นาจีบา ลมหายใจของผู้หญิงและห้องสมุดที่ถูกระเบิดในอัฟกานิสถาน

10 views
August 4, 2023

ห้องสมุดนาจีบา ถูกทำลายลงในปี 2021 แต่นี่คือเรื่องราวการต่อสู้เพื่อผู้หญิงและพื้นที่การศึกษาในขณะที่ห้องสมุดนาจีบายังมีลมหายใจ

ชื่อของห้องสมุดมาจากชื่อของนาจีบา ฮุสเซนนี (Najiba Hussaini) เธอเกิดที่เมืองไดคุนดี (Daikundi) เมืองที่ถูกละเลยและด้อยพัฒนาที่สุดเมืองหนึ่งในอัฟกานิสถาน ได้รับทุนรัฐบาลอินเดียสนับสนุนจนเรียนจบปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และจากนั้นก็สอบชิงทุนการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาเดียวกันจนได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในญี่ปุ่น

เธอเป็นหนึ่งในจำนวนผู้หญิงไม่กี่คนจากจังหวัดห่างไกล แร้นแค้นขนาดหนัก แต่มีความมุ่งหวังแรงกล้าที่จะสร้างพื้นที่ให้เด็กผู้หญิงรุ่นหลังได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นและพัฒนาตนเองได้ ในประเทศที่พวกเขาถูกทำให้กลายเป็นพลเมืองชายขอบ แต่นาจีบา ฮุสเซนนี เสียชีวิตจากระเบิดที่เมืองคาบูล อัฟกานิสถานเมื่อ 6 ปีที่แล้ว

“ผมป่นปี้ไปหมดแล้วตอนนี้” ฮุสเซน เรไซ (Hussain Rezai) เอ่ยหลังจากที่สูญเสียนาจีบา ฮุสเซนนี ผู้ที่กำลังจะกลายเป็นคู่หมั้นของเขา ในเดือนกรกฎาคม ปี 2017

หลังจากที่ได้ไปเยี่ยมศูนย์บันทึกความทรงจำและข้อความแห่งอัฟกานิสถาน (Afghanistan Center for Memory and Dialogue) ในปี 2019 ที่เมืองคาบูล ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติยศให้กับเหยื่อผู้เสียชีวิตจากสงคราม ฮุสเซนจึงตัดสินใจตั้งมูลนิธินาจีบาขึ้นมาเพื่อเก็บความทรงจำและสานความฝันของเธอให้เป็นจริง

มูลนิธิถูกก่อตั้งมาพร้อมกับห้องสมุด (The Najiba Hussaini Memorial Library) ที่เมืองนิลลิ (Nili) จังหวัดไดคุนดีในปี 2019 เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ชาวอัฟกันในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงการศึกษาได้มากที่สุด โดยเมื่อเริ่มแคมเปญรับบริจาคเงิน หนังสือ คอมพิวเตอร์ เครื่องเขียน และอื่นๆ มูลนิธิก็ได้รับความช่วยเหลือจากทั้งบุคคลและองค์กร พร้อมกับอาสาสมัครที่ทำงานในห้องสมุดอีก 35 คนในปีแรก

ประเทศอัฟกานิสถานมีประชากรราว 36 ล้านคน แต่มีห้องสมุดสาธารณะเพียง 100 แห่ง

ย้อนเวลาไปก่อนที่ห้องสมุดจะถูกทำให้เสียหาย หนังสือกว่า 12,500 เล่ม ทั้งรายงานวิจัย นิตยสาร หนังสือกฎหมาย และอื่นๆ (ส่วนใหญ่เป็นหนังสือบริจาค) ได้ถูกจัดเรียงไว้ในห้องสมุดนาจีบาพร้อมแล็บคอมพิวเตอร์ ใช้เวลาไม่นานห้องสมุดก็กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมของเด็กนักเรียนทั้งหญิงและชายที่เวียนกันเข้ามาใช้งานเพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะเข้าถึงหนังสือหรือแหล่งข้อมูลเพื่อการเรียนได้ที่ไหน

นี่คือเป้าหมายหลักในการสร้างห้องสมุดในจังหวัดที่มีประชากร 723,980 คน แต่มีมหาวิทยาลัยเพียง 2 แห่งพร้อมนักศึกษาราว 2,500 คนที่ขาดแคลนห้องสมุดสาธารณะที่มีชีวิตชีวาทั้งในเชิงจิตวิญญาณและทรัพยากรทางวิชาการ

นอกจากนี้มูลนิธินาจีบายังมีเป้าหมายในการส่งเสริมแนวร่วมทางวัฒนธรรมเพื่อสันติ เปิดพื้นที่ให้สังคมมาร่วมแบ่งปันคุณค่าของพลเมืองเพื่อขจัดความรุนแรงและความเกลียดชัง

ในช่วงการเปิดมูลนิธิในปี 2019 มูลนิธินาจีบาจัดประชุมสัมมนาวิชาการว่าด้วยการไกล่เกลี่ยเพื่อสันติภาพที่มีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud University) ประเทศออสเตรีย มาแนะแนวเรื่องการจัดการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง การจัดการกับวิกฤต การไกล่เกลี่ยวิกฤตการณ์ทางอารมณ์ หรือการใช้ศิลปะเพื่อไกล่เกลี่ย โดยผู้เข้าร่วมในวงการการศึกษามีทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย นักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

หลังจากนั้น ยังมีโปรแกรมทางการศึกษาหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดอบรม ที่ปรึกษาทางการศึกษา เสวนาวิชาการ และงานอีเวนต์ท้องถิ่น

“เราไม่มีห้องสมุดไว้ให้นักเรียนในเมืองนิลลิเลย ดังนั้นการมีอยู่ของห้องสมุดนาจีบาจึงสำคัญ ทั้งการอ่านและเวิร์กชอปที่ฉันได้เข้าร่วม ส่งผลทางบวกให้กับชีวิตทั้งนั้น” เซนับ อัคบารยัน (Zeinab Akbaryan) นักเรียน และผู้ใช้ห้องสมุดขาประจำในเมืองนิลลิกล่าว

จาเวด โมห์เซนี (Javed Mohseni) วัย 22 ปีที่กำลังเรียนอยู่สายสังคมวิทยาก็มาฝังตัวอยู่ในห้องสมุดทุกวัน เพื่อดื่มด่ำไปกับหนังสือในสายที่เขากำลังเรียนอยู่

“มันเป็นห้องสมุดที่มีคุณค่าและรุ่มรวย การมีอยู่ของที่นี่ในชนบทและพื้นที่ห่างไกลทำให้ห้องสมุดนี้พิเศษ”

นอกจากกิจกรรมรวมกลุ่มนักอ่านที่ทำให้เด็กทุกช่วงวัยมีโอกาสได้พบกันทุกสัปดาห์ ห้องสมุดนาจีบายังเปิดสอนคอร์สการเขียนทางวิชาการระยะเวลายาวนาน 6 สัปดาห์ให้กับเด็กๆ ที่มีพื้นฐานทางการศึกษาแตกต่างกัน รวมไปถึงคอร์สติวสอบโทเฟลให้กับเด็กกว่า 50 ชีวิตที่เมืองนิลลิ

ส่วนการเรียนการสอนด้านศิลปะ มูลนิธิจัดคอร์สสอนถ่ายภาพและนิทรรศการภาพยนตร์ฤดูหนาวในปี 2021 ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่คัดเลือกมาจาก Charmaghz องค์กรไม่แสวงหากำไรที่เชี่ยวชาญเรื่องบริการห้องสมุดเคลื่อนที่ในเมืองคาบูล

ชีวิตและความฝันของนาจีบาเป็นรูปเป็นร่างได้เพราะทุนการศึกษา มูลนิธิจึงจัดคอร์สออนไลน์เพื่อแนะแนวทุนเรียนต่อต่างประเทศไว้ในหลักสูตรด้วย โดยเด็กจะได้เรียนผ่านแล็บคอมพิวเตอร์ รวมถึงพาร์ตเนอร์กับผู้ใหญ่ใจดีอย่างมูลนิธิบัมยัน (Bamyan Foundation) สปอนเซอร์หลัก

การดำเนินงานห้องสมุดเพื่อสังคมในลักษณะนี้ จำเป็นที่จะต้องมีองค์กรช่วยเหลือที่มากมายและเฉพาะด้าน มูลนิธิ จึงมีพาร์ตเนอร์อย่าง ศูนย์ศึกษามหาวิทยาลัยคาบูล (Afghanistan Center at Kabul University) มาช่วยออกแบบงานอบรมอย่างตรงจุด องค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยแห่งอัฟกานิสถาน (Afghanistan Human Rights and Democracy Organization) มาช่วยอำนวยความสะดวกเวลาห้องสมุดต้องการจัดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงเซ็น MOU กับบอร์ดบริหารฝ่ายข้อมูลและวัฒนธรรมของจังหวัดไดคุนดี เพื่อสอนโปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานให้กับเจ้าหน้าที่

