“เราเปิดคาเฟ่มานานแล้ว แตงคิดว่าถึงเวลาต้องปรับตัว เป้าหมายในตอนนี้คืออยากให้มีพื้นที่สำหรับชุมชน ที่สมาชิกสามารถเข้าถึง มีส่วนร่วม และพัฒนาศักยภาพตัวเองได้”
ณ โฮมคาเฟ่เล็กๆ แห่งหนึ่ง ในบริเวณบ้านที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ห่างออกมาจากถนนเลียบกว๊านพะเยา แหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภาคเหนือ แตง บงกช กาญจนรัตนากร เจ้าของร้าน ‘นิทานบ้านต้นไม้’ เอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้นจนเราสัมผัสได้ถึงไฟแห่งความมุ่งมั่น
คาเฟ่ ตั้งอยู่ในย่านชุมชน ห้อมล้อมด้วยบ้านเรือนผู้คน ไม่ได้ตั้งอยู่ริมผืนน้ำกว้างใหญ่ที่สะท้อนแดดเป็นประกายสีเหลืองทองในยามบ่าย แต่แตงกลับคิดว่า การตั้งอยู่ตรงนี้กลับตอบโจทย์ของนิทานบ้านต้นไม้ในปัจจุบัน
แตงโลดแล่นอยู่บนถนนสายคาเฟ่มาเกือบสิบปีแล้ว โดยเริ่มต้นจากการนำผลผลิตในครัวเรือนมาประยุกต์เป็นสินค้า แล้วจึงค่อยต่อยอดด้วยกาแฟที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในจังหวัดพะเยาให้ความสำคัญและส่งเสริมการสร้างแบรนด์ น้ำเสียงสดใสที่เชื้อเชิญให้ลองชมและลองชิมผลิตภัณฑ์ในร้านทำให้เราเชื่อว่า สิ่งที่แตงทำเกิดขึ้นจากใจรัก
“มะม่วงกวนกับบราวนี่กล้วยตากสูตรเฉพาะของที่นี่เลย ไอติมโฮมเมดได้สูตรมาจากตอนเรียนมหาวิทยาลัย ส่วนมะยมเชื่อมเก็บมาจากต้นมะยมที่อยู่ในบ้านนี่เองค่ะ”
ด้วยความที่สำเร็จการศึกษาสาขาฟูดไซน์ จากมหาวิทยาลัยใหญ่ของภาคเหนือ ต่อยอดด้วยปริญญาโทสาขา Food Economics จากเกาะอังกฤษ แตงจึงเชื่อว่าทุนทางสังคมอย่างผลผลิตทางการเกษตร คือทางเลือกและทางรอดของเมืองแม่ เพราะประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่หลากหลาย และนั่นก็เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เธอเลือกที่จะเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อพิสูจน์สิ่งที่ตนเชื่อ มากกว่าจะทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ ในเมืองหลวง
“ตอนที่เพิ่งเรียนจบก็เกิดไอเดียพลุ่งพล่านขึ้นมา เลยคิดว่าเราควรเริ่มต้นจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว พอเริ่มทำร้านไปเรื่อยๆ ก็มีแนวร่วมคนรุ่นใหม่ที่กลับมาทำงานที่บ้าน มาช่วยกันทำให้ชุมชนเข้มแข็ง นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความฝันของเราขยายขอบเขตออกไปด้วย”
จากการเติมเต็มความฝันส่วนตัว แตงเริ่มค้นหาวิธีการเติมเต็มชุมชนรอบข้างด้วยกิจกรรม ที่ผ่านมาร้านนิทานบ้านต้นไม้กลายเป็นเวทีอีเวนต์สำคัญมากมายที่มุ่งเน้นการนำทุนทางสังคมและวัฒนธรรมมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ กิจกรรม หรือแม้กระทั่งผู้คน โดยตัวเธอเองก็มีส่วนในการเป็นออร์แกไนเซอร์หลายงาน ด้วยเชื่อว่าพะเยาเองก็เป็นจังหวัดที่มีของดีอยู่มาก
เวิร์กชอปงานศิลปะสำหรับเด็ก ตลาดนัดคนรักต้นไม้ ตลาดนัดขนมและอาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น การแสดงดนตรี งานเสวนา กิจกรรมเหล่านี้ค่อยๆ เติมชีวิตชีวาให้กับย่าน พร้อมกับพลพรรคที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมการตั้งอยู่ใจกลางชุมชนจึงกลายมาเป็นข้อได้เปรียบของนิทานบ้านต้นไม้
ชุมชนรอบข้างมีส่วนร่วมได้โดยสะดวก เพราะแตงไม่เคยคิดว่านี่คืออีเวนต์ของร้าน แต่เชื่อเสมอว่ามันคือกิจกรรมของชุมชน แตงกับเพื่อนๆ ยังพยายามสรรหากิจกรรมที่แตกต่าง และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวพะเยาอย่างไม่ท้อถอย
“แตงสนใจจะทำกิจกรรมบุ๊กคลับด้วย กำลังศึกษาแนวทางอยู่ ว่าแบบไหนที่พอจะทำได้และเหมาะสมกับชุมชนเรา ส่วนบ้านไม้หลังนี้ ในอนาคตก็อยากทำเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่น เปิดให้คนเข้ามาศึกษาสถาปัตยกรรม ศึกษาวัฒนธรรม” แตงหันไปมองเรือนไม้หลังใหญ่ที่ตั้งอยู่หลังร้าน
สำหรับแตงแล้ว นิทานบ้านต้นไม้คือ ‘แพลตฟอร์ม’ ที่คนรุ่นใหม่สามารถมารวมตัวกัน ‘แสดงออก’ ถึงความสร้างสรรค์และศักยภาพที่ตัวเองมี ที่ผ่านมางานอีเวนต์หลายงานที่เกิดขึ้นอาจเป็นกิจกรรมของเด็กๆ แต่การเปิดพื้นที่ให้ ‘ผู้ใหญ่’ ได้แสดงออก ก็เป็นเป้าหมายของแตงด้วย
“ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา นิทานบ้านต้นไม้ก็เช่นกัน…” ณ จุดหนึ่งของบทสนทนา แตงชวนเราคุยถึงวัฏจักรของคาเฟ่และร้านกาแฟ แตงรู้ดีว่า ไม่มีร้านกาแฟ หรือคาเฟ่ร้านไหนที่จะเป็นจุดสนใจได้ตลอดไป
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงคือสัจธรรม ขึ้นอยู่กับว่าเราจะปล่อยให้เวลากลืนกินตัวตนและดับหายไป หรือปรับตัวเพื่อสร้างอิมแพคใหม่ๆ ให้กับสังคม นิทานบ้านต้นไม้ พิสูจน์แล้วว่าการทลายกรอบตัวเอง แล้วผนึกกำลังกับผู้มีหัวใจรักในสิ่งเดียวกัน ร่วมลงมือทำโดยมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ก็สามาถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ อย่างน้อยผลลัพธ์ที่ผ่านมาก็ทำให้หัวใจของคนรักบ้านเกิดพองฟู และมีกำลังใจจะคิด และลงมือทำเพื่อเติมเต็มพื้นที่ต่อไป