธีการนี้ดีกับการจัดการพิพิธภัณฑ์ที่มีชิ้นงานศิลปะเข้ามาจัดแสดงจำนวนมาก ช่วยสกรีนชิ้นงานจัดแสดง นำไปสู่การเปิดประเด็นพูดคุยถกเถียง ป้องกันไม่ให้ชิ้นงานสำคัญหลุดรอดจากสายตาของภัณฑารักษ์ ซึ่งในคณะทำงานมักจะมีคำถามอยู่เสมอว่า ทำไมเราถึงไม่เห็นงานชิ้นนี้ หรือ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าได้ส่องแสงให้ศิลปินที่เป็นตัวจริง

นิทรรศการชั่วคราวจึงมีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคัดเลือกงานด้วย ผู้ชมสาธารณะมีส่วนร่วมกับนิทรรศการได้ตามหลัก NABC คือ Needs, Approach, Benefits และ Competition ที่ช่วยเชื่อมโยงการออกแบบนิทรรศการ การออกแบบข้อความ และการกำหนดกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับโซเชียลมีเดียของพิพิธภัณฑ์ โดยนิทรรศการที่จะเกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์จะใช้กระบวนการทำงานนี้ทั้งหมด

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์
Photo: Nasjonalmuseet/Ina Wesenberg
เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์
Photo: Nasjonalmuseet/Frode Larsen
เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์
Photo: Nasjonalmuseet/Frode Larsen

ปัญญาประดิษฐ์ช่วยจัดกลุ่มชิ้นงาน พัฒนาฐานข้อมูลและเว็บไซต์

งานหนักของการจัดนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์คือ การคัดเลือกวัตถุจัดแสดง เนื่องจากการควบรวมสถาบันศิลปะทั้ง 4 แห่ง ทำให้มีวัตถุจัดแสดงเป็นจำนวนมาก ทางคณะทำงานพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์จึงตั้งโครงการ Principal Components พัฒนาโครงข่ายสมองอัจฉริยะที่จะมาช่วยจำแนกวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ โดยประมวลผลผ่าน 2 ตัวแปร คือ องค์ประกอบของภาพ และคำสำคัญ (Subject Keyword) ทีมผู้พัฒนาจะกำหนดรายละเอียดชิ้นงานเข้าไปในฐานข้อมูลอาคีฟ (Arkyves) แล้วเขียนโค้ดให้ AI ประมวลผลจากฐานข้อมูล แบ่งกลุ่มชิ้นงานจากความเคลื่อนไหวในภาพ (Motif) เทคนิคการสร้างงาน (Technic) องค์ประกอบศิลปะ (Composition) การใช้สี (Colour) มิติของการสร้างงาน (Dimension) และแน่นอนว่างานทั้งหมดถูกวางเรียงตามช่วงเวลาของการสร้างงาน (กาละ/ Time) บนขอบเขตทางกายภาพของประเทศนอร์เวย์ (เทศะ/ Space) ซึ่งสามารถกดลิงก์เข้าไปชมฐานข้อมูลศิลปะผลงานของโครงข่ายสมองอัจฉริยะได้ในเว็บไซต์ ฐานข้อมูลของพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์

โครงการ Principal Components ถือเป็นโครงการที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์ภาคภูมิใจ นอกจากจะช่วยจัดกลุ่มงานศิลปะ ยังเชื่อมโยงวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะเข้ากับปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งที่ผ่านมาวงการประวัติศาสตร์ศิลปะยังใช้ปัญญาประดิษฐ์จัดการงานศิลปะค่อนข้างน้อย ทั้งที่โลกผลิตผลงานศิลปะตลอดเวลาซึ่งหน่วยงานที่เอื้อให้เกิดโครงการดีๆ แบบนี้ คือ Norway Art Council หรือ สภาศิลปะแห่งนอร์เวย์

ห้องสมุดและเอกสารจดหมายเหตุที่ขยายใหญ่เป็นเงาตามตัว

เมื่อมีพิพิธภัณฑ์แห่งชาติก็ย่อมมีห้องสมุดและเอกสารจดหมายเหตุของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ต้องการระบบจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ห้องสมุดพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์มีหนังสือประมาณ 150,000 เล่ม เป็นหนังสือและเอกสารจดหมายเหตุจากหน่วยงานศิลปะ 4 แห่งที่ถูกควบรวมนำมาจัดระบบใหม่ หนังสือเก่าที่สุดมาจาก The National Gallery’s and the Museum of Decorative Arts and Design’s Libraries ซึ่งตีพิมพ์ช่วงปี 1882 ความเก่าของเอกสารทำให้ต้องวางแผนจัดการเอกสารในรูปแบบดิจิทัลควบคู่กับงานอนุรักษ์ต้นฉบับ

โดยผู้ใช้งานสามารถสืบค้นรายชื่อหนังสือและเอกสารได้จากระบบสืบค้นที่ชื่อโอเรีย (Oria) หากลองค้นคำว่า Thailand หรือ Siam จะพบเอกสารเกี่ยวกับประเทศไทยหลายรายการ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนอร์เวย์ผ่านเอกสารจดหมายเหตุที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงคาบสมุทรนอร์ดิก ห้องสมุดพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์มีวารสารวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ ทัศนศิลป์ รวมถึงการจัดการพิพิธภัณฑ์ของนอร์เวย์และของต่างประเทศมากกว่า 1,300 ปก มีห้องนั่งอ่าน 22 จุด พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการทำงาน อาทิ Wi-Fi อุปกรณ์ต่อพ่วง เครื่องสแกนหนังสือ และเครื่องถ่ายเอกสาร

“งบประมาณมากมายถูกลงทุนไปกับการส่งเสริมวัฒนธรรมในย่านใจกลางเมืองออสโล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์ รวมถึงโรงละครโอเปร่าและห้องสมุดประชาชนด้วย โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก หากเราริเริ่มโครงการทั้งหมดในตอนนี้ เราอาจทำได้ไม่ดีเท่าที่ผ่านมาก็ได้” ฮินด์สโบ กล่าวส่งท้าย

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์
Photo: Nasjonalmuseet/Ina Wesenberg
เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์
Photo: Nasjonalmuseet/Frode Larsen
เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัยในพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์
Photo: Nasjonalmuseet/Frode Larsen

ที่มา

บทความ “After Almost 30 Years, Oslo’s Highly Anticipated National Museum Finally Opens Its Doors This Month” จาก artnews.com (Online)

บทความ “Oslo’s vast National Museum opens with tapestry of 400 reindeer skulls” จาก the guardian.com (Online)

เว็บไซต์ Nasjonalmuseet (Online)

เว็บไซต์ Nasjonalmuseet, Project: <<Principal Components>> (Online)

Cover Photo: Nasjonalmuseet/Frode Larsen

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก