ถกนิทาน ตำนานท้องถิ่น เรื่องนี้ (ไม่เคย) สอนให้รู้ว่า…

958 views
4 mins
June 14, 2023

          เมื่อลูกกำลังอยู่ในวัยเริ่มหัดอ่านนิทาน ฉันมักใช้เวลายามว่างเพลิดเพลินกับการเดินห้องสมุดบ้าง ร้านหนังสือบ้าง จนได้หนังสือติดไม้ติดมือกลับบ้านเป็นประจำ แต่พอขลุกอยู่กับหนังสือเด็กระยะหนึ่ง ก็เกิดความคิดแว้บขึ้นมาว่า “เอ๊ะ นี่มันมีกับดักที่แม่อย่างเราต้องระวังเหมือนกันแฮะ”

          บางเรื่องแฝงความรุนแรง บางเรื่องมีอคติ บางเรื่องก่อให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกกีดกัน ฯลฯ จึงต้องขอเซนเซอร์หรือเปลี่ยนเนื้อหาแบบเนียนๆ เช่น แกล้งอ่านข้ามประโยคที่ราชินีสั่งให้ทหารพาสโนว์ไวท์ไปฆ่าเพราะอิจฉาความสวย ปรับบทพูดในเรื่องลูกเป็ดขี้เหร่ให้ดูเอ็มพาวเวอร์มากขึ้น หรือหากลวิธีเล่าเรื่องผีแบบสนุกบันเทิง

          เคยคิดเหมือนกันว่า อยากได้หนังสือที่มีการผูกเรื่องคล้ายกับภาพยนตร์อิงนิทาน มาเลฟิเซนต์ (Maleficent) เผยเบื้องหลังตัวละครที่ทุกคนตีตราว่าชั่วร้าย และนำเสนอที่มาที่ไปของการกระทำ คงจะดีหากนิทานสนับสนุนให้ผู้อ่านไม่ว่าเด็กหรือผู้ปกครองได้ขบคิดแง่มุมต่างๆ ไปพร้อมกัน

          …แล้ววันหนึ่งฉันก็ได้พบกับ Nine Folk Tales กล่องนิทานพื้นบ้าน 9 เรื่อง นิทานคุ้นหูที่มีมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายาย ถูกหยิบมาตั้งคำถามและหามุมเล่าใหม่ๆ ซึ่งเชื่อว่าสุดท้ายแล้วจะเปิดทางไปสู่อนาคตที่สว่างไสวกว่าวันนี้

รื้อเรื่องเก่า เล่าเรื่องใหม่

          เมื่อปลดเชือกป่านที่ผูกกล่องกระดาษออก นิทานที่ฉันสุ่มหยิบขึ้นมาเล่มแรกคือเรื่อง แก้วหน้าม้า ปกสีชมพูหวานแหวว แต่เนื้อหาชวนสะเทือนอารมณ์ อ่านจบก็พลันนึกถึงข่าวเยาวชนมากมายที่ถูกบูลลี่เนื้อตัวร่างกายจนมีภาวะซึมเศร้าหรือตัดสินใจฆ่าตัวตาย สังคมปัจจุบันยังขาดความตระหนักว่า การล้อเลียนหรือเย้ยหยันไม่ใช่เรื่องตลก แต่มันคืออาชญากรรมที่สร้างรอยแผลลึกในจิตใจของเหยื่อ

          นิทานเล่มนี้ ชี้ให้เห็นสภาวะธรรมชาติซึ่งจริงๆ เต็มไปด้วยความแตกต่าง แต่บางคนยกตนให้เป็น ‘มนุษย์’ และผลักไสให้บางคนเป็น ‘อมนุษย์’ หากข้ามพ้นอคติเรื่องร่างกายภายนอก ทุกคนก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยมองเห็นคุณค่าที่อยู่ภายใน ขอสปอยด์จุดจบที่เจ็บแสบของแก้วหน้าม้าเวอร์ชันใหม่ว่า ท้ายที่สุดแล้วผู้กระทำความรุนแรงก็หนีไม่พ้นไฟอคติที่แผดเผาตัวเอง

ถกนิทาน ตำนานท้องถิ่น เรื่องนี้ (ไม่เคย) สอนให้รู้ว่า...
นิทาน แก้วหน้าม้า
ถกนิทาน ตำนานท้องถิ่น เรื่องนี้ (ไม่เคย) สอนให้รู้ว่า...
นิทาน แก้วหน้าม้า
ถกนิทาน ตำนานท้องถิ่น เรื่องนี้ (ไม่เคย) สอนให้รู้ว่า...
นิทาน แก้วหน้าม้า

          เรื่องสวัสดิภาพในชีวิตยังถูกนำเสนอผ่านเรื่อง หนูน้อยหมวกแดง การเติบใหญ่ในสังคมที่บิดเบี้ยวเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย “ถ้าฉันอ่อนแอ ฉันจะถูกหลอก …อย่าเชื่อใคร อย่าคุยกับใคร อย่าเสียเวลา ฉันจะไม่อยู่รอดถ้าฉันอ่อนแอ” สิ่งที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดคือการตั้งคำถามต่อรัฐซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองดูแลความปลอดภัยของทุกคน เราต่างใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนสามารถออกไปผจญภัย โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครจ้องทำร้ายผู้อ่อนแอกว่า

ถกนิทาน ตำนานท้องถิ่น เรื่องนี้ (ไม่เคย) สอนให้รู้ว่า...
นิทาน หนูน้อยหมวกแดง
ถกนิทาน ตำนานท้องถิ่น เรื่องนี้ (ไม่เคย) สอนให้รู้ว่า...
นิทาน หนูน้อยหมวกแดง
ถกนิทาน ตำนานท้องถิ่น เรื่องนี้ (ไม่เคย) สอนให้รู้ว่า...
นิทาน หนูน้อยหมวกแดง

          นิทานบางเล่มมีความโดดเด่นเรื่องการออกแบบเชิงศิลป์ ที่ชูเนื้อหาให้เข้มข้นแม้ใช้ถ้อยคำเพียงน้อยนิด ในเรื่อง ผีทักอย่าทักตอบ ตัวหนังสือที่เขียนด้วยลายมือถูกเรียงร้อยเป็นเส้นลอยละล่องราวกับไร้ตัวตน ปะปนด้วยตัวหนังสือเล็กๆ ที่ขยุกขยุยจนอ่านไม่ออก เรียกว่าแต่ละหน้ามีรายละเอียดที่ชวนเพ่งพินิจและค้นหาความคิดที่อยู่เบื้องหลัง

          เนื้อเรื่องสื่อถึงความเชื่อที่ทุกคนเคยได้ยินจนฝังหัวมาตั้งแต่เด็กว่า ถ้าได้ยินเสียงแปลกๆ มาทักอย่าทักตอบเพราะจะนำหายนะมาให้ เราจึงเคยชินกับการอยู่ในโลกที่มีกรอบของตัวเอง และเลือกที่จะไม่แยแสกับมัน อุปมานี้เชื่อมโยงไปถึงหลายสุ้มเสียงที่มีอยู่จริงรอบตัวเรา อาจเป็นกลุ่มคนเปราะบาง คนชายขอบ คนจน หรือคนที่ต้องการเรียกร้องบางอย่างจากรัฐ วัฒนธรรมที่สอนคนให้ ‘เงียบ’ จึงไม่ช่วยคลี่คลายปัญหาที่ถูกกดทับ วันหนึ่งเหล่าเสียงที่ไม่เคยถูกรับฟัง ก็คงต้องหาทางรวมตัวกันเพื่อให้มีพลังและสร้างความเปลี่ยนแปลง

ถกนิทาน ตำนานท้องถิ่น เรื่องนี้ (ไม่เคย) สอนให้รู้ว่า...
นิทาน ผีทักอย่าทักตอบ
ถกนิทาน ตำนานท้องถิ่น เรื่องนี้ (ไม่เคย) สอนให้รู้ว่า...
นิทาน ผีทักอย่าทักตอบ
ถกนิทาน ตำนานท้องถิ่น เรื่องนี้ (ไม่เคย) สอนให้รู้ว่า...
นิทาน ผีทักอย่าทักตอบ

          หากพูดถึงเล่มที่มีกลวิธีการเล่าน่าสนใจที่สุด คงต้องยกให้เรื่อง ตาอินและตานา ซึ่งพิมพ์บนกระดาษขนาดใหญ่พับไปมาหลายทบ เมื่อสองสหายจากหมู่บ้านชาวประมงเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ ผู้อ่านจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับเนื้อหา คำตอบ Yes หรือ No นำไปสู่เส้นเรื่องที่ต่างกัน จะเลือกออกเรือไปหาปลา ขายที่ดินให้นายทุน เงียบเฉยกับภัยคุกคาม รวมตัวกันต่อสู้ หรือมองหานวัตกรรมใหม่ๆ

ถกนิทาน ตำนานท้องถิ่น เรื่องนี้ (ไม่เคย) สอนให้รู้ว่า...
นิทาน ตาอินและตานา
ถกนิทาน ตำนานท้องถิ่น เรื่องนี้ (ไม่เคย) สอนให้รู้ว่า...
นิทาน ตาอินและตานา
ถกนิทาน ตำนานท้องถิ่น เรื่องนี้ (ไม่เคย) สอนให้รู้ว่า...
นิทาน ตาอินและตานา

          ฉันพบนิทานที่ใช้กลวิธีเล่าแบบนี้ไม่บ่อยนัก เล่มที่เป็นที่รู้จักและมีการแปลเป็นภาษาไทย เช่น ชุดนิทานเรื่องโลตุ่น ของนักเขียนชาวญี่ปุ่น และ นีน่าและไมโล ของนักเขียนชาวแคนาดา การนำเสนอเนื้อเรื่องแบบมีหลายตัวเลือกกระตุ้นการใช้ความคิดที่ยืดหยุ่น ผู้อ่านจะได้ตรวจสอบสิ่งที่ตัวเองเลือกว่า ถ้าไม่เลือกแบบนี้ แต่เลือกอย่างอื่นล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น

          ในกล่องกระดาษที่ออกแบบอย่างประณีตยังมีเรื่อง กบเลือกนาย ซึ่งวิพากษ์ผู้ปกครองที่กระจายทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม กระต่ายกับเต่า สองตัวละครที่ต่างก็โหมทำงานส่งพัสดุ แม้จะประสบความสำเร็จคว้ารางวัลด้วยกันทั้งคู่ แต่ก็แลกมาด้วยการเสียสมดุลทุกด้านในชีวิต ความทรงจำของแม่ปลาบู่ เรื่องสายดาร์กที่ขุดความรู้สึกเจ็บปวดซึ่งฝังอยู่ในความทรงจำเมื่อครั้งอดีต ก่องข้าวน้อย กลอนเปล่า บอกเล่าความหิวของผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ และ ควายอยากเป็นคน ซึ่งเสียดสีคติพจน์ที่คนไทยท่องจำจนขึ้นใจว่า ‘ความสุขเกิดจากความพอใจในสิ่งที่มีอยู่’

นิทานสำหรับผู้ใหญ่?

          จากตัวอย่างนิทานที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง จะเห็นได้ว่านิทานชุด Nine Folk Tales บางเรื่องอาจนำมาสื่อสารกับเด็กได้ ในขณะที่บางเล่มอาจจะเหมาะกับการกระตุกความคิดผู้ใหญ่มากกว่า อาณาเขตเนื้อหาของนิทานซึ่งถูกเล่าใหม่ มีทั้งเรื่องความฝัน จินตนาการ อารมณ์ ความทรงจำ เนื้อตัวร่างกาย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สินทรัพย์ ปากท้อง ฯลฯ ครอบคลุมตั้งแต่ระดับปัจเจก เรื่อยมาจนถึง ชุมชน และรัฐ ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่แยกขาดจากกัน

           “เรื่องเล่าบางเรื่องเต็มไปด้วยบรรทัดฐานที่ถูกสร้างมาตั้งแต่นานนม… เหตุใดเราจึงไม่มีเรื่องเล่าแบบอื่นที่ทำให้ผู้อ่านตั้งคำถามกับสภาพแวดล้อม พื้นที่ และตัวตนของตัวละคร ทำไมเราจึงต้องประหยัดเพื่อมีชีวิตรอด หน้าตาของความรักที่ไม่ผูกกับหนี้บุญคุณเป็นแบบไหน ทำไมเราจึงต้องหน้าตาดีเพื่อจะได้รับการยอมรับ ทำไมการมีสิทธิ์เลือกถึงกลายเป็นหายนะ ทำไมเราต้องแข่งขัน แล้วเราสามารถจินตนาการถึงสังคมแบบอื่นนอกจากการทำให้เราจดจำ ชินชา และหวาดกลัว ได้หรือไม่”

          พลังของเรื่องเล่าคือเครื่องมือที่สามารถปลูกฝังความคิดความเชื่อทั้งด้านบวกและด้านลบ ผู้ใหญ่จึงควรมีวิจารณญาณว่าจะเลือกส่งต่อเรื่องราวแบบไหนให้คนรุ่นถัดไป เขาจึงจะเติบใหญ่ด้วยความคิดและจิตใจที่กล้าแกร่ง

‘พาหนะ’ สู่สังคมที่เป็นธรรม

          เหตุใดหนังสือนิทานที่สอดแทรกการวิพากษ์สังคมแบบขุดรากถอนโคนชุดนี้จึงเกิดขึ้น คำตอบนี้ต้องย้อนไปถึงการทำงานของกลุ่ม Metabolic Modules ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ Nine Folk Tales ขึ้นมา สมาชิกประกอบด้วยหนุ่มสาวที่สนใจด้านการศึกษา วรรณกรรม และสังคม ในปี 2565 พวกเขามีโอกาสทำวิจัยภาคสนามกับชุมชน และได้พบเห็นเรื่องราวที่ไม่ได้โรแมนติกเหมือนนิทานหลายๆ เรื่อง ปัญหาหลักคือเรื่องความเหลื่อมล้ำที่แทรกตัวอยู่ทั่วหัวระแหง จุดคานงัดสำคัญอยู่ที่การเรียนรู้หรือห้องเรียน ซึ่งถูกคาดหวังว่าจะสามารถชูประเด็นเรื่องปากท้องและความเป็นธรรมได้มากกว่าที่กำลังเป็นอยู่

          Metabolic Modules ทำงานกับกลุ่มครูและกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อทำความเข้าใจปัญหาของระบบการศึกษาไทยปัจจุบัน เช่น กลุ่ม ‘พลเรียน’ พวกเขามองว่า การศึกษาถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการปลูกฝังค่านิยมเชิงอำนาจนิยมตั้งแต่เด็กๆ มองข้ามวิถีชีวิต เน้นการแข่งขัน และสร้างสังคมที่ผู้คนตัดขาดจากกัน

          เครื่องมือที่พวกเขาเลือกใช้ไปสู่เป้าดังกล่าวก็คือภาษาและวรรณกรรม “โปรเจกต์นี้เป็นปฏิบัติการทางวัฒนธรรมผ่านแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย ที่ทวงถามถึงสังคมที่เท่าเทียมและเสมอภาค ซึ่งไม่ได้จบลงแค่สิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง แต่เป็นการเรียกร้องความเท่าเทียมตั้งแต่ระดับโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง จนถึงสุ้มเสียง เนื้อตัวร่างกาย ตั้งแต่การจัดสรรทรัพยากรจนถึงการกอบโกยเศษซากความเจ็บปวดเพื่อนำไปสู่การจินตนาการถึงสังคมที่โอบรับผู้คนไว้ พากันก่อสร้างสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

          เพลิน – ปาลิน อังศุสิงห์ หนึ่งในทีมบรรณาธิการ Nine Folk Tales เปรียบเปรยว่า อยากให้นิทานชุดนี้เป็น ‘พาหนะ’ นำไปสู่สังคมที่เป็นธรรม ในกระบวนการทำงานร่วมกับนักเล่าเรื่องและนักวาด 12 คน ไม่ได้มีการกำหนดโครงเรื่องที่ตายตัว แต่ละคนมีอิสระในการตีความต้นฉบับและต่อยอดความคิดอย่างอิสระ ควบคู่ไปกับการทดลองออกแบบอาร์ตเวิร์กรูปแบบใหม่ จนสุดท้ายแล้วการทำหนังสือชุดนี้มีความลื่นไหลและไปไกลกว่าที่คาดคิดไว้

          ชุดนิทานทั้ง 9 เล่ม คงยากที่จะเข้าถึงนักอ่านแบบ Mass ผู้สั่งซื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคม บางครั้งก็เป็นกลุ่ม FC ของนักวิชาการที่ช่วยกระจายข่าวออกไป ส่วนราคาที่ตั้งไว้พิเศษสำหรับห้องสมุด ก็เพิ่งจะมียอดสั่งซื้อเข้ามาเพียงแห่งเดียว (นั่นคือออร์เดอร์จากฉันเอง)

          ก้าวถัดไปของ Nine Folk Tales ก็คือการกระโดดออกจากชั้นหนังสือไปทำงานกับผู้คน มีการจัดกิจกรรมร่วมกับศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ เพื่อให้นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องความเหลื่อมล้ำ และมีแผนจะร่วมกับร้านหนังสือย่านนางเลิ้ง ทำกิจกรรมกับกลุ่มเป้าหมายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชน รวมทั้งมองถึงการนำหนังสือไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในห้องเรียน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อชวนให้ทุกคนทบทวนตัวตน สังคม สิ่งรอบข้าง และร่วมกันคิดหาหนทางสร้างสังคมที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น

ถกนิทาน ตำนานท้องถิ่น เรื่องนี้ (ไม่เคย) สอนให้รู้ว่า...

ที่มา

รับขวัญ ธรรมบุษดี และ ปาลิน อังศุสิงห์. 9 นิทานพื้นบ้าน: ม.ป.ท., 2566.

เอกสาร Press Kit: 9 Folk Tales ๙ นิทานพื้นบ้าน โดย Metabolic Modules

เพจ Nine Folk Tales จาก facebook.com/ninefolktales (Online)

Cover Photo: Nine Folk Tales

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก