นิคม พุทธา : ชีวิตเปี่ยมสุขในวัย 60 กับค่ายเยาวชนเชียงดาว

541 views
5 mins
May 17, 2023

          นิคม พุทธา กอบกู้ชีวิตขึ้นมาจากซากปรักหักพังของความผิดหวังด้วยการเดินเลียบเลาะต้นน้ำปิงไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา

          ย้อนกลับไปในปี 2550 เขาตัดสินใจลาออกจากงานคุ้มครองสัตว์ป่า กลับบ้านเกิดที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากประธานมูลนิธิที่เขาร่วมงานมาหลายปีเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจสวนสัตว์

          ที่เชียงดาว นิคมก่อตั้งองค์กรของตนเอง ส่งเสริมชาวบ้านจัดการป่าชุมชน แต่ผู้ใหญ่บ้านที่ร่วมงานอนุรักษ์ป่าและต้นน้ำกับเขาถูกลอบสังหารเสียชีวิตไป 3 คน หากใครเคยเดินทางมายังค่ายเยาวชนเชียงดาว ก็จะพบอนุสาวรีย์ของ 3 สามัญชนที่นิคมสร้างไว้เพื่อระลึกถึงความไม่เป็นธรรม

          “เราสูญเสียผู้คน งานไม่สำเร็จ ผมเครียด กินเหล้า เข้าป่า เกิดคำถามจะเอายังไงกับชีวิต ผมค้นหาทางที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง” นิคมเล่าถึงช่วงรอยต่อระหว่างจุดจบและจุดเริ่มต้น

          ณ รอยต่อตรงนั้นมีหนังสือ 2 เล่มที่ทำให้จุดจบของห้วงเวลาหนึ่งก่อเกิดการเริ่มต้นในกาลถัดมา

          เล่มหนึ่งคือ นักเดินเท้า 8,000 ไมล์ ของ สาทิศ กุมาร ว่าด้วยการออกเดินเท้า 8,000 ไมล์ เพื่อหยุดยั้งการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ อีกเล่มคือ เดินสู่อิสรภาพ ของ ประมวล เพ็งจันทร์

          หนังสือทั้งสองเล่มทำให้นิคมปรารถนาที่จะเรียนรู้ความหมายของสิ่งต่างๆ ข้างนอก เพื่อนำกลับมาชำระสะสางตะกอนที่ขุ่นมัวภายใน ผ่านการเดินเท้าจากต้นน้ำปิงไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

          “เดือนแรกผมเดินไปถึงเขื่อนภูมิพล เดือนที่สองผมเดินไปถึงปากน้ำโพ นครสวรรค์ เดือนที่สามผมทะลุป้อมพระจุลฯ”

          นิคมเล่าว่าในช่วงเวลา 3 เดือนที่เดินทางเลียบแม่น้ำ แม่น้ำแต่ละช่วงเปลี่ยนแปลงไปตามเมืองที่แม่น้ำไหลผ่าน นิคมได้เรียนรู้ระบบนิเวศของแม่น้ำ เขาพบว่าแม่น้ำเป็นระบบนิเวศที่เปราะบาง ซับซ้อน และปราศจากคนเข้าใจ เพราะโครงการพัฒนาเมืองได้กีดกันสายน้ำออกจากชีวิตผู้คน เช่น การใช้สารเคมีและการสร้างคอนกรีตป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

          “มันมีคำพูดเชิงปรัชญาว่า ‘จะทำน้ำสักหยดหนึ่งไม่ให้เหือดแห้งได้อย่างไร’ ระหว่างเดินผมคิดใคร่ครวญว่าเราต้องร่วมมือกันรักษาป่า รักษาแม่น้ำ น้ำหยดนั้นจึงจะไม่เหือดแห้ง”

          เมื่อถึงจุดหมายปลายทางที่สมุทรปราการ แม่น้ำเจ้าพระยากำลังจะสลายตัวตนกลายเป็นส่วนหนึ่งของทะเลอ่าวไทย นิคมพบว่าที่แท้แล้วน้ำก็คือเมฆ ที่ปรับแปรสภาพเป็นอีกสภาวะหนึ่ง น้ำไม่ได้หายไปไหน มันเป็นเพียงการเดินทางและการเคลื่อนตัว

          ข้อค้นพบจากการเดินทางของสายน้ำน่าจะใช้ได้กับการเดินทางของคนคนหนึ่ง ผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่แท้ก็คือเด็กคนหนึ่ง เด็กคนนั้นไม่ได้จากไปไหน เขาเพียงเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง และ ‘ค่ายเยาวชนเชียงดาว’ ก็เป็นเหมือนบ่อน้ำที่จะรักษาหยดน้ำไม่ให้เหือดแห้ง เป็นบ่อน้ำของการเรียนรู้

          นิคมหวังว่า ค่ายเยาวชนเชียงดาวแห่งนี้ จะเป็นพื้นที่การเรียนรู้ธรรมชาติ เผยให้เห็นความเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสรรพชีวิตในป่าลึกจนถึงผู้คนในเมืองใหญ่ ซึ่งระบบการศึกษาไม่ได้บรรจุไว้ในหลักสูตร

          “การเดินป่าที่นี่จะเน้นให้เกิดการรับรู้แล้วก็สัมผัส คือการเปิดอายตนะ ทำการขยายอายตนะ ถ้าเราใช้ตาข้างนอก เราจะเห็นต้นไม้เป็นต้นไม้ เห็นใบ เห็นกิ่ง เห็นลำต้น แต่ถ้าใช้ตาในจะเห็นองค์ประกอบที่มากกว่านั้น ว่ามีราก มีท่อลำเลียง มีดอกไม้ มีพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล ถ้าเราฝึกใช้ตาใน มันจะเห็นองค์ประกอบที่เชื่อมโยงกัน จะเห็นบทบาทและหน้าที่ว่าเขาทำหน้าที่กักเก็บน้ำ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับมดแมลงแล้วก็มอส เฟิร์น ไลเคน

          “เราจะเห็นบทบาทและหน้าที่ เห็นองค์ประกอบและก็เห็นการเชื่อมโยง แล้วเราจะรู้ไปถึงคุณสมบัติด้วย ต้นไม้หลายชนิดมีคุณสมบัติเป็นได้ทั้งอาหารและยา ถ้าเจาะลึกลงไปมากกว่านั้นเราจะเห็นความละเอียดอ่อน เช่น เรือนยอดของต้นไม้ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกของเม็ดฝน เปลี่ยนความรุนแรงของเม็ดฝนให้น้ำไหลอาบย้อยตามกิ่งก้านสาขาเป็นความอ่อนโยน น้ำไหลซึมซับลงไปในดิน ใบไม้ร่วงหล่นลงมาห่มดินรักษาความเปียกชื้น เป็นที่อยู่อาศัยของเชื้อแบคทีเรีย ทำหน้าที่ย่อยสลายอะไรต่างๆ พอเรามองด้วยตาในเราจะเห็นการเชื่อมโยง”

Photo : Nikom Putta

          การเชื่อมโยงเป็นทักษะการเรียนรู้ที่นิคมอยากให้ระบบการศึกษาเน้นให้เด็กได้ฝึกฝนจนกลายเป็นทักษะความชำนาญ การเชื่อมโยงจะทำให้มองเห็นที่มาที่ไป มองเห็นเหตุและผลที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ต่างๆ นิคมยกตัวอย่างเรื่องไฟป่า ซึ่งเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภาคเหนือในช่วง 4 เดือนแรกของทุกปี

          “ตั้งแต่เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม จะเป็นช่วงที่ชุมชนภาคเหนือทำแนวกันไฟ ก็จะมีอาสาสมัครเข้ามากินนอนอยู่ที่ค่ายเยาวชน ตื่นเช้ามาก็จะไปทำแนวกันไฟด้วยกัน ย้ายไปตามหมู่บ้าน ไปตามวัดต่างๆ พอเข้าเดือนมีนาคมถึงเมษายน ก็จะเฝ้าระวังไฟและช่วยกันดับไฟ ซึ่งคนเหล่านี้มีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ หลายชนเผ่า ลีซอ มูเซอ แม้ว ม้ง ปกาเกอะญอ ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าของกรมป่าไม้ของอุทยานก็ทำไปนะ แต่ที่สำคัญก็คือว่าชาวบ้านเป็นกลไกสำคัญในการเฝ้าระวังไฟและดับไฟ เพราะกว่าเจ้าหน้าที่จะมา ไฟลุกลามไปแล้ว ทีนี้ถ้าเราไปสนับสนุนให้ชาวบ้านไปดับไฟมันก็จะไม่ลุกลาม

          “ที่ผ่านมา KPI ของรัฐทำให้เกิดการจับกุมชาวบ้าน เพื่อให้มียอดการจับกุม ตัวชี้วัดของความเจริญเติบโตในหน้าที่การงานของเจ้าหน้าที่คือจำนวนคดี ปีนี้จับได้กี่คดี ระบบราชการยังใช้ตัวชี้วัดแบบนี้ ใครมีคดีมากๆ ก็หมายความว่าทำงานเก่ง แต่งานมวลชนซึ่งเป็นงานที่ต้องทำความเข้าใจชาวบ้าน เข้าใจวิถีชีวิตที่เป็นสภาพข้อเท็จจริงของพื้นที่กลับไม่มีตัวชี้วัด”

          ไฟดวงใหญ่ที่ควรจะดับที่สุดในมุมมองของนิคมคือไฟในใจ ซึ่งจะดับได้ก็ด้วยการเรียนรู้ระบบนิเวศเชิงลึก

          “ไฟในใจก็คือเราต้องเมตตาและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มีความอะลุ้มอล่วย ยอมรับกัน อย่าใช้อำนาจข่มเหงรังแกกัน ลดช่องว่างลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน เราอาศัยไฟที่เกิดขึ้นมาสร้างความร่วมมือทำงานร่วมกัน ไม่ใช่มาก่นด่า กล่าวโทษ ให้ร้าย เจ้าหน้าที่ก็ด่าว่าชาวบ้าน ชาวบ้านก็ด่าว่าเจ้าหน้าที่ มันมีแต่สาดไฟเข้าหากัน ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ”

          การมองให้เห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง การเกื้อกูลกันของระบบนิเวศ ทำให้เราสามารถเข้าใจว่า ไม่มีใครอยู่เพียงลำพังบนโลกใบนี้ เพราะเราต่างเชื่อมโยงกับผู้อื่นและสิ่งอื่น เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดถูกทำลาย ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ เหมือนสำนวนที่ว่า ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’

          “ผมก็พยายามเรียกการเรียนรู้ตรงนี้ว่า deep ecology ก็คือการเรียนรู้นิเวศเชิงลึก โดยใช้ข้างใน ใช้อารมณ์ จิตใจ ความรู้สึก ความปรารถนาดีเข้าไปเรียนรู้ เราจะได้ยินเสียง เสียงที่เบาที่สุด บางทีอาจจะเป็นเสียงนก เสียงสัตว์ เสียงลมพัด เสียงสายน้ำไหล เสียงผีเสื้อกระพือปีก ให้เขา deeply listening คือฟังแบบลึกซึ้ง จิตใจเขาจะสงบ พอจิตใจสงบสติปัญญาก็จะเปิดรับ เหมือนว่าเครื่องรับสามารถรับการสื่อสารจากธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ยินเสียงน้ำไหลเราก็จะมีความรู้สึกสงบภายใน

          “ถ้าเด็กอยากสัมผัสถึงความอ่อนโยนของน้ำ แค่ปล่อยมือไหลไปตามน้ำก็จะสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยน แต่ถ้าเราอยากรับรู้ถึงพลัง เอามือไปต้านน้ำก็จะรู้ว่าในความอ่อนโยนของน้ำนี้มีพลัง ซึ่งพลังแบบนี้มันจะเป็นพลังที่เป็นบวกก็ได้เป็นลบก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ประโยชน์อย่างไร สิ่งเหล่านี้ยังไม่มีการเอามาพูดคุยให้เด็กฟังในห้องเรียน ยังไม่มีการบอกเล่าในตำราเรียน” นิคมบอกเล่าและเชื่อมโยงเรื่องการเรียนรู้นิเวศเชิงลึกกับการประยุกต์เข้ากับระบบการศึกษา

          ค่ายเยาวชนเชียงดาวจะมีเด็กและเยาวชนทั่วประเทศแวะเวียนมาทำกิจกรรมการเรียนรู้ทุกปี นอกจากเด็กๆ แล้ว ยังเปิดพื้นที่ให้คนทุกวัย เพราะการเรียนรู้ไม่มีขอบเขตทั้งพื้นที่และเวลา

           “พ่อแม่ก็มีโอกาสมาเดินป่าเพราะพาลูกๆ มาเรียนรู้ ฉะนั้นจึงมีกิจกรรมเดินป่าสำหรับผู้ใหญ่ด้วย ถ้ามากกว่านั้นก็คือเดินเข้าไปในป่าแล้วไปค้างคืน หรือถ้ามากกว่านั้นอีกก็คือการเข้านิเวศภาวนา ซึ่งเป็นกิจกรรมของผู้ใหญ่ ด้วยการเข้าป่าไปใช้ชีวิต หยุดการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก ค้นหาความสงบเพื่อเรียนรู้จิตใจตัวเอง

          “กิจกรรมสำหรับผู้ใหญ่ ผมใช้ชื่อว่าค่ายหลุดโลก คือการเข้าไปกางเต็นท์อยู่ในป่า ริมลำธาร ผมจะเป็นคนพาไป คนนี้กางเต็นท์ตรงนี้นะ คนนั้นกางเต็นท์ตรงโน้น แล้วลองอยู่กับตัวเอง อยู่เฉยๆ disconnect is connect ถ้าเราไม่ได้ติดต่อสื่อสารกับภายนอก ก็เป็นโอกาสที่เราจะสื่อสารกับตัวเราเองภายใน

          “กิจกรรมนี้จะทำให้คนเรียนรู้และทบทวนว่าอดีตเป็นมาอย่างไร ปัจจุบันทำอะไร และอนาคตจะไปทางไหน อดีตเราไปปรับปรุงแก้ไขไม่ได้ แต่หลายเรื่องเราสามารถชำระสะสางได้ เช่น หากมีการทะเลาะเบาะแว้งอาฆาตพยาบาทหรือว่ามีความขัดแย้งกับใคร เราสามารถคลี่คลายด้วยการส่งจิตส่งใจให้เมตตาภาวนาให้อภัยเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการเรียนรู้แบบหนึ่ง เป็น spiritual learning ถ้าคนเข้าถึงการเรียนรู้ในลักษณะนี้ เขาย่อมจะมีจิตใจที่อ่อนโยน และเคารพผู้อื่น”

          ในวัย 60 นิคมหรือ ‘ลุงอ้วน’ ยังคงทำงานสื่อสารและพูดคุยกับเด็กๆ อยู่เสมอ สนุกกับการถ่ายทอดสิ่งที่ลุงรู้ให้เด็กฟัง และรับฟังสิ่งที่ลุงไม่รู้จากเด็กๆ ด้วยความกระตือรือร้นไม่รู้จักเบื่อ

          “มันทำให้ชีวิตของผมมีชีวิตชีวา ตอนนี้อายุ 60 ปี ชีวิตวัยชราก็ไม่ได้ห่อเหี่ยว พอได้ทำงานกับเด็กๆ แล้วผมมีความสุขนะ มีพลัง มีความสนุกสนานเพลิดเพลิน มีพลังแห่งความปรารถนาดี ซึ่งอันนี้เป็นความหวัง ผมมีความหวังและมีกำลังใจ ทำงานได้ต่อเนื่องไปในทุกๆ ปี”

นิคม พุทธา : ชีวิตเปี่ยมสุขในวัย 60 กับค่ายเยาวชนเชียงดาว
Photo : Nikom Putta


บทความนี้ปรับปรุงจากการสัมภาษณ์ในรายการ Coming to Talk เผยแพร่ครั้งแรกทาง TK Podcast เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 ฟังบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ https://www.thekommon.co/comingtotalk-ep48/

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก