หนุ่มสาวนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งเล็งเห็นปัญหาการเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมักกระจุกตัวอยู่เพียงบางพื้นที่ ค่าเข้าชมมีราคาแพง และผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนผิวขาวที่มีการศึกษาสูง เมื่อจำแนกตามประเภทเนื้อหาแล้ว พิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ยังมีจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการในปัจจุบัน
ไอเดียบังเกิดเมื่อ ชาร์ลส์ ฟิลลิปป์ นักทำแอนิเมชัน และเพื่อนของเขา อะมันดา โชเซ็ต นักนิเวศวิทยา กำลังนั่งรอหมออยู่หน้าห้องตรวจ ชาร์ลส์ พูดว่า “ฉันอยากไปพิพิธภัณฑ์ที่เล็กที่สุด (Smallest) ในโลก” อะมันดากลับตอบว่า “อะไรนะ เธอจะไปพิพิธภัณฑ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (Mollusk) เหรอ?” บทสนทนาที่ผิดเพี้ยนกลายเป็นแรงบันดาลใจในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กที่สุดให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย โดยเริ่มต้นจากเนื้อหาเรื่องสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังประเภทหอย เรียกว่างานนี้ไม่ทิ้งไอเดียของใครไปให้เสียเปล่า
เนื้อหาวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลกอันกว้างใหญ่และซับซ้อนถูกย่อส่วนไว้ใน ‘MICRO’ พิพิธภัณฑ์ป๊อปอัปขนาดเท่าตู้เย็น สูงเพียง 2 เมตร สร้างขึ้นโดยความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักออกแบบ และนักเล่าเรื่อง มันเหมาะสำหรับนำไปตั้งไว้ในโรงพยาบาล โรงเรียน สถานีขนส่ง ร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ห้องสมุด ห้างสรรพสินค้า หรือสนามบิน
ภายในตู้ไม่มีวัตถุจัดแสดงซึ่งมีมูลค่าใดๆ แต่ได้รับการออกแบบให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจไม่น่าเบื่อ ผู้ชมสามารถสัมผัส กดปุ่ม หรือดึงชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อไขคำตอบสิ่งที่อยากรู้ ปัจจุบันมีการผลิตเนื้อหาออกมาแล้ว 3 ซีรีส์ คือ
พิพิธภัณฑ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่เล็กที่สุด (Smallest Mollusk Museum)
เนื้อหาว่าด้วยหอยซึ่งเป็นสัตว์สายพันธุ์เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ เส้นทางวิวัฒนาการอันยาวนาน 650 ล้านปีเป็นเหมือนมหากาพย์แห่งการดิ้นรนและอยู่รอด ที่ความสูงระดับสายตาของเด็กมีช่องสำหรับส่องมองโฮโลแกรม ส่วนระดับสูงขึ้นไปเนื้อหามีความซับซ้อนมากกว่า สิ่งที่นิทรรศการนี้ชวนให้ขบคิดก็คือ มนุษย์กำลังสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม และถึงเวลาแล้วที่จะร่วมมือกันลดการก่อมลพิษสู่ธรรมชาติ
พิพิธภัณฑ์แห่งการเคลื่อนที่แบบไม่สิ้นสุด (Perpetual Motion Museum)
เนื้อหานำเสนอเรื่องพลังงาน ตั้งแต่ปรากฏการณ์บิ๊กแบง การจินตนาการของมนุษย์ในการสร้างเครื่องจักรนิรันดร์ ไปจนถึงสวิตช์ไฟในบ้าน นิทรรศการมีอินฟราเรดสำหรับมองดูพลังงานที่ไหลเวียนออกจากร่างกายเรา สาส์นซึ่งซ่อนอยู่เบื้องหลังชี้ให้เห็นว่า แหล่งพลังงานหลักของมนุษย์เป็นทรัพยากรแบบไม่หมุนเวียน และไม่ใช่ทุกคนในโลกที่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าอย่างเท่าเทียม
พิพิธภัณฑ์แห่งการดูแล (Museum of Care)
เนื้อหาชุดนี้เพิ่งถูกผลิตขึ้นเมื่อปี 2022 พาสำรวจอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการดูแลสุขภาพ ผ่านเรื่องราวชีวิตของนักดูแลผู้เจ็บป่วยจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นิทรรศการนี้เน้นย้ำความสำคัญของการดูแลกันในชุมชน นอกเหนือจากบทบาทของระบบโรงพยาบาล
ตัวอย่างพื้นที่สาธารณะซึ่งมีการติดตั้งพิพิธภัณฑ์ป๊อปอัป ‘MICRO’ เช่น ห้องสมุดประชาชนบรูคลิน ศูนย์รอกกีเฟลเลอร์ สนามบินซานโฮเซ ศูนย์ชุมชนในย่านบรองซ์ ฯลฯ โดยสามารถเข้าถึงผู้คนเฉลี่ย 50,000 คนต่อแห่งต่อเดือน อะมันดา โชเซ็ต กล่าวว่า “เราใช้ความคิดอย่างมากในการกลั่นกรองและผสมผสานวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อน ให้กลายเป็นเรื่องตลกและสนุก พวกเราดีใจที่ได้เห็นผู้คนหัวเราะ เรียนรู้ และเล่นด้วยกัน ขณะใช้งานพิพิธภัณฑ์”
นอกจากนี้ MICRO ยังจัดทำชุดทรัพยากรออนไลน์ ซึ่งชุมชนต่างๆ สามารถดาวน์โหลดไปใช้เพื่อพัฒนาพิพิธภัณฑ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเอง เช่น เหมืองถ่านหินในเวสต์เวอร์จิเนีย และเมืองบนภูเขาในลาว รวมทั้งกระตุ้นให้เยาวชนสร้างพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แบบ DIY ในลังกระดาษ โดยจัดทำเอกสารคู่มือชวนสำรวจความสนใจและเสาะแสวงหาคำตอบเหล่านั้น ตัวอย่างผลงานของเด็กๆ เช่น พิพิธภัณฑ์หมาจมูกสั้น พิพิธภัณฑ์ไอศกรีม พิพิธภัณฑ์หญ้า พิพิธภัณฑ์หอคอยทะลุเมฆ ฯลฯ
แนวทางการดำเนินงานทั้งหมดนี้ของ MICRO ล้วนมีเป้าหมายเพื่อสร้าง ‘การกระจายอำนาจทางวัฒนธรรม’ ชาร์ลส์ ฟิลลิปป์ กล่าวว่า “เมื่อคุณนำพิพิธภัณฑ์ลงมาจากหิ้ง จากที่เคยสถิตอยู่ในอาคารเพดานโค้งและหินอ่อน แล้วมองมันเป็นเรื่องคุณภาพของข้อมูล มันก็จะสามารถมีชีวิตในแบบของมันเอง”
ที่มา
เว็บไซต์ MICRO (Online)
บทความ “Tiny museums with a massive vision” จาก thebrilliant.com (Online)
บทความ “MICRO: We’re Making Museums Tiny Enough To Go Anywhere” จาก newinc.org (Online)