โครงการ “ซักไปเรียนไป” (Wash and Learn) ริเริ่มขึ้นมาจาก อลิสแตร์ ชาง กรรมการบริหารองค์กรห้องสมุดไร้พรมแดน Libraries Without Borders องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีพันธกิจส่งเสริมและขยายโอกาสการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ
เริ่มต้นจากที่เขามองเห็นพื้นที่ว่างและเวลาที่สูญเปล่า ในร้านให้บริการเครื่องซักผ้าแบบหยอดเหรียญ พ่อแม่หลายรายพาลูกมาวิ่งเล่นอยู่ภายในร้าน ส่วนใหญ่ไม่มีอะไรทำนอกจากนั่งรอให้เสื้อผ้าซักเสร็จ “พวกเขาเหมือนถูกบังคับให้ต้องอยู่ว่างๆ ปล่อยเวลาทิ้งไปเฉยๆ ในร้าน เพียงเพราะพวกเขาไม่มีเครื่องซักผ้าที่บ้าน”
ชางพูดคุยหารือกับบรรดาผู้ประกอบการร้านค้าที่ให้บริการเครื่องซักผ้าแบบบริการตัวเอง ที่เมืองดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา แล้วชวนกันดัดแปลงพื้นที่บางส่วนซึ่งเป็นโซนพับเก็บเสื้อผ้าที่ซักเสร็จแล้วให้เป็นโซนคอมพิวเตอร์ ด้วยการตกแต่งและนำคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กมาวาง จัดหาชั้นหนังสือที่มีขนาดพอเหมาะ พร้อมกับหนังสือที่มีเนื้อหาตรงกับความสนใจของลูกค้าและลูกๆ ของพวกเขา รวมทั้งจัดหาเจ้าหน้าที่จากห้องสมุดในชุมชนเข้ามาช่วยดูแลและจัดกิจกรรม
เจ้าของร้านที่เข้าร่วมโครงการแสดงความกระตือรือร้น เพราะพวกเขามองเห็นว่าร้านของเขาเป็นศูนย์กลางของชุมชน และต้องการส่งมอบสิ่งดีๆ กลับคืนสู่ลูกค้า บทบาทและการมีส่วนร่วมอันแข็งขันของเจ้าของร้านจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ
ชางบอกว่าเขาอยากเห็นโครงการนี้ขยายไปทั่วรัฐมิชิแกน จึงประสานความร่วมมือไปยังสมาคมผู้ประกอบการร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ Coin Laundry Association เพื่อที่จะสานต่อความสำเร็จของโครงการให้ขยายผลออกไปในวงกว้าง เขาอยากเห็นร้านซักผ้าหยอดเหรียญซึ่งมีอยู่มากกว่า 20,000 แห่งทั่วสหรัฐเข้ามาร่วมเป็นภาคีหุ้นส่วนกับห้องสมุดในชุมชน สร้างพื้นที่เล็กๆ ในทุกๆ ร้านให้เป็น “มุมอ่านออกเขียนได้” เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงกิจกรรมการเรียนรู้และการอ่านออกเขียนได้ หากพ่อแม่ไม่สามารถหยิบยื่นสิ่งเหล่านี้ให้กับลูกของพวกเขาได้อย่างเพียงพอ
“พ่อแม่ก็แค่พาเด็กๆ มาเรียนรู้หรือร่วมกิจกรรมที่ร้าน ในระหว่างที่นั่งรอให้ผ้าซักเสร็จ” ชางกล่าว
กลับมามองดูที่บ้านเรา ร้านซักผ้าแบบหยอดเหรียญมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนชินตา จะมีเจ้าของร้านไหนนำไอเดีย “ซักไปเรียนไป” มาใช้บ้างหรือไม่?
ที่มา
บทความ “Laundry, libraries, and literacy: Why one group is putting books in laundromats” จาก (Online)