“ผู้หญิงเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่แค่สำหรับกระบวนการแห่งสันติ แต่ยังเป็นผู้ปูทางให้กับการเชื่อมประสานในท้องถิ่น” เมตรา เมห์ราน (Metra Mehran) ผู้จัดการแคมเปญ Feminine Perspectives แนวร่วมทางโซเชียลมีเดียเพื่อสิทธิสตรีในอัฟกานิสถานกล่าว

“อย่ามองว่าหนูเป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนบางเพียงเพราะหนูเป็นผู้หญิง หนูมีความกล้าหาญและมั่นใจว่าจะสร้างชื่อของตัวเองให้ได้” นาจีบากล่าวไว้กับแม่เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่

ความเป็นผู้หญิงคือสิ่งที่นาจีบายึดถือ และเชื่อมั่นว่าเธอต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองและเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ นอกจากบริการด้านการศึกษา ห้องสมุดนาจีบาจึงออกแบบพื้นที่สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ

“ในอัฟกานิสถาน ห้องสมุดคือสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง พ่อแม่จะยอมให้ลูกผู้หญิงไปห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือ พบเจอและคุยเล่นกับเพื่อน นอกจากเด็กจะได้เรียนรู้และอ่านในห้องสมุด พวกเธอยังจะได้หัวเราะและร้องไห้ไปด้วยกัน ห้องสมุดไม่ควรจะถูกริบไปจากเด็กผู้หญิงชาวอัฟกัน” มาซุมะ นาซาริ (Masuma Nazari) อดีตผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุแห่งชาติอัฟกานิสถาน (The National Archives of Afghanistan) กล่าว

วันที่ 14 สิงหาคม 2021 กลุ่มตาลีบันบุกทำลายเมืองจนทำให้ห้องสมุดเสียหาย เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ห้องสมุดนาจีบาจึงจำต้องปิดตัวลง และนี่คือส่วนหนึ่งของแถลงการณ์

“เราหวังว่าจะได้กลับมาทำงานเพื่อชุมชนอย่างปลอดภัยอีกครั้ง เราต้องการให้ชุมชนนานาชาติสนใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับองค์กรท้องถิ่นไม่แสวงหากำไร เช่น มูลนิธินาจีบา ที่ทำงานด้านการศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิงที่ขาดแคลนที่สุด เราต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเพื่อทำงานต่อ”

“เมื่อฉันเข้าไปเยี่ยมห้องสมุด มันเยียวยาใจของฉัน ฉันอยากอยู่ที่ห้องสมุดทั้งวันทั้งคืน เพื่อที่จะได้ใกล้ชิดกับลูกสาว” เสียงจากแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่

“นาจีบายังไม่ตาย เธอยังหายใจร่วมกับเด็กผู้ชายและผู้หญิงที่เข้ามาในห้องสมุดของเธอเพื่อเรียนรู้” เสียงจากคนรักที่ยังมีชีวิตอยู่

เกือบ 3 ปีที่ห้องสมุดแห่งนี้มีลมหายใจ และเป็นลมหายใจทางการศึกษาให้เด็กๆ และผู้หญิง จนแม้ในวันจากไป ลมหายใจนั้นก็ยังอยู่เสมอ เหมือนเธอผู้ไม่เคยจากไป นาจีบา ฮุสเซนนี

นาจีบา ลมหายใจของผู้หญิงและห้องสมุดที่ถูกระเบิดในอัฟกานิสถาน
Photo: Najiba Foundation – بنیاد نجیبه


ที่มา

เว็บไซต์ Najiba Foundation (Online)

บทความ “The battle for Afghanistan’s libraries” จาก ft.com (Online)

บทความ “They Built Libraries to Honor Loved Ones, Women Felled by Bombings” จาก nytimes.com (Online)

บทความ “Turning terror into hope: an Afghan classroom bomb victim’s legacy of learning” จาก theguardian.com (Online)

บทความ “Taliban killed his fiancée, he founded a library” จาก kabulnow.com (Online)

บทความ “Najiba Foundation Annual Report” จาก najibafoundation.org (Online)

บทความ “Second Annual Report July 2021” จาก najibafoundation.org (Online)

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก